ศึก ‘สัก’ สี

ศึก ‘สัก’ สี

จากความเชื่อความศรัทธาตั้งแต่อดีตสู่ศิลปะบนเรือนร่างที่ทั่วโลกยอมรับ เหมือนจะเป็นสากลแต่ทำไมเรื่อง ‘สัก’ ในสังคมไทยจึงยังถกกันไม่จบไม่สิ้น

รสนิยมเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล...คำกล่าวนี้เห็นจะจริง เพราะไม่ว่าจะเป็นรสนิยมการกิน รสนิยมการอ่าน รสนิยมทางเพศ และอีกมากมายหลายเรื่องรสนิยมก็ขึ้นอยู่กับความชอบส่วนตัว ถ้าจะให้ใครสักคน ‘ยอมละ’ รสนิยมตัวเองเพื่อไป ‘ยอมรับ’ รสนิยมคนอื่นก็เห็นจะเป็นเรื่องยาก

รอยสักก็เช่นเดียวกัน ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นเรื่องรสนิยม ใครใคร่สักสัก ใครไม่ใคร่สักก็ยากที่จะฝืนให้ทำ จึงไม่แปลกที่จะมีทั้งคน ‘ใคร่’ และคน ‘ค้าน’ ในเมื่อทัศนคติไม่ตรงกันแบบนี้เรื่อง ‘สัก’ ก็กลายเป็น ‘ศึก’ ได้เลย

ตัวลายก็ต้องเรียน

วงการสักกับวงการการศึกษาเป็นคนละเรื่องกัน แต่ก็มีสิ่งที่สะท้านสะเทือนทั้งสองวงการได้ในคราวเดียว เมื่อสมาคมวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทยได้มีมติให้ออกมาตรการงดรับนักเรียนที่มีรอยสักหรือระเบิดหูเข้าเรียนในปีการศึกษา 2559 จนเกิดศึกย่อมๆ กันเลยทีเดียว

รศ.ดร.จอมพงศ์ มงคลวณิช นายกสมาคมวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทยให้เหตุผลว่ามาตรการนี้เกิดจากปัญหาการทะเลาะวิวาทที่เป็นปัญหาเรื้อรังจนทำให้อาชีวะกลายเป็นโจทก์ของสังคม ตอนนี้ถึงเวลาที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันแก้ปัญหา จึงเชิญผู้รับใบอนุญาตและผู้อำนวยการวิทยาลัยเอกชน ซึ่งเปิดสอนด้านช่างอุตสาหกรรม 19 แห่ง ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มาหารือและได้มีมติและลงสัตยาบันการดูแลพฤติกรรมนักเรียนนักศึกษาใกล้ชิดร่วมกัน

ซึ่งเนื้อหาระบุครอบคลุมตั้งแต่เรื่องพกพาอาวุธ สิ่งเสพติด การแต่งกาย ทรงผม และที่โจษจันคือเรื่องรอยสักและระเบิดหู ด้วยเหตุผลว่ามีผู้ประสงค์ร้ายแฝงมาในคราบนักศึกษา

“เราคำนึงถึงความปลอดภัยของลูกศิษย์ ซึ่งระหว่างประชุมก็มีบางวิทยาลัยยกตัวอย่างว่า เด็กบางคนสักเป็นตราสัญลักษณ์ ลาย หรือข้อความที่อาจเป็นการยั่วยุอย่างเห็นได้ชัด ตรงนี้อาจจะเป็นอันตรายต่อตัวเด็กเอง แต่ถ้าเป็นรอยสักที่เสื้อผ้าปกปิดได้หรือลบได้ก็ไม่มีปัญหา เพราะฉะนั้นมาตรการนี้ไม่บังคับว่าต้องทำตามเพียงขอความร่วมมือ ที่สุดแล้วก็ขึ้นกับดุลยพินิจของวิทยาลัย” รศ.ดร.จอมพงศ์ บอก

แต่อีกมุม ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน แสดงความเห็นว่าการตีรันฟันแทงกันไม่เกี่ยวกับการที่เนื้อตัวของคนเหล่านั้นจะมีรอยสักหรือไม่

