ฉีกกฎเดิม สู่อาชีพในอนาคต

ฉีกกฎเดิม สู่อาชีพในอนาคต

ในอนาคตคนรุ่นใหม่ต้องเตรียมตัวกับอาชีพอย่างไร ลองอ่านความเห็นคนรุ่นใหม่

..........................

คนทั้งโลกต่างรู้ดีว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีสำคัญเพียงใด แต่ไม่ใช่แค่นั้น ต้องมีกระบวนการคิดสร้างสรรค์ เพื่อให้เทคโนโลยีทำงานแทนคน และต้องรู้จักการบริหารจัดการ

ซึ่งหลายคนต่างรู้ดีว่า ในอนาคตบางอาชีพจะหายไป โดยเฉพาะอาชีพที่ทำซ้ำๆ เหมือนกันทุกวัน หุ่นยนต์(Robotic) และปัญญาประดิษฐ์ (AI-Artificial Intelligence ) จะสามารถทำงานแทนได้ 

ส่วนอาชีพใหม่ที่กำลังมาแรง และจำเป็นต้องมีทักษะเพิ่มเติม อย่างอาชีพ Data Scientist , Digital marketing ,นักบัญชีที่คิดกลยุทธ์การลงทุนได้ด้วย ฯลฯ

ในงานThailand MBA Forum : Wisdom to the Future ซึ่งทางนิตยสาร MBA ร่วมกับสถาบันการศึกษาสองแห่ง บรรยายให้ความรู้หลายหัวข้อ 

หนึ่งในหัวข้อที่น่าสนใจคือ Lesson from Career ร่วมพูดคุยโดย ปุณยธร สุทธิพงษ์ชัย ผู้จัดการบริษัทครีเอทีฟเวนเจอร์ คนไทยคนแรกที่ร่วมก่อตั้งธุรกิจกองทุนร่วมลงทุน (เวนเจอร์ แคปปิตอล) ในซิลิคอนวัลเลย์ อเมริกา,รณสิทธิ ภุมมา ผู้บริหาร บริษัท Wecosystem  และดร.วิโรจน์ จิรพัฒนกุล กรรมการผู้จัดการ Skooldio

มีประเด็นน่าสนใจ ทั้งเรื่องอาชีพในอนาคต ทักษะที่ต้องเรียนรู้เพิ่มเติม และการค้นหาตัวเองให้เจอ

และนี่คือ ประสบการณ์ส่วนหนึ่งจากพวกเขา...

ก่อนจะมาสู่อาชีพนี้ พวกคุณเรียนรู้อะไรมาบ้าง

ดร.วิโรจน์ : สิ่งที่เราอยากทำจริงๆ คือ อยากใช้คอมพิวเตอร์แก้ปัญหาบางอย่าง ก็เลยไปเรียนปริญญาเอก สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์(MIT) ด้าน Big Data ศาสตร์ที่เอาคณิตศาสตร์มาแก้ปัญหาทางธุรกิจ เพื่อประกอบการตัดสินใจ คุณรู้ไหม ทุกครั้งที่เราจองตั๋วเครื่องบินหรือจองโรงแรม ทำไมราคาถึงสูงขึ้น คนทำงานด้านนี้รู้อยู่แล้วว่า คนจะเข้ามาจองช่วงวันเวลาไหน เขาก็ตั้งราคาให้กำไรมากที่สุด

ปุณยธร : ผมเรียนจบปริญญาตรีวิศวกรรมไฟฟ้าและปริญญาโท วิศวกรรมอุตสาหการ ที่มหาวิทยาลัยมิชิแกน จากนั้น ไปเรียนปริญญาโทด้านธุรกิจที่โรงเรียนธุรกิจเบิร์กลีย์-แฮส มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ที่เลือกที่นั่น เพราะชุมชนรอบๆ น่าสนใจ สองปีที่นั่นผมได้คุยกับคนแถวนั้น ได้เรียนรู้ จนได้ลงทุนในสตาร์ทอัพและเป็นที่ปรึกษาให้บริษัทใหญ่ หาสิ่งใหม่ๆให้พวกเขา จนได้ร่วมก่อตั้งกองทุน เวนเจอร์ แคปปิตอล ในซิลิคอนวัลเลย์ อยากช่วยคนบ้าๆ ที่เอาเงินทั้งชีวิตมาตั้งสตาร์ทอัพ ทั้งๆ ที่รู้ว่าโอกาสเจ๋ง 50 เปอร์เซ็นต์ นอกจากทำในอเมริกาก็อยากช่วยเปิดตลาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

