วางแผน 'ออมเงิน' ให้ดี เตรียมเป็นเศรษฐีในอนาคต
การออม ไม่ใช่เรื่องที่จะเห็นผลในวันนี้ แต่จะสะท้อนภาพของเราในอนาคต
"ออมเงิน" เรื่องใกล้ตัวที่ใครๆ ก็ทำได้ เพียงแค่มีวินัยในตัวเอง และรู้จักการวางแผนที่ดี ที่พูดมาเหมือนจะเป็นเรื่องง่าย แต่จริงๆ แล้วสำหรับบางคนอยากเหลือเกิน เพราะคำว่า ของมันต้องมี หรือ มันจำเป็นต้องซื้อ ทำให้ใช้จ่ายไปเยอะ เจ็บไปเยอะเหมือนกัน
"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" รวบรวมและสรุปวิธีการออมเงินมาให้เลือกสรรกัน
เริ่มจากสิ่งที่ใกล้ตัวที่สุด คือ "การเก็บเงินไว้กับตัวเอง" ไม่ต้องพึ่งสถาบันการเงินใดๆ ซึ่งแต่ละคนอาจมีทริคที่แตกต่างกัน เช่น เอาเหรียญที่มีเหลืออยู่ในกระเป๋าตังค์ทุกวันไปยอดกระปุกออมสิน หรือเก็บธนบัตร ใบละ 50 บาท วันละหนึ่งใบ หรือสำหรับคนที่มีรายได้สูง อาจตั้งเป้าหมายเป็นใช้เท่าไร ก็ออมเท่านั้น ฯลฯ
และหากลองมาคำนวณเล่นๆ ถ้าเราเลือกทริคเก็บธนบัตรใบละ 50 บาท ทุกวัน เป็นเวลาทั้งหมด 1 ปี (365 วัน) เราจะได้เงินทั้งหมดราว 18,250 บาท ถือว่าไม่น้อยเลย
หรือใครอาจลองใช้ทริคจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยดูก็ได้ เป็นการปรับเปลี่ยนแนวคิดใหม่ จากเดิมที่เคยคิดว่า “ใช้จ่ายก่อน เหลือเท่าไรค่อยเอามาออม” เปลี่ยนเป็น "ออมก่อน เหลือเท่าไหร่ค่อยใช้จ่าย" แปลงออกมาเป็นสูตรง่ายๆ เงินได้ - เงินออม = เงินใช้จ่าย ซึ่งจำนวนเงินออมขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละคน
ยกตัวอย่างเช่น รายได้ต่อเดือน 20,000 บาท ออมเงิน 10% ก็จะเท่ากับ 2,000 บาท ดังนั้นเราจะเหลือใช้จ่าย 18,000 บาท
ทั้งนี้สิ่งสำคัญคือ เราจะต้องตั้งเป้าหมายของการออมด้วยว่า ออมเพื่อจุดประสงค์ใด เพื่อเป็นแรงจูงใจในการเก็บเงินมากขึ้น และต้องมีวินัยในตัวเอง ทำให้ติดเป็นนิสัย จนกระทั่งสามารถลบความคิดเรื่องการออมเป็นภาระออกไปได้ วิธีการออมด้วยเองนั้น มีข้อดีตรงที่เราสามารถเอาเงินออกมาใช้ในยามฉุกเฉินได้ทันที แต่จำนวนเงินที่เก็บจะไม่ได้ออกดอกออกผลเหมือนกับการฝากเงินในสถาบันการเงิน และเสี่ยงต่อการสูญหายหรือเก็บนานจนชำรุด
สำหรับวิธีต่อไป คือ "การฝากออมทรัพย์" ในธนาคารต่างๆ ซึ่งเราจะต้องเปิดบัญชีกับธนาคารนั้น เพื่อนำเงินเข้าไปฝากไว้ โดยธนาคารจะมีดอกเบี้ยเป็นผลตอบแทนให้กลับมา ซึ่งแต่ละแบรนด์ก็จะมีเงื่อนไขและกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ไม่เท่ากัน ยกตัวอย่าง การฝากออมทรัพย์ทั่วไป สำหรับบุคคลธรรมดา (ข้อมูล ณ เดือนธันวาคม 2562) ดังนี้
- ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) มีเงื่อนไขว่าจะต้องเปิดบัญชีขั้นต่ำ 500 บาท ซึ่งจะมีสมุดคู่ฝากหรือไม่ก็ได้ อัตราดอกเบี้ยต่อปีอยู่ที่ 0.5% โดยจะจ่ายดอกเบี้ย 2 ครั้ง ในเดือนมิถุนายน และธันวาคม
- ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ก็มีเงื่อนไขในการเปิดบัญชีขั้นต่ำ 500 บาทเหมือนกัน ซึ่งจะได้มาพร้อมกับสมุดบัญชี อัตราดอกเบี้ย 0.3% โดยจะจ่ายดอกเบี้ย 2 ครั้งเหมือนกัน
- ธนาคารกสิกรไทย ให้สิทธิ์การเปิดบัญชีแบบไม่มีขั้นต่ำ อัตราดอกเบี้ยต่อปีอยู่ที่ 0.5% จ่ายดอกเบี้ย 2 ครั้ง
- ธนาคารกรุงไทย มีเงื่อนไขเปิดบัญชีขั้นต่ำ 500 บาท อัตราดอกเบี้ยต่อปีอยู่ที่ 0.5% โดยจะจ่ายดอกเบี้ย 2 ครั้ง
- ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ต้องเปิดบัญชีขั้นต่ำ 500 บาท อัตราดอกเบี้ยต่อปีตั้งแต่ 0.65-0.80% โดยจะจ่ายดอกเบี้ย 2 ครั้ง
นอกจากบัญชีออมทรัพย์แบบทั่วไปแล้ว แต่ละธนาคารก็ออกรูปแบบอื่นๆ มาอีก เพื่อเป็นทางเลือกของลูกค้า และตอบโจทย์แต่ละกลุ่มโดยตรง เช่น ธอส.มีเงินฝาก Campus Saving สำหรับนักศึกษา ที่จะบวกอัตราดอกเบี้ยเพิ่มอีก 0.25% ต่อปี หรือ ธนาคารกรุงไทย ที่ออกเงินฝากออมทรัพย์พิเศษสำหรับผู้เยาว์ เจาะกลุ่มเด็กๆ เปิดบัญชีต่ำสุด 200 บาท ดอกเบี้ย 0.50% ต่อปี และหากมีการฝากมากกว่าถอน จะได้รับโบนัสอีก 100% ของยอดดอกเบี้ยที่ได้รับทุกวัน เป็นต้น
ทั้งนี้หากลองคำนวณการฝากออมทรัพย์แบบทั่วไป ถ้าฝากเงินเดือนละ 2,000 บาท ต่อเนื่องกันเป็นเวลา 1 ปี จะได้เงินต้นรวม 24,000 บาท และดอกเบี้ยประมาณ 120 บาท เมื่อคิดอัตราดอกเบี้ยในเรท 0.50% ต่อปี
การออมประเภทเงินฝากออมทรัพย์นี้ ข้อดีก็จะคล้ายๆ กับการเก็บเงินเอง เมื่อยามจำเป็นเราสามารถถอนเงินออกมาได้ แต่อาจมีค่าใช้จ่ายในการคงบัญชีไว้ ซึ่งต้องจ่ายในทุกๆ ปี และต้องเข้าใจตรวจว่าบัญชีมีการเคลื่อนไหวหรือไม่ ไม่เช่นนั้นอาจถูกยกเลิกบัญชีได้
แต่สำหรับใครที่วางแผนมาอย่างดีแล้วว่า จะแบ่งเงินจำนวนหนึ่งไว้จากก้อนของรายได้หรือเงินเดือน เพื่อเก็บออมโดยเฉพาะ และไม่มีความจำเป็นที่จะต้องนำออกมาใช้ หรือยังมีเงินส่วนอื่นจะสามารถซัพพอร์ตตัวเองได้เมื่อยามฉุกเฉิน "การฝากประจำ" ซึ่งเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง เราสามารถเลือกได้ว่าต้องการฝากระยะสั้นหรือยาว เริ่มตั้งแต่ 3 เดือน 6, 9, 12, 24, 36 ไปจนถึง 60 เดือน ซึ่งอัตราดอกเบี้ยขึ้นอยู่กับแต่ละธนาคารเป็นผู้กำหนด ยกตัวอย่างฝากประจำ 12 เดือน แบบมีสมุดบัญชีคู่ ดังนี้
ธนาคารไทยพาณิชย์ ต้องเปิดบัญชีขั้นต่ำ 1,000 บาท และฝากครั้งต่อไปขั้นต่ำก็ 1,000 บาท อัตราดอกเบี้ยต่อปีขึ้นอยู่กับจำนวนเงินฝาก น้อยกว่า 5 ล้านบาท ดอกเบี้ย 1.50% แต่วงเงิน 5 ล้านบาทขึ้นไป ดอกเบี้ย 1.00%
