ตกงาน อ่านเรื่องนี้

ตกงาน อ่านเรื่องนี้

“ตกงานกินมาม่า” ก็แค่วาทกรรม เพราะถ้าของจริงมาถึง แค่ประหยัดก็ยังไม่พอสำหรับการอยู่รอด

คนเรามีอุบัติเหตุชีวิตได้เสมอ แล้วที่โหดกว่านั้น คือ เรื่องร้ายๆ มักจะมาแบบไม่บอกกล่าว

หนึ่งในความคลาสสิคที่สุดของอุบัติเหตุชีวิตก็คือประโยคทำนองว่า “คุณถูกให้ออก!” ที่ไม่ว่าจะพูดด้วยวาจาอ้อมโลกหรือขวานผ่าซาก ไม่ว่าจะจากกันด้วยใจหรือจะมาสายโหด ความหมายก็ไม่ต่างกัน

ให้ออก ก็คือ ให้ออก

ความโลกสวยจึงต้องหยุดไว้เพียงเท่านี้ เพราะถึงเวลายอมรับความจริงกันได้แล้ว

เงินทองต้องจัดการ

ถ้าใครติดตามอ่านผลงานของ กาญจนา หงษ์ทอง คอลัมนิสต์ด้านการเงินส่วนบุคคล มักต้องผ่านตากันบ้างกับคำแนะนำที่ว่า คนเราควรมีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินอย่างน้อยๆ ก็ 6 เท่าของค่าใช้จ่ายที่จำเป็นใน 1 เดือน

“เสาเข็มชีวิต คือ เงินสำรอง ซึ่งคนเราควรมีเงินสำรองคิดตามภาระค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายทุกเดือน คูณไปอย่างน้อย 6 เดือน เพราะตามสถิติแล้ว คนเราถ้าตั้งใจหางาน ส่วนใหญ่จะหางานได้ ภายใน 3-6 เดือน ฉะนั้นเงินก้อนที่เราเก็บไว้เผื่อฉุกเฉินก็จะเป็นประโยชน์ในช่วงนี้ ทำให้เราไม่ต้องพะวง สามารถหางานที่เหมาะสมได้มากขึ้น” กาญจนา เอ่ย

และบอกต่อว่า “มนุษย์เงินเดือนทุกวันนี้ ต่อให้ไม่ถูกเลิกจ้าง แต่ลำพังเงินเดือนที่ได้รับก็วิ่งตามค่าครองชีพไม่ทันแล้วสำหรับหลายๆ คน ฉะนั้นดีที่สุด คือ อย่าประมาท เพราะเรื่องพวกนี้ ถ้าคุณเป็นผู้โชคดี ปุ๊บปั๊บรับโชค สิ่งแรกที่ต้องทำ คือ ตั้งสติ จากนั้นต้องทำความเข้าใจในผลประโยชน์ที่ตัวเองควรจะได้รับตามกฎหมายแรงงาน ถ้านายจ้างให้ไม่เท่าที่กฎหมายกำหนด เช่นถ้าเราอายุงานเกิน 10 ปี ต้องได้ชดเชย 10 เดือน ถ้าได้ไม่ถึง ก็ไม่ควรเซ็นยินยอม โดยเฉพาะกรณีถูกเลิกจ้าง เราต้องได้รับเงินชดเชยตามพรบ.คุ้มครองแรงงาน ตามอายุงานของเรา”

สเต็ปถัดมา คือ ให้รีบกลับมาสำรวจงบดุลการเงินของตัวเองว่า มีหนี้สินเท่าไหร่ มีสินทรัพย์อะไรบ้าง รายได้และค่าใช้จ่ายเป็นอย่างไร ต้องรายงานให้หมด เพื่อจะรู้สถานการณ์ที่แท้จริงว่า เป็นอย่างไร

ในมุมมองของเธอเห็นว่า การตกงาน ก็ถือเป็นโอกาสดี เพราะทำให้ได้ทบทวนชีวิตตัวเองว่า ที่ผ่านมาเราใช้จ่ายกับอะไรที่ไม่สมควรหรือเปล่า เช่น จ่ายค่าฟิตเนสเป็นหมื่นทั้งๆ ที่ไม่ค่อยได้ไป

