ไม่มีกรงขัง ในโลกหนังสือ

ไม่มีกรงขัง ในโลกหนังสือ

แม้ในรั้วสูงหรือกำแพงกั้น ก็ไม่ควรมีอะไรกีดกันพวกเขาออกจาก ‘โลกแห่งหนังสือ’ ตราบที่ใจรักจะ ‘เขียน-อ่าน’

เช้าวันจันทร์ สำหรับคนเมืองทั่วไป หลายคนอาจกำลังบ่นโอดครวญกับจราจรอัมพาตที่แม้จะเริ่มสายก็ยังไม่มีแววจะคลี่คลาย แต่สำหรับคนกลุ่มเล็กๆ ในสถานที่แห่งหนึ่ง พวกเขากำลังรอคอยที่จะได้หอบหนังสือเก่าที่อ่านแล้วมาแลกกับหนังสืออีก '3 เล่มใหม่' ที่จะนำกลับไปอ่านในสัปดาห์ถัดไป

“ที่เอาไปอ่านบ่อยก็จะเป็นเกี่ยวกับวิชาการ ภาษาอังกฤษครับ ครั้งที่แล้ว ยืมหนังสือเรียนลัดพูดภาษาอังกฤษไป แล้วก็เป็นหนังสือพวกปรัชญา ส่วนวันนี้ กำลังดูอยู่ว่า ถ้าน่าสนใจก็จะยืมไปครับ” อดีตนายทหารวัย 45 ผู้เปลี่ยนมาใช้อักษรย่อนำหน้าชื่อว่า น.ช. (นักโทษชาย) ได้ราว 8 ปีเอ่ย พร้อมชี้ให้ดูกองหนังสือ ‘เข็มทิศชีวิต’ ที่กำลังเล็งๆ ไว้ว่าจะยืมกลับไปในเที่ยวนี้

ตามหลักปฏิบัติของเรือนจำกลางบางขวาง หากผู้ต้องขังคนใดต้องการจะมาใช้บริการห้องสมุดพร้อมปัญญาจะต้องลงชื่อไว้ล่วงหน้า โดยสามารถมายืมหนังสือได้สัปดาห์ละหนึ่งครั้ง เพื่อหมุนเวียนให้บริการได้ครบทุกแดน

สำหรับผู้มาจากแดน 2 อย่าง ‘ต้น’ ถูกจัดคิวไว้ที่รอบเช้าของทุกวันจันทร์ โดยเขาและเพื่อนๆ มีเวลาราวครึ่งชั่วโมงในการเลือกหนังสือ

‘อ่าน’ เพื่อวันใหม่

แม้จะจัดอยู่ในกลุ่มหนอนหนังสือตัวเอ้เพราะแทบไม่เคยว่างเว้นไปจากบัญชีการยืม-คืนเลยก็ตาม แต่ถ้ามองย้อนไปเมื่อก่อน เขาบอกว่า ตัวเองไม่ค่อยได้อ่านหนังสือเท่าไรนัก เพราะงานเยอะจากราชการทหาร

“อ่านหนังสือก็ทำให้เราผ่อนคลายได้ บางทีเกิดความเครียดเราก็อ่าน อย่างเวลาที่จะได้อยู่ข้างล่างก็แค่ 8 ชั่วโมง แต่พอสามโมงเย็นถึงเจ็ดโมงเช้า ก็จะต้องอยู่บนตึก คือปิดขัง ไม่มีอะไรทำ ก็จะอ่านหนังสือเป็นหลัก ดูโทรทัศน์ ดูข่าวสารบ้าง แต่ส่วนใหญ่ก็จะอ่านหนังสือ แล้วผมก็เรียนปริญญาตรีในนี้ด้วย เพิ่งจบนิติศาสตร์บัณฑิตไป ถ้าเขาเปิดให้เรียนสูงกว่านี้ก็อยากจะเรียนต่อไปอีก” เขาเล่ากิจวัตรหลักๆ ในช่วงชีวิต 8 ปีที่ผ่านมาหลังจากเปลี่ยนสถานะ

