Tower Records ปลุกฝันด้วยเสียงดนตรี

Tower Records ปลุกฝันด้วยเสียงดนตรี

ก่อนที่อุตสาหกรรมดนตรีจะพาเราไปสู่ความไม่แน่นอนเบื้องหน้า ปวศ.ต้องจารึกไว้ว่า เคยมีชุมชนของคนรักเสียงดนตรีที่จับต้องได้อุบัติขึ้นบนโลกใบนี้



“การทำงานไม่จำเป็นต้องน่าเหนื่อยหน่าย หรือน่าเบื่อ หรือต้องฝืนทนไปทำอยู่ทุกวัน ผมไม่รู้สึกแบบนั้น เพราะสำหรับผม มันไม่ใช่งาน แต่เป็นวิถีชีวิต”

นั่นเป็นคำกล่าวที่ลึกซึ้งและสร้างแรงบันดาลใจอย่างยิ่ง เจ้าของคำกล่าวนี้ คือ รัสส์ โซโลมอน อดีตลูกชายเจ้าของร้านขายยา ที่บังเอิญมาหลงใหลในความสุนทรีของเสียงเพลงอย่างถอนตัวไม่ขึ้น จนกระทั่งตัดสินใจเปิดร้านขายแผ่นเสียงสาขาแรกขึ้นในเมืองซาคราเมนโต รัฐแคลิฟอร์เนีย ในปี ค.ศ. 1960

อาณาจักรเล็กๆ ของ Tower Records ค่อยๆ ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นอาณาจักรอันยิ่งใหญ่ ที่มีสาขามากถึง 200 สาขาทั่วโลก ด้วยยอดขายถึงมากถึง 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี ค.ศ. 1999 ซึ่งนับเป็นจุดสูงสุด จากนั้นดิ่งลงสู่ความตกต่ำ มาประสบภาวะขาดสภาพคล่อง ล้มละลาย และต้องปิดตัวลงในปี ค.ศ. 2006
ดูเผินๆ เหมือนจะเป็นธุรกิจธรรมดา ที่มีเกิดและดับไป แต่ลึกลงไปในสาระและเนื้อแท้ กลับไม่เป็นเช่นนั้น

-1-

แม้ Tower Records จะกลายเป็นอดีตไปแล้ว (บางคนอาจจะแย้งว่า ยังมีคนซื้อชื่อและเครื่องหมายการค้านี้ ไปบริหารต่อในบางประเทศ เช่นที่ญี่ปุ่นและไอร์แลนด์ เป็นต้น) แต่เรื่องราวของร้านขายเพลงร้านนี้ที่มีสัญลักษณ์เรียบง่าย ‘พื้นสีเหลือง ตัวอักษรสีแดง’ ยังเป็นที่จดจำและกล่าวขานถึงอยู่เสมอ ในหมู่ผู้รักเสียงดนตรีซึ่งเชื่อมั่นและศรัทธาว่า ความสุขที่พึงได้รับจากวัฒนธรรมการฟังดนตรี คือการได้ครอบครองแผ่นเสียงและซีดี โดยมีพื้นที่หรือชุมชนสำหรับการพบปะแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกันและกัน ซึ่งในกรณีนี้ดูเหมือน Tower Records จะตอบโจทย์ได้เป็นอย่างดี

ชื่อของ Tower Records กลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง เมื่อ โคลิน แฮงก์ส ลูกชายคนโตของ ทอม แฮงก์ส ซึ่งเติบโตมาจากเมืองซาคราเมนโต เมืองเกิดของ Tower Records ได้ตัดสินใจนำเรื่องราวที่ไม่ธรรมดานี้ มาผลิตเป็นหนังสารคดี All Things Must Pass: The Rise and Fall of Tower Records (2015) เช่นเดียวกันกับการจุดกระแสความสนใจของผู้คนบ้านเราเวลานี้ โดยทาง Documentary Club ร่วมกับ SF Cinema ได้นำภาพยนตร์เรื่องนี้มาให้แฟนๆ ได้ชมกัน

