สวัสดีอุตรดิตถ์ สะบายดีหลวงพระบาง

สวัสดีอุตรดิตถ์ สะบายดีหลวงพระบาง

หาก "พรมแดน" ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างกัน ทำไมเราไม่ลองสลายเส้นแบ่งนั้น แล้วเดินทางไปมาหาสู่กันอย่าง "มิตรแท้" ที่เคยมีดูล่ะ

ตี 4 วันเสาร์


เราคงไม่ได้ตื่นเช้าแบบนี้ทุกวันหรอก ฉันบอกกับตัวเองอีกครั้งหลังเสียงนาฬิกาปลุกดังขึ้นเป็นครั้งที่ 3 แล้วค่อยๆ ดันตัวเองขึ้นจากรังนอน อาบน้ำล้างหน้าทั้งที่ดวงตายังปิดสนิทแน่น แต่พอแปรงฟันเท่านั้นแหละ ตื่นเลย


นครชัยแอร์เป็นรถทัวร์ที่นั่งสบาย และพาฉันเดินทางมาถึง อุตรดิตถ์ อย่างปลอดภัยเมื่อค่ำที่ผ่านมา แต่กว่าจะหาที่พักและล้มตัวลงนอนได้ก็ปาเข้าไปเกือบ 5 ทุ่ม


ทริป "สวัสดีอุตรดิตถ์ สะบายดีหลวงพระบาง" ของสมาคมสหพันธ์ท่องเที่ยวภาคเหนือ จังหวัดอุตรดิตถ์ และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) สำนักงานแพร่ ที่พยายามส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบเชื่อมโยง AEC โดยมีปลายทางเป็นเมืองมรดกโลกของลาว ทำให้ฉันพยายามพาตัวเองมาถึงเมืองพระยาพิชัยดาบหักให้ทันเวลา และร่วมเดินทางไปพร้อมกับคณะนักท่องเที่ยวในเวลา 8 โมงเช้าของวันเสาร์ ณ จุดผ่านแดนถาวรภูดู่ ตำบลม่วงเจ็ดต้น อำเภอบ้านโคก จังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งอยู่ไกลออกไปจากอำเภอเมืองราว 160 กิโลเมตร


จุดผ่านแดนถาวรบ้านภูดู่ ฟังดูอาจจะไม่คุ้น นั่นก็เพราะด่านนี้เพิ่งเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ที่ผ่านมา แต่ขอบอกว่า ถ้าใครจะเดินทางไปเที่ยวหลวงพระบางแบบสบายๆ เส้นทางนี้ง่ายและสะดวกที่สุด(ถ้าไม่นับการเดินทางโดยเครื่องบิน)


เพราะจากด่านภูดู่ถึงหลวงพระบาง ระยะทางเพียงแค่ 310 กิโลเมตร และตลอดทั้งเส้นทางเป็นถนนลาดยางที่ค่อนข้างดี ติดอยู่นิดเดียวคือยังไม่มีรถโดยสารระหว่างประเทศให้บริการ แต่ก็แว่วๆ มาว่ากำลังมีโครงการเร็วๆ นี้ ซึ่งถ้ามีจริงๆ จะต้องมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้า-ออกกันอย่างคึกคักแน่ๆ


เพราะยังไม่มีรถโดยสารระหว่างประเทศทำให้การเดินทางจากอุตรดิตถ์ไปหลวงพระบางยังต้องอาศัยบริษัททัวร์จากอุตรดิตถ์ หรือจากบริษัททัวร์ในลาว แต่ถ้าจะขับรถยนต์ส่วนบุคคลเข้าไปก็ทำได้ เพียงแต่ต้องมีหนังสืออนุญาตรถระหว่างประเทศ หรือพาสปอร์ตรถที่ยื่นขอจากกรมการขนส่งทางบก จตุจักร หรือสำนักงานขนส่งจังหวัดทั่วประเทศก่อน


จะว่าไป อุตรดิตถ์มีชายแดนติดกับลาวเป็นระยะทางยาวพอสมควร ฉะนั้นจึงมี "ด่านพรมแดน" มากถึง 4 แห่ง คือ จุดผ่านแดนถาวรภูดู่ อำเภอบ้านโคก, จุดผ่อนปรนการค้าช่องห้วยต่าง อำเภอบ้านโคก, จุดค้าขายประเพณีช่องมหาราช หรือช่องหมาหลง อำเภอบ้านโคก และจุดค้าขายประเพณีช่องห้วยพร้าว อำเภอน้ำปาด แต่ที่เปิดเป็นด่านสากลอย่างเป็นทางการมีเพียงจุดผ่านแดนถาวรภูดู่แห่งเดียวเท่านั้น