อันที่จริง ต้นมีศักดิ์เป็นมหาบัณฑิตอยู่แล้ว แต่ที่กลับมาเรียนปริญญาตรีใหม่ ก็ด้วยเหตุผลหลักคือ ไม่อยากปล่อยให้เวลาเสียเปล่า เช่นเดียวกับการเลือกหนังสือภาษาอังกฤษมาอ่านเป็นพิเศษ ก็เนื่องจากเขาวางแผนไว้ว่า หลังออกจากรั้วลวดหนามแห่งนี้ไป ก็ตั้งใจจะไปเรียนต่อที่ต่างประเทศ

“ก็ยังไม่รู้ว่าจะได้ออกเมื่อไหร่ ถ้าได้รับพระราชทานอภัยโทษ ก็อาจจะออกได้เร็วขึ้น” เขาเอ่ยอย่างมีความหวังว่า โทษ 37 ปีที่ได้รับจะค่อยๆ ลดน้อยลง

สำหรับอดีตนายทหารรายนี้ ตัวหนังสือ ถือเป็นเครื่องมือช่วยพัฒนาความรู้ ทักษะเพื่อจะก้าวต่อไปในวันข้างหน้า แต่สำหรับอีกหนึ่งหนอนหนังสืออย่าง ‘หยง’ ตัวอักษรทั้งหลายยังมีค่าในฐานะการระบายออก ถึงอารมณ์ความรู้สึกที่อัดอั้นผ่าน ‘การเขียน’

“เคยเขียนระบายไว้เป็นปึกเลยครับ แต่ตอนนี้ไม่เหลือแล้ว เพราะทางราชการเขาเคยตรวจเข้ม ไม่ให้เก็บสิ่งของที่ไม่จำเป็นไว้ ก็เลยต้องทิ้งหมด เสียดายมาก”

...นอกจากเครื่องมือในการระบาย สำหรับหยงแล้ว ‘การเขียน’ ยังสามารถเปลี่ยน 'ใจที่แค้น' ให้เบาบางลง และมองเห็นความจริงที่รอบด้านมากขึ้นได้อีกด้วย

‘เขียน’ เปลี่ยนคน

เป็นเวลาปีเศษแล้ว ที่หยงมารับหน้าที่ผู้ช่วยบรรณารักษ์คอยช่วยจัดเรียงหนังสือ ทำบันทึกและสืบค้นข้อมูล เป็นช่างซ่อมหนังสือ ตลอดจนกิจกรรมต่างๆ เพื่อสร้างบรรยากาศเป็นมิตรให้กับห้องสมุด แม้กระทั่งมุมหนังสือใหม่ที่เพื่อนๆ ต่างแวะเวียนเข้ามาหยิบยืมไปอ่านนั้น ก็มาจากการคัดเลือกโดยหนุ่มเมืองน่านผู้กำลังจะได้พบกับ ‘อิสระ’ ที่โหยหาในเร็วๆ นี้

“ปีหน้าก็ได้ออกไปแล้วล่ะครับ” หยงตอบยิ้มๆ ระหว่างตั้งอกตั้งใจจัดชั้นหนังสือ

จุดเริ่มต้นของการได้รับโอกาสให้มาขลุกอยู่ในห้องสมุดตลอด 5 วัน จันทร์ถึงศุกร์ ของหยง เริ่มต้นมาจากการได้เข้าร่วมโครงการฝึกอบรม “เรื่องเล่าจากแดนประหาร” ส่วนหนึ่งในโครงการกำลังใจ ของสำนักกิจการในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เมื่อปี 2553 ต่อเนื่องถึงปี 2554 เป็นเวลา 4 เดือนที่หยงและเพื่อนๆ ทั้งหมด 30 คนในรุ่น 1 ได้ฝึกปรือการเขียนโดยนักเขียนมืออาชีพมากมาย หนึ่งในนั้นคือ อรสม สุทธิสาคร นักเขียนสารคดีผู้ทุ่มเทกำลังเพื่อฟื้นฟูกำลังใจให้กับผู้ต้องขัง

