เชียงราย สบายน่อง(?)

เชียงราย สบายน่อง(?)

ไม่เพียงทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้นเท่านั้น แต่การปั่นจักรยานยังสร้างความทรงจำที่แสนประทับใจให้กับทุกๆ การเดินทางด้วย

พาหนะที่ได้ชื่อว่า "รักษ์โลก" ที่สุด ณ เวลานี้ คงหนีไม่พ้น "จักรยาน" เพราะไม่ต้องพึ่งพาพลังงานใดๆ นอกจากพลังกายของผู้ขับขี่ จักรยานจึงเป็นพันธมิตรที่ดีกับโลกสีน้ำเงินใบนี้ไปโดยปริยาย

หลายครั้งที่การเดินทางทำให้เราต้องพึ่งพาจักรยานในการไปถึง ซึ่งอารมณ์ที่ได้มักแตกต่างจากการใช้พาหนะสิ้นเปลืองพลังงานอื่นๆ จักรยานจะมีความกลมกลืนและรื่นรมย์กับสถานที่ท่องเที่ยวมากกว่า นั่นจึงทำให้จักรยานเข้ามาอยู่ในกระแสของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศอย่างน่าสนใจ

แหล่งท่องเที่ยวหลายๆ แห่งพยายามปรับปรุงภูมิทัศน์ และเพิ่มเส้นทางจักรยานเพื่อเป็นทางเลือกให้กับนักเดินทาง ตอบโจทย์การท่องเที่ยวสีเขียวได้เป็นอย่างดี และหนึ่งในจังหวัดที่น่าจะมีระบบการจัดการ "การท่องเที่ยวโดยจักรยาน" ที่ดีที่สุด ก็คือ เชียงราย

ที่บอกแบบนี้ได้ เพราะฉันมีโอกาสเดินทางไปพิสูจน์กับเส้นทางจักรยานในเมืองพญามังรายมาแล้ว และขอยืนยันอีกทีว่า เชียงรายเหมาะสมที่จะเป็น Bike Destination จริงๆ

.......................

แม้จะเป็นครั้งที่ 4 ของปีนี้ แต่บอกได้เลยว่า ไม่มีเบื่อ เพราะอะไร...

เชียงรายมีภูมิประเทศที่สวยงาม มีสถาปัตยกรรมที่แปลกตา มีพุทธศาสน์-หัตถศิลป์ล้ำค่า แถมวิถีชีวิตผู้คนยังน่าชื่นชม นี่คือเหตุผลง่ายๆ ที่ทำให้ฉันอยากเดินทางมาสัมผัสกับเชียงรายแบบไม่จำกัดจำนวน

สำหรับการเดินทางท่องเที่ยวในเมืองเชียงรายคราวนี้ ฉันมี "จักรยาน" เป็นเพื่อนคู่ใจ อาจจะไม่ได้โหลดใส่เครื่องบินของสายการบินบางกอกแอร์เวย์สมาเหมือนนักปั่นคนอื่นๆ ทั่วไป แต่ก็อย่างที่บอก เชียงรายเป็นเมืองจักรยานโดยแท้ เพราะฉะนั้นไม่ต้องห่วง มีร้านจำหน่ายและร้านเช่าจักรยานเต็มไปหมด

โชคดีที่มีเพื่อนของเพื่อนเป็นเจ้าของร้านจักรยานอยู่ในเมืองเชียงรายด้วย ฉันเลยสะกดคำว่า "สบาย" ได้อย่างคล่องปรื๋อ

ทันทีที่ถึงสนามบินนานาชาติแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ลุงสมบูรณ์ เจ้าของร้านโรจกรไบค์ ที่อยู่แถวสถานีขนส่งเชียงราย 2 ก็โทรศัพท์สายตรงเข้ามาทันที "ถึงรึยังครับ เดี๋ยวลุงเอาจักรยานไปส่งที่โรงแรมนะครับ"