ไม่ว่าคุณจะเป็นคนฟังเพลงหรือดูหนัง อย่างน้อยๆ สารคดีเรื่องนี้เรียกน้ำตาจากคุณได้

-2-

ภาพสะท้อนของ Tower Records ในเมืองไทย อาจจะเป็นตัวแทนบอกเล่าถึงวัฒนธรรมเฉพาะของ Tower Records ระดับสากล ได้เป็นอย่างดี แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ เพียงไม่กี่ปีที่ ร้านซีดีร้านนี้เปิดให้บริการ ทั้งที่สาขาสยามเซ็นเตอร์, เวิลด์เทรด, เอ็มโพเรียม, เดอะ มอลล์ บางกะปิ , พัทยา และ ภูเก็ต (ก่อนจะเปลี่ยนชื่อมาเป็น CD Warehouse) ในประเทศไทย แต่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นนั้นก็ไม่ธรรมดา

เย็นวันจันทร์ที่ 28 มีนาคม 2559 ในวันฉายรอบปฐมทัศน์ของภาพยนตร์เรื่อง All Things Must Pass: The Rise and Fall of Tower Records ผู้คนต่างทยอยมายังพื้นที่กิจกรรมของ SF เซ็นทรัลเวิลด์ อย่างคับคั่ง ในจำนวนนี้หลายคนตระหนักดีว่ากำลังจะได้พบเพื่อนเก่าที่ไม่ได้เจอะเจอกันมาแสนนาน คือเพื่อนที่มีรากฐานจากมิตรภาพของความรักในเสียงเพลง

เพราะนี่คือการรวมตัวครั้งแรกของเหล่าพนักงาน Tower Records ประเทศไทย ซึ่งล้วนเป็นคนรักเพลงตัวจริงที่มาทำหน้าที่นี้ กับเหล่าแฟนนานุแฟน กลุ่มลูกค้าซีดีที่เคยรู้จักมักคุ้นกันมาก่อน สมัยที่ยังมีร้านรวงภายใต้แบรนด์นี้เปิดให้บริการ

บรรยากาศเป็นไปด้วยความประทับใจ เมื่อ คมสัน นันทจิต พิธีกรของงาน กล่าวเชิญตัวแทนมาบอกเล่าถึงความหลัง ที่เต็มไปด้วยความสนุกสนาน ไม่ว่าจะเป็น คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง คอลัมนิสต์ ในฐานะลูกค้า Tower Records ร่วมด้วยตัวแทนพนักงาน Tower Records ซึ่งประกอบด้วย โจ้ Death ปิยะชัย เฆมแดง, เจมส์ กฤฒิเดช ศรีธนวิมุตติ, โด่ง วัชรศักดิ์ กู้ชาติ, เอ๋ กิตติศักดิ์ บัวพันธุ์ นักร้องนำ Ebola และ จีน กษิดิศ สำเนียง สลับกับการโชว์ซีดีหายากที่ลูกค้าขาประจำเคยซื้อมาจากร้าน

ระหว่างการสนทนามีเสียงฮือฮาเกิดขึ้น เมื่อ นรินทร์ และ คิม นฤหล้า ผู้ก่อตั้ง Tower Records ประเทศไทย เดินทางมาร่วมในกิจกรรมการรียูเนียนครั้งนี้ด้วย นับเป็นการเติมเต็มความทรงจำดีๆ ให้กลับคืนมาอีกครั้ง