“เมื่อก่อน ใช้เวลาที่อยู่ห้องประหาร ตอนนั้นมันเครียดด้วย ไม่มีอะไรทำ ไม่ใช่ว่าชอบนะ มันไม่มีไรทำ ก็เลยเขียนระบายเล่นๆ เขียนเกี่ยวกับชีวิตตัวเอง บางทีเราก็ท้อแท้ กำลังใจอะไรก็ไม่เท่ากับเราให้กำลังใจตัวเอง ก็เลยชอบเขียน แล้วพออาจารย์อรสมเขาประกาศรับสมัครก็คิดว่า น่าจะไปเพิ่มทักษะ ไหนๆ เราก็ชอบขีดเขียนก็ลองไปเรียนดู ยิ่งได้ประสบการณ์จากครู อาจารย์ เข้ามาสอน ก็ยิ่งทำให้เรารู้สึกว่า ถึงแม้เราจะอยู่ในโลกแคบๆ นี้ แต่การที่เราได้เขียนหนังสือก็ทำให้เราเหมือนกับอยู่ในโลกกว้างข้างนอกได้เหมือนกัน บางครั้งผมยังคิดเลยว่า ตอนที่อยู่ข้างนอกเนี่ย เราอยู่ในโลกกว้าง แต่ความคิด ความอ่านของเรามันแคบกว่าเยอะ”

เมื่อถูกถามว่า ‘เปลี่ยน’ แค่ไหน... หยงบอกว่า อย่างน้อยๆ ก็ทำให้ความเจ็บแค้นชนิดที่เคยย้ำกับตัวเองว่า "ถ้าออกไป จะเอาให้ถึงตาย" นั้นจางหายไปได้

“เมื่อก่อนผมแค้นมาก ผมกะไว้ว่า ผมออกไป ผมก็จะไปแก้แค้นคนที่จับผม ผมจะต้องไปฆ่าเขา ทำให้มันเลวร้าย ให้มันสะใจ ก็บอกเพื่อนตลอดว่า ถ้าออกไปต้องแก้แค้น แต่พอมาเจอครู ครูเขาก็เปลี่ยนชีวิตเรา เรามัวแต่มองโลกในแง่ลบ เห็นแต่ความผิดคนอื่น แต่ครูเขาสอนเรา ก็เอามาคิด ค่อยเห็นว่า เมื่อก่อนเราเข้าข้างตัวเองเยอะเกินไป”

‘ความเรียง’ บทเรียนชีวิต

ถ้าจะไล่หากระบี่มือหนึ่งในหมู่ลูกศิษย์ของ อรสม ที่เรือนจำกลางบางขวาง แน่นอนว่า ใครๆ จะต้องชี้นิ้วมายัง ‘เขา’ ผู้เป็นเจ้าของนามปากกา ‘ส.แม่ปิง’

“เขาแซวกันว่า ผมเป็นนักล่ารางวัลเลยล่ะครับ” เจ้าตัวเอ่ยพร้อมเสียงหัวเราะกับฉายาที่ได้รับ

ทั้งในฐานะ 1 ใน 13 ผู้ต้องขังที่ร่วมเขียนหนังสือ อิสรภาพบนเส้นบรรทัด 13 นักโทษประหาร กระทั่งได้รับรางวัลชมเชยเซเว่นบุ๊คอวอร์ด.. ได้รับรางวัลรองชนะเลิศการประกวดโครงการเขียนจดหมายเล่าเรื่องเมืองไทย 2556 จากไปรษณีย์ไทยจากงานเขียนในรูปแบบจดหมายหัวข้อ สุขเพราะให้ ได้ยิ่งกว่า และยังมีผลงานชุด วิ่ง...สู่อ้อมกอด พิมพ์เป็นตอนในนิตยสารสารคดี

และล่าสุดกับผลงานหนังสือ รอยสักชีวิต ที่ได้รับรางวัลชมเชย รางวัลแว่นแก้ว ปี 2557 ประเภทสารคดีสำหรับผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นเหตุผลให้ผลงานของเขาได้รับการตีพิมพ์วางขายบนชั้นหนังสือแล้วในตอนนี้