“มนุษย์จะตีกันหรือไม่ ต้องด้วยเหตุผลที่ค้นหาแล้วว่าขัดข้องกัน ก็ต้องทำสงคราม รบรา ต่อสู้ จึงเกิดสงครามตามจุดต่างๆ บนโลกมนุษย์ ไม่ต้องสักก็ทะเลาะกันได้ ยิงกัน ฆ่ากัน ดูอย่างเสื้อเหลืองเสื้อแดงการเมืองไม่เห็นเขาต้องสักเลยก็แสดงความเลวได้ มนุษย์ที่มีความโกรธ มีอารมณ์ร้ายต่อกันมันเป็นเรื่องการค้นหาเหตุผล หาไม่ได้ก็ใช้อารมณ์ ไม่ต้องวาดภาพบนร่างกายหรอก”

นอกจากจะไม่เกี่ยวกันอย่างมีนัยสำคัญ การออกมาตรการห้ามแบบนี้นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนคนนี้บอกว่าละเมิดสิทธิส่วนบุคคลด้วยซ้ำ เพราะอันที่จริงนี่เป็นเรื่องส่วนตัวของคนทุกคนบนโลกนี้ที่จะแต่งตัวอย่างไรหรือจะทำอะไร เป็นเสรีภาพส่วนบุคคล

“การไม่รับเด็กที่มีรอยสักถือว่าละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ทำไม่ได้ ผิดหลักมนุษยธรรมทั่วไป ผิดหลักรัฐธรรมนูญอีกต่างหาก และแสดงความโง่เขลาของผู้บริหารโรงเรียน ใครจะมาทาสีบนผิวหนังของคน มนุษย์ตั้งแต่สมัยโบราณเขาก็ทำกันมา อย่างคนไทยก็สักยันต์เพื่อสร้างพลัง เป็นความศักดิ์สิทธิ์จากครูอาจารย์ในสมัยโบราณ คนโบราณเขามีความคิดสร้างสรรค์เพราะแต่ละภาพที่จะสักลงไปบนผิวหนังจะสวยงาม คนไทยทำกันมา คนโบราณทั้งโลกทำกันมา”

จากการสักเพื่อความศักดิ์สิทธิ์มาจนถึงปัจจุบันที่การสักทำเพื่อความสวยงามและเป็นงานศิลปะ และยังเป็นวิธีแสดงรสนิยมของตัวเองด้วย ดร.สมเกียรติเปรียบว่าการสักก็เหมือนกับการแต่งหน้าทาปากที่ผู้หญิงชอบทำกันนั่นละ เพราะทุกคนก็อยากตกแต่งตัวเองให้สวยงามดั่งคำสุภาษิตไทย “ไก่งามเพราะขน คนงามเพราะแต่ง” เป็นเรื่องธรรมดา เป็นพัฒนาการของมนุษย์ที่ต้องการสร้างสรรค์สิ่งสวยงามบนร่างกาย ถ้าหากจะย้อนไปก็คล้ายเรื่องทรงผมนักเรียนที่ถกเถียงกันมาก่อนหน้านี้ เพราะหลายคนจับแพะชนแกะบอกว่าทรงผม (ยาว) กับการตั้งใจเรียนของเด็กเป็นเรื่องเดียวกันจนหลายคนเรียกร้องให้ดูสิ่งที่อยู่ใต้ทรงผม (สติปัญญา) มากกว่า เช่นเดียวกับทัศนคติของคนไทยส่วนหนึ่งที่ยังเชื่อว่าคนมีรอยสักคือคนไม่ดี การจะเป็นเด็กดีตั้งใจเรียนได้ต้องเนื้อตัวเกลี้ยงเกลา

   “ผมว่าปล่อยให้เด็กและเยาวชนได้ค้นหาความงดงามของตัวเองไปตามปกติเถอะ ส่วนใครจะเรียนเก่งเรียนไม่เก่งแก้ผ้าเรียนก็เก่งได้