ที่ด่านภูดู่จะมีตลาดนัดทุกวันเสาร์ ส่วนมากชาวลาวจะข้ามมาจับจ่ายสินค้าต่างๆ ทั้งเครื่องอุปโภคบริโภคเข้าไปใช้ในประเทศลาว ซึ่งตลาดนัดจะแบ่งเป็น "ตลาดบน" ที่ขายของแห้ง เช่น ผงซักฟอก สบู่ แชมพู เครื่องเทศ เครื่องปรุงรส น้ำยาล้างจาน ฯลฯ ส่วน "ตลาดล่าง" จะขายผักสด ผลไม้ ต้นไม้ และพืชผลทางการเกษตรต่างๆ ทำให้การเดินซื้อหาสินค้าทำได้อย่างสะดวก


รอเจ้าหน้าที่ตรวจเอกสารผ่านแดนเพียงพักเดียวเท่านั้น เราก็ได้ข้ามมาเยือนแผ่นดินลาว โดยมี ปูเป้ ไกด์สาวสวมซิ่นลายสวยรอต้อนรับ เธอกล่าว "สะบายดี" พร้อมรอยยิ้ม ก่อนจะพาคณะของเราไปขึ้นรถบัสทะเบียน "กำแพงนะคอน" (เวียงจันทน์) เพื่อมุ่งหน้าสู่หลวงพระบาง เมืองมรดกโลก


รถบัสวิ่งจากด่านภูดู่เข้าสู่ด่านสากลบ้านผาแก้ว เมืองปากลาย แขวงไชยะบุลี สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว(สปป.ลาว) แล้วจึงเปลี่ยนจากเลนซ้ายมาวิ่งเลนขวาตามกฎจราจรของลาว เราค่อนข้างแปลกใจอยู่เล็กๆ เพราะด่านเพิ่งเปิด แต่ถนนดีมาก คือลาดยางเรียบเนียนตลอดทั้งเส้น ปูเป้เลยอธิบายว่า บริษัท ช.การช่าง ใช้เส้นทางนี้เพื่อประกอบธุรกิจอยู่เป็นประจำ จึงสร้างถนนให้ใหม่ทั้งหมด นี่เองที่ทำให้เราไม่ต้องนั่งโยกเยกเพราะหลุมบ่อไปตลอดทาง


สังเกตจากข้างทางจะเห็นผลิตผลทางการเกษตรหลายอย่าง ทั้งมัน อ้อย และสาลีหรือข้าวโพด ซึ่งอย่างหลังนี้เยอะมากเป็นพิเศษ ไกด์บอกว่า ชาวบ้านแขวงไชยะบุลีส่วนใหญ่ปลูกข้าวโพดส่งเข้าประเทศไทยเป็นหลัก นอกจากนี้ก็ยังมีไม้ที่ส่งให้ไทยกับจีน ไม้จากไชยะบุลีได้ชื่อว่าเป็นไม้เนื้อดี ทั้งไม้มะค่า ไม้ประดู่ ราคาจึงค่อนข้างสูง และแถวนี้ก็เลี้ยงช้างกันมาก ถึงขนาดมีงานช้างประจำปี บริเวณริมถนนในเมืองไชยะบุลีจึงมีการปลูกต้นกล้วยไว้เพื่อเป็นอาหารให้กับช้าง


เราพักรับประทานอาหารกลางวันกันที่ "ร้านศาลาแคมฮุ่ง" ที่อยู่ในเมืองไชยะบุลี อิ่มหมีพีมันดีแล้วก็เดินทางต่อ ระหว่างนี้ปูเป้ก็อธิบายข้อมูลรายทางให้ฟังทั้งที่มาของชื่อ "บ้านแก่งสาว" เรื่องราวน่าอัศจรรย์ของ "เมืองทุ่งมีไซ" ไปจนถึงความหลากหลายของชนเผ่าใน "หมู่บ้านน้ำหยาบ" ซึ่งพอถึงตรงนี้ก็เริ่มมีหลายคนมึนหัว เพราะเป็นช่วงที่มีโค้งภูเขาเยอะที่สุด แต่ถ้าเป็นภูเขาที่สูงและยาวที่สุดในเส้นนี้น่าจะเป็น "ภูสะแกน" ที่มีความยาวถึง 9 กิโลเมตร


