ถนนดนตรีสาย Streaming

ถนนดนตรีสาย Streaming

ร้านเทปซีดีล้มหาย แต่แพลทฟอร์มใหม่ๆ สำหรับการฟังเพลงกำลังเดินหน้าเข้ามาให้เลือกสรร ตามแต่กำลังและความศรัทธา

นับจากวันที่โลกก้าวสู่ยุคดิจิตัล พลานุภาพของเทคโนโลยีได้พลิกโฉมหน้าทุกสิ่งอย่าง รวมถึงอุตสาหกรรมดนตรีที่มีการปรับเปลี่ยนอย่างเห็นได้ชัด ตลอดช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา

จากแผงเทปที่เคยผุดขึ้นทั่วทุกมุมถนน เริ่มหดหายไปทีละน้อย ร้านค้าปลีกซีดีเพลงใกล้สูญพันธุ์ทุกที ส่วนร้านที่เหลือรอด ก็แปรเปลี่ยนไปขายสินค้าชนิดอื่น

แม้จะมีกระแสถวิลหาอดีตอยู่บ้าง ดังปรากฏการณ์ของคนเล่นแผ่นเสียง แต่ก็ยังเป็นเพียงนักสะสมกลุ่มเล็กๆ ที่มิได้มีผลกระทบต่อภาพใหญ่ของอุตสาหกรรมแต่อย่างใด

การสถาปนาวัน “เร็คคอร์ด สโตร์ เดย์” ในหลายๆ ประเทศ บ่งบอกถึงความพยายามที่จะรักษาชุมชนคนฟังเพลงเอาไว้ตราบนาทีสุดท้าย เพราะถึงวันนี้ เป็นที่รับรู้กันแล้วว่า คนฟังเพลงส่วนใหญ่ มิได้มีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน มิได้แลกเปลี่ยนมุมมองและความรู้ซึ่งกันและกัน หากเลือกจะท่องอยู่ในโลกออนไลน์ หรือในบริบทของดิจิตัลเสียมากกว่า

ไม่ว่าจะเป็นการดาวน์โหลดเพลงมาฟัง (Downloading) หรือฟังผ่านการสตรีม (Streaming) ซึ่งปัจจุบัน บริการเหล่านี้กำลังทวีความหลากหลายยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อยักษ์ใหญ่อย่าง Apple Music กระโจนเข้ามาร่วมวงศ์ไพบูลย์ในเรื่องการสตรีมนี้ หลังจากให้บริการดาวน์โหลดผ่าน itunes Store มาช้านาน

มิใยต้องนับผู้ให้บริการรายอื่นๆ ทั้ง Tidal ของ เจย์-ซี ที่เดินหน้าเข้ามาเมืองไทย ก่อนหน้านั้น, การเกิดขึ้นของ Line Music หรือการเพ่งเล็งตลาดไทยมานานของ Spotify ที่มีข่าวจะบุกไทยปลายปีนี้ ไม่นับรวมการปรับตัวของเจ้าถิ่น อย่าง Sanook และ True ที่กำลังเตรียม launch บริการใหม่ในเร็ววันนี้ และอีกหลายๆ รายด้วยกัน

 

-1-

แม้ในด้านหนึ่ง การขยายบริการในส่วน Streaming ของ Apple Music จะบอกเป็นนัยถึงการเติบโตของธุรกิจฝั่ง Streaming ที่เป็นสัดส่วนมากกว่า Downloading ในฟากธุรกิจดิจิตัลของอุตสาหกรรมเพลง แต่เหตุผลลึกๆ ของ Apple Music น่าจะมีมากกว่านั้น

เรื่องนี้ รณพงศ์ คำนวณทิพย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูนิเวอร์ซัล มิวสิค (ประเทศไทย) จำกัด อธิบายว่า คงเป็นเรื่องยากที่จะตอบแทน Apple Music แต่จากประสบการณ์ที่ตนคลุกคลีอยู่ในวงการเพลงมานานพอสมควร ได้เห็นว่าตัวเลขยอดขายดาวน์โหลดเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี ด้วยแนวโน้มที่น่าพึงพอใจ แม้ว่าเมื่อพิจารณาโดยภาพรวมแล้ว รายได้ Streaming (รวม youtube และ vevo) จะมากกว่า Downloading อยู่ราวๆ สัดส่วน 60 : 40 ก็ตาม

