“ป้อมมหากาฬ” ย่านชานพระนครแห่งสุดท้าย

“ป้อมมหากาฬ” ย่านชานพระนครแห่งสุดท้าย

ย้อนดูภาพ ”ป้อมมหากาฬ“ กับความเป็นชุมชนชานพระนครแห่งสุดท้าย ท่ามกลางกระแสไล่รื้อ และคำถามถึง “ทางเลือก” ของชาวป้อมมหากาฬในวันพรุ่งนี้

มาทำอะไรคะ ทั้งน้ำเสียง และสีหน้าแสดงความสงสัยอย่างชัดเจนทันทีที่ ‘แขกแปลกหน้า’ ก้าวเท้าผ่านหลังกำแพงใหญ่ไม่ใช่เพราะไอร้อนของแดดที่ทำให้บรรยากาศใต้ชายคาบ้านดูระอุกว่าที่ควร แต่ด้วยสถานการณ์ล่อแหลมเพราะไม่รู้ว่า ‘ใครเป็นใคร’ ต่างหาก ที่ทำให้ชาวชุมชนป้อมมหากาฬมักจะ ‘การ์ดสูง’ เอาไว้ก่อน

ชุมชนขนาดกะทัดรัดที่ซุกตัวอยู่หลังกำแพงป้อมมหากาฬกินพื้นที่ตั้งแต่หัวถนนมหาไชยไปจรดชายคลองหลอดวัดราชนัดดา มองเผินๆ หลายคนอาจไม่ทันสังเกต หรือนึกถึงชุมชนขนาด 66 หลังคาเรือนไม่ออก แต่เมื่อผ่านตรอกพระยาเพชรปาณี หรือที่คนป้อมฯ เรียกติดปากว่า ‘ประตู 4’ เข้าไปแล้ว ย่านขนาดย่อมก็จะปรากฏอยู่ตรงหน้า

“วันธรรมดาก็อย่างนี้แหละ เขาก็ไปทำงานทำการกัน วันอาทิตย์สิ คนถึงจะอยู่กันเยอะ” ใครบางคนพูดถึงกิจวัตรของคนที่นี่ ซึ่งส่วนใหญ่จะ “หาเช้ากินค่ำ” เสียมากกว่า

ถึงวันนี้ เป็นเวลากว่า 24 ปีแล้ว กับการยืนยันต่อสู้ของชาวบ้านต่อการ “ไล่รื้อ” จากกรุงเทพมหานคร

แน่นอน นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่พวกเขาถูกคำว่า ‘เอาจริง’ คุกคามความรู้สึก หากแต่เป็นแค่ข้อเสนอ 5 ข้อจากชุมชนที่ติดเอาไว้ตรงกำแพงบริเวณ ‘ลานกลางบ้าน’ ลานอเนกประสงค์ประจำชุมชนเท่านั้นที่เป็นทางออกสำหรับพวกเขาในตอนนี้

มหากาพย์...มหากาฬ

“ผมไม่มีอะไรจะพูดแล้วครับ” คำตอบสั้นๆ จากปากของ ธวัชชัย วรมหาคุณ ประธานชุมชนป้อมมหากาฬ เมื่อถูกถามถึงความขัดแย้งตลอด 24 ปีที่ผ่านมา

อย่างน้อยที่สุด แถลงการณ์ชุมชนป้อมมหากาฬ : จุดยืนและท่าทีต่อกรณีหนังสือแจ้งให้ขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากโรงเรือนสิ่งปลูกสร้าง ที่เผยแพร่อยู่บนเว็บไซด์ของ มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ก็น่าจะเป็นบทสรุปเรื่องราวทั้งหมดได้เป็นอย่างดี

ข้อความในแถลงการณ์ระบุว่า ตั้งแต่พ.ศ. 2535 กรุงเทพมหานครได้ออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน ส่งผลให้ชุมชนป้อมมหากาฬจะต้องถูกไล่รื้อเพื่อนำพื้นที่ไปสร้างเป็นสวน สาธารณะ ตามแผนแม่บทเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์

หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษาได้ 1 ปี กรุงเทพมหานครตกลงจ่ายค่าสินไหมทดแทนในการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ชาวบ้านที่มีที่ทางจึงยอมรับค่าเวนคืน ในปี 2538 กรุงเทพมหานครประกาศว่า จะนำรถมาไถทั้งชุมชน ทำให้ชาวบ้านอีกจำนวนหนึ่งออกมายอมรับค่าเวนคืน ก่อนที่จะนำเงินจำนวนนั้นไปซื้อที่อยู่ในโครงการที่กรุงเทพมหานครจัดเตรียมไว้

