เก็บเบี้ยใต้ถุนร้าน :  คมความคิดและเรื่องเล่า "เจ้าสัว"

เก็บเบี้ยใต้ถุนร้าน :  คมความคิดและเรื่องเล่า "เจ้าสัว"

เรื่องเล่า"เจ้าสัว"ที่ทำให้ประสบความสำเร็จ จากวิธีคิดและการอ่าน เล่าโดย"ต้นสกุล สุ่ย" ซึ่งเคยเขียนคอลัมน์ "ห้องสมุดเจ้าสัว" ในจุดประกายวรรณกรรม และครั้งนี้ถือเป็นโอกาสพิเศษ

จำได้ว่าผมเริ่มเขียนคอลัมน์ห้องสมุดเจ้าสัว เซ็คชั่นจุดประกายวรรณกรรม หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2542

ทั้งยังจำความรู้สึกขณะนั้นดีว่า เป็นอย่างไร ?

เพราะเมื่อมาย้อนอ่านจากพ็อกเก็ตบุ๊คที่ถูกตีพิมพ์เป็นเล่มครั้งแรกในชื่อว่า “คมความคิดเจ้าสัว” ซึ่งมี “ต้นสกุล สุ่ย” เป็นผู้เขียน

อันเป็นนามปากกาของผมขณะนั้น ที่นำชื่อของลูกชายคนโต(ต้นสกุล)มาผนวกกับชื่อของปู่(สุย)แล้วเติมไม้เอกเข้าไป เพื่อให้กลายเป็น “สุ่ย” อันมีความหมายว่า“น้ำ” ซึ่งเป็นนามปากกาคล้ายๆ กับภาษาจีนเพื่อให้สอดรับกับชื่อคอลัมน์

ตอนนั้นผมเขียนบอกเล่าในคำนำที่ใช้ชื่อว่า “เก็บเบี้ยใต้ถุนร้าน” มีความบางส่วนบอกเล่าไว้ดังนี้...ถามว่าตลอดเวลาที่เขียนคอลัมน์ห้องสมุดเจ้าสัวรู้สึกอย่างไร 

“คงต้องตอบว่ารู้สึกประหวั่นพรั่นพรึง เพราะไม่แน่ใจว่า ข้อมูลที่มีอยู่จะถูกต้องครบถ้วนหรือเปล่า ที่สำคัญ พื้นที่ที่ใช้ในการเขียนน้อยเกินไปที่จะบอกเล่าความเป็นตัวตนของเจ้าสัวเหล่านั้นได้ทั้งหมด”

“แต่เมื่อเวลาผ่านมา ห้องสมุดเจ้าสัว กลับได้รับเสียงตอบรับจากผู้อ่านพอสมควร แม้จะรู้อยู่เต็มอกว่าข้อมูลยังไม่สมบูรณ์นักก็ตาม” แต่ผมพยายามอย่างดีที่สุด

ที่มาห้องสมุดเจ้าสัว

ดังนั้น ถ้าถามว่าคอลัมน์ห้องสมุดเจ้าสัวเกิดขึ้นได้อย่างไร ?

และทำไม "พี่ตุ๋ย" นิรันศักดิ์ บุญจันทร์ บรรณาธิการจุดประกายวรรณกรรมถึงสนใจอยากได้งานฮาวทูมาตีพิมพ์ในเซ็คชั่นนี้ ?

ผมคงต้องเล่าให้ฟังแบบนี้

คมความคิด “ธนินท์ เจียรวนนท์” : "ผมเปรียบตัวเองเหมือนน้ำที่ยังไม่เต็มขวด ผมจึงต้องพยายามศึกษาหาความรู้จากคนอื่นๆอยู่เสมอ"

ตอนนั้นเพื่อนคนหนึ่งชื่อ “สุริยฉัตร แก้วทอง” เขาเขียนคอลัมน์ในจุดประกายฯก่อนหน้าผม และเขาค่อนข้างสนิทกับ "พี่ตุ๋ย" จึงทราบความคิดจากพี่ว่า...เขาต้องการคนมาเขียนคอลัมน์ฮาวทู

