“ดื่ม” กับ(ภู)เขาให้ลืมหนาว

“ดื่ม” กับ(ภู)เขาให้ลืมหนาว

ได้กลิ่นมั้ย กลิ่นหอมๆ ที่ทำให้โลกสว่างสดใส กระตุ้นให้ทุกหัวใจเบิกบาน กลิ่นคุ้นๆ นั้นกำลังนำทางให้เราได้พบกับสถานที่ดีๆ

กาแฟ เป็นเครื่องดื่มสากลที่คนทั้งโลกยกให้เป็น “สุดยอดเครื่องดื่มชูกำลัง” ประเทศไทยเองรู้จักเครื่องดื่มชนิดนี้มาตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น จนราวสมัยรัชกาลที่ 6 จึงเริ่มมีร้านกาแฟร้านแรกของคนไทยในชื่อ “ร้านกาแฟนรสิงห์”


จริงๆ ก่อนหน้านี้ก็มีร้านกาแฟเปิดมาก่อน แต่เป็นชาวต่างชาติเปิดเพื่อชาวต่างชาติ จนร้านกาแฟนรสิงห์เกิดขึ้นมา คนไทยจึงเริ่มรู้จักกาแฟและร้านนั่งแบบชิลล์ๆ ก็ตอนนั้น


ปัจจุบันกาแฟได้รับความนิยมมากถึงขนาดไม่สามารถนับจำนวนร้านกาแฟที่มีได้ แต่มากกว่าร้านกาแฟ นักดื่มหลายคนก็ยังพยายามเดินทางไปยังต้นทางที่เป็นแหล่งผลิตเมล็ดพันธุ์สีดำๆ นี้ เพื่อเสพทั้งความรู้และกลิ่นดีๆ รวมถึงรสชาติดั้งเดิมที่ชวนเคลิบเคลิ้มที่สุดด้วย


ในโลกนี้มีกาแฟอยู่ 2 สายพันธุ์ คือ อาราบิก้า และโรบัสต้า แน่นอนว่า ประเทศไทยมีครบทั้ง 2 สายพันธุ์ แต่พื้นที่ปลูกอาจแตกต่างกันไปตามสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศ อาราบิก้าพื้นที่ปลูกที่เหมาะสมที่สุดอยู่ในภาคเหนือที่มีภูเขาสูงและอากาศหนาว ส่วนโรบัสต้าเป็นกาแฟชอบความร้อนชื้นจึงเหมาะที่จะปลูกในภาคใต้ ซึ่งไร่กาแฟแต่ละแห่งก็สวยงาม น่าสนใจ จนใครๆ ก็อยากไปเยี่ยมไปเยือน


ถ้าใครยังเลือกไม่ถูกว่าจะไปทำความรู้จักกาแฟที่ไหนดี “เสาร์สวัสดี” มีแหล่งกาแฟรสดีมาแนะนำ


.....................................


อุ่นไอที่รอคอย “ดอยช้าง”


ถ้าเป็นคอกาแฟตัวจริงคงจะรู้แล้วว่า มีกาแฟแบรนด์ไทย 2 แบรนด์ที่ไปโด่งดังอยู่ในระดับสากล และผลิตผลก็ได้มาตรฐานจนสหภาพยุโรป หรือ EU ได้ประกาศใน EU Official Journal ขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication: GI) ใน EU เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2558 โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 3 สิงหาคม 2558 ซึ่งกาแฟไทย 2 แบรนด์ที่ว่านั้นก็คือ กาแฟดอยตุงและกาแฟดอยช้าง


เอ่ยถึง “ดอยช้าง” ชื่อนี้ได้ยินกันมานานแสนนาน ในแง่ของการเป็นพื้นที่ผลิตกาแฟที่มีคุณภาพ ทั้งรสชาติที่กลมกล่อม ละมุนลิ้น ทั้งกลิ่นที่หอมพอดีๆ ทำให้ทุกๆ คนการันตีได้ถึงความอร่อยของกาแฟดอยช้าง