“ผมคิดว่า Apple Music น่าจะมองเห็นโอกาสในธุรกิจด้านนี้ ผนวกกับทางองค์กรมี eco system ที่แข็งแกร่งอยู่แล้ว โดยเฉพาะเมื่อมี Beats Music ที่ take over มา ซึ่งมีฐานคอนเทนท์ที่ครอบคลุม เช่นเดียวกันกับที่มี iTunes ให้บริการอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งทั้งหมดนี้ ถือว่าทำให้ผู้บริโภคมีความสะดวกสบายมากขึ้น”

แหล่งข่าวรายหนึ่ง จากแวดวงธุรกิจเพลงดิจิตัลเสริมว่า การลงทุนของ Apple Music ในครั้งนี้นับว่าคุ้มค่าในระยะยาว เพราะมีวิธีการน่าสนใจ ตั้งแต่การ utilize ใช้ประโยชน์จาก Beats Music ที่มีทั้งคอนเทนท์ และ Branding Devices ต่างๆ เช่น อุปกรณ์การฟังเพลง หรือพวกหูฟัง อย่าง Dr.Dre Headphone รวมทั้งผู้ก่อตั้ง Beats เอง ก็ถือเป็นบุคคลที่มีอิทธิพลอย่างสูงต่อวงการดนตรี

“ผมคิดว่า แพลทฟอร์มที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในส่วน Streaming น่าจะเป็นข้อดีของเจ้าของคอนเทนท์ทั้งหลาย เช่นค่ายเพลงต่างๆ เพราะมีโอกาสที่ผลงานของตัวเองจะได้ขายในแพลทฟอร์มต่างๆ อย่าง Line Music หรือ Spotify ซึ่งน่าจะมาถึงเมืองไทยปลายปีนี้แน่นอน”

ฟังแล้ว ดูเหมือนถนนสายดนตรีกำลังมุ่งสู่ Streaming กันเป็นแถว

 

-2-

ในมุมมองของนักเล่นเครื่องเสียงแล้ว โลกเพลงดิจิตัลยังไม่น่าไว้วางใจนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านคุณภาพของไฟล์เสียง อาจจะมีเพียงการดาวน์โหลดจากเว็บไซต์บางแห่ง อย่าง hdtracks.com เท่านั้น ที่สามารถให้ไฟล์ hi-resolution ที่มีคุณภาพสูงกว่าซีดี

อย่าไปพูดถึง mp3 ซึ่งเป็นฟอร์แมทไฟล์เพลงที่นักเลงเครื่องเสียงพากัน “ส่ายหน้า” เพราะมีเพียงความ “แบน-บี้-บาง” ของเสียง หรือแม้กระทั่งไฟล์ m4a ที่ iTunes ขายดาวน์โหลด ในสนนราคาเฉลี่ยอัลบั้มละ 10 เหรียญสหรัฐฯ ก็ยังมีคุณภาพ “ต่ำกว่า” เกณฑ์มาตรฐาน

เมื่อไฟล์ดาวน์โหลดยังแย่ขนาดนั้น แล้วไฟล์เพลงที่ส่งมาแบบ streaming จะมีคุณค่าได้อย่างไร

ในเรื่องนี้ มนตรี คงมหาพฤกษ์ วิศกรที่หันเหมาเป็นนักทดสอบเครื่องเสียง ซึ่งติดตามเรื่องนี้มานาน ยอมรับว่าอย่างน้อยๆ การให้บริการของ Tidal ที่เป็น streaming ในระดับ hifi ด้วยคุณภาพเสียง wav 16 บิท 44.1 Khz เทียบเท่าคุณภาพเสียงจากแผ่นซีดี พอจะเป็นคำตอบในยุคที่ร้านซีดีหดหายไปได้บ้าง