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดบัญชีขั้นต่ำ 1,000 บาท อัตราดอกเบี้ยต่อปีอยู่ที่ 1.40-1.55% ขณะที่ธนาคารกสิกรไทย เงื่อนไขก็คล้ายคลึงกัน โดยอัตราดอกเบี้ยต่อปีอยู่ที่ 1.05-1.30% ส่วนธนาคารกรุงไทย เปิดบัญชีขั้นต่ำ 1,000-10,000 บาท อัตราดอกเบี้ยต่อปี 1.30% สำหรับ ธอส. ต้องเปิดบัญชีขั้นต่ำ 5,000-10,000 บาท อัตราดอกเบี้ยต่อปีอยู่ที่ 1.40%
หากลองคำนวณฝากประจำ 12 เดือน เดือนละ 2,000 บาท ต่อเนื่องโดยไม่มีการถอนก่อนกำหนด ได้เงินต้น 24,000 บาท เมื่อคำนวณอัตราดอกเบี้ยที่ 1.00% จะได้ดอกเบี้ย 240 บาท แต่ต้องหักภาษี 36 บาท ทำให้เราจะได้ดอกเบี้ยสุทธิราว 204 บาท หรือรวมทั้งหมด 24,240 บาท
ข้อดีของการฝากประจำนั้น เหมือนกับการบังคับตัวเองให้ออมเงิน เมื่อสิ้นสุดการออมก็จะได้เงินต้น พร้อมดอกเบี้ย และเมื่อเทียบกับการฝากแบบออมทรัพย์ จะเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นกว่าเท่าตัว แถมยังสามารถใช้เป็นหลักประกันในการขอสินเชื่ออื่นๆ จากธนาคารได้ด้วย
แต่ถ้าใครมีการถอนเงินออกมาก่อน ธนาคารจะไม่จ่ายดอกเบี้ยให้ หรือจ่ายให้ในอัตราที่ต่ำที่สุด และผลตอบแทนดอกเบี้ยที่ได้ จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย
นอกจากนี้ ยังมีรูปแบบของการออมเงิน ที่ได้ทั้งออมเงินและลุ้นรางวัลไปพร้อมๆ กัน ช่วยสร้างความตื่นเต้นให้ชีวิตในทุกๆ เดือน อย่าง "สลากออมทรัพย์ประเภทไม่กินทุน" ที่มี 2 ธนาคารรัฐออกมาให้ได้เลือกซื้อ ความเหมือนของทั้งสองแห่งคือ ไม่จำเป็นต้องมีเงินมาก ก็สามารถออมเงินได้ และยังได้ลุ้นเงินรางวัล เหมือนกับการซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล โดยผลตอบแทนที่ได้คือเงินต้น + ดอกเบี้ยที่ธนาคารกำหนด
มาดูที่ธนาคารออมสิน ได้ออก "สลากออมสินพิเศษ" มีให้เลือกหลายรูปแบบ ได้แก่ สลากออมสินพิเศษดิจิทัล 1 ปี กับ 3 ปี และสลากออมสินพิเศษ 3 ปี กับ 5 ปี ซึ่งการลงทุนในรูปแบบนี้ มีเงินน้อยก็สามารถซื้อได้ เพราะหากเป็นสลากออมสินพิเศษดิจิทัล 1 ปี ราคาหน่วยละ 20 บาท ฝากขั้นต่ำ 200 บาท หรือเท่ากับว่าเราซื้อ 10 หน่วยก็ได้ แต่ฝากได้สูงสุดไม่เกิน 2 ล้านบาทต่อครั้ง ส่วนอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 0.05 บาทต่อหน่วย หรือ 0.25% ต่อปี
เมื่อซื้อแล้วก็ลุ้นรางวัลได้ทุกเดือน ตั้งแต่รางวัลที่ 1 มูลค่า 10 ล้านบาท ไปจนถึงรายวัลย่อยจำนวนมาก ซึ่ง และเมื่อครบอายุการฝาก ก็จะได้รับเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยด้วย เช่น ราคาหน่วยละ 20 บาท ก็จะได้คืน 20.05 บาท เป็นต้น