พอเขาเอ่ยชื่อผมให้ทราบ

“พี่ตุ๋ย” จึงโทรศัพท์มาพูดคุย และบอกว่า...นายมาเขียนคอลัมน์ให้เราหน่อย

ผมถามกลับไปว่า จะให้เขียนเรื่องเกี่ยวกับอะไร เขาบอกว่า...ก็เรื่องที่เกี่ยวกับเจ้าสัวอ่านอะไรสิ นายมีข้อมูลอยู่แล้วมิใช่หรือ 

ผมจึงตอบครับ...ครับ

เพราะ "พี่ตุ๋ย” ทราบอยู่ก่อนแล้วว่าผมเป็นนักข่าวสายเศรษฐกิจ และอีกหลายสายในเวลาต่อมาที่หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ทั้งยังทราบว่าผมเองสนใจวรรณกรรม ทั้งยังเคยเป็นนักข่าวสายวรรณกรรมอยู่ระยะเวลาหนึ่ง

ที่สำคัญ "พี่ตุ๋ย” ทราบจาก "สุริยฉัตร” ด้วยว่า...ผมเองสัมภาษณ์เจ้าสัว หรือผู้นำธุรกิจมาค่อนข้างเยอะ ทั้งยังเป็นคนชอบเก็บบทสัมภาษณ์ของเหล่าบรรดาเจ้าสัวที่ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ และนิตยสารต่างๆเป็นจำนวนมาก

เขาจึงค่อนข้างเชื่อว่าผมน่าจะทำได้

ผู้นำธุรกิจอ่านหนังสืออะไร

แม้จะมีข้อจำกัดอยู่บ้างในขณะนั้นว่า...การที่จะรู้ว่าผู้นำธุรกิจอ่านหนังสืออะไรมี 2 ทางเลือกเท่านั้น

หนึ่ง ต้องสัมภาษณ์ก่อน แล้วค่อยถาม

สอง ต้องสัมภาษณ์เสร็จแล้ว ถึงค่อยเดินดูห้องทำงานของแต่ละท่านว่ามีหนังสืออะไรอยู่บ้าง นัยว่าเพื่อดูว่าเขาอ่านอะไร

ทั้ง 2 เรื่องเป็นเรื่องยากพอสมควรสำหรับนักข่าวตัวเล็กๆคนหนึ่ง ที่ไม่มีแม้แต่โอกาสจะนัดเจ้าสัว หรือผู้นำธุรกิจเหล่านั้นตามลำพัง

เพราะการนัดบุคคลเหล่านี้เพื่อสัมภาษณ์ต้องระดับบรรณาธิการเท่านั้น แต่ด้วยความโชคดีที่ผมมักถูกผู้ใหญ่ในที่ทำงานหนีบไปนั่งฟังด้วยอยู่หลายครั้ง

แรกๆก็นั่งห่าง แต่ฝากเทปสัมภาษณ์วางไว้ใกล้ๆกับคู่สนทนา

แรกๆไม่ได้พูดอะไรเลย

เขาคุยเรื่องซีเรียสกัน ผมก็ทำหน้าซีเรียสไปด้วย เขาหัวเราะกัน ผมก็หัวเราะด้วย จนบางครั้งอดคิดไม่ได้ว่า…เรามานั่งฟังทำไมวะ

แต่พอถอดเทป ผมกลับพบขุมทรัพย์อันมหาศาล เพราะเคล็ดลับความสำเร็จของเหล่าบรรดาเจ้าสัว หรือผู้นำธุรกิจที่อยู่ใต้ฟ้าเมืองไทยไม่ค่อยถูกตีพิมพ์เป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ธุรกิจ

เพราะทุกคนที่ไปฟังพร้อมๆ กัน มักจดแต่ตัวเลขกำไรขาดทุน แผนการลงทุน การสยายปีกไปต่างประเทศ และการควบรวมกิจการต่างๆ เพื่อขึ้นหน้า 1