“เรื่องเงินเรื่องรางวัลอะไร เราเลยจุดนั้นไปแล้ว เรามาอยู่ในนี้ เสื่อสามผืน ที่นอนนิดเดียว เราก็ยังอยู่ได้ แต่ที่ตัดสินใจส่งประกวดนั้น ก็เพราะอยากให้ผลงานได้ตีพิมพ์เป็นหนังสือ เพราะหนังสือเป็นอะไรที่ไม่ใช่อยู่แค่วันสองวัน มันอยู่ได้นาน คนนึงซื้อไป ก็น่าจะมีอีกหลายคนได้อ่าน หรือถ้าขายไม่ออก จากราคาร้อยสองร้อย ถ้าเหลือ 20 บาทมันก็ยังมีประโยชน์ สำหรับใครที่เจอวิกฤติของตัวเองแล้วเกิดได้อ่านหนังสือเล่มนี้ เขาก็อาจจะไม่คิดมาก หรือค่อยๆ แก้ปัญหาได้” นักล่ารางวัลแห่งบางขวางเอ่ย

โดยทั่วไป ผลงานเขียนของเขาจะเน้นที่การสัมภาษณ์บุคคลและเล่าเรื่องผ่านการเขียนแนวสารคดีบนเป้าหมายหลัก คือ เพื่อนำเรื่องราวของคนที่เคยเดินพลาดมาบอกเล่า อย่างผลงานล่าสุดรอยสักชีวิต ก็เกิดเป็นการเล่าฉากชีวิตบางช่วงบางตอนของผู้ต้องขังจากแดนประหารโดยเปรียบเทียบผ่านรอยสัก ซึ่งแม้จะพอลบออกได้แต่ก็ยังทิ้งร่องรอยไว้ นับประสาอะไรกับความผิดพลาดในอดีตที่เปรียบเหมือน ‘รอยสักชีวิต’ ซึ่งไม่มีทางจะลบออกให้หมดไปได้ ฉะนั้นการไม่ก้าวผิดตั้งแต่แรกจึงเป็นความต้องการของนักเขียนในกำแพงสูงผู้กำลังจะได้รับอิสรภาพในอีก 2 ปีหลังจากนี้

“อาศัยความที่เป็นคนชอบอ่านหนังสือ พอมาเรียนกับอ.อรสม ก็รู้สึกว่า อยากทำอะไรที่มีประโยชน์บ้าง เราอยู่ในนี้คนก็มักจะมองว่า เราไม่มีประโยชน์ แต่เราเชื่อว่า มันไม่ใช่ เพราะคนในนี้ที่ดีๆ ก็ยังมีเยอะ เราอาจจะเดินผิดไป แต่ก็ไม่ได้ถึงกับเป็นโจรโดยสันดาน ก็อยากจะเอาเรื่องของคนพวกนี้มาเขียนให้เป็นอุทธาหรณ์เตือนใจคนอื่นๆ แต่ก็ไม่ได้ถึงกับตั้งเป้าหมายว่า ทุกคนอ่านแล้วจะเป็นคนดี ขอแค่ซักคนที่อ่านแล้วไม่ก้าวผิดเหมือนเรา เราก็พอใจแล้ว” นักเขียนมือรางวัลผู้เคยผ่านวูบความคิดที่จะทิ้งชีวิตไว้ในห้องขังเอ่ย

‘พลัง’ จากตัวอักษร

เพราะหนังสือมีพลังมากกว่าที่คิด ยิ่งถ้าเป็นหนังสือดีๆ สักเล่ม วรรคทองดีๆ ไม่กี่ประโยค ก็สามารถเปลี่ยนชีวิต ‘คนอ่าน’ ได้อย่างไม่น่าเชื่อ