“เมื่อเรารู้ว่า อะไรคือ ความฟุ่มเฟือยก็ให้กำจัดออกไปจากชีวิตซะ” เธอแนะ

ส่วนที่ห้ามลืมเด็ดขาดหลังจากมีสถานะ “ตกงาน” ห้อยท้ายก็คือ ต้องไปรายงานตัวในฐานะคนว่างงานที่สำนักจัดหางาน เพราะเงินที่เราจ่ายเข้าสมทบในประกันสังคมทุกๆ เดือนนั้น นี่แหละ คือ เวลาถอนทุนคืน เพราะเราสามารถได้เงินทดแทนระหว่างการว่างงานในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ยต่อเนื่องกัน 6 เดือนกรณีถูกเลิกจ้าง (ร้อยละ 30 ต่อเนื่อง 3 เดือนกรณีลาออกเอง) โดยคำนวณจากฐานเงินสมทบขั้นต่ำเดือนละ 1,650 บาท และฐานเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท

นอกจากเงินทดแทนก้อนนี้ที่แม้จะไม่ใช่เงินก้อนใหญ่ไฮโซอะไร แต่ก็ดีกว่าไม่ได้เลยนั้น เรายังสามารถรักษาสิทธิในการได้รับความคุ้มครองในฐานะผู้ประกันตนต่อได้อีก 6 เดือน หลังจากนั้น ก็ยังสามารถรักษาสถานภาพต่อได้ด้วยการจ่ายเงินสมทบด้วยตัวเองเดือนละ 432 บาท

สำหรับเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพซึ่งกฎหมายได้เปิดทางให้เราสามารถหยุดพักการส่งได้ (ถ้าเอาเงินออกมาในขณะที่เราอายุไม่ถึง 55 ปี จะไม่ได้รับการยกเว้นทางภาษี) ฉะนั้น ถ้าไม่เดือดร้อนจริงๆ ถึงขนาดต้องใช้เงินก้อน เราสามารถรักษาสภาพไว้ได้โดยขอหยุดพักการส่งเงิน (ตามเงื่อนไขของแต่ละกองทุน) เมื่อได้งานใหม่ค่อยทำเรื่องย้ายเงินไปสู่กองใหม่ได้

หลังจากจัดการเรื่องเงินทอง รวมถึงสิทธิที่พึงมีเรียบร้อยแล้ว ก็ถึงเวลาทบทวนตัวเองว่า ถนัดหรือเชี่ยวชาญในเรื่องไหน เพื่อวางแผนเส้นทางในอนาคต แต่!!! สำหรับคนมีฝัน อยากจะมีกิจการเล็กๆ เปิดร้านเก๋ๆ อย่าเพิ่งดีใจไป เงินก้อนที่ได้จากการถูกให้ออกครั้งนี้ ไม่ได้มีเพื่อการลงทุนธุรกิจเสมอไป

“ขอให้รักษาไว้ด้วยชีวิต ระมัดระวังในการใช้จ่าย บางคนคิดว่า เออดีเลย กำลังอยากทำร้านกาแฟในฝัน ทั้งๆ ที่ไม่ได้เหลียวมองรอบข้างเลยว่า มีร้านกาแฟกี่ร้าน ขอให้อย่าผลีผลาม ใช้เงินอย่างระวังที่สุด ถ้ามีหนี้ ให้ใช้หนี้ก่อน โปะบ้าน โปะรถ หรืออาจจะจัดสรรเพื่อการลงทุนนิดหน่อยก็ได้ แต่ไม่ใช่ทั้งหมด” กูรูด้านการเงินเอ่ยแนะนำ

พลิกวิกฤติ คว้าโอกาส

จัดการชีวิตเบื้องต้นเรียบร้อยแล้ว ก็ถึงเวลาเดินหน้าหาอนาคตกันได้!

