ฤาจะถึงจุดสิ้นสุดกระแสเรโทร

 ฤาจะถึงจุดสิ้นสุดกระแสเรโทร

จากการรียูเนียนของวงแกรนด์เอ็กซ์จนถึงยอดขายบัตรหมดเกลี้ยงของวงเฉลียงเกิดคำถามว่า แล้ววงการเพลงไทยจะหยิบอะไรมาสร้างเป็นปรากฏการณ์ครั้งต่อไป




ยุคสมัยปัจจุบันที่ศิลปินเพลงไทยถนัดจะออก ‘ซิงเกิ้ล’ มากกว่าออก ‘อัลบั้ม’ บางวงใช้เวลานานหลายปี กว่าจะทำอัลบั้มเต็มสำเร็จ ดังนั้น การจะสร้างตัวตนให้เห็นเด่นชัด หรือนำเสนอศักยภาพความเป็นศิลปินเพลง จึงไม่ใช่เรื่องง่าย และแตกต่างจากอดีตอย่างสิ้นเชิง

วันนี้ แม้เราจะมีนักร้องนักดนตรีผุดขึ้นมากมาย แต่กลับกลายเป็นว่า โอกาสในการพัฒนาจากสถานะ ‘ศิลปินกำลังพัฒนา’ (developing artist) ไปสู่ความเป็นศิลปินอย่างแท้จริง (established artist) ไม่ได้เกิดขึ้นแก่ทุกๆ วงดนตรี บางวงล้มหายตายจากไปก่อนเวลาอันควร บางวงที่ยังอยู่ ต้องร้องเพลงคัฟเวอร์ของศิลปินอื่นในงานแสดงสด เพราะมีเพลงของตัวเองจริงๆ แค่ 2-3 เพลงเท่านั้น

ในช่วงที่วงการเพลงไทยยัง(ดูเหมือนว่า)จะผลิตศิลปินตัวจริงไม่ทันเวลาเช่นวันนี้ การย้อนกลับไปหาศิลปินที่มีชื่อเสียงเมื่อครั้งอดีต ชักชวนพวกเขาให้มารวมตัวเล่นดนตรีอีกครั้ง จึงเป็นทางออกหนึ่งที่สอดรับกับกระแสการฟังเพลงย้อนยุค (retrospective) และตอบสนองต่ออาการถวิลหาอดีต (nostalgia) ของมิตรรักแฟนเพลงได้เป็นอย่างดี

ความจริงมีอยู่ว่า กระบวนการย้อนยุคที่ว่านี้ได้เกิดขึ้นและดำเนินอย่างต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว โดยมีความหลากหลายในรูปแบบ ทั้งวงดนตรีใหญ่น้อย นักร้องรุ่นนั้นรุ่นนี้ และแนวเพลงต่างๆ แต่เมื่อทรัพยากรเก่ากำลังถูกนำมาใช้งานจนแทบหมดสิ้น โดยเฉพาะวงดนตรีระดับแม่เหล็ก ที่มีฐานแฟนเพลงในวงกว้าง อย่าง ‘อินโนเซ็นต์’ เมื่อปี 2552 จนมาถึง ‘แกรนด์เอ็กซ์’ และ ‘เฉลียง’ ในปีนี้แล้ว ดูท่าวงการเพลงไทยคงต้องใช้เวลาอีกนานพอสมควร กว่าจะกลับมาหามุขเดิมๆ ในเรื่องของการ ‘รียูเนียน’ กันได้อีก

-1-

“ผมว่าเหนื่อยนะ เพราะในระดับที่เป็น legend (ตำนาน) ก็แทบจะหมดแล้วล่ะ ตอนนี้เหลือเพียง แกรนด์เอ็กซ์ และ เฉลียง ที่มีความเป็น unique (เป็นหนึ่งเดียว) และมีฐานแฟนเพลงที่ชัดเจน”

ญาณกร อภิราชกมล กรรมการบริหาร บริษัท ครีเอท อินเทลลิเจ้นซ์ จำกัด ผู้จัดงานคอนเสิร์ต ‘ปรากฏการณ์เฉลียง’ ที่สร้างปรากฏการณ์ขายบัตรคอนเสิร์ตได้เร็วที่สุดในปีนี้ สะท้อนภาพให้ฟัง