บางคนรู้จักกาแฟ แต่ยังไม่รู้ว่าดอยช้างอยู่ที่ไหน มาแนะนำกันหน่อยดีกว่า ดอยช้าง เป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ในตำบลวาวี อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย พื้นที่นี้เป็นยอดดอยสูงที่อยู่ในเทือกเขาเดียวกับดอยวาวี(มีกาแฟเช่นกัน) แต่ก่อนนั้นชาวบ้านแถบนี้ก็ปลูกไร่เลื่อนลอยเหมือนปกติที่เราเคยได้ยินกัน จนกระทั่งมีสถานีทดลองเกษตรที่สูง จึงมีการส่งเสริมให้ปลูกพืชอื่นๆ อย่างเป็นกิจจะลักษณะ


กาแฟ เป็นพืชหนึ่งที่ถือเป็นพืชเศรษฐกิจของที่นี่ และจากที่เคยมีรายได้จากการจำหน่ายเมล็ดกาแฟอย่างเดียว ปัจจุบันชาวบ้านดอยช้างมีรายได้เพิ่มจากการเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวด้วย เพราะนอกจากแปลงปลูกกาแฟสายพันธุ์อาราบิก้าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ดอยช้างยังมีภูมิทัศน์ที่งดงาม ซึ่งที่มาของชื่อดอยก็มาจากรูปร่างของภูเขาที่เหมือนช้างแม่ลูกสองเชือกหันหน้าไปทางเมืองเชียงรายนั่นเอง


ด้วยสภาพอากาศที่เย็นสบายตลอดปี เฉลี่ยอยู่ที่ 18 องศาเซลเซียส ทำให้ที่นี่มีอุณหภูมิที่พอเหมาะพอดีสำหรับการปลูกกาแฟสายพันธ์อาราบิก้า เมื่อนักท่องเที่ยวมาถึงจึงไม่ต้องแปลกใจที่จะเห็นไร่กาแฟเขียวขจีไปทั้งทิวเขา และถ้าจังหวะดีพอก็อาจจะได้เห็น “ซากุระเมืองไทย” หรือดอกนางพญาเสือโคร่งที่เบ่งบานพร้อมกันจนภูเขาทั้งลูกนั้นเป็นสีชมพู


มาถึงดอยช้างแล้วอยากแนะนำให้เที่ยวให้ทั่ว อาจจะเริ่มต้นจากการจิบกาแฟดอยช้างรสกลมกล่อมสักแก้ว ค่อยค่อยเดินชมไร่กาแฟ สำหรับคนรักต้นไม้ดอกไม้ บนดอยช้างมีแปลงปลูกดอกไม้ผลไม้เมืองหนาว อย่างพวกเกาลัด มะคาเดเมีย บ๊วย ท้อ ฯลฯ ถ้าเดินทางต่อไปถึง “พุทธอุทยาน” จะได้สดับรับฟังธรรมะจากธรรมชาติ รวมถึงความงดงามของป่าซากุระเมืองไทยด้วย


บริเวณเดียวกันนี้มีหลายสิ่งที่ชวนรื่นรมย์ ทั้งต้นไม้ที่ร่มครึ้ม ป่าไผ่อันสวยงาม บึงน้ำขนาดใหญ่ที่ใสราวสระมรกต และที่สำคัญมี “บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์” บ่อน้ำ 1 ใน 9 แห่ง ที่ทางสำนักพระราชวังได้นำไปใช้ในพิธีพิพัฒน์สัตยาพุทธมังคลาภิเษก เนื่องในวโรกาสครอบรอบพระชนมายุ60 พรรษา ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อปี 2530


สำหรับคนที่รักความโรแมนติกแนะนำให้ขึ้นไปชมวิวแสงสุดท้าย ณ จุดชมวิวดอยช้าง ซึ่งรอบๆ บริเวณนี้จะมีแปลงไม้ดอกไม้ประดับที่สวยงามช่วยสร้างบรรยากาศ ชมดอกไม้เพลินๆ จนอาทิตย์ลับขอบฟ้าท่ามกลางอากาศที่เย็นเยียบ ช่างเป็นเวลาที่แสนพิเศษจริงๆ


กลิ่นกาแฟดอยช้างเย้ายวนขนาดไหน ไม่ใช่แค่คนไทยเท่านั้นที่ประจักษ์ เพราะนักดื่มทั่วโลกต่างพากันหลงรักไปเรียบร้อยแล้ว รู้อย่างนี้เราจะไม่ลองไป “ดื่ม” ที่ดอยช้างกันหน่อยหรือ


..................