สำหรับ เกรียงไกร กาญจนะโภคิน แห่งอินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ เจ้าพ่ออีเวนท์รายใหญ่ของเมืองไทย ที่หันมาชิมลางศึกษาตลาดเพื่อนบ้านอย่างจริงจัง เขายืนยันว่า การหางานไม่ใช่เรื่องยาก โดยเฉพาะถ้าเรารู้จักเปิดมุมมองใหม่ และอย่าคิดว่า งานมีแต่ในกรุงเทพฯ หรือ มีแค่ในประเทศไทยเท่านั้น

“อย่าตีกรอบตัวเองว่า จะหางานแค่ในกรุงเทพฯ ลองกลับบ้านที่ต่างจังหวัดดูมั้ย มันอาจจะมีอะไรที่น่าทำก็ได้ โดยเฉพาะถ้าเป็นจังหวัดท่องเที่ยว หรือจังหวัดในเขตชายแดนซึ่งยังถือว่า มีโอกาสเติบโตสูง มันก็ต้องแปลว่า มีงานรออยู่ข้างหน้า อยู่ต่างจังหวัด เงินเดือนอาจได้น้อยกว่า แต่ค่าครองชีพก็ถูกกว่าเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นเรื่องสำคัญ คือ อย่าตีกรอบตัวเอง” เขาเอ่ยพร้อมแนะถึงประเภทอุตสาหกรรมที่ยังมีอนาคตว่า ยังคงเป็นธุรกิจก่อสร้างอินฟราสตรัคเจอร์ที่ขยายตัวตามการลงทุนของรัฐบาล

และแม้การเลิกจ้างของบริษัทรถยนต์รายใหญ่จะส่งผลสั่นคลอนความมั่นใจของมนุษย์เงินเดือนทั้งหลาย แต่ก็ไม่เสมอไปว่า อุตสาหกรรมนี้แย่ แล้วอุตสาหกรรมอื่นจะแย่ตามไปด้วย และบริษัทอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกันก็ใช่ว่าจะแย่เหมือนกันเสมอไป

นอกจากนี้ เขาย้ำว่า เราอยู่ในยุค AEC ฉะนั้นเราก็ควรมองหาตลาดงานในประเทศเพื่อนบ้านด้วยเช่นกัน เพราะในประเทศเพื่อนบ้านไม่ว่าจะเป็นพม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม หรือฟิลิปปินส์ ก็ยังเป็นประเทศที่มีโอกาสเติบโตได้อีกมาก และแรงงานไทยเองก็ได้รับการยอมรับอย่างดี แถมถ้าไป ก็จะได้รับค่าจ้างที่สูงกว่าอีกด้วย

แต่ถ้าใครไม่อยากกลับมาเป็นลูกจ้าง หรือฝันอยากจะอินเทรนด์เป็นสตาร์ทอัพกับเขาบ้าง ก็ขอให้คิดให้หนัก เพราะมันไม่ได้ง่ายขนาดนั้น

“อย่าไปฝันมากมาย ขอให้คิดบนหลักความจริง อย่างเรื่องพื้นฐานเลยก็คือ ให้ลองหาธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ไปดูว่า เราจะเซิร์ฟอะไรในธุรกิจนี้ได้บ้าง”

ในความเห็นเจ้าพ่ออีเวนท์รายนี้ ยังคงไม่ต่างกับกาญจนา นั่นคือ ก่อนตามหาความฝัน ขอให้มั่นใจว่า มีเงินสำรองเพียงพอ เพราะการมีเงินสำรองใช้จ่ายได้อย่างต่ำ 6 เดือน จะเป็นตัวช่วยเพิ่มโอกาสให้เราได้งานที่ดีได้

“ถ้าเราไม่เลือกงานเลย ก็อาจกลายเป็นว่า เราต้องเสียโอกาสที่จะได้ทำงานดีๆ ไป ฉะนั้นถ้าพอมีเงินสำรอง ก็จะช่วยให้ค่อยๆ คิด ค่อยๆ หางานที่ใช่สำหรับตัวเราได้” เขาเอ่ยย้ำ

เดินหน้าหางาน

สำหรับใครที่หางานบ่อย คงเชี่ยวชาญด้านการเขียนเรซูเม่ แต่กับใครที่โชคดีได้รับซองขาว และทำงานอยู่ที่เก่ามานานๆ อาจลืมกันไปบ้างว่า เรซูเม่ เดี๋ยวนี้เขาทำกันอย่างไร เรื่องนี้ อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา กรรมการบริหาร บ.ออคิด สลิงชอท จำกัด มีคำตอบ..