"วรรคทอง 4-5 ประโยค ทำให้ความคิดของเราเปลี่ยนไปเลยนะ" หยงเอ่ย และเผยถึงหนังสือในดวงใจว่า จริงๆ มีเยอะ แต่ที่ชอบเป็นพิเศษจะเป็นแนวปรัชญาศาสนา โดยเฉพาะ ‘ฆราวาสชั้นเลิศ’ (พุทธวจน) เป็นหนังสือที่ถ้าทุกคนได้อ่านจะดีมาก ทำให้เรากลับความคิด เมื่อก่อนก็ไม่เข้าใจว่า ให้มองโลกในแง่บวก คือมองยังไง แต่ตอนนี้เราก็เริ่มที่จะเข้าใจแล้ว แต่ก็ไม่ใช่ไม่ทุกข์นะครับ ยังมีทุกข์ แต่เราอยู่กับความทุกข์ เราใช้มันให้เป็นกำลังใจให้เรา บางทีเราเจอเรื่องร้ายๆ เราก็คิดว่า ร้ายกว่านี้เราก็เจอมาแล้ว เดี๋ยวมันก็ผ่านไป มันไม่ได้อยู่กับเราตลอด"

ถ้าเทียบกับแต่ก่อน หยงยอมรับว่า ไม่เคยมีวิธีปลอบใจตัวเองเลย คิดอย่างเดียวว่าจะต้องเอาคืน!

หากมองหนังสือในฐานะ ‘เครื่องมือ’ เยียวยามนุษย์ สำหรับ พรเพ็ญ วงศ์กิจมโนชัย กระบวนกรอิสระแนวจิตตปัญญา ที่เข้าๆ ออกๆ เรือนจำหลายแห่งเพื่อจัดเวิร์คชอปเยียวยาจิตใจให้กับผู้ต้องขัง ร่วมยืนยันอีกเสียงว่า ‘หนังสือ’ สามารถเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเยียวยาจิตใจให้กับคนเราได้จริงๆ

“หนังสือมันมีประโยชน์โดยตัวมันเองอยู่แล้ว หนังสือเป็นเพื่อนที่ดีสำหรับทุกคน ถ้าเขาได้อ่านหนังสือดีๆ สักเล่ม ก็อาจเกิดแรงบันดาลใจ เกิดการเปลี่ยนแปลงได้เยอะมาก โดยเฉพาะช่วงเวลาที่เขาอยู่กับตัวเอง ฉะนั้นการให้หนังสือดีๆ ก็เหมือนได้ช่วยเขาได้มาก แล้วแต่ละคนก็สามารถมีแรงบันดาลใจได้จากหนังสือหลายๆ ประเภทแตกต่างกันไป หนังสือธรรมะอย่างเดียว อาจไม่สามารถทำให้คนเปลี่ยนแปลงชีวิตได้ เพราะบางคนก็อาจจะอ่านวรรณกรรมเยาวชนดีๆ แล้วเกิดแรงบันดาลใจก็ได้”

และจากการได้ไปเห็นสภาพหนังสือตลอดจนห้องสมุดในหลายๆ เรือนจำในบ้านเราที่ไม่ชวนอ่านชวนเข้า พรเพ็ญ จึงเริ่มต้นไอเดียรวบรวมหนังสือจากพรรคพวกเพื่อนฝูงเพื่อนำไปบริจาคโดยเริ่มที่เรือนจำ จ.ขอนแก่น จนตอนหลังขยับขยายมาเปิดเพจในเฟซบุ๊คชื่อ ‘แบ่งปันหนังสือเข้าเรือนจำ’ ซึ่งมีเพื่อนรุ่นน้องอย่าง นภา ธรรมทรงศนะ รับหน้าที่เป็นแอดมินและกลายเป็นกำลังหลักในการรับบริจาคหนังสือสู่เรือนจำ

เพราะสภาพหนังสือที่ได้เห็นจากการลงพื้นที่ทำเวิร์คชอปในหลายๆ เรือนจำแทบไม่ต่างกัน คือ สภาพหนังสือเยินๆ ในห้องสมุดบรรยากาศชวนอึดอัด แถมหนังสือบนชั้นส่วนใหญ่ก็จะออกแนวธรรมะ พระไตรปิฎก หรือนิตยสารเก่าๆ ที่กระทั่งคนทั่วไปยังไม่อยากจับ นับประสาอะไรกับผู้ต้องขังที่วันๆ อยู่แต่ในโลกใบเก่าๆ จะอยากหยิบขึ้นมาอ่าน