“หากผ่านพ้นจาก 2 วงนี้ไปแล้ว เมื่อมองย้อนกลับไปว่าเหลือใครบ้าง ก็แทบจะมองไม่เห็น โดยเฉพาะวง อย่าง อินโนเซ็นต์ แกรนด์เอ็กซ์ และ เฉลียง ทั้ง 3 วงต่างห่างหายจากเวทีไปนาน จึงไม่เหมือนหลายๆ วง ซึ่งเป็น legend แต่พวกเขายังมีการแสดงให้แฟนเพลงได้เห็นได้เสพมาโดยตลอด ก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง ทำให้คาแรคเตอร์ หรือความต้องการของแฟน ไม่เท่ากับ 3 วงนี้”

มุมมองของ ญาณกร สอดคล้องกับความคิดของ วิภว์ บูรพาเดชะ บรรณาธิการ Happening ที่เห็นว่า กระแสย้อนยุคในวงการเพลงที่จะประสบความสำเร็จได้นั้น ต้องเป็นเรื่องของการกลับมา หลังจากห่างหายไปนานจริงๆ ไม่ใช่การย้อนยุคที่เกิดขึ้นบ่อยๆ หรือซ้ำซาก จนขาดคุณค่าทางด้านความรู้สึก

หากพิจารณาจากเงื่อนไขนี้ ก็ดูเหมือนจะไม่มีวงดนตรีใดเหลือให้สร้างกระแสย้อนยุคหรือถวิลหาอดีตกันอีกแล้ว คงต้องรอไปอีกสักพักอย่างแน่นอน

-2-

ในทัศนะของนักวิจารณ์ อย่าง พอล เฮง เห็นว่า ด้วยระยะเวลาประมาณกว่า 10 ปีที่ผ่านมา หลังมีการเปลี่ยนรุ่นของคนฟังเพลง ทำให้นักร้องและวงดนตรีที่อยู่ในยุค 80-90s ได้กลับมาจัดคอนเสิร์ตใหญ่ รำลึกความหลังกับแฟนเพลงเมื่อครั้งอดีต และในเวลาเดียวกัน ยังรวมกลุ่มเชื่อมโยงกับคนรุ่นใหม่ได้ด้วย

“ช่วงแรก ๆ ก็มีการถวิลหากันอย่างมากมาย กับการที่จะได้ฟังเพลงแบบดั้งเดิมจากเจ้าของเพลง ทำให้ประสบความสำเร็จอย่างสูงและสวยงาม เติมเต็มกันและกันได้ นักร้องและวงดนตรีรู้สึกว่า ตัวเองยังมีคุณค่าทางความรู้สึกกับแฟนเพลง และสามารถสร้างรายได้อย่างมหาศาล จนกลายป็นเทรนด์ ในส่วนของคนดูก็พร้อมที่จะจ่าย เพราะอยู่ในวัยทำงานมีกำลังซื้อที่มากขึ้น จึง ‘วิน-วิน’ กันทุกฝ่าย”

แต่แล้ว ความเฝือก็ตามมา เมื่อทุกฝ่ายต่างใช้ประโยชน์จากคุณค่าอดีตกันหมด

“จุดเปลี่ยนที่สำคัญที่ทำให้เกิดการเฝือ คือหลังจากแสดงคอนเสิร์ตใหญ่ในแง่รียูเนี่ยน ประมาณ 70-80% ของวงดนตรีเหล่านี้จะทำการเก็บเบี้ยใต้ถุนร้าน เดินสายเล่นคอนเสิร์ตตามที่ต่าง ๆ ตอนแรกก็ใหญ่หน่อย จนกลายเป็นการเล่นผับบาร์ทั่วไป ทำให้ความขลัง และหาดูยาก ที่เคยเป็นเสน่ห์ในการรอคอยหายไป คนดูเริ่มเอียน นักร้องและวงดนตรีเก่าเหล่านั้นก็หายไป และไม่มีใครอยากดูอีก รวมถึงความถี่ที่เล่นกันทุกปีสำหรับวงใหญ่ แม้ไม่เดินสาย คนดูก็ไม่อินอีกต่อไป”