หมายเหตุ : สอบถามรายละเอียดและข้อมูลการเดินทางที่ ททท.สำนักงานเชียงราย โทรศัพท์ 0 5371 7433



เสพสุขระหว่างทาง “แม่กลางหลวง”


ถ้าเป็นเมื่อก่อน “แม่กลางหลวง” อาจเป็น “ทางผ่าน” ที่น่าสนใจของใครก็ตามที่กำลังเดินทางไปและกลับจากการชื่นชมความงามของ “ดอยอินทนนท์” อุทยานแห่งชาติอันดับต้นๆ ของประเทศไทย แต่ในปัจจุบันแม่กลางหลวงเป็น “ปลายทาง” สำหรับบางคนที่รักธรรมชาติอันร่มรื่นและชื่นชอบชีวิตที่รื่นรมย์


แม่กลางหลวง เป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ในหุบเขานาขั้นบันไดบนดอยอินทนนท์ ในเขตตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม ประชากรทั้งหมดของที่นี่เป็นชาวปกาเกอะญอ ผู้มีวิถีชีวิตอันเรียบง่าย สมถะ และน่ารัก


ในอดีตชาวปกาเกอะญอแม่กลางหลวงก็มีชีวิตไม่ต่างจากชาวไทยภูเขาเผ่าอื่นๆ ที่ต้องหากินเลี้ยงปากท้องด้วยการปลูกฝิ่น ถึงขนาดที่ สมศักดิ์ คีรีภูมิทอง ผู้นำกลุ่มผลิตกาแฟบ้านแม่กลางหลวง บอกว่า


“ตั้งแต่ผม 8-9 ขวบ เห็นต้นไม้ไม่เกิน 10 ต้น นอกนั้นเป็นไร่ฝิ่น ไร่ข้าว ไร่ฝิ่นเยอะมาก เจ้าของไร่ฝิ่นไม่ติดฝิ่น แต่ลูกจ้างติดเยอะ แต่ทุกวันนี้วิถีชีวิตเปลี่ยนไป เมื่อกาแฟพระราชทานต้นแรกได้ปลูกยืนต้นขึ้นที่นี่”


สมศักดิ์ เล่าว่า “กาแฟต้นเดียว ก้าวแรกที่กล้าก้าว” เป็นตัวอย่างของโครงการพัฒนาชาวไทยภูเขาโดยพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2517 จากนั้นพระองค์ก็เสด็จฯ มาทอดพระเนตรไร่กาแฟ และตรัสกับชาวบ้านว่า ให้ดูแลกาแฟให้ดีแล้วจะมีเงิน


“ช่วงแรกๆ ชาวบ้านก็ปลูกกาแฟตามพระราชดำริ แต่ในสมัยนั้นกาแฟไม่เป็นที่รู้จัก ชาวบ้านไม่รู้ว่าจะปลูกไปทำไม เลยยากที่จะให้เลิกปลูกฝิ่นมาปลูกกาแฟ เขาก็เลยตัดต้นกาแฟที่เคยปลูกแล้วไปปลูกพืชอย่างอื่น แต่ไม่ถึง 10 ปีมานี้มีกระแสการบริโภคกาแฟ ชาวบ้านจากที่เคยตัดกาแฟ ก็หันมาปลูกกาแฟ ปลูกตามป่า แซมต้นไม้โดยไม่ใช้สารเคมี เมื่อเป็นแบบนี้สัตว์ป่าก็กลับมา ธรรมชาติก็จะบริสุทธิ์ สมบูรณ์ เป็นการอยู่ร่วมกันแบบเอื้ออาทรของมนุษย์กับธรรมชาติ”


