รีเทิร์นรับลมหนาว...กับ 7 เมนูกาแฟชงง่ายสาย แคมปิ้ง

รีเทิร์นรับลมหนาว...กับ 7 เมนูกาแฟชงง่ายสาย แคมปิ้ง

ทำตามได้ง่ายๆ กับ 7 เมนูกาแฟที่คอกาแฟสาย "แคมปิ้ง" ต้องไม่พลาดเมื่อออกไปเที่ยวรับลมหนาว เพื่อเติมเต็มการเดินทางให้ครบรสชาติและไม่ขาดคาเฟอีน

ประเทศไทยเราย่างเข้าสู่ ฤดูหนาว ปี 2564 อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ประกอบกับสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยภาพรวมดีขึ้นตามลำดับ นำไปสู่การผ่อนปรนมาตรการคุมเข้มต่างๆ ในแบบที่ใช้คำว่า "ต้องอยู่กับมันให้ได้"  จึงคาดว่าในช่วงปลายปีนี้ จะมีคนไทยแห่ไปเช็คอินตามแหล่งท่องเที่ยวสำคัญๆ ทั่วประเทศ ด้วยอยากรีเทิร์นไปสัมผัสลมหนาว เฝ้าชมทะเลหมอก หยอกล้อกับขุนเขา แบบจัดเต็มเหมือนเก่าก่อน หลังจากอัดอั้นกันมานานเต็มที

สัปดาห์นี้ขอนำเสนอ 7 เมนูกาแฟ ที่ชงดื่มได้เองสบายๆ ไม่พึ่งพาไฟฟ้า เน้นอุปกรณ์ง่ายๆ ไม่ยุ่งยากมากความ เหมาะกับคอกาแฟสไตล์แคมปิ้ง, สายปิคนิครับลมหนาว หรือสายเที่ยวทะเลสวยหาดทรายขาวน้ำใสกิ๊ก ต้อนรับฤดูกาลท่องเที่ยวที่กำลังกลับมาเปิดเต็มตัวอีกครั้ง

เอสเพรสโซ

1. เอสเพรสโซ กาแฟเข้มของสายแข็ง

"เอสเพรสโซ" เป็นหนึ่งในสไตล์กาแฟจากอิตาลีที่ติดอันดับสุดคลาสสิคของโลก เพราะไม่ได้มีแต่ความขมอมหวาน แต่ยังครีมาที่ลอยอย่างสวยเนียนตาอยู่ด้านบนแก้ว ถูกใจคอกาแฟที่ชื่นชอบกลิ่นกาแฟคั่วไหม้ และบอดี้เข้มขลังหนักๆ แล้วไม่ว่าจะไปเที่ยวที่ไหน ก็ชงเอสเพรสโซดื่มเองได้อย่างไม่ยากเย็นนัก

เครื่องชงเอสเพรสโซแรกถือกำเนิดขึ้นในอิตาลีเมื่อปีค.ศ. 1933 เป็นแบบไฟฟ้า แต่ต่อมามีการผลิตเครื่องชงแนวแมนนวลออกมา ไม่ต้องเสียบปลั๊กไฟฟ้า ก็ทำช๊อตเอสเพรสโซงามๆ ได้อย่างมีคุณภาพ และดูเหมือนกำลังแรงขึ้นมาทุกขณะเสียด้วย เพราะได้เปรียบเครื่องชงไฟฟ้าตรงที่มีขนาดเล็ก พกพาสะดวก แรงดันบาร์ไม่ต่างไปจากเครื่องใหญ่ๆเท่าใด เพียงแค่มีน้ำร้อนกับกาแฟบดละเอียด ก็สามารถชงเอสเพรสโซได้แล้ว

เอสเพรสโซสามารถต่อยอดกาแฟได้อีกอย่างน้อย 3 เมนู  เช่น  อเมริกาโน่ (Americano) ที่ใช้เอสเพรสโซหนึ่งช้อตตามด้วยการเติมน้ำร้อน , ลอง แบล็ค (Long black) เติมน้ำร้อนก่อนแล้วตามด้วยช้อตเอสเพรสโซ และ ลุงโก้ (Lungo;ภาษาอิตาลี แปลว่ายาว) ที่ชงเอสเพรสโซหนึ่งช้อต ประมาณ 1 ออนซ์ หรือ 30 มล. แต่ปล่อยให้น้ำไหลผ่านจนได้ปริมาณ 2 ออนซ์

เครื่องชงในหมวดนี้ก็เป็นจำพวก แอโรเพรส, ม็อคคา พ็อท และ อุปกรณ์ชงเอสเพรสโซแบบพกพา ซึ่งมีอยู่มากมายหลายรุ่นหลายแบรนด์ด้วยกัน