ไม่เพียงความเฝือ แต่สังขารที่เปลี่ยนไปของศิลปินก็ยังเป็นโจทย์ที่ต้องการการแก้ไขให้เหมาะสมและดูดี

“อีกอย่างคือเรื่องอารมณ์ความรู้สึก คนดูรุ่นนั้นมักจะมีภาพจำฝังแน่นแช่แข็ง คือภาพวัยหนุ่มสดใส เปี่ยมพลัง และเพลงฮิต แต่เมื่อมาเจอวัยที่ร่วงโรยและอ่อนแรง มาร้องเพลงอดีต มันก็ย้อนแย้งได้ แต่ความสุขที่ได้พบเจออีกครั้ง หรือคนที่ไม่เคยสัมผัสคอนเสิร์ตได้เติมเต็มสิ่งที่ขาดหายไป แต่ไม่ประทับใจ จุดนี้สำคัญ คือผ่านแล้วผ่านเลยไป ไม่ถวิลหาอีกแล้ว ส่วนคนดูรุ่นใหม่ก็ไม่ได้สนใจมากมาย หากไม่มีกระแส เพราะเพลงและดนตรีเป็นเรื่องของยุคสมัยใครสมัยมัน” พอล เฮง สรุปความ

ในความเห็นของพิธีกรและนักจัดรายการที่คลุกคลีในวงการเพลงมายาวนาน อย่าง โรจ ควันธรรม ยืนยันว่า การกลับมาของศิลปินเพลงจากอดีตไม่ใช่เรื่องเสียหาย เพราะในต่างประเทศ ศิลปินระดับตำนานจำนวนไม่น้อยก็มีความเคลื่อนไหวอยู่เสมอๆ แต่ปัญหาคือ การแสดงคอนเสิร์ตต้องมีมาตรฐานอย่างที่พึงเป็น

“ส่วนตัวผม จะให้น้ำหนักกับเนื้อของดนตรี กับความคิดสร้างสรรค์เสียมากกว่า เพราะเพลงเป็นงานศิลปะ ดังนั้น ผมจะถามก่อนเลยว่า ศิลปิน fit (แข็งแรง) พอรึเปล่า เต็มที่มั้ยกับการร้องและแสดงออก ตรงนี้เป็นจุดชี้วัดความสำเร็จ บางที วัยก็อาจจะไม่ใช่เรื่องสำคัญ ศิลปินต่างประเทศยิ่งแก่ยิ่งมัน ดูอย่าง มิค แจ็คเกอร์ สิ (วง The Rolling Stones) เขากระโดดโลดเต้น ทำทุกอย่างบนเวทีเหมือนคนหนุ่มๆ เลย ซึ่งทำให้คนฟังที่เป็นแฟนเพลงวัย 60-70 รู้สึกฮึมเหิมขึ้นมาได้เหมือนกัน นี่แหละคือพลังของดนตรี” พิธีกรหมึกกล่าว

-3-

แม้การฟังเพลงย้อนยุค (retrospective) จะเป็นความหมายในเชิงบวก แต่หากเปรียบเทียบระหว่างวงการเพลงไทยกับเพลงสากล ก็ยังมีความแตกต่างให้เห็น

“อย่างแรกเลย การรวมเพลงเก่า มันแทบไม่มีต้นทุน” คมสัน นันทจิต ในฐานะตัวแทนคนฟัง ทำหน้าที่อภิปราย ก่อนจะเสริมว่า “พอต้นทุนต่ำ ค่ายเพลงก็เลยชอบเอามาหากินเรื่อยๆ เอามาเปลี่ยนแพ็คเก็จขายใหม่ ซึ่งสำหรับฝรั่ง เขาตั้งใจทำ ก็จะมีบุ๊คเล็ท มีเพลงใหม่ มีเพลงที่เพิ่งเผยแพร่ แต่สำหรับเพลงไทย ผมไม่เคยเห็นความพยายามตรงนี้ เช่นเดียวกันคอนเสิร์ตเพลงย้อนยุค ผมว่าหากศิลปินระดับตำนานจะกลับมาพร้อมกับผลงานใหม่ ก็จะสร้างคุณค่าดีๆ ขึ้นมาได้อีก และยังเป็นการสื่อสารกับคนฟังทั้งเก่าและใหม่ได้อีกด้วย ว่าพวกเขายังเจ๋งอยู่นะ”