เมื่อพื้นที่บริเวณดังกล่าวไม่ได้มีระบบสาธารณูปโภครองรับทั้งในการใช้ชีวิต และรายได้ ทำให้ชุมชนรวมตัวกันเจรจากับกรุงเทพมหานครเพื่อแก้ไขปัญหา นำไปสู่การขอคืนเงิน และกลับไปอาศัยในพื้นที่เดิม

จากนั้นมา ที่นี่ก็กลายเป็นปมขัดแย้งที่เรื้อรังมากว่า 2 ทศวรรษ

กระทั่ง ปี 2548 ชาวชุมชนได้มีการมีการจัดทำข้อเสนอพร้อมแบบการจัดผังชุมชน โดยวิธีปันที่ดิน จากทั้งหมด 4 ไร่ แบ่งการปลูกสร้างบ้านเรือน 1 ไร่ ส่วนที่เหลือใช้สร้างสวนสาธารณะ พร้อมทั้งการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัย และกิจกรรมในการพัฒนาชุมชนด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อยืนยันว่า ชุมชนสามารถอยู่ร่วมกับโบราณสถาน และคูคลองได้เป็นอย่างดี นอกจากนั้นยังมีการอนุรักษ์บ้านไม้โบราณเพื่อเป็นศูนย์เรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมของเมือง

แต่คำตอบของโจทย์ข้อนี้ก็ยังไม่ถูก ล่าสุด การประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2559 ได้มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการรื้อย้ายชุมชนภายในป้อมมหากาฬขึ้นมาใหม่โดยเพิ่มเติมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เข้ามาด้วย เพื่อทำตามพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินที่ออกมาตั้งแต่ปี 2535

“ผมคิดว่าปัญหา 24 ปี เราได้เตรียมเนื้อเตรียมตัวกันพร้อมแล้ว” ประธานชุมชนคนเดิมยืนยัน ความพร้อมในความหมายของเขาก็คือ การก้าวข้ามจากฐานะ ประชาชนไปสู่ความเป็นพลเมืองของป้อมฯ แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมา เสียงตะโกนของชาวป้อมฯ กลับไม่เคยได้รับการเหลียวแล

ความต้องการที่เขาวิงวอนมาตลอด คือ ‘โอกาส’

โอกาสสำหรับการแสดงศักยภาพของการเป็นพลเมือง ไม่ว่าจะเป็นสวนสาธารณะ หรือพื้นที่อนุรักษ์โบราณสถาน ที่ธวัชชัยมองว่า มันคือ “วาทกรรมบทใหม่” ของผู้บริหารเมืองหลวง เพื่อสร้างความชอบธรรมในการไล่รื้อชุมชนในชั่วโมงนี้

“ดีครับ เดี๋ยวผมจะจัดทำประชาพิจารณ์ แล้วถ้าคุณกล้า คุณมาตามคำเชิญผมเลย” นอกจากสีหน้า และแววตา น้ำเสียงจริงจังของเขาก็หมายความตามนั้น

 

ย้อนย่าน ชานพระนคร

หากวางเรื่องความขัดแย้งระหว่างชุมชน และกรุงเทพมหานครเอาไว้ริมถนน สิ่งที่ปรากฏแก่สายตาคนทั่วไปหลังกำแพงป้อมมหากาฬ อันเป็น 1 ใน 14 ป้อมรักษาพระนครที่สร้างขึ้นตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์

เมื่อมองย้อนไปตามเอกสารทางประวัติศาสตร์ บริเวณชุมชนแห่งนี้ถือเป็นย่าน ชานพระนคร แหล่งชุมชนเก่าติดพระนครที่แทบไม่หลงเหลืออยู่แล้วในปัจจุบัน

ตั้งแต่จำความได้ ไพบูลย์ ตุลารักษ์ หรือ ลุงติ่ง ช่างทำกรงนกฝีมือชั้นครูคนหนึ่งของวงการก็อยู่ที่นี่มากว่า 50 ปีแล้ว หรือ บังต้อง-ศรายุทธ ใบนิล ช่างทำกรงนกเขาชวารุ่นที่ 3 องค์ความรู้ทุกอย่างเกี่ยวกับเชิงช่างกรงนก เขาก็ได้รับการถ่ายทอดจากผู้เป็นพ่อที่นี่เหมือนกัน

“แค่เจาะรูแขวนนี่นะ ผมหมดสว่านไป 4-5 ดอกเลย” บังต้อมเผยบางประสบการณ์ในการฝึกด้วยรอยยิ้ม

สนนราคาตั้งแต่สามหลักถึงหกหลักยังไม่เท่ากับการเป็นแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาที่ขึ้นชื่ออีกแหล่งของป้อมมหากาฬ