แต่คำถามที่ตามมาคือนอกจากคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับมาตรการดังกล่าวจะออกโรงมาแสดงความคิดเห็นและให้ข้อมูลอันเป็นประโยชน์แล้ว ผู้ปกครองและเด็กอาชีวะกำลังยืนอยู่ตรงไหนของสังเวียนนี้ ดร.สมเกียรติเล่าว่า ตั้งแต่มีเรื่องนี้ยังไม่เห็นพลัง ไม่เห็นความกล้าหาญ ไม่เห็นการต่อสู้ เพื่อปกป้องสิทธิของตัวเอง ทั้งที่เด็กอาชีวะมีชื่อเสียงเรื่องความกล้าหาญ ซึ่งพลังกับความกล้าหาญนี้เด็กกับผู้ปกครองควรนำมาต่อสู้เพื่อสิทธิของตัวเอง แล้วต้องพิสูจน์ว่าแม้จะมีรอยสักก็เป็นคนเก่งได้ และเป็นพลเมืองที่ดีไม่แพ้ใคร

ยิ่งสักยิ่งเจ็บ

ไม่เพียงแค่มุมต่างเรื่องนิสัยกับรอยสัก วิวาทะเรื่องการสักยังลุกลามไปถึงพฤติกรรมของช่างสัก มาตรฐานและความปลอดภัยของคนที่มาใช้บริการ ซึ่งในกลุ่มช่างสักเองก็กังวลเหมือนกันว่าปมปัญหา ‘ปลาเน่า’ นี้จะพลอยซ้ำเติมให้ศิลปะการสักซึ่งกำลังไปได้ดีในระดับเวิลด์คลาสเหม็นไปทั้งวงการ

ยิ่ง พนิษนันท์ นิ่มนวล เจ้าของร้าน Ying Youngterk Tattoo Studio และเป็นประธานชมรมช่างสักและผู้ประกอบการร้านสักแห่งประเทศไทย บอกว่าในบรรดาร้านสักย่อมมีพวกนอกคอกอยู่ด้วย เช่น พวกร้านแผงลอยไม่มีมาตรฐานหรือพวกหัดสักกันเอง ปลาเน่าพวกนี้เป็นต้นเหตุของกลิ่นไม่พึงประสงค์ที่ต้องยอมรับว่าเมื่อคนนอกมองเข้ามาก็เหมารวมว่าร้านสัก ช่างสัก คนมีรอยสัก เป็นคนไม่ดี ทัศนคติแง่ลบแบบเหมาเข่งเช่นนี้อาจไม่ถูกต้องทั้งหมด แต่ก็ไม่ผิดเสียทีเดียว เพราะ ‘จุดด่าง’ ก็สร้าง ‘ชื่อเสีย’ ให้วงการสักไม่น้อยเลย ทั้งเรื่องความสกปรกจนบางคนติดเชื้อ การสักผิดๆ ถูกๆ จนต้องแก้ไขหรือลบรอยสักไม่จบไม่สิ้น

การรวมกลุ่มกันของช่างสักเป็น ชมรมช่างสักและผู้ประกอบการร้านสักแห่งประเทศไทย ก็เพื่อแก้ปัญหาที่ว่านี้ และอีกหลายปัญหาใหญ่ที่กำลังประสบกัน

“ตอนนี้มีเจ้าหน้าที่มาจับกุมร้านสัก โดยให้คำนิยามร้านสักว่าเป็นสถานพยาบาล เราก็งงว่าเราเป็นสถานพยาบาลอย่างไร พอจับกุมก็เข้าห้องขัง เขาคุมตัวได้ 48 ชั่วโมง ต้องอยู่ในห้องขังแล้วต้องมาประกันตัวอีก 4-5 หมื่นบาท แล้วไปสู้กันในชั้นศาลอีก”

พนิษนันท์ เล่าว่าเจ้าหน้าที่พวกนี้จะยึดของไป พาตัวไปคุยที่สำนักงาน และจบด้วยเงื่อนไขที่ไม่โปร่งใสนัก เขาตั้งคำถามว่าแล้วนี่แตกต่างจากมาเฟียเรียกเก็บค่าคุ้มครองอย่างไร