“บางครั้งเราก็มักคิดไปเองว่า หนังสือดีๆ ที่เห็นโดยทั่วไปและเป็นของธรรมดา ใครๆ ก็น่าจะได้อ่าน ซึ่งมันไม่จริงเลย เพราะหลายๆ คนตอนเขาอยู่ข้างนอก เขาไม่ได้มีโอกาสได้อ่านหนังสืออย่างที่เราๆ ได้อ่านกัน” พรเพ็ญเอ่ยตบท้าย


--- หนังสือ ชำระใจ ---
บายไลน์ : ศากุน บางกระ

“มนุษย์เราทุกคนล้วนมีความดี และความพร่องอยู่ในตัวด้วยกันทั้งนั้น ไม่มีใครดีสมบูรณ์แบบ หรือว่าชั่วเต็มร้อย เพราะฉะนั้นเราเชื่อว่า ถ้าเราทำให้ความดีของเขาแข็งแรงขึ้น หรือว่าเติบโตขึ้น ความพร่องมันก็จะลดน้อยลง” อรสม สุทธิสาคร เล่าถึงความเชื่อที่ทำให้โครงการพัฒนาจิตใจของผู้ต้องขังในเรือนจำเกิดขึ้นหลายครั้งและต่อเนื่อง

สิ่งหนึ่งที่อรสมค้นพบหลังจากเข้าไปเป็น “ครู” ในเรือนจำเป็นเวลากว่า 5 ปี ก็คือ ชีวิตข้างนอกก่อนเข้าเรือนจำของผู้ต้องขังหลายคนนั้น ไม่มีเวลาให้กับการนั่งอ่านหนังสือ หรือการนั่งมองจิตใจตัวเองเลย

การได้มีโอกาสสัมผัสกับโลกอีกใบจากหนังสือ จึงกลายเป็น “ยา” ทางใจชั้นดี

"เมื่อเข้ามาอยู่ในเรือนจำ ความทุกข์ก็ทำให้เขาต้องคิดว่า อย่างน้อยทำอะไรสักอย่างที่พอจะทำให้เวลาผ่านไปด้วยความไม่ทุกข์ตรมขมขื่น หรือทำให้วันเวลาผ่านไปโดยไม่เชื่องช้าจนเกินไป พอเพลิน หรือพอมีความหมายบ้าง หนังสือก็เป็นตัวเลือกที่ช่วยเยียวยาจิตใจได้” อรสมเล่า

และไม่เสมอไปว่าหนังสือแนวไหนคือ “ดีที่สุด” โดยการปล่อยให้ผู้ต้องขังได้มีสิทธิเลือกอย่าง “อิสระ” คือสิ่งที่ดีที่สุด และนั่นจึงเป็นที่มาของอันดับหนังสือยอดนิยมในหมู่นักอ่านประจำเรือนจำซึ่งหลากหลายตั้งแต่หนังสือนิยาย ธรรมะ สุขภาพ สารคดี ไปจนถึงปรัชญาหนักๆ ซึ่งได้รับบริจาคมาจากหลายช่องทาง

ไม่ใช่แค่อ่าน แต่การมองเห็นจิตใจตัวเองยังชัดขึ้นอีกหาก “นักอ่าน” ได้เปลี่ยนเป็น “นักเขียน”

การได้ลงมือเขียน ถือเป็นกระบวนการขัดเกลาทางจิตใจอย่างหนึ่ง เมื่อประสบการณ์ที่เขาคิดว่า "ผิดพลาด” ได้กลายเป็น “ครู” ของคนอื่น ก็ยิ่งทำให้เกิดภาคภูมิใจในตัวเอง

อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดของการเรียนรู้และการพัฒนาจิตใจด้วยหนังสือให้กับผู้ต้องขังก็ยังมีอยู่จากหลายๆ เงื่อนไขที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น การรักษาความปลอดภัย จนถึงจำนวนบุคลากรที่ไม่เพียงพอ.