แต่ผมกลับสนใจเรื่องเคล็ดลับความสำเร็จ,คำสั่งสอนของพ่อแม่,การต่อสู้ดิ้นรน,การใช้ชีวิตอย่างอ้างว้างในต่างแดน

ไม่แม้แต่สิ่งที่พวกเขาสนใจอย่างง่ายๆไม่ว่าจะเป็นเครื่องดนตรี, หนังสือ, การตกปลา, ปรัชญา, คำคม และอื่นๆ ที่ล้วนสอนพวกเขาอย่างบังเอิญ จนทำให้เขา และเธอกลายเป็นผู้นำธุรกิจในวันนี้

เพียงแต่ตอนนั้นผมยังไม่รู้ว่า จะเขียนอะไรให้เป็นเรื่องเป็นราว

จนมีโอกาสมาเขียนคอลัมน์ห้องสมุดเจ้าสัว ผมจึงเริ่มนำขุมทรัพย์อันมหาศาลเหล่านั้นมาคลี่ออก และเรียบเรียง จนกระทั่งเขียนผ่านไปถึง 32 บุคคลด้วยกัน อาทิ หมอชัยยุทธ กรรณสูตร, อุเทน เตชะไพบูลย์, ธนินท์ เจียรวนนท์, เจริญ สิริวัฒนภักดี, ชาตรี โสภณพนิช

บุญยสิทธิ์ โชควัฒนา, อนันต์ กาญจนพาสน์, พรเทพ พรประภา, ประกิต อภิสารธนรักษ์, ไชยวัฒน์ เหลืองอมรเลิศ, ชวน ตั้งมติธรรม, คุณหญิงชนัตถ์ ปิยะอุย,โพธิพงษ์ ล่ำซำ, บัณฑูร ล่ำซำ, สันติ ภิรมย์ภักดี, พันธ์เลิศ ใบหยก, ศุภลักษณ์ อัมพุช, อนันต์ อัศวโภคิน

คีรี กาญจนพาสน์, ทรงศักดิ์ เอาฬาร, บุญชัย เบญจรงคกุล, ไชย ไชยวรรณ และอื่นๆ อีกมากมาย

คมความคิดเจ้าสัว

ในที่นี้ ผมขออนุญาตยกตัวอย่างคมความคิดเจ้าสัวของ “ธนินท์ เจียรวนนท์”ที่เขียนในขณะนั้นว่า…ผมเปรียบตัวเองเหมือนน้ำที่ยังไม่เต็มขวด ผมจึงต้องพยายามศึกษาหาความรู้จากคนอื่นๆอยู่เสมอ

“กอปรกับผมเป็นคนชอบฟังคน บางครั้งบางเรื่องไม่มีเวลา ผมจะให้คนมาสรุปให้ฟัง เพราะผมเชื่อว่าการฟังคนเก่งๆ พูด เท่ากับอ่านหนังสือ 1 เรื่อง วันหนึ่งผมฟัง 10 คน ก็เท่ากับผมอ่านหนังสือ 10 เรื่อง แล้วคุณคิดหรือคนเก่งๆเหล่านั้นจะเล่าให้ผมฟังแค่เรื่องเดียว”

“ดังนั้น ถ้าถามผมว่าโลกในหนังสือมีส่วนเกี่ยวข้องในการบริหารจัดการของผมไหม ผมตอบอย่างไม่ลังเลเลยว่ามี เพียงแต่ผมไม่ได้อ่านเองก็เท่านั้น

ผมมีคนอ่านให้ฟัง สรุปให้ฟังทุกวัน คุณลองคิดดู เดือนหนึ่งผมอ่านหนังสือกี่เรื่อง กี่เล่ม และปีหนึ่งผมอ่านไปทั้งหมดกี่เรื่อง กี่เล่ม ทั้งยังหลากหลายแนวอีกด้วย”

จนถึงทุกวันนี้ "ธนินท์" ก็ยังดำรงตนเยี่ยงนี้อยู่ แม้อาณาจักรธุรกิจจะขยายไปมากกว่าเดิมแล้วก็ตาม