กาแฟแม่กลางหลวงมีชื่อเสียงในแง่ของการเป็นกาแฟออร์แกนิกรสดีที่สร้างความรื่นรมย์ได้ และจะยิ่งรื่นรมย์มากขึ้นหากดื่มอยู่ท่ามกลางทัศนียภาพอันงดงามของหมู่บ้าน แน่นอนว่า หากใครเคยผ่านมาแถวนี้จะรู้ดีว่าแม่กลางหลวงเป็นหมู่บ้านที่มีผืนนาขั้นบันไดสวยที่สุดแห่งหนึ่งเลยทีเดียว


สำหรับร้านกาแฟถ้าให้แนะนำแบบเริ่มต้นบ้านแรกๆ คงเป็นร้านกาแฟของสมศักดิ์เองที่มีเอกลักษณ์การชงคล้ายกาแฟโบราณทั่วไป แต่กลิ่นหอมที่ได้จากฟืนไม้ ผสมกับไออโรมาของกาแฟ ต้องบอกว่า สดชื่นและชวนดื่มมากๆ


แต่นอกจากนี้ก็ยังมีร้านกาแฟอีกหลายร้านในแม่กลางหลวงที่พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยว และถ้าอยากเพลิดเพลินในหมู่บ้านนานๆ ก็มีกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย ทั้งการเดินป่าฟังเสียงนก หรือจะเลือกเดินไปชม “น้ำตกผาดอกเสี้ยว” ที่เป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติที่น่าสนใจ และถ้าใครเคยชมภาพยนตร์ดังอย่าง “รักจัง” ขอบอกว่าน้ำตกในหนังอยู่ที่นี่เอง


หนาวๆ แบบนี้ ดีกรีความน่าอยู่น่าเที่ยวที่บ้านแม่กลางหลวงยิ่งเพิ่มพูนขึ้นเป็นทวีคูณ ใครไม่อยากไปแออัดกับนักท่องเที่ยวบนดอยอินทนนท์ “ปลายทาง” อย่าง “บ้านแม่กลางหลวง” ก็น่าสนใจอยู่ไม่น้อย


..........................


หมายเหตุ : ติดต่อที่พักและสอบถามข้อมูลบ้านแม่กลางหลวงที่ สมศักดิ์ คีรีภูมิทอง โทรศัพท์ 08 1960 8856, 08 1760 5181



ตามกลิ่นกาแฟไป “แม่กำปอง”


แม้จะเป็นเพียงหมู่บ้านเล็กๆ ที่ตั้งอยู่ลึกเข้าไปในภูเขา แต่ แม่กำปอง ก็ดึงดูดคนจากทั่วประเทศและทั่วโลกให้เดินทางเข้าไปเยี่ยมเยือนได้อย่างไม่น่าเชื่อ


เหตุผลหนึ่งที่ทำให้หลายคนรู้จักหมู่บ้านแห่งนี้คงเป็นกลิ่นหอมๆ ของกาแฟรสดีที่คั่วบดอย่างพิถีพิถัน แต่ที่มากกว่านั้นคือธรรมชาติอันน่ารื่นรมย์ ผสมกับวิถีชีวิตแบบเรียบง่าย ทั้งยังมีเรื่องความน่ารักของผู้คนที่ดำรงตนอยู่กับธรรมชาติได้อย่างไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไม บ้านแม่กำปองจึงน่าคบค้าสมาคม


หมู่บ้านแม่กำปอง ตั้งอยู่ที่ตำบลห้วยแก้ว อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ อยู่ห่างจากตัวเมืองไปเพียง 50 กิโลเมตร เส้นทางบางช่วงอาจสูงชันบ้าง แต่นั่นก็ไม่ใช่อุปสรรคสำคัญอะไร หากมีใจเป็นต้นทุนของการเดินทาง