แน่นอนว่า นี่เป็นดอกผลของการสั่งสมสืบทอดความรู้มาหลายชั่วอายุคน ไม่ต่างจากการพัฒนาพื้นที่บริเวณนี้ ที่เริ่มมาตั้งแต่สร้างกรุงรัตนโกสินทร์

ข้อความในเอกสารให้รายละเอียดถึงการขุดคลองรอบกรุงเพื่อขยายพระนครให้กว้างออกไป และอำนวยความสะดวกในการคมนาคมทำให้เกิดมีการลงหลักปักฐานอยู่อาศัยกันเป็นชุมชนริมน้ำตามย่านต่างๆ ในเวลาต่อมาจนกลายเป็นย่านชานพระนครที่กระจายอยู่ทั่วไปในเขตเมืองชั้นในของเกาะรัตนโกสินทร์

ป้อมมหากาฬแห่งนี้ เคยเป็นท่าเรือสำคัญสำหรับชาวบ้าน ขุนนาง และเจ้านายที่เดินทางมาตามลำคลองเข้าและออกไปนอกเมือง เพราะเป็นบริเวณที่จะต่อไปยังที่อื่นตามคลองมหานาค คลองแสนแสบ และตามคลองโอ่งอ่างไปยังรอบเมืองอื่นๆ รวมทั้งเป็นที่อยู่อาศัยของข้าราชการ และชาวบ้านมาหลายยุคสมัย มีการปลูกสร้างอาคาร เป็นแนวยาวตลอดตั้งแต่สะพานผ่านฟ้าลีลาศจรดแนวคูคลองวัดเทพธิดารามในปัจจุบัน ต่อมาเรียกกันว่า ตรอกพระยาเพชรฯ เพราะเคยเป็นบ้านพักของพระยาเพชรปาณี (ตรี) ข้าราชการกระทรวงวังและเป็นชาวปี่พาทย์โขนละคร แหล่งกำเนิดลิเกทรงเครื่องนั่นเอง

“เป็นแหล่งกระจายข่าว กระจายความรู้ จากวัง วัด มาสู่ชุมชนนั่นแหละครับ” ธวัชชัย หรือ ‘ลุงกบ’ ของชาวป้อมฯ ยกตัวอย่างประกอบความเป็นชานพระนคร

นอกจากบ้านพักของพระยาเพชรปาณี บ้านของตำรวจวัง ที่นี่ยังเคยเป็นที่ผลิตเครื่องดนตรีไทย และกลองในสมัยรัชกาลที่ 6

บ้านเรือนไทยดั้งเดิมของหมื่นศักดิ์แสนยากรที่มีหน้าจั่วแบบ ‘จั่วใบปรือ’ ฝาเป็นฝาลูกฟักตามแบบฉบับมาตรฐานของเรือนไทยเดิมของภาคกลาง

ด้วยความที่หลายครอบครัวมีเครือญาติที่มีพื้นเพมาจาก จ.นครราชสีมา อ่างทอง หรือทางสงขลาทำให้ลักษณะการประกอบอาชีพก็มีความหลากหลายแตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นงานหัตถศิลป์อย่าง เครื่องปั้นดินเผา ปั้นเศียรพ่อแก่สำหรับไหว้ครู หรือแม้แต่การทำกรงนก

ทั้งหมด เป็นเหง้ารากของวิถีชีวิตที่เคียงคู่มากับสิ่งปลูกสร้าง ซ่อนอยู่เป็นเนื้อเดียวกับชุมชนเก่าอย่างนี้ และบ่อยครั้งถูกหลงลืมไป

บ้านก็คือราก

“บ้านเราใครเขาอยากจะย้ายออกจากบ้านล่ะ เธอว่าจริงไหม” แหม่ม - ศรินทร์ทิพย์ วรรณพาหุล ยอมรับตรงๆ

ทุกวัน เธอ และเพื่อนบ้าน มักจะมานั่งรวมกลุ่มกันอยู่ตรงริมประตู 4 นอกจากจะเป็นมุมพูดคุยประจำแล้ว ยังได้อาศัยเรียกลูกค้าที่มาหาซื้อข้าวของเพราะร้านตั้งอยู่ด้านใน อีกทั้งสวมบทบาทเจ้าบ้านที่ดีเวลามีนักท่องเที่ยวมาถามทางอีกด้วย

“เขามาถามว่า โกลเด้น เมาน์เทน เราก็ชี้ไปทางโน้น แล้วก็บอก เทิร์นไรท์ แค่นี้เขาก็รู้เรื่องแล้ว” ไม่ได้พูดเล่น เพราะเจ้าตัวเพิ่งสาธิตวิธีบอกทางแบบเจ้าบ้านที่ดีที่ไม่ต้องรู้ภาษาเยอะ แต่สื่อสารกันเข้าใจให้ดูไปหมาดๆ