เจ้าสัวบัณฑูร ชอบอ่านหนังสือประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นนิตยสารศิลปวัฒนธรม และนิตยสารสยามอารยะ

เจ้าสัวบัณฑูรกับดนตรีไทย

ขณะที่ "บัณฑูร ล่ำซำ" กลับสนใจหนังสือประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นนิตยสารศิลปวัฒนธรม และนิตยสารสยามอารยะ ซึ่งเป็นหนังสือที่จะต้องอยู่บนโต๊ะทำงานของเขาอยู่เสมอ

ที่สำคัญ เขายังมีความชื่นชอบดนตรีไทยอีกด้วย โดยเฉพาะจะเข้ เพราะครั้งหนึ่งสมัยเรียนที่โรงเรียนสาธิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตรเขาเคยเรียนวิชาดนตรีไทย จึงทำให้หลงเสน่ห์เสียงของดนตรีไทย

แม้กระทั่งตอนไปเรียนปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยปริ้นซตัน และฮาร์วาร์ด บิสซิเนส สคูล ทางด้านการบริหารธุรกิจเอ็มบีเอ กล่าวกันว่าทุกครั้งที่คิดถึงบ้านที่เมืองไทย เขามักหยิบขลุ่ยมาเป่าอยู่เสมอ

แต่หลังจากที่กลับมืองไทย "บัณฑูร" เริ่มมาสนใจซออู้ ก่อนที่จะซื้อซอสามสาย ซึ่งทำจากงาช้าง และกะโหลกมะพร้าวชั้นดีในราคาสูงถึง 9 หมื่นบาท เพื่อเล่นให้กับพนักงานฟังเป็นบางครั้ง     

นอกจากนั้น เขายังชื่นชอบแนวความคิดของ "อัลวิน ทอฟล์เลอร์" นักเขียน และนักธุรกิจชาวอเมริกัน ผู้เขียนหนังสือ "คลื่นลูกที่สาม”

ดังนั้น จึงไม่แปลกที่ "บัณฑูร” จะมีแนวความคิดในการปรับเปลี่ยนองค์กร และการบริหารธนาคารกสิกรไทยให้มีความทันสมัยอยู่เสมอ แม้กระทั่งปัจจุบันนี้

ฉะนั้น ถ้าจะให้สรุปการเขียนคอลัมน์ห้องสมุดนับแต่ปี 2542 ผ่านมา กระทั่งกลายมาเป็นหนังสือ "คมความคิดเจ้าสัว" ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2544 จนสามารถตีพิมพ์ซ้ำอีกเรื่อย ๆ ถึง 12 ครั้งด้วยกัน จึงนับเป็นความสำเร็จที่น่าพอใจระดับหนึ่ง

แม้ต่อมา "พี่ตุ๋ย" จะเปิดคอลัมน์นิเทศศาสตร์นอกตำรา และคอลัมน์ เรื่องเล่าจากโครงกระดูกให้เขียนตามมา จนกระทั่ง 2 คอลัมน์นี้ถูกนำมารวมเล่มเป็นพ็อกเก็ตบุ๊คในชื่อเรื่องว่า "นิเทศศาสตร์นอกตำรา” และ "หนังสือเล่มสุดท้าย” ที่อาจไม่ประสบความสำเร็จทางด้านยอดขายเหมือนเล่มแรก

แต่กลับทำให้แฟนานุแฟนต่างรู้จักชื่อ”ต้นสกุล สุ่ย” อันเป็นนามปากกาของ "สาโรจน์ มณีรัตน์” นับแต่นั้น

ผลตรงนี้ จึงถือเป็นคุณูปการจากการเขียนคอลัมน์ในเซ็คชั่นจุดประกายวรรณกรรม หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจทั้งสิ้น

ซึ่งผมจะไม่มีวันลืมเลย

แม้จะผ่านมากี่ปีก็ตาม ?

..............

ผลงานเขียนเรื่องนี้ ตีพิมพ์ในเซคชั่นจุดประกายฉบับพิเศษ เนื่องในวาระครบรอบ 35  ปีหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ (6 ตุลาคม 64)