จะว่าไป หมู่บ้านแห่งนี้เป็นที่รู้จักในฐานะหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์แบบยั่งยืนได้ก็เพราะมีผู้นำหมู่บ้านที่เข้มแข็งอย่าง พ่อหลวงพรหมมินทร์ พวงมาลา ผู้ใหญ่บ้านแม่กำปองที่มีแนวคิดของการอนุรักษ์อยู่ในหัวใจอย่างเต็มเปี่ยม


พ่อหลวงพรหมมินทร์ เล่าให้ฟังว่า แต่เดิมนั้นชาวบ้านแม่กำปองมีอาชีพปลูกเมี่ยงและค้าเมี่ยง โดยจะขนเมี่ยงไปกับขบวนวัวต่างเพื่อนำไปขายในเมือง จนบ้านแม่กำปองเป็นที่รู้จักในฐานะหมู่บ้านผลิตเมี่ยง ต่อมาราวปี 2542 ได้พัฒนาเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยว โดยเริ่มจากการท่องเที่ยวแบบ Homestay ก่อน เพราะพ่อหลวงพรหมมินทร์เห็นว่าแม่กำปองมีศักยภาพเพียงพอที่จะพัฒนาให้เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ จึงเริ่มปรึกษากับลูกบ้านและได้ข้อสรุปว่าจะเปิดเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ จากสมาชิกเพียง 5 หลังในช่วงแรก วันนี้หมู่บ้านแม่กำปองมีโฮมสเตย์ที่พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวเกือบ 30 หลัง และยังเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยววิถีชุมชนแบบครบวงจร นั่นจึงเป็นเครื่องยืนยันได้ดีว่า การท่องเที่ยวหมู่บ้านแม่กำปองนั้นได้รับความนิยมอย่างแท้จริง


สำหรับใครที่ยังนึกภาพไม่ออกว่าจะไปเที่ยวอย่างไร ในรูปแบบไหน ให้ลองนึกถึงหมู่บ้านที่อยู่ในหุบเขา มีอากาศหนาวเย็นตลอดปี หมู่บ้านโอบล้อมไปด้วยต้นไม้สูงๆ สีเขียวๆ ระหว่างเนินเขาเมื่อมองขึ้นไปก็จะเห็นทิวต้นเมี่ยงที่ชาวบ้านปลูกไว้ บ้างก็เป็นไร่กาแฟ และสวนผลไม้ ใต้ถุนบ้านไม้บางหลังมีชาวบ้านกำลังหมักเมี่ยง สานแอบข้าวเหนียว จักสานของใช้จากตอกไม้ไผ่ หรือปักผ้า ซึ่งเป็นกิจวัตรประจำวันที่น่ารัก และหากเดินเลี่ยงออกไปทางหลังหมู่บ้านก็จะพบทั้งลำธารและน้ำตกขนาดใหญ่ที่สร้างความสดชื่นให้คนในหมู่บ้านได้ฉ่ำเย็น


กลิ่นกาแฟหอมๆ โชยมาพร้อมกับลมหนาว หากปีนี้ใครกำลังวางแผนว่าอยากมีช่วงเวลาดีๆ กับคนที่รัก อยากให้คิดถึง “บ้านแม่กำปอง” เป็นปลายทางหลัก เพราะที่นี่น่ารักและมีเสน่ห์มากจริงๆ


..................


หมายเหตุ : รายละเอียดของบ้านแม่กำปองสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ พ่อหลวงพรหมมินทร์ พวงมาลา โทรศัพท์ 08 5675 4598



“ห้วยห้อม” กลิ่มหอมล้อมรักษ์


รู้หรือไม่ว่า “แม่ลาน้อย” เป็นอำเภอเล็กๆ ในแม่ฮ่องสอน แต่เต็มเปี่ยมไปด้วยความน่ารักและอัศจรรย์ อย่างน้อยก็เรื่องราวการพัฒนาตัวเองของชาวบ้านในอำเภอนี้ที่มีทั้งชาวไต(ไทใหญ่) ชาวปกาเกอะญอ และชาวละว้า