“คิมและคุณนรินทร์ เป็นคนที่รักดนตรีมากๆ ทุกวันนี้เราก็ยังไปทุกคอนเสิร์ต ยังคุยกันว่าจนอายุ 60-70 ก็คงต้องถือไม้เท้าไปดูร็อกคอนเสิร์ตด้วยกัน ล่าสุดเมื่อ 2 ปีที่แล้ว เรา celebrate 25 ปีชีวิตแต่งงาน เราไม่ได้เลี้ยงฉลองอะไร แต่เราบินไปดู บรู้ซ สปริงสทีน และ เดอะ โรลลิงสโตนส์ นี่คือสิ่งที่อยู่ในสายเลือดของเรา เช่นเดียวกันกับตอนทำ Tower Records เราไม่ได้คิดว่าเป็นธุรกิจอะไร เราทำจากความรักจริงๆ ” คิม นฤหล้า กล่าวทิ้งท้าย ก่อนที่พิธีกรจะกล่าวเตือนทุกคนว่าถึงเวลาเข้าสู่โรงภาพยนตร์เพื่อชมหนังสารคดีเรื่องนี้แล้ว

-3-

มีข้อถกเถียงว่า Tower Records ไม่ได้ล่มสลายลง เพราะ Napster หรือการดาวน์โหลดเสียทีเดียว แต่น่าจะมาจากการเปิดสาขามากเกินไป (เหมือนที่ครั้งหนึ่ง ร้านเปียนำแสง เคยประสบมาแล้ว) แต่การตอกย้ำของ เดวิด เกฟเฟน ที่ออกบอกกล่าวในหนังว่า “ถ้าคุณสามารถดื่มโค้กได้จากก็อกน้ำ แล้วคุณยังจะซื้อโค้กอีกหรือ” ก็น่ารับฟังเช่นกัน


Tower Records เดินทางผ่านยุคสมัยของแผ่นเสียงในช่วงทศวรรษ 1960s มาสู่ยุคสมัยของแผ่นซีดีในช่วงทศวรรษ 1980s ก่อนจะพบกับความจริงที่ว่า โลกดนตรีกำลังเปลี่ยนไปเพราะอินเตอร์เน็ต จนกระทั่งยอดขายตกต่ำลงอย่างต่อเนื่อง และประสบปัญหาสภาพคล่องในที่สุด


แม้จะมีเสียงชื่นชมท่วมท้นต่อ All Things Must Pass: The Rise and Fall of Tower Records ของ โคลิน แฮงก์ส ทั้งการเก็บข้อมูล การตัดต่อสัมภาษณ์ และกลวิธีการเล่าเรื่อง โดยมี เอลตัน จอห์น , บรู้ซ สปริงสทีน , เดฟ โกรห์ล แห่ง ฟู ไฟเตอร์ (ที่ครั้งหนึ่งเคยมาสมัครเป็นพนักงาน) และผู้เกี่ยวข้องมาให้ความเห็นนานัปการ แต่ถึงที่สุดแล้ว สารคดีเรื่องนี้สามารถตอบสนองผู้ชมในมิติที่แตกต่างกันไปตามพื้นเพประสบการณ์

สำหรับลูกค้าของ Tower Records ไม่ว่าจะเป็นสาขาไหนในโลก ซึ่งคุ้นเคยกับ Selection ของกองซีดีขนาดมหึมา รวมทั้งหนังสือนิตยสารที่เกี่ยวกับดนตรี และสินค้าเมอร์ชานไดส์อีกมากมาย ที่นี่-เคยเป็นเสมือนบ้าน ที่พักใจ พื้นที่ส่วนตัว แหล่งพบปะเพื่อน สถานที่สำหรับการหาความรู้ทางดนตรี โบสถ์วัดหยุด และอื่นๆ อีกมากมาย

เมื่อมาถึงปัจจุบัน ด้วยความเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมดนตรี ที่ยอดขายสินค้าในกลุ่ม Physical ได้ล่มสลายลง พื้นที่อันศักดิสิทธิ์แห่งนี้กลายเป็นอดีตไปเสียแล้ว คงเหลือไว้แต่ความทรงจำดีๆ