Tidal ถือกำเนิดในสวีเดน ก่อนจะถูกซื้อโดยศิลปินแร็พชื่อดัง เจย์-ซี โดยที่ผ่านมาก่อนหน้านี้ คนฟังเพลงในไทย ต้องลงทะเบียนในต่างแดน ถึงจะมีโอกาสได้ใช้บริการ แต่ในวันนี้ Tidal เข้ามาให้บริการในเมืองไทย ด้วยสนนราคาย่อมเยากว่าหลายๆ ประเทศ ทั้ง แคนาดา , สหรัฐอเมริกา และยุโรป ซึ่งปกติเฉลี่ยอยู่ที่ 9.99 เหรียญสหรัฐ

แต่สำหรับเมืองไทย สนนราคาสำหรับแพ็คเก็จไฮไฟ เพียง 358 บาทต่อเดือน (แพ็คเก็จพรีเมียม ที่ไฟล์เพลงขนาด 320 Kbps ราคา 179 บาทต่อเดือน) กับฐานข้อมูลของเพลง ที่มีให้เลือกฟังถึงจำนวน 25 ล้านเพลงด้วยกัน

“ผมเปรียบเทียบแอคเคานท์ในต่างประเทศ กับแอคเคานท์ที่เพิ่งลงทะเบียนใช้ในประเทศไทย พบว่า Tidal มีการเพิ่มเพลงไทยเข้ามามากขึ้นเรื่อยๆ ในตอนนี้ คุณจะ search พบชื่อศิลปินของค่ายเพลงเก่าๆ อย่าง คีตา พวก นีโน่ , ภัสสร และในเวลาเดียวกัน เริ่มมีฐานข้อมูลของเพลงค่ายแกรมมี่บ้างแล้ว แต่ยังฟังไม่ได้ เข้าใจว่ากำลังอยู่ระหว่างเคลียร์ข้อตกลงกัน แต่ศิลปินอาร์เอสยังไม่มี” มนตรี กล่าวเพิ่มเติม

ในมุมมองของ Audiophile Lover คนนี้ เขาแทบไม่คาดหวังคุณภาพจากผู้ให้บริการ music streaming รายอื่นๆ เลย ไม่ว่าจะเป็น Line Music หรือแม้กระทั่ง Apple Music ซึ่งคงไม่สามารถให้ไฟล์ที่มีคุณภาพเสียงระดับนี้ได้ เพราะสนนราคาค่าบริการรายเดือนที่แสนถูกและเน้นกลุ่มคนฟังเพลงฉาบฉวยนั่นเอง

“นอกจาก Tidal แล้ว ผู้ให้บริการ music streaming ที่ดีอีกราย ซึ่งอยู่ในฝั่งยุโรป คือ Qobuz ซึ่งสามารถให้ไฟล์ hi-res ได้ ด้วยบิทเรทสูงถึง 24 - 96 แต่กว่าจะได้ขนาดนั้น อาจจะหมายถึงค่าบริการรายเดือนเป็นพันบาทที่คุณต้องจ่าย”

ความเห็นของ มนตรี สอดรับกับแหล่งข่าวจากธุรกิจเพลงดิจิตัลคนเดียวกัน ที่ระบุว่า “ราคา” จะกลายมาเป็นตัวชี้วัดการแยก “เซ็กเมนต์” ของคนฟัง เพราะปัจจุบัน ราคาเหมาจ่ายแบบถูกๆ ที่ค่ายเพลงกล้ำกลืนฝืนทนคือ เดือนละ 89-99 บาท

ดังนั้น ในอนาคต อาจจะแบ่งกลุ่มคนฟังออกเป็น 3 ระดับ คือ กลุ่มล่าง ระดับราคาไม่ถึง 100 บาทต่อเดือน กลุ่มที่ 2 คือ ระดับราคา 100 ขึ้นไป แต่ไม่เกิน 300 บาท และกลุ่มที่ 3 คือกลุ่มคนฟังระดับบน ที่ยอมจ่ายมากกว่า 300 บาทต่อเดือน ซึ่งลูกค้าของ Tidal ก็คือคนฟังในกลุ่มนี้ที่สนใจในเรื่องของคุณภาพมากกว่าปริมาณ

 