ในตัวเมืองเป็นถิ่นที่อยู่ของชาวไตเป็นส่วนใหญ่ แต่ถ้าขยับไกลออกไปเราจะพบหมู่บ้านของชาวละว้าและปกาเกอะญอ ตั้งชุมชนซ่อนซุกอยู่บนภูเขาสูง อย่างเช่นที่ บ้านดง ตำบลห้วยห้อม อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นหมู่บ้านของชาวละว้าที่ปัจจุบันยังคงยึดมั่นในจารีตประเพณี และที่นี่ก็มี “ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ลาน้อย” ที่หลายคนรู้จักกันดีในแง่ที่มี “นาขั้นบันได” สวยงามที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย


ไม่ต่างจากพื้นที่สูงอื่นๆ ในภาคเหนือของประเทศไทย กว่า 40 ปีก่อน พื้นที่ต้นน้ำแม่ลาน้อยและแม่สะเรียงก็เคยเต็มไปด้วยฝิ่น กระทั่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เสด็จเยี่ยมราษฎรชาวเขาบ้านป่าแป๋และบ้านห้วยห้อมในปี 2513 และทรงรับสั่งให้ประธานมูลนิธิโครงการหลวงเข้าช่วยเหลือชาวบ้าน หลังจากนั้นจึงเริ่มมีพืชเศรษฐกิจที่มั่นคงอย่างข้าว ผักปลอดสารพิษ และไม้เมืองหนาวอื่นๆ รวมถึงเสาวรส และกาแฟด้วย


เอ่ยถึงกาแฟแล้ว คอกาแฟทั้งหลายอาจหลงใหลในรสชาติและกรุ่นกลิ่นของกาแฟยี่ห้อดังระดับโลกอย่าง “สตาร์บัคส์” แต่รู้หรือไม่ว่า ต้นทางของเมล็ดพันธุ์สีดำในประเทศไทยอยู่ในอำเภอแม่ลาน้อยแห่งนี้นี่เอง


ห้วยห้อม เป็นหมู่บ้านชาวปกาเกอะญอ ที่ตั้งอยู่ในตำบลห้วยห้อม อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ด้วยความที่สภาพภูมิประเทศเป็นหุบเนินที่หนาวเย็น จึงเหมาะแก่การเป็นพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจอย่างกาแฟที่สุด


“จริงๆ เขา(สตาร์บัคส์)ต้องการเยอะ แต่เราผลิตได้แค่นี้” มะลิวัลย์ นักรบไพร ประธานกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านห้วยห้อม เปิดฉากเล่า เธอบอกว่า ปีที่แล้วส่งเมล็ดกาแฟให้ร้านดังไป 17 ตัน แล้วมีแบ่งขายในชื่อแบรนด์ “Huay Hom Arabica Coffee” อีกไม่ถึง 10 ตัน


ประชากรในหมู่บ้านห้วยห้อมเป็นชาวปกาเกอะญอที่มีวิถีชีวิตเรียบง่าย โดยก่อตั้งหมู่บ้านมาเนิ่นนานกว่า 200 ปี มีภาษาพูดและภาษาเขียนเป็นของตัวเอง ก่อนหน้านี้ชาวบ้านมีความเชื่อเกี่ยวกับผีไม่ต่างจากชาวปกาเกอะญอถิ่นอื่นๆ กระทั่งราวปี 2500 มีมิชชันนารีกลุ่มหนึ่งเข้ามาเผยแพร่ศาสนา ชาวห้วยห้อมจึงพากันหันมานับถือศาสนาคริสต์ นิกายโปแตสแตนท์ โดยทุกๆ วันอาทิตย์จะหยุดงานทุกอย่างเพื่อเข้าโบสถ์พร้อมกันและประกอบพิธีกรรมทางศาสนา


