คิวนี้ ดาราจัดเอง

คิวนี้ ดาราจัดเอง

อีกบทพิสูจน์ของผู้จัดละครในคราบนักแสดง ซึ่งรู้ทุกอย่างในแวดวงบันเทิง แต่จะไปรอดหรือไม่ ต้องรอดู...

การแข่งขันในสนามร้อนๆ อย่าง “ทีวีดิจิทัล” ที่ไม่ใช่แค่เจ้าของสถานีเท่านั้นที่ต้องพิสูจน์ตัวเองว่าจะอยู่รอดได้หรือไม่ เพราะเมื่อสนามใหญ่ขึ้น บุคลากรที่มีอยู่เดิมไม่พอ ย่อมเป็นพื้นที่ว่างให้ “มือใหม่” กระโดดเข้าสู่สนามแห่งนี้

ไม่ว่าจะเป็นคนเบื้องหน้า เบื้องหลัง ต่างก็ต้องการ “หน้าใหม่” ไม่เว้นแม้แต่งานเบื้องหลังอย่าง “ผู้จัดละคร” ที่ถือเป็นตัวแปรสำคัญของการจะรุ่ง หรือจะร่วงของละครเรื่องนั้นๆ ก็หนีไม่พ้น “มือใหม่” เช่นกัน

“เมื่อก่อน ดาราที่ผันตัวเป็นผู้จัด มีไม่เยอะมาก แต่ที่เห็นชัดเจนก็ตั้งแต่มีทีวีดิจิทัล ทำให้ได้เห็นดาราที่มาลองงานผู้จัดละครมากขึ้น” วุธ-อัษฎาวุธ เหลืองสุนทร ผู้จัดรุ่นกลาง กับผลงานผลิตละคร 5 เรื่องในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา และขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างถ่ายทำละครเรื่อง “เพลิงตะวัน” เอ่ย

และเปรียบเทียบกับสมัยก่อนว่า กว่าจะได้เป็นผู้จัดละครได้นั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ อย่างตนเองต้องพิสูจน์ตัวเองนานถึง 7 ปี

“ผู้จัดละครเดี๋ยวนี้ เป็นได้ง่ายขึ้นมาก สมัยผม ผมพูดกับคุณแดงอยู่ 7 ปี ว่า สนใจอยากทำงานเบื้องหลัง แล้วก็ต้องพิสูจน์ตัวเองมาตลอด จนในที่สุด คุณแดงถึงยอมให้ทำ โดยเริ่มจากซิทคอมก่อน” อัษฎาวุธกล่าว โดยซิทคอม “วิวาห์ฮาเฮ” เป็นผลงานเรื่องแรกของเขาในปี 2554

“งานผู้จัดละคร ถ้าเป็นเมื่อก่อนต้องได้รับการสกรีนอย่างหนัก กว่าจะได้รับโอกาสให้ทำ แต่ตอนนี้ใครอยากจะทำก็ง่ายขึ้น เพราะเวลามันเหลือเฟือ หลายคนก็ได้รับโอกาสมา โอกาสเป็นสิ่งที่ดี เป็นประโยชน์กับคนดูที่จะได้มีคอนเทนท์ที่หลากหลายมากขึ้น แต่ถ้าถามถึงระยะยาว ต้องเป็นผู้จัดที่มีจุดยืนแข็งแรงเท่านั้น ที่จะอยู่ได้ในระยะยาว”

แม้ในแง่ “ตัวเลข” การทำละครให้ขาดทุนจะถือเป็นเรื่องแทบเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากรูปแบบธุรกิจแทบทั้งหมดเป็นในลักษณะ “จ้างผลิต” โดยบริษัทผู้จัดไม่ต้องรับความเสี่ยง แต่จะรับเงินค่าผลิตจากสถานีตามเม็ดเงินที่ตกลงกัน เพียงแต่วิธีการจ่ายจะแตกต่างกันไป

บางช่องต้องถ่ายเสร็จทั้งหมดจึงจะจ่ายเงิน บางช่องจ่ายให้ก่อนส่วนหนึ่ง ฯลฯ ฉะนั้นสถานะการเงินของช่องอาจไม่กระทบกับรายได้ของผู้จัดโดยตรง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความมั่นคงของช่อง จะส่งผลกระทบต่อผู้จัดที่ “จริงจัง” กับเส้นทางสายนี้..