รณสิทธิ : ผมจบเภสัช แต่ถ้าให้ผมเป็นคนขายยา คงเบื่อแน่ๆ ผมชอบด้านการจัดการ ก็เลยไปต่างประเทศ กลับมาทำงานบริษัทเล็กๆ จนวันหนึ่งได้มาบริหารบริษัทมหาชนที่กำลังจะล้มละลายและอยู่ในแผนฟื้นฟู เราก็เสนอตัวแก้หนี้สินหมื่นสองพันกว่าล้านภายในสามปี จนมีรายได้ห้าพันล้านบาท เมื่อบริษัทนั้นออกจากแผนฟื้นฟู ผมก็หยุดทำงาน ออกค้นหาชีวิตแสวงบุญที่อินเดีย ใช้เวลาว่างๆ ปีหนึ่ง และเริ่มเรียนรู้ใหม่ จนได้มาทำงานอีกครั้ง

ตอนผมอายุ 27 ผมมีลูกน้องอายุมากกว่า เขาไม่เชื่อผม จนได้เจอปรมาจารย์บอกว่า หัวหน้าที่จะดูแลลูกน้องที่อายุมากกว่าได้ ต้องเรียนรู้ให้เร็วกว่าพวกเขา ส่วนงานบริหาร ต้องรู้ทั้งเรื่องการเงิน บัญชี และบุคคล รวมถึงการขนถ่ายพลังงานในโลกนี้ ต้องรู้ให้หมด มันเป็นความรอบรู้ที่จำเป็น

ในอนาคต คนทำงานควรมีทักษะอะไรเพิ่มเติม

 ดร.วิโรจน์ : เทคโนโลยีเปลี่ยนเร็วขึ้นเรื่อยๆ คนรุ่นใหม่ยิ่งเรียนรู้เร็ว ยิ่งได้เปรียบ ผมไม่อยากให้วิ่งตามกระแส สิ่งสำคัญคือ ต้องมีความรู้พื้นฐานที่ดี ถ้าเป็นอย่างนั้นเวลาจะศึกษาอะไรเพิ่มเติมก็ไม่ยาก ผมเองก็ศึกษาด้วยตัวเองเยอะมาก เพราะทุกวันนี้ข้อมูลในระบบคอมเยอะ ถ้าจะประมวลผลได้ ต้องลงมือทำเอง ซึ่งเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการฝึกทักษะ

ปุณยธร : การเรียนมหาวิทยาลัย ไม่สำคัญว่าเรียนอะไร แต่สำคัญที่วิธีการเรียนรู้ เพื่อนำไปต่อยอด และไม่จำเป็นต้องรู้ทุกอย่าง ถ้าไม่ลงมือเราจะไม่รู้ มีสิ่งที่เราไม่รู้เยอะมาก เมื่อไม่รู้ก็ต้องทำตัวไม่ฉลาด อย่ากลัวที่จะผิดพลาด ทดลองไปเรื่อยๆ ครีเอทีฟก็เปลี่ยนไปเรื่อย

ถ้าเราเป็นผู้ประกอบการ ต้องถามลูกค้าเยอะๆ ว่าต้องการอะไร อีกอย่างเราต้องทำงานผ่านคนอื่น ก็ต้องช่วยให้พวกเขาเรื่องข้อมูลให้ดีที่สุด ทักษะอื่นๆ ก็จะตามมา

รณสิทธิ : การเป็นผู้ประกอบการต้องเริ่มตั้งแต่เด็ก ผมกำลังดีไซน์คอร์สให้เด็กอายุ 5-7 ปีเรียนเป็นผู้ประกอบการ สร้างระบบนิเวศน์ให้เหมาะกับเขา

ส่วนประสบการณ์ทำงานที่ผ่านมา เจอผู้ประกอบการรายหนึ่งทำปลาหมึกอร่อยมากอยู่ที่หาดใหญ่ แต่มีปัญหาการขนส่งมากรุงเทพฯ จนได้มาคนทำด้านโลจิติกส์ ก็ต่อยอดได้ อีกคนเป็น ผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ ที่ทำปลาสลิดสี่ตัวหนักหนึ่งกิโลได้ เขาสามารถควบคุมความเค็มและอุณหภูมิในการเลี้ยงปลาแต่ละบ่อได้ ทำให้เหมือนกันทั้งประเทศได้ เขาถามผมว่า เขาจะต่อยอดยังไง

อะไรเป็นแรงผลักดันให้อยากทำสิ่งนั้นจนสำเร็จ

ดร.วิโรจน์ : สิ่งที่ผมมองเห็นคือ ช่องว่างบางอย่าง อย่างคนเรียนวิศวะคอมฯ เรียนทฤษฎีเยอะมาก แต่ถ้าบริษัทอยากได้คนที่มีทักษะแตกต่างให้เขียนโปรแกรมที่ไม่เรียนมา ก็ทำไม่ได้ หรือคนที่จบด้านนิเทศฯ สมัยนี้ บริษัทจ้างงานก็อยากได้คนที่มีทำเรื่องคอนเทนต์มาร์เก็ตติ้ง หรือสื่อรูปใหม่ๆ ช่องว่างตรงนี้มีอยู่