“เขาบอกว่าเราเปิดสถานพยาบาลโดยไม่มีใบประกอบการ ใช้ยาและจำหน่ายเวชภัณฑ์แผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งร้านสักเวลาซื้อยามาทาให้ลูกค้าเขาซื้อทีละมากๆ ทุกร้านแหละ เจ้าหน้าที่เห็นของเยอะเลยตีความเป็นจำหน่ายเลย เราทำงานมาแบบรุ่นสู่รุ่น แต่อยู่ๆ ต้องมาเป็นจำเลย เราก็ต้องทำอะไรสักอย่าง”

ส่วนช่องโหว่ที่เจ้าหน้าที่นำมาอ้างเพื่อจับกุมคือบอกว่าร้านสักต้องมีใบประกอบโรคศิลป์!

“ซึ่งใบประกอบโรคศิลป์อาชีพนี้มันไม่มี แล้วเราจะไปมีใบประกอบโรคศิลป์ได้อย่างไร ใบประกอบโรคศิลป์นี่นางพยาบาลและบุรุษพยาบาลยังไม่มีเลยนะ ต้องเป็นแพทย์เท่านั้น แล้วเราเป็นช่างสัก เราทำงานศิลปะ อาจมีใช้เครื่องมือแพทย์นิดหน่อย แค่น้ำยาต่างๆ ฆ่าเชื้อ ซึ่งมันอบรมได้ ไม่จำเป็นต้องใช้ใบนั้น แต่นี่เขาใช้ช่องโหว่มาเอาเปรียบเรา”

ประธานชมรมฯคนนี้บอกว่าทุกวันนี้ช่างสักอยู่กันอย่างหวาดระแวง นั่งสักอยู่ไม่รู้จะมีเจ้าหน้าที่มาจับวันไหน เขาเปรียบเปรยว่านี่เป็นการ ‘หักกิ่งไม้โดยที่ไม่ดัดเลย’ ซึ่งถ้ามองช่างสักเป็นคนสักนิด เขาต้องกินต้องใช้ ต้องจ่ายค่าเช่าบ้าน ค่าเช่ารถ ค่าเช่าร้าน ค่าเล่าเรียนของลูก ต่างๆ นานา และใช่ว่าอาชีพช่างสักจะสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ หน่วยงานที่มีอำนาจจับกุมตอนนี้มี 16 หน่วยงาน ถ้าสมมติทุกหน่วยงานพร้อมใจมาจับกุม พวกเขาอาจต้องเสียค่าปรับจนสิ้นเนื้อประดาตัว

เมื่อถูกคุกคามชนิดไฟลามทุ่ง พวกเขาก็รีบยับยั้งไฟเพื่อต้องปกป้องตัวเอง โดยชมรมช่างสักฯ เป็นพ่องานไปถือป้ายและยื่นหนังสือร้องเรียนที่สำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยมีเจ้าหน้าที่ของสำนักนายกมารับเรื่องและชี้แนะ

ตอนนี้เรื่องยังเงียบอยู่เพราะ (น่าจะ) อยู่ในลำดับขั้นตอน ส่วนชมรมช่างสักฯบอกว่ายินดีทำตามเงื่อนไขที่ถูกต้องอย่างเต็มที่ ขออย่างเดียว “อย่าใช้ช่องโหว่ทางกฎหมายมารังแกกัน”

ศักดิ์ศรีแห่งรอยสัก

“เราเปิดร้านสัก เปิด Tattoo art gallery อาชีพเราเรียกว่า Tattooist หรือ Tattoo artist แต่บ้านเราไม่มี ก็เลยอยากให้ตีความว่าเราคืออาชีพอะไร” พนิษนันท์กล่าว

‘อาชีพช่างสัก’ เป็นอีกประเด็นที่ชมรมช่างสักเรียกร้องให้เกิดการตีความขึ้นเป็นรูปธรรมเพราะปัจจัยหนึ่งที่ทำให้วงการนี้ถูกมองแง่ลบก็เพราะยังไม่มีที่อยู่ที่ยืนชัดเจนให้แก่ศิลปินแขนงนี้ การยื่นหนังสือและการรวมตัวเป็นชมรมจึงเป็นการก่อร่างสร้างพื้นที่แสดงตัว