พอล เฮง เสริมในประเด็นนี้ว่า

“ในแง่ความถวิลหาอดีต ถือเป็นตลาดเฉพาะกิจ คงคล้ายๆ กัน อย่าง ดิ อีเกิลส์ , กันแอนด์โรสเซส เป็นต้น พอมาทีก็ได้รับการตอบรับระเบิดเช่นกัน ส่วนมูลค่าตลาด ของไทยมีจำกัด มาตูมเดียวหาย ไม่สามารถเบรกอีเวนได้ รวมถึงการต่อยอดที่จะออกอัลบั้มใหม่ ไทยไม่มีเลย ส่วนมากเอาของเก่าหากินในช่วงเวลานั้น ซึ่งสะท้อนภาพว่า วงไทยไม่ค่อยเขียนหรือแต่งเพลงเอง ทำให้เกิดข้อจำกัดในการทำงานใหม่ เพราะทีมทำเพลงหายไปหมดแล้ว”

อนาคตของการฟังเพลงย้อนยุคจะเป็นอย่างไรนั้น ผู้จัดอย่าง ญาณกร ไม่มีคำตอบชัดเจนนัก บอกว่าคงต้องค้นหาหนทางกันต่อไป

“วงการเพลงของเรามาถึงจุดสุญญากาศในบางเรื่องเหมือนกันนะ ไม่ว่าจะด้วยเทคโนโลยี หรือองค์ประกอบทางสังคม เศรษฐกิจ ที่ทำให้วิถีของผู้คนค่อนข้างจะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมาก แต่สำหรับ 3 วงนี้ (อินโนเซ็นต์ แกรนด์เอ็กซ์ เฉลียง) ก็เป็นอยู่ในช่วงอายุใกล้เคียงกัน ฐานแฟนเพลงก็อายุ 40 อัพทั้งนั้น เคยฟังตั้งแต่เทปคาสเซ็ทท์ มาเป็นแผ่นซีดี จนถึงกลายเป็นดาวน์โหลดกันหมดแล้ว เพราะฉะนั้น เดี๋ยวนี้ การเข้าถึงศิลปินทำได้ง่ายมาก ทั้งทางออนไลน์ โซเชียลต่างๆ จนขนาดเราเป็นผู้จัดเอง กางรายชื่อศิลปินดู เวลาจะจัดโชว์ สุดท้ายก็เหลือเท่านี้จริงๆ “

แต่นั่นยังไม่ถึงกับไร้ความหวังเสียทีเดียวกัน

“ผมว่ามันคงมีทางไปของมัน แต่นาทีนี้ ถ้าจะให้หยิบออกมาแล้วทำให้เป็นกระแส มันคงไม่ง่ายแล้ว คงเป็นโจทย์ของทางผู้จัดว่าจะห่ออะไรให้ใหม่ขึ้น ส่วนการเอาวงเก่ามาแล้วห่ออะไรให้ใหม่ บางทีก็อาจจะผิดจริตของศิลปิน หรือผิดจริตของคนที่อยากชม ดังนั้น จะเป็นเรื่องที่ยากขึ้นไปอีก จนอาจจะต้องมีรูปแบบของธุรกิจเพลงที่แตกต่างออกไปใน 4-5 ปีนี้”

เช่นเดียวกันกับนักวิจารณ์คนเดิม อย่าง พอล เฮง ที่สรุปท้ายว่า

“อีกเรื่องคือกลไกทางการตลาด ที่ขึ้นอยู่กับเงื่อนเวลาและสถานที่ เวลาที่เหมาะสมลงตัวนั้นผ่านไปแล้ว เพลงยุค 80-90s ผ่านไป 20-30 ปี เปลี่ยนจากเชยเป็นเรโทร ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มได้ ผ่านไปแล้ว ต้องรออีก 10 ปีต่อไป จึงจะขึ้นเป็นวินเทจที่คนโหยหากันอีกครั้ง”

คงต้องรอกันให้ถึงวันนั้น.