พอๆ กับเพื่อนสาวในกลุ่มของเธอ ที่เคยคุยภาษาจีนกับนักท่องเที่ยวเพื่อเตือนให้รีบกลับเข้าที่พักเพราะดึกดื่นมาแล้ว

“ป้าก็คุยกันแบบนี้แหละ” เจ้าของเสียงนั้นหัวเราะตาหยี

ถึงจะไม่ยอม ถึงจะกังวล ถึงจะแอบหวั่นใจ แต่ถ้าถามใครต่อใครในนี้ บ้านก็คือบ้าน และถ้าเป็นไปได้ก็ขอตายที่นี่

“เราก็อยากเจรจาอยู่แล้ว” แหม่มเผยความหวัง

พอๆ กับประธานชุมชนอย่าง ธวัชชัย เขาคิดว่า การอนุรักษ์ที่ปราศจากลมหายใจนั้น มองอย่างไรก็ไม่สามารถเรียกว่าอนุรักษ์ได้เต็มปาก

 “คุณอนุรักษ์อิฐ อนุรักษ์ปูน อนุรักษ์ของเก่า แต่มันจะมีคุณค่าได้ยังไง ถ้าไม่มีชีวิตอยู่ในนั้น คนที่มา เขาจะรับรู้เรื่องราวจากอดีตผ่านอะไร

เหมือนอย่างที่ครั้งหนึ่ง รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม จากมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์เคยตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า ประวัติศาสตร์สังคมที่ว่าด้วยเรื่องของ “คน” ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครนั้น มีบันทึกเอาไว้น้อยมาก

จนเสี่ยงว่า เหง้าราก และชีวิตเหล่านั้นจะถูกกลบ และหลงลืมไป

การกางข้อเสนอของชาวชุมชนขึ้นมาทบทวนอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็น การเสนอตัวจัดตั้งเวรยามเพื่อดูแลความเรียบร้อยของสถานที่ การดูแลรักษาความสะอาด การพัฒนาชุมชนที่จะอยู่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสวนสาธารณะ อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงตัวเองให้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิต ที่พวกเขากำลังพยายามทำให้เห็นอยู่อย่างทุกวันนี้ เพื่อให้เป็น ‘ทางเลือก’ และ ‘ทางร่วม’ ที่สร้างสรรค์สำหรับทุกฝ่าย

เรื่องนี้ ฉันทนา ธนาพิชานนท์ นักวิชาการศึกษาปฏิบัติการจาก คณะอุตสาหกรรมสิ่งทอและออกแบบแฟชั่น ม.เทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ถ่ายทอดประสบการณ์ในอีกมุมหนึ่ง จากที่ทางสถาบันได้ร่วมงานกับชุมชนมาเป็นเวลากว่า 5 ปีแล้ว

“ชุมชนมีประวัติศาสตร์ และเรื่องเล่าเยอะมาก นักศึกษานอกจากได้มาลงพื้นที่ให้ความรู้ชุมชนก็ยังได้รับความรู้กลับไปด้วยค่ะ” เธอบอก

ทั้งความพร้อม ความร่วมมือ ยังไม่เท่าการส่งไม้ต่อให้คนรุ่นถัดไปก็ถือเป็นอีกความสำคัญที่ทุกคนต่างให้ความใส่ใจ

เรื่องนี้ ลุงกบของเด็กๆ รู้สึกว่า การส่งมอบมรดกทางปัญญา โดยกระบวนการ “ซึม” และ “ซับ” ให้เรียนรู้จากประสบการณ์จากคนอีกรุ่นที่เป็นเป้าสายตาในการมองของลูกหลานที่นี่

“ผมคิดว่าเรื่องเหล่านี้มันเป็นเรื่องที่ค่อนข้างหนัก แต่เราจะทำอย่างไรที่จะแฝงเรื่องราวเหล่านี้โดยใช้หลักการความเป็นธรรมชาติ เรียนรู้ตามบริบทตามวัยของเขา ก้าวเข้าไปสู่การปฏิบัติ ต่อยอด และก้าวต่อไป”

ได้รู้เรื่องประวัติศาสตร์ชุมชนจากคนเก่าคนแก่ ได้เห็นความสำคัญของชุมชนจากพ่อแม่ ได้เรียนรู้ภูมิปัญญาจากพ่อครูที่อยู่ตามบ้านต่างๆ ของชุมชน เพื่อให้ในวันข้างหน้า เด็กๆ ป้อมมหากาฬจะได้รักษาอัตลักษณ์ และบอกเล่าคุณค่าของย่านชานพระนครแห่งสุดท้ายตรงนี้สืบต่อไป

...วันพรุ่งนี้ของเขา หวังแบบนั้น