“เมื่อก่อนเราทำไร่อย่างเดียว มิชชันนารีก็เลยเข้ามาสนับสนุนให้เราปลูกกาแฟ เลี้ยงแกะ เลี้ยงหมู เลี้ยงปลา ตอนแรกมิชชันนารีเอาแกะมาให้ชาวบ้านเลี้ยง 5 ตัว จากนั้นก็ค่อยๆ เพิ่มจำนวนขึ้น ตอนที่ในหลวงและพระราชินีเสด็จฯ มาที่ห้วยห้อม เราก็ทอผ้าขนแกะถวาย หลังจากนั้นพระราชินีก็ทรงมีพระราชดำริส่งเสริมชาวบ้านผ่านกรมปศุสัตว์ ปี 2540 ก็มีการนำเข้าแกะจากออสเตรเลียมาให้ชาวบ้านเลี้ยง ทำให้เรามีขนแกะที่มีคุณภาพดีขึ้น”


เป็นที่แน่นอนแล้วว่า กาแฟและผ้าทอขนแกะ คือผลิตภัณฑ์ที่สร้างรายได้ให้กับชุมชนปีละไม่น้อย แต่มากกว่านั้นคือภูมิประเทศที่งดงาม ตลอดจนวิถีชีวิตที่น่ารัก ห้วยห้อมจึงเป็นอีกหนึ่งแหล่งพักผ่อนหย่อนใจที่ควรค่าแก่การมาเยี่ยมเยือนที่สุด ใครไม่เชื่อจะตามกลิ่นกาแฟมาก็ไม่ว่ากัน


.................


หมายเหตุ : รายละเอียดและข้อมูลบ้านห้วยห้อม สอบถามได้ที่ มะลิวัลย์ นักรบไพร โทรศัพท์ 08 9555 3900 หรือ ททท.สำนักงานแม่ฮ่องสอน โทรศัพท์ 0 5361 2982-3



“ถ้ำสิงห์” กับบางสิ่งที่ตามหา


ชุมพร เป็นจังหวัดที่ค่อนข้างมีชื่อเสียงในแง่ของการเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ ทั้งทรัพยากรทางทะเล โดยมี “อ่าวไทย” เป็นจุดหมายหลัก ภายใต้การดูแลของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร ส่วนทรัพยากรป่าไม้ ที่มีชื่อเสียงมากคือ “ป่าพะโต๊ะ” เป็นแหล่งรวมพืชพันธุ์หายากต่างๆ มากมาย

นอกจากนี้ยังมีสวนผลไม้ ไร่กาแฟ ฯลฯ รวมถึงชุมชนท่องเที่ยวที่มีทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งพร้อมเปิดประตูต้อนรับผู้มาเยือนด้วยความยินดีอีกนับไม่ถ้วน
กาแฟโรบัสต้ามีพื้นที่ปลูกมากที่สุดอยู่ในภาคใต้ของประเทศไทย และจังหวัดชุมพรก็เป็นจังหวัดที่มีการปลูกกาแฟสายพันธุ์โรบัสต้ามากที่สุด น่าสนใจเพราะกาแฟสำคัญถึงขนาดถูกระบุไว้ในคำขวัญของจังหวัดเลยทีเดียว


“ประตูภาคใต้ ไหว้เสด็จในกรม ชมไร่กาแฟ แลหาดทรายรี ดีกล้วยเล็บมือ ขึ้นชื่อรังนก”


รู้หรือไม่ว่า กาแฟสำเร็จรูปที่เราดื่มกินกันอยู่ในปัจจุบัน ส่วนมากเป็นกาแฟสายพันธุ์โรบัสต้าที่มาจากภาคใต้ของเรานี่เอง เพราะกาแฟโรบัสต้ามีรสชาติที่เข้มข้น แอบเปรี้ยวนิดๆ เมื่อนำมาทำเป็นกาแฟสำเร็จรูปรสชาติจึงกลมกล่อมถูกจริตกับคนไทยอย่างยิ่ง