“จากอาชีพพี่สู่น้อง พ่อสู่ลูก เพื่อนสู่เพื่อน เป็นรุ่นสู่รุ่น แต่ตอนนี้กลายเป็นธุรกิจสีเทา ไม่สิ...สีดำไปแล้วเพราะมันติดคุกได้ เราไม่รู้ว่าจะยืนตรงไหน แล้วเราจะได้รู้ด้วยว่าการกรอกใบต่างๆ ว่าเป็นอาชีพอะไร ช่างเสริมสวยมีอาชีพ ช่างทำผมมีอาชีพ ช่างซ่อมรถมีอาชีพ แล้วช่างสักไม่มีอาชีพ ต้องระบุว่าอาชีพบริการทั่วไปอย่างนั้นหรือ”

คำตัดพ้อของประธานชมรมฯ น่าคิดตาม เพราะสถานะช่างสักในต่างประเทศกับบ้านเราช่างแตกต่างกันราวฟ้ากับเหว...

“บ้านเราถ้ามีเงินจะซื้อทองมาใส่มาเก็บให้รู้ว่าเรามีตังค์ ซื้อเครื่องประดับแพงๆ มาเพื่อให้รู้ว่าเรามีตังค์ แต่ในเมืองนอกคนที่ชอบเขาจะสะสมรอยสักจากช่างดังๆ ช่างพวกนี้มีค่าบริการที่แพงหน่อยเพราะขายตามอายุฝีมือ เหมือนกับไปซื้อภาพวาดของศิลปิน พอสักก็มาอวดกัน เขาเรียกว่า Art on street มันแตกต่างกับบ้านเรามาก ที่ต่างประเทศช่างสักคือศิลปิน ในญี่ปุ่นเขายกย่องเป็นอาจารย์ทางศิลปะ แต่บ้านเรายังช้ากว่าเขามาก หน้าที่ของช่างสักหรือร้านสักก็คือนำเสนอตัวเองในด้านดี”

นอกจากคุณค่าทางศิลปะแล้ว การสักยังมีคุณูปการหลายด้านด้วยกัน เช่น ระบุรูปพรรณบุคคล ไผ่ - สุรศักดิ์ สุขศรีจักรวาล เจ้าของเพจร้าน Baipai Tattoo Shop 37 เล่าว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจนำภาพรอยสักบนร่างผู้เสียชีวิตมาตามหาว่าเจ้าของรอยสักคือใคร เพราะร้านที่มีมาตรฐานส่วนมากจะมีข้อมูลลูกค้าและจำลายที่ตัวเองสักได้

ช่างสักหนุ่มคนนี้ยังเสริมด้วยว่าการสักช่วยเรื่อภาวะจิตใจได้ด้วย กรณีคนเป็นปานต่างๆ เป็นโรคด่างขาว คนพวกนี้มักวิตกจริต ซึ่งในทางการแพทย์รักษาหายยากมาก แต่ว่าสักช่วยได้...

“โรคด่างขาวคนไทยเป็นกันเยอะนะ มีคนอายุประมาณหกสิบเป็นลูกค้าผมเขาไม่มั่นใจในตัวเองเลย เขาต้องเอาแป้งรองพื้นทาแขนตลอดเวลา ก็เข้ามาสักไปก็กลับไปอย่างมีความสุข เหมือนเขาได้ยกภูเขาออกจากอก”

นอกจากรอยสักจะทำหน้าที่สร้างขวัญและกำลังใจในอดีตกาลในนามการสักยันต์ และขยับมาเป็นงานศิลปะที่แพร่หลายทั่วโลก จนกระทั่งบทบาททางนิติวิทยาศาสตร์และการบำบัดทางใจ ศึกระหว่างคนชอบกับคนชังน่าจะจบลงได้แล้ว แค่เปิดใจรับว่า รอยสักคือความงามอย่างหนึ่ง ช่างสักคือศิลปินคนหนึ่ง และคนมีรอยสักก็คือคนธรรมดาคนหนึ่ง

...สีที่ถูกแต่งแต้มบนเรือนร่าง อาจไม่ใช่สีที่เปรอะเปื้อนในจิตใจเสมอไป