ขณะที่ ธกส. ก็มีสลากออมทรัพย์เช่นเดียวกัน มีทั้งหมด 2 รูปแบบ คือ สลากออมทรัพย์เกษตรยั่งยืน ที่ราคาหน่วย 20 บาทเช่นเดียวกัน ฝากขั้นต่ำก็ 20 บาท หรือซื้อแค่หน่วยเดียวก็ยังได้ และสูงสุดไม่เกิน 2 แสนบาทต่อครั้ง แต่อายุกำหนด 2 ปี ทำให้จะสามารถลุ้นรางวัลได้มากขึ้นเป็น 24 งวด อัตราดอกเบี้ยหน่วยละ 0.20 บาท หรือ 0.5% ต่อปี
และ สลากออมทรัพย์ ธกส. ซึ่งขณะนี้มีชื่อชุดว่าเกษตรมั่งคั่ง 4 ราคาหน่วยละ 100 บาท อายุกำหนด 3 ปี อาจจะนานสักหน่อย อัตราดอกเบี้ยหน่วยละ 0.75 บาท หรือ 0.25% ต่อปี ลุ้นรางวัลใหญ่ที่มีมูลค่าสูงสุด 15 ล้านบาท
การออมในรูปแบบนี้ไม่เหมาะกับการหวังเอาผลตอบแทนดอกเบี้ย เพราะอัตราค่อนข้างต่ำ และไม่ใช่การหวังผลตอบแทนในระยะสั้น แต่หากต้องการเสี่ยงดวงลุ้นโชครับรางวัล ในราคาต่อหน่วยที่น้อยมาก แถมยังได้ดอกเบี้ยเล็กๆ น้อยๆ ติดไม้ติดมือ ก็ถือว่าน่าสนใจพอสมควร
มาถึงตรงนี้ต้องบอกเลยว่า จริงๆ แล้วตัวเลือกในการออมเงินค่อนข้างเยอะ และมีรายละเอียดที่จะต้องศึกษาอย่างละเอียด แต่ยังมีอีกวิธีหนึ่งที่บางคนอาจยังไม่รู้ นั่นคือการทำประกัน แต่ไม่ใช่ประกันชีวิต หรือประกันสุขภาพ แต่เป็นการทำ "ประกันออมทรัพย์" หรือ "ประกันเงินออม"
พูดถึงตรงนี้แล้ว แน่นอนว่าต้องเกิดคำถามว่าเจ้าสิ่งนี้คืออะไร แล้วต่างกับการออมเงินปกติอย่างไร?
คำตอบคือ ประกันออมทรัพย์ เป็นประกันที่ออกแบบมาให้ผู้ถือกรมธรรม์ออมเงิน ได้รับความคุ้มครองชีวิตแถมมาด้วย เช่น ความคุ้มครองโรคมะเร็ง พูดง่ายๆ ก็คือเราออมเงินเหมือนปกติ แต่จะสามารถเอาเงินออกมาได้ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาเท่านั้น จะเลือกรับแบบเป็นรายงวด หรือรับเหนาะๆ เป็นก้อนใหญ่ทีเดียวเมื่อครบสัญญาก็ได้
โดยระยะเวลาขั้นต่ำของการออมประเภทนี้อยู่ที่ 5 ปี หรืออาจยาวไป 20 ปีก็มี ผลตอบแทนที่ได้ไม่ต้องเสียภาษี แต่ได้เยอะมาก เพราะเหมาะกับการออมยาวๆ ให้อุ่นใจในอนาคต แต่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ แต่จะมีความยุ่งยากนิกนึงตรงที่เมื่อครบตาสัญญาในกรมธรรม์แล้ว ผู้ที่ถือกรมธรรม์จะต้องทำเรื่องเวนคืนกรมธรรม์ก่อน ถึงจะได้เงินเวรคืนออกมา
การออมแต่ละแบบ ต่างให้ผลตอบแทนที่ต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับแต่ละคนว่าพร้อมที่จะออมเงินในรูปแบบไหน
แต่สิ่งสำคัญคือ การออม ไม่ใช่เรื่องที่จะเห็นผลในวันนี้ แต่จะสะท้อนภาพของเราในอนาคต หากเริ่มออมตั้งแต่เนิ่นๆ อาจกลายเป็นเศรษฐีหลังวัยเกษียณในอนาคตก็เป็นได้