กาแฟดริป  / ภาพ : Michael Burrows from Pexels

2. กาแฟดริป จิบให้เหมือนใจสั่ง

ถือเป็นกาแฟยอดนิยมในหมู่นักเดินทางท่องเที่ยวเลยก็ว่าได้ ลองหลับตานึกภาพตอนที่ผงกาแฟคั่วบดในดริปเปอร์โดนน้ำร้อนแล้วละอองควันพวยพุ่งออกมาดุจสายหมอกยามรุ่งอรุณ  พร้อมๆ กับกลิ่นกาแฟคั่วโชยขึ้นแตะจมูก ช่างเป็นช่วงเวลาที่รื่นรมย์จริงๆ

"กาแฟดริป" (Drip coffee) เป็นรูปแบบการชงกาแฟสดอีกสไตล์ ที่ค่อยๆ รินน้ำร้อนที่วนเป็นวงแบบก้นหอย ลงสู่กาแฟบดหยาบบนฟิลเตอร์เพื่อสกัดน้ำกาแฟออกมาอย่างช้าๆ ปล่อยให้น้ำกาแฟค่อยๆ หยดลงสู่โถหรือถ้วยรองรับด้านล่าง ก่อนนำไปเสิร์ฟหรือต่อยอดเป็นกาแฟเย็นก็ได้ แม้จะเป็นวิธีที่ดูเรียบง่าย ใช้เวลาไม่นาน แต่ก็มีเสน่ห์ ได้กลิ่นและรสชาติที่ดีตามคุณภาพและคุณสมบัติดั้งเดิมของกาแฟมากที่สุด

อุปกรณ์ที่ใช้ในการชงกาแฟดริปภาคสนามไม่จำเป็นต้องเยอะเกินไป หลักๆ ประกอบไปด้วย กระดาษกรอง, ดริปเปอร์, กาน้ำ และกาแฟคั่วบดปานกลาง ก็เพียงพอแล้ว

คาปูชิโน

3. คาปูชิโน แก้วโปรดของกาแฟสายนม

“คาปูชิโน” (Cappuccino) เป็นเครื่องดื่มผสมให้กลิ่นหอมกรุ่นของกาแฟผสมกับรสหวานมันของนมสด ปิดท้ายด้วยฟองมนมชั้นบนสุด มีรากฐานมาจาก "เอสเพรสโซ"  ต้นกำเนิดอยู่ในอิตาลี ต้นตำรับเมนูกาแฟและเครื่องชงกาแฟมากมาย

เอกลักษณ์โดดเด่นที่กลายเป็นซิกเนเจอร์ของเมนูกาแฟชนิดนี้ ก็คือ การสตีมนมสด  (Steam milk) ช่วยทำให้รสชาติและเนื้อสัมผัสของนมเปลี่ยนไป พูดง่ายๆ ก็คือ "คาปูชิโน" ก็คือ "เอสเพรสโซ" ผสมกับ "นมสด" ในปริมาณเท่ากัน แล้วหยอด "ฟองนม" ลงตรงกลางแก้ว  ถ้าแต่งแต้มหรือวาดลวดลายเป็นรูปต่างๆ บนน้ำกาแฟ ก็จะกลายเป็น "ลาเต้ อาร์ต" หรือ ศิลปะบนฟองนม

พูดถึงการสตีมนมสดอาจเป็นเรื่องชวนปวดหัวชาวแคมป์ที่ใช้ชีวิตติดธรรมชาติ แต่เราสามารถตีฟองนมด้วยอุปกรณ์พกพาง่ายๆ เช่น เครื่องตีฟองนมขนาดเล็กแบบใช้แบตเตอรี่, ถ้วยปั๊มฟองนม, เชคเกอร์ค็อกเทล หรือจะใช้ขวดเปล่าล้างให้สะอาด เทนมสดใส่ลงไป ปิดฝาให้แน่น แล้วจับขึ้นเขย่าถี่ๆ รัวๆ สัก 40-60 วินาที เท่านี้ก็ได้ฟองนมมาทำคาปูชิโนสุดโปรดแล้ว

เดอร์ตี้ ค๊อฟี่

4. หอม-มัน-นุ่ม แบบเดอร์ตี้ ค๊อฟฟี่

ท่านผู้อ่านที่มีโอกาสเดินทางท่องเที่ยวไปตามดงดอยที่มีอากาศ “หนาวเย็น” ถ้าชอบดื่มกาแฟสายนม แนะนำให้ลองชงเมนูนี้ดูครับ เพราะอุณหภูมิที่ต่ำมากๆ ช่วยให้ผิวนมสดตึงตัว เหมือนแช่ในตู้เย็น ยิ่งถ้าเอานมสดไปแช่ในถังน้ำแข็ง รับรองว่ากลิ่นรสเอสเพรสโซผสมนมสดแบบหอม-มัน นุ่ม มาแบบจัดเต็ม แต่ต้องระวังนิดนึง หากนมจับตัวแข็งเกินไป จะขวางกั้นไม่ให้น้ำกาแฟไหลเป็นริ้วรอยเส้นสายลงสู่นมเบื้องล่าง