มากขนาดไหน ก็ขนาดที่ว่ามีแบรนด์กาแฟในท้องถิ่นมากมายกว่า 10 แบรนด์ แต่ที่อยากแนะนำคือ ถ้ำสิงห์ ซึ่งเป็นแบรนด์กาแฟที่มีเอกลักษณืเรื่องความหอม รสชาติกลมกล่อม และเป็นกาแฟเพื่อเกษตรกรอย่างแท้จริง


นิคม ศิลปศร ประธานกลุ่มกาแฟถ้ำสิงห์ ในรูปของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มบ้านถ้ำสิงห์ ซึ่งเป็นชุมชนที่ผลิตกาแฟรสชาติดีออกมาให้ชาวไทยและชาวโลกได้ชิมจนชื่นลิ้นกัน เล่าว่า บ้านถ้ำสิงห์ ตั้งอยู่ที่ตำบลถ้ำสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร ชาวบ้านปลูกกาแฟมาตั้งแต่ปี 2510 และค่อยๆ สร้างชื่อเรื่อยมา กระทั่งปี 2522 ถือว่ากาแฟถ้ำสิงห์โด่งดังสุดขีด ราคาขายสูงถึง 120 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้ชาวบ้านหันมาปลูกกาแฟกันมากขึ้น


แต่ที่สุดแล้วราคากาแฟก็ค่อยๆ ตกต่ำลง ยิ่งมาเจอพายุ “เกย์” ที่โหมกระหน่ำในปี 2532 ทำให้เกษตรกรสูญเสียต้นกาแฟไปทั้งหมด รัฐบาลในยุคนั้นเริ่มโครงการลดพื้นที่ปลูกกาแฟเพื่อลดอัตราการล้นตลาด โดยมอบเงิน 6,800 บาท/ไร่ ให้เกษตรกร จนในที่สุดก็เหลือพื้นที่ปลูกเพียง 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น


“ผมอยากคงคำขวัญของชุมชนให้อยู่คู่กับชุมชน จึงหันมาส่งเสริมให้ปลูกกาแฟ และใช้รูปของกลุ่มวิสาหกิจเข้ามาช่วยเรื่องรายได้ จนตอนนี้เรามีกาแฟหลายแบบให้บริการ” ประธานกลุ่มบอก ทั้งยังเสริมอีกว่า กาแฟถ้ำสิงห์คุณภาพดีถึงขั้นที่มีบริษัทกาแฟยักษ์ใหญ่ขอซื้อเมล็ดไปผลิตกาแฟส่งขายทั่วโลกด้วย


ทำไมกาแฟถ้ำสิงห์จึงมีรสดี เรื่องนี้ไม่ยาก ประธานกลุ่มคนเดิม บอกว่า ดินที่บ้านถ้ำสิงห์ดี เพราะเป็นดินร่วนปนดินเหนียวสีแดงเข้ม ซึ่งมีแร่ธาตุอาหารในดินที่อุดมสมบูรณ์ จึงเหมาะกับการปลูกกาแฟสายพันธุ์โรบัสต้า แล้วผลผลิตที่ได้ออกมาก็น่าพึงพอใจ เมื่อนำมาคั่วดีๆ จะมีกลิ่นหอม และรสชาติที่เข้มข้น


สำหรับกาแฟที่สร้างรายได้และขายดีที่สุดก็คือกาแฟสำเร็จรูปชนิดผง 4 in 1 ผสมดอกคำฝอย ที่เกษตรกรบ้านถ้ำสิงห์ยืนยันว่า มีสรรพคุณบำรุงร่างกายหลายอย่าง แต่นอกจากนี้ก็ยังมีกาแฟรูปแบบอื่นๆ ให้ได้ลิ้มลองกันด้วย


เรียกว่า มาถ้ำสิงห์แล้วไม่ “ตื่น” กลับไปถือว่ามาไม่ถึงชุมพรเลยทีเดียว


..................


หมายเหตุ : สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ วิสาหกิจชุมชนกาแฟบ้านถ้ำสิงห์ โทรศัพท์ 08 6942 1792, 08 9292 1919 หรือ ททท.สำนักงานชุมพร โทร. 0 7750 1831, 0 7750 2775-5