ผ่านจากจุดนี้ไปได้ปูเป้ก็เริ่มให้ข้อมูลต่อไป โดยพาตัวเองมายืนกลางรถแล้วโพสต์ท่าคล้ายพรีเซนเตอร์ เธอบอกว่า สาวชาวลาวทุกคนจะนุ่งซิ่นตั้งแต่เกิดจนตาย ซึ่งทุกเส้นสายลายซิ่นสะท้อนความผูกพันของชาวลาว 3 ชนเผ่า คือ หัวซิ่นเป็นตัวแทนของชาวม้ง ตัวซิ่นเป็นตัวแทนของชาวขมุ และเชิงซิ่นเป็นตัวแทนของลาวลุ่ม


เราเพลิดเพลินจนแทบไม่ต้องหลับกันเลย เพราะข้อมูลดี วิถีชีวิตของผู้คนริมทางก็น่ารัก แม้ระยะทางจากภูดู่ไปหลวงพระบางจะไม่มาก แต่ป้ายบังคับความเร็วระบุไว้ที่เลข 50 ก็ทำให้การเดินทางของเราออกแนวเนิบๆ นิ่มๆ จอดรถได้ก็ชิม ช้อป ฉี่ แชะ กันตามระเบียบ


หลวงพระบาง เป็นเมืองมรดกโลกที่ติดอันดับยอดนิยมมา 3 ปีซ้อนแล้ว อาจเป็นเพราะที่นี่ยังคงวิถีความเป็นอยู่แบบเรียบง่าย แม้จะมีผู้ประกอบการเยอะขึ้นทุกปี แต่ก็ไม่มีใครล้ำเส้นของคำว่า "อนุรักษ์" เช่นการซ่อมแซมก่อสร้างต่างๆ จะมีกฎระเบียบของมัน ห้ามรื้อ ห้ามพัง จะสร้างได้ก็ไม่ให้เกิน 2 ชั้น เพราะฉะนั้นบ้านเรือนจึงค่อนข้างคงสภาพดั้งเดิมไว้อย่างครบถ้วน


เราสามารถเดินเล่นอยู่ในเมืองหลวงพระบางได้อย่างปลอดภัย ปัญหาอาชญกรรมมีน้อยมาก หรือแทบจะไม่มีเลยก็ว่าได้ ส่วนแหล่งท่องเที่ยวเช่น วัด วัง พิพิธภัณฑ์ ร้านค้า ทุกอย่างอยู่ใกล้ๆ กันหมด นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จึงนิยมเดินหรือใช้จักรยานเพื่อการท่องเที่ยวในเมืองหลวงพระบาง


แต่เพื่อความเป็นสิริมงคลเราควรร่วมพิธีบายศรีสู่ขวัญแบบชาวลาว ที่ "ร้านวุดทิวงค์" จะมีพิธีบายศรีสู่ขวัญต้อนรับนักท่องเที่ยวเข้าสู่หลวงพระบาง โดยมีผู้เฒ่าผู้แก่รอต้อนรับพร้อมกับการแสดงของน้องๆ ชาวลาวที่สะท้อนวิถีชีวิตของคน 3 ชนเผ่า ซึ่งไกด์ของเราบอกว่า ถ้าจะให้เป็นมงคลควรรับการผูกข้อมือจากผู้เฒ่าเป็นเลขคี่เช่น 3, 5, 7 หรือ 9 คนจึงจะดี ได้ยินแบบนั้นฉันจึงรับมาเต็มๆ 9 เส้นทั้ง 2 ข้าง


จะเรียกว่ามาถึงหลวงพระบางไม่ได้เลย หากขาดการร่วมกิจกรรมที่สืบทอดกันมายาวนานอย่าง "ตักบาตรข้าวเหนียว" ไกด์สาวย้ำว่า ประเพณีคนลาวจะตักบาตรเฉพาะข้าวเหนียวเท่านั้น ไม่ใส่อย่างอื่นลงไป ไม่ว่าจะน้ำ กับข้าว ขนม ดอกไม้ ถ้าจะใส่จริงๆ ก็ให้ใส่ในย่ามพระ เพราะคนลาวถือว่า ในบาตรพระต้องมีข้าวที่สะอาด ไร้สิ่งอื่นเจือปน เมื่อพระบิณฑบาตรและเดินกลับไปถึงวัดแล้วจะเคาะระฆัง ชาวบ้านจะรู้ทันทีว่าต้องนำกับข้าวมาถวายพระ ถึงตอนนี้จะมีขนม ผลไม้อะไรก็นำมาถวายได้ตามแต่ศรัทธา