เดอร์ตี้ ค๊อฟฟี่  (Dirty coffee) เมนูกาแฟดังในทศวรรษนี้นี้มีต้นกำเนิดจากร้าน "Bear Pond Espresso" ในกรุงโตเกียว โดยหลักๆ แล้วแม้จะมีส่วนผสมแค่นมกับกาแฟเข้มๆ แต่การนำช้อตเอสเพรสโซหรือริเทรสโต รินหรือเทลงในแก้วนมสดแช่เย็นนั้น มีวิธีการที่แตกต่างกันออกไปหลากหลายรูปแบบ บางคนนำแก้วนมสดแช่เย็นไปวางใต้เครื่องชงรอช้อตเอสเพรสโซ บางคนได้ช้อตเอสเพรสโซแล้วค่อยๆ รินใส่ด้านบนของแก้วใส่นมสดแช่เย็น ข้อดีตรงนี้ก็คือ สามารถกำหนดจุดให้น้ำกาแฟไหลลงสู่ภายในขอบแก้วตรงมุมไหนก็ได้ 

นิยมเสิร์ฟใน "แก้วใส" เพื่อให้มองเห็นถึงการแยกชั้นเป็นลวดลายต่างๆ อันเป็นจุดขายของกาแฟเมนูนี้

โคลด์ บรูว์ / ภาพ :  An Nguyen on Unsplash

5. เย็นชื่นใจไปกับกาแฟโคลด์บรูว์

"กาแฟโคลด์บรูว์" (Cold brew) หรือในชื่อเวอร์ชั่นไทย "กาแฟสกัดเย็น" เป็นอีกวิธีการชงกาแฟที่ใช้น้ำเย็นแทนน้ำร้อน ให้รสชาติกาแฟที่ขมหรือเปรี้ยวน้อยกว่า แต่ได้ความหวานกว่าเมื่อเทียบกับกาแฟที่ชงด้วยน้ำร้อน จึงกลมกล่อม หอม หวานละมุนนุ่มกว่า และให้บอดี้หรือเนื้อสัมผัสที่มากกว่า อุปกรณ์ที่ใช้ทำมีหลากหลายรูปแบบ เช่น เฟรนช์เพรส, ขวดแก้วมีฝาปิด หรืออุปกรณ์ทำกาแฟโคลด์บรูว์ที่ผลิตจำหน่ายโดยบริษัทต่างๆ

ขั้นตอนการทำกาแฟเย็นสไตล์นี้ ไม่มี สูตรตายตัว เป็นการสกัดผงกาแฟด้วยน้ำเย็นหรือน้ำอุณหภูมิห้อง นิยมใช้อัตราส่วนของกาแฟต่อน้ำอยู่ที่ 1: 10 คือ กาแฟ 1 กรัม ต่อน้ำ 10 กรัม ส่วนกาแฟก็บดระดับปานกลาง เมื่อลงตัวแล้วก็ใส่ลงไปในภาชนะมีฝาปิด แล้วใช้ช้อนคนช้าๆ เพื่อให้ผงกาแฟจมลงในน้ำให้หมด จากนั้นจึงนำไปใส่ตู้เย็นเพื่อรักษาระดับอุณหภูมิของน้ำกาแฟ ใช้เวลาประมาณ 8 -16 ชั่วโมง หรือบางทีก็ 24 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับรสชาติที่ปรารถนา  

เมื่อได้เวลาที่ตั้งเอาไว้ ก็นำออกจากตู้เย็น แล้วน้ำมากรองกากกาแฟออก จะใช้กระดาษ, ผ้า หรือตัวกรองสเตนเลส ก็ได้ทั้งนั้น เสร็จสรรพก็พร้อมเสิร์ฟทันที หรือจะรินใส่ขวดแก้วนำกลับไปแช่ในตู้เย็นเพื่อดื่มในโอกาสต่อๆ ไป ด้วยเก็บได้นานถึง 3-4 สัปดาห์ทีเดียว

เกือบลืมครับ ถ้าไปแคมปิ้งกัน คงไม่มีตู้เย็นแช่กาแฟ แต่เราสามารถใช้ ถังน้ำแข็ง แทนได้สบายๆ

