Vinyl Revival ถึงยุคแผ่นเสียงฟื้นคืนชีพ

Vinyl Revival ถึงยุคแผ่นเสียงฟื้นคืนชีพ

เมื่อรายได้จากการขายแผ่นเสียงเอาชนะยอดขายบริการสตรีมมิงได้ บ่งบอกถึงคุณค่าของโลก ‘แอนะล็อก’ ที่สามารถดำเนินอยู่คู่ขนานไปกับโลก ‘ดิจิตัล’





“แผ่นเสียงจะฟื้นคืนชีพจริงๆ หรือ”
“วงการแผ่นเสียงใกล้จะถึงยุคฟองสบู่แตกรึยัง”
“จริงมั้ยที่พวกฮิปสเตอร์ทำให้แผ่นเสียงราคาแพงขึ้น”
ฯลฯ

อีกสารพันคำถามที่ผุดพรายขึ้นมาในชั่วโมงนี้ เมื่อเทรนด์ของวัฒนธรรมการฟังเพลงร่วมสมัย กำลังมุ่งหน้าสู่แผ่นกลมๆ ขนาด 12 นิ้ว ที่เรียกว่า “แผ่นเสียง” หรือ “แผ่นไวนิล” หรือ “แผ่นลองเพลย์” (Records, Vinyl Records, Long Play – LP) ซึ่งสุดแท้แต่จะเรียกเอา


แต่โดยรวม ทุกคนกำลังหมายถึง “สิ่งเดียวกัน” นั่นคือ การฟังเพลงจากสัญญาณแอนาล็อก (Analog) ซึ่งตรงข้ามกับทิศทางความก้าวหน้าของโลกดิจิตัล (Digital) ที่พร้อมเสิร์ฟอย่างสะดวกสบายกว่า ทั้งในรูปแบบของการดาวน์โหลดและสตรีมมิง

แทนที่จะเลือกความสะดวกสบาย เพียงแค่ปลายนิ้วสัมผัส ด้วยการฟังเพลงผ่านเครื่องเล่นพกพาอย่างสมาร์มโฟน หรือเชื่อมโยงกับโลกออนไลน์ ฟังผ่านคอมพิวเตอร์ เหมือนอย่างคนฟังเพลงทั่วไป ทว่า คนฟังเพลงกลุ่มนี้ กลับหันมาให้ความสนใจกับเสน่ห์ของโลกหมุนช้า – สโลว์ไลฟ์ ราวกับอาการเสพติดพิธีกรรมก็ไม่ปาน แต่นั่นคือความสุขอีกรูปแบบหนึ่งที่ยากจะปฏิเสธได้

“พวกเขาบรรจงหยิบแผ่นเสียงออกจากซองอย่างทะนุถนอม ปัดฝุ่นละลองบนแผ่นด้วยแปรงขจัดไฟฟ้าสถิตย์ จากนั้นวางลงบนแพลทฟอร์มที่กำลังหมุนด้วยความเร็ว 33 1/3 รอบต่อนาที ตามด้วยการใช้ปลายนิ้วค่อยๆ ยกหัวเข็ม เพื่อวางลงบนร่องเสียงอย่างแผ่วเบา ก่อนที่เสียงดนตรีจะดังกังวานขึ้น

“แทนที่จะปล่อยให้เครื่องเล่นแผ่นเสียงทำงานไปอย่างเดียวดาย พวกเขานั่งลงฟังบนโซฟาตัวโปรด พร้อมๆ กับหยิบปกแผ่นเสียงทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสที่มีขนาดราวๆ 160 ตารางนิ้ว ขึ้นมาซึมซับกับความสวยงามของศิลปกรรมบนหน้าปก บ้างก็อ่านรายละเอียดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับตัวเพลง อาจจะเป็นรายชื่อนักดนตรี คนแต่งเพลง โปรดิวเซอร์ ข้อมูลเบื้องหลัง หรืออะไรอื่นๆ อีกมากมาย ตราบเท่าที่จะบรรจุข้อมูลลงบนปกได้

“พวกเขารู้สึกว่านี่คือสิ่งที่จับต้องได้ เสียงแอนะล็อกที่สุกฉ่ำและมีความเป็นธรรมชาติ ภาพถ่ายและศิลปกรรมที่จับต้องได้ และข้อมูลเพลงที่ได้ซึมซับไปพร้อมๆ กับการฟังเพลงในเวลาเดียวกัน นี่คือประสบการณ์ของชีวิต ที่ฟอร์มแมทเพลง อย่าง “แผ่นซีดี” หรือ “ไฟล์เอ็มพี 3” ไม่สามารถให้ได้