ปุณยธร :การนำเทคโนโลยีมาใช้ ต้องดูว่า คนๆ นั้น เคยทำอะไรมาก่อน มีความรู้และข้อได้เปรียบอะไรที่เหนือคนอื่น มีความอดทนที่จะจมกับปัญหาโดยไม่ย่อท้าสักห้าปี สิบปีไหม คนที่ประสบความสำเร็จจะมีทั้งความยืดหยุ่น และแข็งแกร่ง พลิกไปพลิกมาได้

ถ้าเราคิดกับมันมากพอ ทดลอง มันจะวนเข้าหาจุดศูนย์กลาง ยิ่งหาตัวเองได้เจอเร็วยิ่งดี คีย์เวิร์คคือ อย่าคิดเยอะ อย่าอ่านเยอะ อย่าคุยเยอะ ต้องทำๆๆๆ และต้องลองอะไรใหม่ๆ

ผมเคยเจออาจารย์ท่านหนึ่งอายุ 60 เดินแสวงบุญพันกิโลจากเยอรมันไปโปรตุเกส ในสามสิบวัน ทำไมเดินได้ ทั้งๆ ที่เดินจนเท้าบวม เขาบอกผมว่า คุณต้องอยากทำสิ่งนั้นมากกว่าสิ่งอื่น

รณสิทธิ : ถ้าสมัยผม ผมจะบอกว่าต้องเรียนเอ็มบีเอ แต่สมัยนี้ต้องเรียนรู้กระบวนการดีไซน์ความคิด การจัดการเป็นเรื่องที่เรียนรู้ทั่วไปได้ สมัยนี้เอ็มบีเอจึงไม่ใช่แล้ว อย่ากลัวการเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงอย่างรุ่นผมจะมาทุก 7 ปี แต่น้องๆ รุ่นใหม่จะทุกปี ถ้าเรามีคอมฟอร์ทโซนอะไรบางอย่าง จงละทิ้งมันไป ให้คอมฟอร์ทโซนมันเล็กที่สุด เดี๋ยวนี้เลือกได้

อาชีพอะไรที่จะหายไปในอนาคต

ดร.วิโรจน์ : หุ่นยนต์จะมาช่วยมนุษย์งานที่ต้องผลิตซ้ำ ถ้ามีข้อมูลเยอะขึ้น หุ่นยนต์ก็จะฉลาดขึ้น แต่ทุกอาชีพที่หุ่นยนต์ทำไม่ได้คือการสังเคราะห์ สุดท้ายคนจะอยู่ในมุมที่ตัวเองถนัด ถ้าเราเป็นนักบัญชีธรรมดา แล้วจะทำยังไงให้ถีบตัวเองขึ้นไป ต้องเป็นนักบัญชีที่วางแผนกลยุทธ์ได้ด้วย

นักสถิติตอนนี้ก็ไม่ต่างจากนักสถิติเมื่อร้อยปีที่แล้ว วิเคราะห์ข้อมูลและตัวเลข แต่ปัจจุบ้ันต้องอาศัยเทคนิคใหม่ๆ และโปรแกรมที่คิดขึ้น เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ ความรู้พื้นฐานยังเหมือนเดิม แต่สิ่งที่ต้องทำคือ ต้องปรับตัวพยายามหาจุดที่เราเก่งกว่าคอมพิวเตอร์ให้เจอ ก็จะสร้างมูลค่าให้กับอาชีพได้

ปุณยธร : ทักษะที่จะอยากได้คือ เราจะควบคุมเครื่องมือเยอะๆ ใช้คนน้อยๆ ได้ยังไง เราอาจไม่ต้องขับรถแทรกเตอร์ แต่จะควบคุมรถแทรกเตอร์ 5-10 คันได้

งานพวกประสานงานและวิเคราะห์จะหายไปเยอะ เพราะมีซอฟแวร์ช่วยทำงานประสานงานและวิเคราะห์ เพราะไม่มีสมองคนที่จะวิเคราะห์ได้เร็วเท่าปัญญาประดิษฐ์ (AI-Artificial Intelligence )แต่ต้องมีข้อมูลครบ ข้อสำคัญจะตั้งคำถามยังไงให้ AI ตอบ ตรงนี้ยังทำไม่ได้ ต้องย่อยให้มันวิเคราะห์ได้ ต้องมีข้อมูลมากพอและคำถามย่อย ซึ่งเป็นเรื่องการสังเคราะห์ข้อมูล เป็นทักษะในอนาคต