“เรื่องแรกที่สำคัญมาก คือ ต้องเตรียมพร้อมเสมอ อย่าคิดว่า บริษัทของเรายังดีอยู่ เราคงไม่เป็นไร เพราะอะไรก็เกิดขึ้นได้ ฉะนั้นเรื่องที่ควรทำก่อนจะไปอัพเดทเรซูเม่ คือ เราต้องอัพเดทตัวเองเสียก่อน พยายามหาความรู้ใหม่ๆ ให้กับตัวเอง ส่วนเรื่องเรซูเม่ก็สามารถหาอัพเดทได้ตามอินเทอร์เน็ตมากมาย ตามเว็บไซต์หางาน แค่ลองเข้าไปดูเท่านั้น ก็ควรทำให้มันดูเป็นมืออาชีพหน่อย” อภิวุฒิ อธิบาย

และเสริมด้วยว่า เรื่องสำคัญที่คนมักจะมองข้ามกันมาก คือ รูปถ่าย ซึ่งควรจะเลือกรูปที่ดูดี สวยงาม น่าเชื่อถือ เพราะสิ่งแรกที่ฝ่ายเอชอาร์จะดูเราได้ก็คือ เรซูเม่ และรูปถ่ายที่แนบมาของเรา

“ก็เลือกรูปที่มันดูดีหน่อย ไม่ใช่ว่าเห่ยเหมือนรูปถ่ายติดบัตร คือ ปกติรูปถ่ายมันควรจะดูดีกว่าตัวจริงอยู่แล้ว แต่พอรูปเรามันแย่ เขาก็ต้องคิดว่า แล้วตัวจริงจะเป็นยังไง แล้วเขาก็อาจจะมองได้ว่า เราไม่ได้มีความตั้งใจที่มากพอ ขนาดจะสมัครงานยังทำมาส่งๆ เลย” ผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรบุคคลเอ่ยแนะนำ

พร้อมๆ กันก็ควรไปอัพเดทเทคนิคการสัมภาษณ์งานไว้ด้วย เพราะเดี๋ยวนี้ การสัมภาษณ์งานเขาไม่ได้ดูกันแค่การศึกษา ประวัติ หรือผลงานเท่านั้น แต่ยังรวมถึงทัศนคติ ความรู้สึกนึกคิด ที่สะท้อนจากการพูดคุยกับเราอีกด้วย

และเรื่องสุดท้ายที่สำคัญมาก แต่ก็มักถูกมองข้ามเสมอนั่นคือ ประวัติแต่หนหลังของเหล่ามนุษย์โซเชียลทั้งหลาย

“ก่อนจะไปยื่นใบสมัครงานที่ไหน ขอให้ไปไล่ลบข้อความหรือภาพที่ไม่เหมาะสมออกจากโซเชียลมีเดียเสียก่อน ไม่ว่าจะเป็นประเด็นหรือคำพูดต่างๆ ที่คิดว่ามันไม่ดี ก็ลบออกเสีย เพราะเอชอาร์เดี๋ยวนี้ เขาไล่เช็คประวัติผู้สมัครบนช่องทางออนไลน์กันแทบทั้งนั้น แค่เอาชื่อไปเสิร์ชหา แป๊บเดียวก็ขึ้นมาแล้ว”

เพราะคงคุ้นกันดีกับข่าวการถูกเชิญออกของพนักงานที่ทำตัวไม่เหมาะสมบนโลกโซเชียลกันอยู่เนืองๆ ด้วยเหตุผลว่า ทำให้องค์กรเสียชื่อเสียง 

ฉะนั้นก็คงไม่มีบริษัทไหนอยากจะรับใครที่มีความเสี่ยงเข้ามาเพิ่ม!