“ขณะที่ช่องต้องพิสูจน์ตัวเอง ผู้จัดก็ต้องพิสูจน์ตัวเองเช่นกัน” นั่นคือ สิ่งที่อัษฎาวุธคิดโดยเฉพาะกับตนเองที่จริงจังกับงานเบื้องหลัง

ในความเห็นของเขา มองว่า ผู้จัดละครที่จะอยู่ยาวได้นั้น จำเป็นต้องมีแนวทางของตัวเองที่ชัดเจน และต้องตีโจทย์ให้แตก ดูตลาดให้ขาด และสามารถผลิตละครที่ตอบสนองกลุ่มเป้าหมายของช่องให้ได้ จึงจะสามารถมีโอกาสยืนระยะการทำงานได้ยาวนานขึ้น แต่ทั้งหมดต้องอาศัยการสั่งสมประสบการณ์เพราะกระทั่งตัวเขาจะเคยพิสูจน์ตัวเองด้วยการครองสถิติเรทติ้งสูงสุดในหมู่ละครทั้งหมดในปี 2555 จากเรื่อง “กู้ภัยหัวใจแหวว” มาแล้ว แต่ก็ยังเห็นว่า สนามนี้ยังมีเรื่องที่ต้องเรียนรู้อีกมาก

เช่นเดียวกับนางเอกสาว เอ๊ะ-อิศริยา สายสนั่น ที่ได้เริ่มงานผู้จัดละครครั้งแรกในปี 2555 กับละครเรื่อง “ข้าวนอกนา” ออกอากาศทางช่อง 8 ที่เห็นว่า “การมองตลาดให้ขาด” คือ หัวใจสำคัญของเกมนี้

“อย่างช่อง 8 ทาร์เก็ตเราชัดเจน คือ แมส เอ๊ะก็ต้องตีโจทย์ให้แตกตั้งแต่การเลือกเรื่องให้เข้ากับกลุ่มคนดูทุกเพศ ทุกวัย ทุกชนชั้น จากนั้นก็ต้องเลือกทีมงานที่ใช่ ทั้งเบื้องหลัง ทั้งนักแสดง ส่วนที่เหลือก็คือการบริหารจัดการ อะไรที่ต้องจ่าย เราก็ต้องจ่าย เพื่อให้ได้สิ่งที่ดี เอ๊ะ คงไม่ได้หวังจะทำแล้วรวยตั้งแต่เรื่องแรก เพราะงานนี้เป็นงานที่ต้องสั่งสมประสบการณ์ ต้องให้เวลาเพื่อพิสูจน์ตัวเอง แต่ที่แน่ๆ ทำแล้วต้องไม่เจ็บตัวค่ะ”

ทั้งนี้ อิศริยา ฝากผลงานละครไว้กับเครืออาร์เอสตั้งแต่ยังเป็นเคเบิลทีวีจนมาถึงดิจิทัลทีวี ทั้งหมด 5 เรื่อง ได้แก่ ข้าวนอกนา (2556) ผัวชั่วคราว (2557) ส่วนเรื่อง เพลิงพ่าย กำลังออกอากาศอยู่ และ ที่กำลังเตรียมถ่ายทำ คือ สุดแต่ใจจะไขว่คว้า จะออกอากาศในปี 2559

ส่วนมือใหม่อย่าง พิม-พิมพ์มาดา บริรักษ์ศุภกร ดาราอีกหนึ่งคนที่ผันตัวเองมาเป็นผู้จัดละครทางช่อง “ONE HD” หลังจาก บอย-ถกลเกียรติ วีรวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จีเอ็มเอ็ม วัน ทีวี จำกัด ผู้ปั้นละครแบบฉบับ “EXACT” เป็นคนจุดประกายให้เห็นว่า นักแสดงที่มีประสบการณ์มากเช่นเธอ และคนอื่นๆ สามารถทำงานด้านการผลิตได้