“หลังจากนั้น ไม่เกิน 30 นาที เมื่อหัวเข็มเดินทางมาถึงร่องเสียงท้ายสุดของแผ่นเสียง ก็ถึงเวลาต้องยกอาร์มหัวเข็มขึ้น แล้วพลิกหน้าแผ่นเสียงอีกด้านหนึ่งขึ้นมาฟัง”

0 0 0 0 0

นี่คือไลฟ์สไตล์ที่ครั้งหนึ่งเคยเกิดขึ้น แล้วเกือบจะสูญพันธุ์ไปในช่วงอายุของคนหลายรุ่น ก่อนจะหวนคืนกลับมาอีกครั้งในเวลานี้ ไม่ว่าคนๆ นั้นจะเป็น ‘ฮิปสเตอร์’ หรือไม่ก็ตาม

“ช่วง 5 ปีหลังมานี้ ถือว่าวงการแผ่นเสียงบูมมาก” ชัชวาลย์ สุรเดช เจ้าของร้านแผ่นเสียง Reco Room ย่านเอกมัยซอย 10 ตั้งข้อสังเกต “น่าจะขยายตัวมากขึ้นกว่าเดิมหลายเท่า ซึ่งคนที่ก้าวมาเล่นแผ่นเสียง จะมีทั้งคนรุ่นใหม่ที่มองว่ากิจกรรมนี้สนุกสนาน น่าติดตาม น่าสะสม มีคุณค่าทางความรู้สึก กับคนรุ่นเก่าบางคน ที่อาจจะหลงลืมไปว่าตัวเองก็เคยมีแผ่นเสียง เคยเล่นมาก่อน ก็อาจจะกลับมาให้ความสนใจอีกครั้ง และเกิดเป็นคอมมูนิตีขึ้นมา”

ด้วยกระแสความสนใจของคนเล่นแผ่นเสียงในช่วงกลางทศวรรษที่ 2 ของสหัสวรรษใหม่ ทำให้แผ่นเสียงลองเพลย์ที่พัฒนาขึ้นในยุคกลางทศวรรษ 1950s และครองความนิยมในหมู่คนฟังเพลงยุคเบบี้บูมเมอร์มาตราบจนถึงปลายทศวรรษ 1980s (ก่อนจะสูญเสียความนิยมลงอย่างสิ้นเชิงให้แก่แผ่นคอมแพคดิสก์ และ เอ็มพี 3) ได้ฟื้นคืนกลับสู่วัฒนธรรมการฟังเพลงอีกครั้งในวันนี้ ในนามของ Vinyl Revival หรือ ‘การฟื้นคืนชีพของแผ่นไวนิล’ นั่นเอง

จากรายงานของ นีลเส็น พบว่า นับจากปี 2009 เป็นต้นมา ยอดขายแผ่นไวนิลทั่วโลกเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ ลำพังเฉพาะปี 2009 ตลาดขยายตัวถึง 260 เปอร์เซ็นต์ และทิศทางกำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง จนถึงปี 2015 ไวนิลมีอัตราการขยายตัวถึง 32 เปอร์เซ็นต์ ด้วยรายได้ 416 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งนับว่าแซงหน้ารายได้ของธุรกิจให้บริการสตรีมมิง (Youtube, Vevo, Free Spotify) ที่อยู่ระดับ 385 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปีเดียวกัน เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

แม้การขยายตัวของตลาดแผ่นไวนิลจะไม่ใหญ่โตมากมายอะไรนัก ในสายตาของผู้บริหารค่ายเพลง เมื่อเปรียบเทียบกับมูลค่ารวมของทั้งตลาด แต่ด้วยอัตราการเติบโตที่เพิ่มขึ้นทุกปี ก็นับเป็นแนวโน้มที่น่าจับตาไม่น้อยเช่นกันว่า จะมีโอกาสพลิกโฉมหน้าอุตสาหกรรมดนตรีที่ปัจจุบันนี้ถูกครอบครองด้วยดิจิตัลได้หรือไม่