ทว่า ด้วยยอดขายแผ่นเสียงในสหรัฐอเมริกาที่กลับมากระเตื้องขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนครึ่งแรกของปี ค.ศ. 2015 รายได้ของแผ่นไวนิล อยู่ที่ 221.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมากกว่ารายได้ของกลุ่ม Streaming (youtube; Vevo; Free Spotify) ซึ่งอยู่ที่ 162.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ น่าจะเป็นสัญญาณค่อนข้างดีที่บ่งบอกว่า บางทีชุมชนในร้านค้าแผ่นเสียงที่ ‘จับต้องได้’ อาจมีแนวโน้มกลับมาอีกครั้ง

สำหรับคนรุ่นหลังที่เติบโตไม่ทันกับการให้บริการของ Tower Records การได้เห็นจักรวาลของดนตรีทั้งมวลที่ ‘จับต้องได้’ ดนตรีทุกแนว ทั้งคลาสสิก แจ๊ส ป๊อป ร็อก โฟล์ก แดนซ์ และเวิลด์ มิวสิค ผนวกกับปรัชญาในการทำร้านขายดนตรีที่แหลมคม และสีสันจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนขายกับลูกค้า และลูกค้ากับลูกค้าด้วยกันเอง ย่อมตระหนักได้ว่า โลกของดนตรีที่ ‘จับต้องได้’ นั้น ช่างมีทั้งเลือดเนื้อ ชีวิต มีการปะทะกันทางความคิด ที่ดีกว่า ยอดเยี่ยมกว่า การท่องโลกดนตรีในฟากฟั่งของดิจิตัลอันแห้งแล้งเป็นไหนๆ

เหนืออื่นใด คือ มุมมองของ รัสส์ โซโลมอน และผู้เกี่ยวข้องในหนัง ซึ่งยังเปี่ยมด้วยแรงบันดาลใจให้แก่ผู้ชม ในการต่อยอดให้เกิดความคิดใหม่ๆ และกิจกรรมสร้างสรรค์ใหม่ๆ ที่มีต่อดนตรีในอนาคต

แค่เพียงทริก “ตัดไท” ของโซโลมอน ที่ไม่ชื่นชอบการพูดคุยในเชิงแบบแผนธุรกิจ ดังนั้น ทุกคนจากค่ายเพลงต้องถูก “ตัดไท” ออกไปเสีย แล้วนำไทเหล่านั้นไปประดับข้างฝา ก็นับเป็นอารมณ์ขันที่ดูน่าเย้ยหยันอยู่ไม่น้อย

“ผมว่ามันให้ความรู้สึกเดียวกันกับที่เมืองไทยเลยนะ ดูไปแล้ว Tower ที่นี่กับที่นั่น หรือที่ไหนๆ ก็คงไม่ต่างกัน” อ้น ชัยยุทธ พงศ์เพิ่มทรัพย์ อดีต Buyer ในสาย Blues , Country , Reggae & World Music เผยความรู้สึกให้ฟัง หลังจากชมหนังจบลง

“Tower Records รวมคนแปลก ที่รักเสียงดนตรี มีเรื่องสนุกเกิดขึ้นเสมอ เคียงข้างไปกับเรื่องดนตรี เรามีลูกค้าที่เอาแผ่นไปซุกอีกที่ ให้คนอื่นหาไม่เจอ เวลายังไม่มีเงินซื้อ เรามีพนักงานขายที่ใส่นาฬิกาข้อมือข้างละ 10 เรือน แต่มันไม่เดินเลยแม้แต่เรือนเดียว หรือใส่รองเท้าสลับสีกันบ้าง หรือมีพนักงานที่เอาเต่ามาเลี้ยงไว้ แต่ลืมทิ้งไว้หลายวัน จนลูกน้ำซึ่งเป็นอาหารเต่าที่เก็บไว้ พอเปิดออกมา กลายเป็นยุ่งบินว่อน ทั้งหมดนี้ มันคือความเป็น Tower”

ถึงตอนนี้ ดูเหมือน โคลิน แฮงก์ส จะทำหน้าที่บันทึกจิตวิญญาณของความเป็น Tower Records ไว้อย่างสมบูรณ์แล้ว