เฟรโด คาปูชิโน / ภาพ : Iannis K from Pixabay

6. เฟรโด้ กาแฟเย็นสไตล์นี้มี...เขย่า

"กรีก เฟรโด้" (Greek Freddo) ซีรีส์กาแฟเย็นจากเมดิเตอร์เรเนียน โด่งดังมากๆ ในหมู่ชาวกรีก นิยมดื่มเพื่อช่วยสร้างความสดชื่นยามอากาศร้อนๆ เป็นกาแฟเย็นที่ฝังรากลึกในวัฒนธรรมของชาวกรีก ก่อนแพร่ขยายออกไปตามร้านรวงคาเฟ่ของชุมชนชาวกรีกในต่างประเทศ รวมไปถึงไซปรัส บางส่วนของอิตาลี และในหลายๆ ประเทศทั่วโลก แม้กระทั่งแบรนด์กาแฟยักษ์ใหญ่ข้ามชาติก็นำไปบรรจุเป็นเมนูประจำร้าน

ถ้าเป็นสูตร "เฟรโด้ เอสเพรสโซ" จะใช้เอสเพรสโซ 2 ช็อต, น้ำตาลทรายขาว กับน้ำแข็งก้อน 4 ก้อน ใส่ลงไปในกระบอกเชคเกอร์ที่ใช้ผสมเครืองดื่มค็อกเทล ยกเชคเกอร์ขึ้นเขย่าในจังหวะที่สม่ำเสมอ ประมาณ 20 วินาที จากนั้นค่อยๆ เทลงใส่แก้ว ปล่อยให้ฟองโฟมกาแฟก่อตัวขึ้นช้าๆ ไล่ระดับจากก้นแก้วสู่ด้านบน เกิดเป็นเลเยอร์กาแฟ 2 ชั้นขึ้นมา มีทั้งสูตรก็ใส่น้ำแข็งลงในแก้วเสิร์ฟ และไม่ใส่น้ำแข็ง

ถ้าเป็น “เฟรโด้ คาปูชิโน” ก็ให้ใช้นมสดแช่เย็นที่ถูกตีฟองจนเนียน เทลงไปด้านบน "เฟรโด้ เอสเพรสโซ" อีกที แล้วเสิร์ฟในแก้วใสที่ขนาดใหญ่ขึ้นมา กลายเป็นกาแฟนมเย็นไปในทันใด

รีเทิร์นรับลมหนาว...กับ 7 เมนูกาแฟชงง่ายสาย แคมปิ้ง

7. ขมอมหวานอย่างลงตัว...กาแฟผลไม้

ในเมืองไทยเราช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา หลายๆ ร้านกาแฟมีการออกแบบเครื่องดื่มใหม่ๆ ที่เห็นว่าต่อยอดได้ และเหมาะกับรสนิยมของผู้ดื่ม เช่น มีการนำ "น้ำผลไม้" ทั้งของเมืองร้อนและเมืองหนาวหลายชนิดที่ให้รสชาติโทนหวานอมเปรี้ยว เข้ามาเป็นส่วนผสมใน "กาแฟ" กลายเป็นเครื่องดื่มแนวใหม่ที่ฮิตกันยังไม่เลิก แล้วทั้งกาแฟกับน้ำผลไม้ (Coffee x Juice) ต่างก็เล่นบทเป็นตัวยืน มีความสำคัญเท่าเทียมกันในฐานะ "คู่ผสม" ช่วยสร้างกลิ่นและรสชาติเครื่องดื่มให้โดดเด่น

กาแฟที่ใช้ทำเมนูนี้ มีความหลากหลายทีเดียว ทั้งเอสเพรสโซ, อเมริกาโน่, ดริป หรือโคลด์บรูว์ ตามแต่อุปกรณ์จะมี พวกผลไม้สดหาซื้อได้ง่ายมากตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ แล้วนำมาคั้น หรือจะใช้น้ำผลไม้บรรจุกล่องแล้วแช่เย็นไว้ในถังน้ำแข็งก็ได้

เริ่มต้นทำกาแฟเมนูนี้ด้วยการเทน้ำผลไม้แช่เย็นลงในแก้วใส่นำแข็งราว 60-70 เปอร์เซ็นต์ของแก้ว แล้วค่อยๆ รินกาแฟลงไปช้าๆ เพื่อแยก “เลเยอร์” ของกาแฟกับน้ำผลไม้ ถ้าชอบหวาน ก็เติมพวกน้ำเชื่อมลงไป ยิ่งเป็นกลิ่นผลไม้ที่ใช้ทำกาแฟก็ยิ่งเหมาะ หรือถ้าอยากแต่งหน้าให้สวยขึ้น ก็ฝานเปลือกผลไม้หรือเนื้อผลไม้มาทำเป็นท็อปปิ้ง ก็เก๋ไปอีกแบบ                      

จิบกาแฟรสขมปนความหวานซ่อนเปรี้ยวของน้ำผลไม้ ช่างผสมผสานสองรสชาติได้อย่างลงตัว...ดีเหลือเกิน