“ผมคิดว่าตัวตลาดแผ่นเสียงกำลังมีอนาคต และมีศักยภาพที่จะเติบโตต่อไป ดูจากตัวเลขยอดขายที่ดีขึ้นเรื่อยๆ จนแซงหน้าสตรีมมิงไปแล้ว อย่างน้อยๆ นี่คือสิ่งที่บ่งชี้ว่า เพลงที่จับต้องได้ไม่มีวันตาย“ ธนพงษ์ คงธนา ผู้บริหาร ยูนิเวอร์ซัล มิวสิค ประเทศไทย ตั้งข้อสังเกตเอาไว้

0 0 0 0 0

เมื่อพูดถึงตลาดแผ่นเสียง เป็นที่รับรู้กันมีอยู่ 2 ประเภทหลักๆ คือ “แผ่นมือสอง” และ ”แผ่นมือหนึ่ง” เดิมทีในยุคทองของแผ่นซีดีและเอ็มพี 3 เมื่อ 10 กว่าปีที่ผ่านมานั้น คนเล่นแผ่นเสียงจำเป็นต้องเล่นแผ่นมือสองเป็นหลัก เพราะไม่มีการปั๊มผลงานเพลงใหม่ๆ เป็นแผ่นเสียง ด้วยเหตุนี้ ราคาของแผ่นเสียงมือสอง จึงแตกต่างไปในอัลบั้มแต่ละชุด ซึ่งขึ้นอยู่กับความนิยมที่มีต่อศิลปินและผลงานนั้น โดยมีตั้งแต่ระดับราคาไม่กี่ร้อยบาทจนถึงหลักหมื่นบาท

“ว่ากันว่าแผ่นเสียงแผ่นสุดท้ายของวงการเพลงไทย คือชุด ‘เสริมสุขภาพ’ ของโมเดิร์นด็อก กลายเป็นของหายากขึ้นมา มีการปั่นราคาจนสูงขึ้นเรื่อยๆ หรือแผ่นเก่าๆ ของคาราบาว อย่างชุด ‘ท.ทหารอดทน’ ที่ถูกแบน หรือแผ่นนักร้องลูกทุ่งระดับคลาสสิกของไทย อย่าง ศรคีรี ศรีประจวบ พวกนี้ราคาหลักหมื่น นอกจากนี้ ยังมีแผ่นลูกทุ่งอีสานที่หายาก ซาวด์เฉพาะตัวดิบๆ ก็มีฝรั่งมาตามหา เพราะไปสอดรับกับกระแส Thai Funky Music ที่ดีเจมาฟท์ไซจุดประกายขึ้นมา” จิระ วัชราภัย นักเล่นเครื่องเสียงที่คลุกคลีกับแผ่นเสียงไทย สะท้อนภาพฟัง

ปัจจุบัน นอกจากตลาดประมูลแผ่นเสียงมือสองใน eBay แล้ว มีร้านขายแผ่นเสียงผุดขึ้นในประเทศไทยมากขึ้นกว่า 20 ร้านด้วยกัน กลายมาเป็นแหล่งสำหรับการซื้อขายของคนรักแผ่นเสียง และในเวลาเดียวกัน ยังมีการผลิตแผ่นเสียงใหม่ หรือแผ่นมือหนึ่ง ออกมาขายอีกด้วย โดยแผ่นเสียงไทยต้องส่งมาสเตอร์ไปปั๊มยังโรงงานในต่างแดน เช่น เยอรมนี สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น เนื่องจากโรงงานโรต้า โรงงานแห่งสุดท้ายของไทยได้เลิกผลิตมานานแล้ว

แผ่นเสียงใหม่ แบ่งออกเป็น 2 พวก คือ แผ่นเสียงใหม่จากผลงานเก่า ที่ฝรั่งเรียกว่า re-issue ซึ่งมีกลุ่มผู้ผลิตที่สนใจแผ่นเสียงเจรจาซื้อลิขสิทธิ์หลายรายด้วยกัน ตั้งแต่ร้าน Cap เรื่อยไปจนถึง วินิจ เลิศรัตนชัย ที่หยิบงานเพลงเก่าๆ มาทำใหม่ ไม่ว่าจะเป็นอัลบั้มของ คาราบาว , ปุ๊ อัญชลี จงคดีกิจ จนถึงวงตาวัน เป็นต้น ในต่างประเทศ ยังมีการผลิตแผ่นเสียงใหม่เหล่านี้อย่างเป็นล่ำเป็นสัน โดยเฉพาะอัลบั้มระดับขึ้นหิ้งทั้งหลาย เพื่อตอบสนองความต้องการของนักฟังหน้าใหม่