-3-

“ผมคิดว่ามันสะดวกดีนะ เสียงไฮไฟ ฟังดีทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอัพเดทอัลบั้มใหม่ๆ เพราะทุกวันนี้ มันไม่มีร้านซีดีให้ฟัง”

คมสัน นันทจิต คนฟังเพลงที่ให้คุณค่าแก่แผ่นเสียงไวนิลมากกว่าอะไรอื่น เผยถึงประสบการณ์ที่ได้รับเมื่อทดลองสมัครฟัง music steraming ผ่าน Tidal

“ถึงจะมีเพลงเยอะ แต่เท่าที่สอบถามกับเพื่อนๆ แล้ว Deezer น่าจะมีเพลงเยอะกว่า เพียงแต่ Deezer ไม่มีบริการเสียง hifi เท่านั้นเอง นอกจากนี้ ผมยังพบว่า เริ่มมีเพลงไทยมากขึ้น เพียงแต่ในส่วนของเพลงไทย มันไม่ได้เป็นเสียง hifi ทุกชุด”

ในมุมมองของพิธีกร และนักแสดงคนนี้ การฟังเพลงจากแพลทฟอร์มแบบนี้ มีข้อดีตรงที่มีส่วนทำให้เข้าถึงเพลงที่กำลังสนใจ เช่น เพลงจากบทความในหนังสือที่กำลังอ่านได้ง่ายดาย รวมทั้งการติดตามผลงานใหม่ๆ เป็นสำคัญ แต่ถ้าให้เลือก แผ่นเสียงก็ยังเป็นคำตอบสุดท้ายของเขา

ด้าน รณพงศ์ ผู้บริหาร Universal เห็นว่า แม้แพลทฟอร์มดิจิตัลจะเกิดขึ้นมากมายหลากหลายผู้ให้บริการ แต่เชื่อมั่นว่าตลาด physical อย่างซีดี และแผ่นเสียง ยังมีอนาคตต่อไปได้ และเป็นหน้าที่ของค่ายเพลงในการผลิตและทำการตลาดเพื่อตอบสนองความต้องการของคนฟังทุกๆ กลุ่ม

“เรามองแบบ positive ทุกวันนี้ เรายังออก title ใหม่ๆ ซึ่งสำหรับสินค้าพวกนี้ โดยการ display ถือเป็นเงื่อนไขสำคัญ ที่จะทำให้ผู้บริโภคได้รับรู้”

ในมุมมองตรงกันข้าม นักเล่นเครื่องเสียงอย่าง มนตรี กลับชูธงในเรื่องของไฟล์ดิจิตัล ไม่ว่าจะเป็นดาวน์โหลดหรือ streaming ก็ตาม เพราะแนวโน้มของวิถีชีวิตสมัยใหม่กำลังเป็นเช่นนั้น

“เราคงไม่มีบ้านใหญ่โต ที่จะอุทิศผนังเต็มๆ ให้แก่แผ่นเสียงหรือซีดี ซึ่งในชีวิตจริง การมีสมบัติขนาดนั้นก็ไม่ใช่เรื่องสนุกนัก ผมมองว่าเป็นภาระด้วยซ้ำไป ดังนั้น หากเรามองว่าต่อไปชีวิตดำเนินไปแบบ fully digital เราสามารถฟังเพลงเสียงดีๆ ที่คุณภาพ 24 บิท 96 Khz หรือ 24 บิท 192 Khz รวมทั้งมีดิจิตัลคอนเทนท์ที่มาครบ ทั้งอาร์ตเวิร์ค และข้อมูลจากปกแผ่นเสียง บางทีการอาลัยอาวรณ์ที่มีต่อ physical product ก็อาจจะหมดไป”

  บนเส้นทางสู่ Music Streaming มีแพลทฟอร์มให้เลือกหลากหลาย ในเวลาเดียวกันนั้น ยังมีแหล่งเพลงจากวัสดุแผ่นเสียงและซีดี ซึ่งมากเพียงพอสำหรับการเสพฟัง ขึ้นอยู่กับคอเพลงทั้งหลายแล้วว่า จะกำหนดทางเลือกของตัวเองอย่างไร