ใส่บาตรเสร็จแล้วรู้สึกหิวๆ ขึ้นมา หลายคนอาจคิดถึง "ประชานิยม" ร้านกาแฟสุดฮิตริมโขง แต่เราเดินตรงรี่ไปที่ ตลาดเช้า ซึ่งเป็นซอยเล็กๆ ริมแม่น้ำโขง เพราะตรงนี้พ่อค้าแม่ขายยังนิยมนำของที่หาได้ในท้องถิ่นมาแบกะดินขายอยู่ ฉันสนใจ "ข้าวซอยหลวงพระบาง" ที่มีขายอยู่หลายร้าน ถ้าเทียบกับไทยรสชาติจะคล้ายๆ ข้าวซอยอำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย แต่หลายที่ก็เรียกว่า "น้ำเงี้ยว" รสชาติจัดจ้าน มีผักสดให้บริการแบบไม่อั้น ฉันเลยบริโภคไปซะ "ชาม" โต (ชาม ภาษาลาว หมายถึง กะละมัง)


อย่างที่บอกว่าอยู่ในเขตเมืองมรดกโลกหลวงพระบางสามารถเดินชมวัด วัง ได้ตามสะดวก เพราะอยู่ใกล้กันทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น วัดเชียงทอง ที่เป็นวัดสถาปัตยกรรมล้านช้าง มีหลังคาซ้อน 3 ชั้นเป็นเอกลักษณ์ ส่วนจิตรกรรมฝาผนังก็เป็นลายรดน้ำลงรักปิดทอง ด้านหลังของสิม(อุโบสถ) มีลวดลายประดับกระจกสีเป็นรูปต้นไม้ใหญ่ ซึ่งก็คือต้นทอง หรือต้นงิ้ว ที่พระเจ้าศรีสว่างวัฒนาโปรดฯ ให้ช่างทำไว้เพื่อเป็นที่ระลึกถึงชื่อเชียงทอง ที่หมายถึง ป่าต้นทอง ในละแวกนี้นั่นเอง


ตอนเดินเล่นใน ตลาดมืด เป็นวันพระใหญ่พอดี เราจึงมีโอกาสได้เวียนเทียนใน วัดใหม่สุวันนะพูมาราม วัดนี้เป็นที่ประดิษฐานของ "พระบาง" และทุกๆ ปีในช่วงสงกรานต์ก็จะมีพิธีสรงน้ำพระบางที่นี่ด้วย เราเห็นว่าคนลาวทุกช่วงวัยให้ความสำคัญกับศาสนา ลูกเล็กเด็กแดงพากันมาเดินเวียนเทียนโดยที่ไม่ต้องมีผู้ใหญ่นำพา เรียกว่า ศาสนาอยู่ในสายเลือดจริงๆ


เรามีเวลาอยู่ที่หลวงพระบางหลายวัน เลยสามารถทำกิจกรรมได้หลากหลาย อย่างวันนี้ก็เดินเข้าไปชม พระราชวังหลวงพระบาง หรือพิพิธภัณฑ์และหอพระบางในตอนบ่าย เพื่อรับรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ของหลวงพระบางกันแบบละเอียดลึก จนเกือบจะเย็นย่ำจึงเดินเท้าขึ้นไปชมความงามของหลวงพระบางมุมสูง ณ วัดพูสี ซึ่งมีพระธาตุเจดีย์สีทองตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่บนยอดเขา พอพระอาทิตย์ใกล้จะลับขอบฟ้าเหล่าบรรดานักท่องเที่ยวผู้มีความโรแมนติกทั้งหลายก็พากันมาจับจองพื้นที่เพื่อชื่นชมแสงสุดท้ายก่อนจะหมดวันจนเต็มยอดเขา โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ บางคนถึงขั้นจุมพิตกันอย่างดูดดื่มเลยทีเดียว


ถ้าจะมีแหล่งท่องเที่ยวที่ไกลเมืองออกไปสักหน่อยเห็นจะเป็น ถ้ำติ่ง ที่ต้องนั่งเรือทวนแม่น้ำโขงขึ้นไปประมาณ 40 กิโลเมตร ภายในถ้ำนี้มีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่มากมายมหาศาล ไม่มีใครรู้ว่ามีพระพุทธรูปอยู่ในถ้ำนี้นานเท่าใด แต่พระจะเพิ่มจำนวนขึ้นทุกปี เพราะชาวลาวจะนำพระพุทธรูปมาถวายในที่แห่งนี้ทุกๆ วันพระ แต่ก่อนจะถึงถ้ำติ่งเรามีโอกาสแวะ บ้านซ่างไห่ หมู่บ้านที่ผลิตผ้าทอพื้นเมือง และเหล้าหลวงพระบางรสดีไว้ด้วย จากการสำรวจอยู่ในหลวงพระบาง 3-4 วัน ฉันยืนยันได้ว่า ซื้อผ้าที่บ้านซ่างไห่ถูกและดีที่สุดแล้ว