อีกส่วนคือ แผ่นเสียงใหม่จากผลงานใหม่ ที่มีทั้งค่ายเพลงอิสาระ อย่าง ใบชาซอง, คลาสสิก รวมถึงแกรมมี่ อาจจะด้วยเหตุผลที่ศิลปินหรือโปรดิวเซอร์ชื่นชอบฟอร์มแมทของแผ่นเสียง หรือเพื่อเล็งผลเลิศในเชิงพาณิชย์ เช่น อัลบั้มของศิลปินต่างประเทศ อย่าง ไดอานา ครอลล์ , นอราห์ โจนส์, เอมี ไวน์เฮาส์ ฯลฯ

ในกรณีของ รัตน จันทร์ประสิทธิ์ หรือ ‘นะ โพลีแคท’ นักร้องหนุ่มจากวงโพลีแคท (Polycat) ศิลปินที่ปลุกกระแสแนวเพลงยุค 80s ให้กลับมาอีกครั้ง โดยส่วนตัวเขาหลงใหลในแผ่นเสียง และอยากให้แฟนเพลงได้สัมผัสเสน่ห์ของแผ่นเสียงเหมือนตัวเขาเอง จึงผลิตแผ่นเสียงอัลบั้มใหม่ ‘80 Kisses’ ของโพลีแคท ออกวางจำหน่ายให้แฟนๆ ได้สะสมกัน โดยเจ้าตัวเคยแสดงความเห็นไว้ว่า

“มันเริ่มต้นมาจากการฟังแผ่นเสียงและเทป ทีนี้พอเวลาฟังจากซีดีหรือเป็นไฟล์ มันจะไม่ได้ฟีลที่เป็นแรงบันดาลใจผมครั้งแรก ให้เกิดเป็นอัลบั้มนี้ ผมเลยอยากจะทำเป็นแผ่นเสียงให้คนได้สัมผัสกับฟีลนั้นจริงๆ"

ในแง่มุมนี้ ประสบการณ์จากโลกแอนะล็อก จึงกลายเป็นเสน่ห์เฉพาะตัว ที่มีแต่คนเล่นแผ่นเสียงเท่านั้นที่จะสัมผัสได้ เหมือนดังที่ คมสัน นันทจิต เคยสะท้อนความรู้สึกนี้ไว้ โดยอ้างถึงหนังสือ Vinyl Junkies ของ เบร็ทท์ มิลาโนว่า เป็นเสมือน “งานอดิเรกที่โดดเดี่ยว”

0 0 0 0 0

อย่างไรก็ดี งานอดิเรกที่ว่านี้ อาจจะไม่โดดเดี่ยวอีกต่อไปแล้ว เมื่อการเติบโตของคนเล่นแผ่นเสียงในกระแสโลกได้เชื่อมโยงมาถึงเมืองไทย ล่าสุด ด้วยกิจกรรมเปิดตัวหนังสือ Vinyl Republic ของนิตยสาร Happening นำโดยบรรณาธิการ วิภว์ บูรพาเดชะ เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีคนรุ่นใหม่ออกมาแสดงตัวและแสดงความสนใจที่มีต่อแผ่นเสียงเป็นจำนวนมาก

Vinyl Republic กลายมาเป็นคู่มือสำหรับคนเริ่มต้นเล่นแผ่นเสียง เพราะเนื้อหาภายในบรรจุประสบการณ์และมุมมองของคนเล่น ตลอดจนนำเสนอเรื่องราวของร้านแผ่นเสียงในไทย และข้อมูลพื้นฐานต่างๆ ซึ่งในเวลาเดียวกัน คนทำหนังสืออย่าง วิภว์ ก็ได้เรียนรู้การเล่นแผ่นเสียงไปพร้อมๆ กัน โดยเฉพาะความผูกพันในแผ่นเสียงเก่า จากเจ้าของเดิมสู่เจ้าของใหม่

“ตอนผมทำเล่มนี้ ก็ซื้อแผ่นเสียงมา 20 แผ่นได้แล้วครับ ผมมีโอกาสได้คุยกับนักสะสม เจ้าของร้าน คนอยู่กับมัน (แผ่นเสียง) ในวันที่ทุกคนทิ้งมัน (แผ่นเสียง) ได้คุยกับคนรุ่นใหม่ ทำให้ได้สัมผัสถึงความแตกต่างของเสียง ตลอดจนถึงเรื่องราวต่างๆ”

“ตอนไปร้านแผ่นเสียง ก็รู้สึกได้ว่ามันมีอารมณ์ อย่างที่ใครบางคนบอกว่า เหมือนมีวิญญาณ เราได้สัมผัสแผ่นสภาพดีๆ ที่เคยมีเจ้าของมาก่อน อย่าง พี่เสือ (ร้านต้นฉบับ) ก็จะเล่าว่าเคยเป็นของคนนั้นคนนี้ มีแม่คนหนึ่ง ทำจดหมายฉบับหนึ่งทิ้งไว้ เพราะเค้าอยากให้แผ่นเสียงของลูกไปอยู่ในความดูแลของคนรักเพลงทั่วโลก...”