"อายุการทำงานในวงการก็ 10 กว่าปีแล้ว แสดงมาตั้งหลายบทบาท แล้วมันอาจจะเป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงเรื่องทีวีด้วย ระบบทีวีดิจิทัลต้องการคนผลิตงานเพิ่มขึ้น อย่างพิม พี่กัปตัน (ภูวเนศ) พี่เจี๊ยบ (โสภิตนภา) พี่อ้อม (พิยดา) ก็เป็นกลุ่มคนที่อยู่มาตั้งแต่รุ่นแรกๆ ของเอ็กแซกท์ ฉะนั้นผู้ใหญ่ในบริษัทก็นึกถึงว่า เด็กๆ เหล่านี้น่าจะพัฒนาตัวเอง ไปลองคิดงานกับตัวเองดูบ้าง” พิมเล่า และเอ่ยถึงงานละครเรื่อง “สองรักสองวิญญาณ” ที่เธอทำว่า ได้รับฟีดแบ็กที่น่าพอใจ

สำหรับการทำงานก็ไม่ได้ต่างไปจากกองละครที่เธอคุ้นเคย เพราะมีทีมงานที่เป็นอาชีพในสายของตัวเองไม่ว่าจะเป็นผู้กำกับ โปรดิวเซอร์ ฯลฯ เพียงแต่หน้าที่ของเธอเองที่เปลี่ยนไปก็อาจจะต้องจัดการกับรายละเอียดต่างๆ ให้ได้

“ระบบมันก็คงเหมือนกันทุกที่ เพียงแต่ว่ามันอยู่ที่วิธีการจัดการในรูปแบบของใครของมันมากกว่า จริงๆ แล้วมันก็มีทั้งดีและไม่ดีไม่ว่าระบบไหนก็ตาม อยู่ที่เราปรับตัวเองให้มันเข้ากับยุคสมัยที่มันเปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหนมากกว่า แล้วความที่ว่ามันใหม่มาก เราก็เลยยังรู้สึกไม่คุ้นเคย แต่พิมเชื่อว่ามันก็โตเร็วมาก”

ฟิล์ม-รัฐภูมิ โตคงทรัพย์ เป็นอีกหนึ่ง ซุปตาร์ระดับพระเอก ที่เพิ่งจะมาชิมลางกับงานผู้จัดละครอีกคน มีผลงานเรื่องแรกคือ "แม้เลือกเกิดได้" ซึ่งออกอากาศจบไปแล้ว และขณะนี้กำลังถ่ายทำเรื่อง "เจ้าสาวเฉพาะกิจ” ออกอากาศทางช่อง 8

แม้นี่จะไม่ใช่งานแรกในฐานะเบื้องหลังของฟิล์ม เนื่องจากที่ผ่านมา เขาทำมาแล้ว ตั้งแต่การเป็นตัวประกอบ จนถึงนั่งปรบมือตามรายการต่างๆ กระทั่งได้เข้าวงการเต็มตัวตอนอายุ 17 จากนั้นจึงเริ่มเปิดบริษัทของตัวเอง ทำงานโปรดักชั่น ทำหนังสืออีบุ๊ค กระทั่งได้มีรายการทีวีเป็นของตัวเองออกมาครั้งแรก คือ รายการท่องเที่ยว ส่วนงานเบื้องหลังภาพยนตร์ก็ผ่านมาแล้วจากเรื่อง “รักเอาอยู่” ในฐานะผู้ช่วยเขียนบทและกำกับ

แม้จะรุ่งบ้าง.. ร่วงบ้าง.. แต่ฟิล์มก็บอกว่า ทุกอย่าง คือ ประสบการณ์ กระทั่งผู้ใหญ่ช่อง 8 คือ โด่ง-องอาจ สิงห์ลำพอง เปิดโอกาสให้มาทำละคร ก็เลยลองทำดู