น้ำตกตาดกวางสี เป็นอีกหนึ่งแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมที่จะพลาดไม่ได้ด้วยประการทั้งปวง ฉันมาที่นี่หลังจากเดินทางไปถ้ำติ่ง 1 วัน ที่บริเวณน้ำตกคลาคล่ำไปด้วยนักท่องเที่ยวทั้งชาวลาวและชาวต่างชาติ ส่วนมากจะสวมใส่ชุดว่ายน้ำเต็มยศ แล้วพากันกระโดดลงน้ำ ก็ใครจะไปห้ามใจไหว เพราะน้ำตกนั้นทั้งใส และเย็นชุ่มฉ่ำใจขนาดนั้น น้ำตกตาดกวางสีมีหลายชั้น เราเดินไล่กันตั้งแต่ชั้นล่างไปจนถึงชั้นบนสุด ซึ่งมีสะพานไม้ทอดยาว ตรงจุดนี้ถือเป็นจุดรวมพล เพราะทุกคนจะมา "แชะ" แล้ว "แชร์" ให้เพื่อนร่วมโลก(โซเชียล) ได้รับรู้ว่า "ฉันมาถึงหลวงพระบางแล้วนะ"


นึกย้อนไปถึงการสนทนาระหว่างฉันกับเจ้าของธุรกิจที่พักในเมืองเชียงราย เธอบอกว่า ปีนี้นักท่องเที่ยวหายไปเยอะมาก ถ้าให้เธอวิเคราะห์น่าจะเป็นเพราะประเทศไทย "ขาดเสน่ห์" คือความง่ายงามที่จะดึงผู้คนเอาไว้ได้นาน ไม่เหมือนหลวงพระบางที่ยังคงวิถี และมีระบบการจัดการท่องเที่ยวที่ดีมาก นักท่องเที่ยวจึงพากันเดินทางผ่านไทยแล้วมาใช้ชีวิตอยู่ในเมืองเล็กๆ แต่เงียบงามมากกว่า


อย่าว่าแต่นักท่องเที่ยวอื่นใดเลย 3-4 วันในหลวงพระบางก็ทำให้ฉันคิดว่า ที่นี่คือ "บ้าน" ที่น่าอยู่จริงๆ

.................


การเดินทาง


อุตรดิตถ์อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ 475 กิโลเมตร สามารถเดินทางไปได้ทั้งโดยรถไฟ รถประจำทาง และรถยนต์ แต่ถ้าจะไปต่อที่จุดผ่านแดนถาวรภูดู่แนะนำให้ขับรถไปสะดวกกว่า เพราะยังไม่มีรถสาธารณะให้บริการ สำหรับรถยนต์จากกรุงเทพฯ ให้ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 พหลโยธิน วิ่งไปจนถึงวังน้อย อยุธยา เปลี่ยนมาใช้ทางหลวงหมายเลข 32 วิ่งผ่านอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท อุทัยธานี นครสวรรค์ จากนั้นเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 117 จนถึงพิษณุโลก แล้วเปลี่ยนไปใช้ทางหลวงหมายเลข 11 วิ่งตรงเข้าอุตรดิตถ์


จากอุตรดิตถ์ใช้ทางหลวงหมายเลข 11 ผ่านแยกวังสีสูบ เข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 1045 ผ่านอำเภอน้ำปาด อำเภอฟากท่า และข้าสู่อำเภอบ้านโคกที่ถนนางหลวงหมายเลข 1047 ระยะทางรวม 160 กิโลเมตร จากนั้นผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองแล้วเดินทางต่อ โดยใช้เส้นทางสาย R4 ผ่านเมืองปากลาย และเมืองไชยะบุรี แขวงไชยะบุรี จากนั้นเดินทางต่อไปเรื่อยๆ จนถึงสี่แยกขนาดใหญ่ เลี้ยวซ้ายเข้าถนนสายหลักของ สปป.ลาว นั่นคือถนนสาย R13 ตรงไปเรื่อยๆ จนถึงเมืองหลวงพระบาง ระยะทางรวมจากจุดผ่านแดนถาวรภูดู่ถึงหลวงพระบางประมาณ 310 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 6-8 ชั่วโมง


สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ พี่แมว - เสาวลักษณ์ สมาคมสหพันธ์ท่องเที่ยวภาคเหนือ จังหวัดอุตรดิตถ์ โทรศัพท์ 08 0505 9356 หรือ ททท.สำนักงานแพร่ โทรศัพท์ 0 5452 1127