ขณะที่ เป้ อารักษ์ อมรศุภศิริ นักร้องนักแสดง ซึ่งมาร่วมงาน Vinyl Republic ยอมรับว่า แผ่นเสียงให้ย่านเสียงที่อบอุ่น และหาไม่ได้ในฟอร์แมทอย่าง ซีดี หรือ เอ็มพี 13

“ผมตกใจเมื่อได้ฟังแผ่น Bob Dylan (1962) ครั้งแรก ผมตกใจในความอบอุ่นของเสียง นอกจากนี้ ผมยังชอบพลังจากภาพปกแผ่นเสียงอีกด้วย เช่นแผ่น Sticky Fingers (1971) ที่ออกแบบโดย แอนดี วอร์ฮอล”

ดูเผินๆ เหมือนแผ่นเสียงจะมีเสน่ห์ในตัวเองที่พร้อมมูลแล้ว สำหรับนักฟังเพลงที่สนใจจะก้าวมาในวงการนี้ ยกเว้นเพียงอย่างเดียว คือเรื่องของ ‘ราคา’ ที่ยังเป็นกำแพงขวางกั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แผ่นเสียงใหม่อัลบั้มเพลงไทยที่ผลิตขายกันด้วยสนนราคา “สองพันบาทอัพ” ซึ่งพอจะเป็นเรื่องเข้าใจได้ว่า เหตุผลหลักๆ คือยังไม่สามารถทำยอดขายได้ในระดับ economy of scale หรือ ‘ความประหยัดที่เกิดจากขนาดการผลิต’ ขณะที่แผ่นเสียงใหม่อัลบั้มเพลงต่างประเทศสามารถทำราคาขายปลีกได้ดีกว่า

ขณะที่แผ่นเสียงมือสอง สภาพดี หากเป็นปั๊มแรกๆ ที่เรียกว่า first pressing ก็มีการปั่นราคาขึ้นไปไม่น้อยเช่นกัน

“ต้องยอมรับว่า ตอนนี้ราคามันเป็นฟองสบู่” ชัชวาลย์ ที่คลุกคลีในวงการค้าแผ่นเสียงมานานตั้งข้อสังเกต “คือนักฟังแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรก เขาไม่ซีเรียสเพรสแรก เพราะแผ่นเพรสแรก หายาก แพง ราคาสูง หากไม่สนใจ ก็ไปหาฟังจากแผ่นรี-อิสชูได้ แต่อีกกลุ่ม ก็เป็นพวกสะสมไปเลย พวกนี้มีกำลังทรัพย์และชอบตามล่าหาแผ่นที่ตัวเองต้องการมีไว้ในครอบครอง”

ในมุมมองของ ชัชวาลย์ สุรเดช ยุคสมัยของแผ่นเสียงกลับมาแล้ว แต่ต้องทำให้แผ่นเสียงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ที่ทุกคนสามารถแสวงหาความสุขจากเสียงเพลงได้อย่างเรียบง่าย

“แผ่นเสียงเพลงไทยถูกสร้างกระแส ทำให้ราคาแพงเกินจริง ทั้งที่ใจจริง ผมอยากให้ร้านแผ่นสียง เหมือนร้านหนังสือ เหมือนร้านข้าว ที่ทุกคนเข้ามาได้ในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่พื้นที่อันตราย ราคาแพง กระเป๋าฉีก ทำไมต้องมาตั้งราคาแผ่นให้แพงโอเวอร์ด้วย ดังนั้น โจทย์สำคัญคือทำอย่างไรให้แผ่นราคาถูกลง เพื่อตอบสนองความต้องการของคนฟังได้มากขึ้น”

เมื่อถึงวันนั้น เราคงจะได้เห็นโลกของคนรักแผ่นเสียง เป็นภาพสะท้อนถึงการกลับมาของ Vinyl Revival ได้อย่างแท้จริง