“ผู้ใหญ่เขาให้โอกาสตรงนี้ เราก็ต้องรับไว้ อยากพิสูจน์ด้วยว่า เราก็สามารถทำได้ เรื่องแรกที่ผลิตไป คือ ‘แม้เลือกเกิดได้’ เรทติ้งดีมาก ผู้ใหญ่ก็เลยให้เราทำเรื่องต่อไป คือ ‘เจ้าสาวเฉพาะกิจ’ ตอนนี้ก็กำลังเร่งถ่ายทำอยู่”

วันนี้ ฟิล์ม ซึ่งเป็นผู้จัดละครในนาม บริษัท โชคดีมีสุข จำกัด ได้แสดงความเห็นถึงการกระโดดเข้ามาจับงานผู้จัดละครของเหล่าดารามากหน้าหลายตาว่า ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะดาราทุกคนก็สั่งสมประสบการณ์ชีวิตของตัวเองมามาก จึงควรจะได้โชว์ผลงานของตัวเองออกมาให้แฟนละครได้ดูบ้าง

"ผลงานเบื้องหน้าโชว์มาเยอะแล้ว โชว์ไอเดีย โชว์ความคิดเบื้องหลังให้กับคนดูให้กับแฟนได้ชมบ้างก็น่าจะดี”

ช่อง 8 อาจจะเป็นถือเป็น “ช่อง” ที่มีผู้จัดหน้าใหม่ที่ก้าวจาก “ดารา” ให้เห็นชัดเจนในสัดส่วนของละครที่ออนแอร์ ตั้งแต่ทีวีดิจิตอล เริ่มเปิดตัวเมื่อต้นปีที่แล้ว ส่วนหนึ่งเป็นนโยบายของผู้บริหารช่อง ที่มองเห็นโอกาส ในการจับมือแบบชนะทุกฝ่าย โดยเฉพาะช่องทางของดาราระดับรุ่นกลาง ที่อาจจะอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่าน จากบทเด่นบทนำ ที่เริ่มจะอิ่มตัวและมีคลื่นลูกใหม่ตามหลังมาเป็นระลอก ขณะที่ความสามารถทางการแสดงและประสบการณ์ในการทำงานไม่เป็นสองรองใคร

รวมถึงข้อได้เปรียบของการที่ช่องหน้าใหม่ จะอาศัย “สายสัมพันธ์” ของดาราเหล่านี้ ที่เมื่อพวกเขาขยับมาเป็นผู้จัด จะสามารถดึงดาราเข้ามาร่วมงาน โดยเฉพาะกลุ่มดารา สังกัดอิสระ ที่ไม่ได้ติดสัญญากับช่องใดช่องหนึ่ง

จึงไม่แปลกที่เห็น ดาราอย่าง เมย์ เฟื่องอารมณ์ ที่ถือว่าเป็นเจ้าแม่นางร้าย ผ่านงานละครมาเกือบทุกช่อง ขึ้นแท่นเป็นผู้จัดละครในช่อง 8 ยุคบุกเบิกด้วย

นักแสดงอิสระที่มีทั้งชื่อเสียงและรางวัล อย่าง ป๊อก-ปิยธิดา มิตรธีรโรจน์ ก็เป็นอีกหนึ่งนางเอกแถวหน้า ที่ผันตัวมาเป็นผู้จัด หากนับรุ่น ป๊อกอาจจะยังไม่เก่า เท่า หน่อย-บุษกร วงศ์พัวพันและ แอน ทองประสม ที่ได้โชว์ฝีมือจัดละครในสังกัดช่อง 3 มาแล้ว

และสำหรับงานในฐานะผู้จัดละครหน้าใหม่ เรื่อง “ตี๋ใหญ่ดับดาวโจร “ ทางช่องโมโน ที่ป๊อก ปิยธิดา ร่วมกับคู่ชีวิต ตั๊ก นภัสรัญชน์ มิตรเอม และเพื่อนนักแสดงคู่สนิทจากภาพยนตร์ ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช อย่าง ผู้พันเบิร์ด-พ.ท.วันชนะ สวัสดี และปีเตอร์-นพชัย ชัยนาม

“จุดเริ่มต้นเลยจริงๆ คือพี่ปีเตอร์มีโปรดักชั่นส่วนตัวของเขาอยู่แล้ว ส่วนพี่ตั๊กกับป๊อก เคยทำละครเวที ก็มาคุยว่าอยากทำละคร(ทีวี)กันไหม ก็ไปชวนพี่เบิร์ดกับพี่ปีเตอร์มานั่งคุยกัน ทุกคนก็มีความเห็นตรงกันว่าควรทำ”

ขณะที่ป๊อกผ่านการเป็นนางเอกแถวหน้าของทั้งช่องน้อยสีและหลายสีมาแล้ว รวมถึงการเป็นนักแสดงที่กวาดรางวัลมามากมายในยุคหลังๆ การก้าวสู่ “บทบาทเบื้องหลัง” มีความท้าทายในตลาดการแข่งขันที่ค่อนข้างสูง

“เราคิดว่าเราถนัดด้านไหน ถ้าเราไปกลัวว่าทำอันนั้นแล้วจะไม่ฮอตไม่เปรี้ยง มันจะทำให้เราเสียความเป็นตัวเอง เราก็พยายามทำทุกอย่างที่เราเรียนรู้และศึกษามาปรับให้เป็นตัวเองที่สุด ก็ทำให้มันดีที่สุด หลังจากนั้นมันจะเปรี้ยงหรือการตลาดจะเป็นยังไง ก็ให้มันตอบตัวมันเองดีกว่า แค่พวกเราก็ทำให้ดีที่สุด ซึ่งต้องยอมรับเลยว่ามันไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด แต่ก็ช่วยๆ กัน พอมีปัญหาเข้ามา เราก็ค่อยๆ แก้ไปทุกๆ วัน เราไม่ท้อ มันเป็นความสนุก เหมือนเราเล่นเกมที่ยังแก้ไม่เสร็จ เราก็ต้องทำจนกว่ามันจะเสร็จและใช่”

แน่นอนว่า ดาราที่มาเป็นผู้จัด จะเข้าใจนักแสดงที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของงานละคร โจทย์การแสดงจึงไม่ใช่ความท้าทาย แต่เป็นการดำเนินเรื่อง ที่พวกเขาเคยอยู่ในเส้นเรื่อง และต้องออกมามองภาพรวมต่างหาก

“การเป็นผู้จัดเหมือนเราอ่านนิทาน แต่วันหนึ่งเราเริ่มเขียน แล้วเราจะทำให้สมเหตุสมผล ให้คนดูเชื่อ ให้เรื่องดำเนินไป แล้วมีความสนุกในการติดตามชมไปด้วยหรือเปล่า อันนี้มันยาก การทำงานหลายๆ อย่าง ต้องใช้ใจ แล้วก็ใช้สมองไปด้วย” ป๊อก อธิบายบทบาทของเธอและสามี นอกเหนือจากการดูแลงานแอ็คติ้งหรือการแสดงของละครที่จัดอยู่ (จากบทสัมภาษณ์ ผู้จัดป้ายแดง ป๊อก ปิยธิดา โดยฝ่ายประชาสัมพันธ์โมโนกรุ๊ป)

ช่องทางเปิด ผู้เล่นหน้าใหม่ในสมรภูมิละครทีวีมีมากขึ้น แต่ความสำเร็จอาจจะไม่ใช่ทุกค่าย เหมือนเช่น ฟิล์ม รัฐภูมิ ให้ความเห็น

“คนอาจจะมองว่าเป็นแฟชั่น แต่ก็ใช่ว่าใครๆ จะเข้ามาทำก็ได้ ผมว่าเป็นสีสันของวงการบันเทิง มีความแปลกใหม่ มีช่องทางและสไตล์การทำงานหรือแนวคิดที่ต่างขึ้น เป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้กับผู้ชม เพราะทีวีดิจิทัลแข่งขันกันสูงมาก ตลาดก็เปิดกว้างขึ้น ดาราที่มีความสามารถ มีฝีมือ ก็ได้ปล่อยของกันเต็มที่ ที่สำคัญคือได้ประสบการณ์"