ต้องบอกก่อนว่า ร้านโรจกรไบค์เป็นร้านจำหน่ายจักรยานพับได้จากญี่ปุ่น ไม่ใช่ร้านเช่า แต่เรามาในฐานะเพื่อนของเพื่อนลูกชาย จึงได้รับบริการพิเศษนี้ ถ้านักท่องเที่ยวต้องการความสะดวกเรื่องจักรยานเช่า อาจต้องติดต่อร้านเช่าโดยตรงอีกที

CHEVROLET รุ่นคลาสสิค คือพาหนะที่จะพาเราเดินทางไปชมทุกซอกทุกมุมของเชียงรายในคราวนี้ และมันก็ทำหน้าที่ได้ดีมากๆ ทีเดียว

ในฐานะเมืองท่องเที่ยว(โดยจักรยาน) เชียงรายมีเส้นทางจักรยานที่น่าสนใจอยู่มากมาย เฉพาะเส้นทางจักรยานที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานเชียงราย จัดทำไว้ก็มีให้เลือกตั้ง 6 เส้นทาง ยาก-ง่าย ใกล้-ไกล ต่างกันออกไป จะขี่วนอยู่ในเมืองเชียงราย หรือขี่ออกไป วัดร่องขุ่น ก็ง่ายแสนง่าย นี่ยังไม่รวมเส้นทางที่ สิงห์ ปาร์ค เชียงราย จัดทำไว้อีก 3 เส้น เพื่อเป็นทางเลือกในการท่องเที่ยวให้กับนักท่องเที่ยว และที่นี่ก็เป็นสถานที่ที่เหมาะกับการปั่นจักรยานมากที่สุดอีกแห่งหนึ่งของเชียงราย

หลังจากศึกษาแผนที่เส้นทางอย่างคร่าวๆ เราก็ตัดสินใจเลือกเส้นทางที่ 2 ที่ ททท.สำนักงานเชียงราย จัดทำไว้ ซึ่งเส้นทางนี้มีชื่อเก๋ไก๋ว่า "เพลิดเพลินประวัติเมืองเชียงราย"

เส้นทางนี้มีระยะทางในการปั่นไม่มาก แค่ 6.2 กิโลเมตรเท่านั้น ส่วนระดับความยากถือว่า ง่าย เพราะถนนเป็นถนนลาดยางภายในเมืองทั้งหมด แต่อาจจะต้องใช้ถนนร่วมกับพาหนะอื่นๆ ด้วย เพราะเชียงรายยังไม่มีไบค์เลนจริงจัง จะมีแค่บริเวณบนสะพานพญาเม็งรายเท่านั้น

ดูเหมือนง่ายๆ ไม่ท้าทายอะไร แต่ในแผนที่ระบุว่า เส้นทางนี้มีเนินเขาให้ปั่นออกแรงกันบ้างบริเวณวัดดอยงำเมือง พิพิธภัณฑ์บ้านจอมพล ป. วัดพระธาตุดอยจอมทอง และเสาสะดือเมืองเชียงราย ซึ่งดูจากความสูงชันในตารางเปรียบเทียบของแผนที่แล้ว ไม่ใช่แค่นิดหน่อย แต่ชันมาก

เมื่อเตรียมตัวพร้อมเราก็เริ่มต้นออกเดินทางกันที่ วัดพระสิงห์ ก่อนเพื่อความเป็นสิริมงคล สำหรับวัดนี้ที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์จำลอง มีพระอุโบสถเก่าแก่ที่ทางเข้ามีบานประตูไม้แกะสลักบานใหญ่ ออกแบบโดย อ.ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ส่วนสล่าอำนวย บัวงาม เป็นช่างผู้แกะสลัก ฉันชอบวัดนี้เพราะมีสถาปัตยกรรมที่สวยงาม แถมยังมีกลิ่นหอมๆ ของดอกสาละจากลังกาที่โชยกลิ่นมาให้ชื่นใจตลอดทั้งวันด้วย

จากวัดพระสิงห์ เราขี่จักรยานออกมาอีกไม่ไกลนักก็ถึง วัดพระแก้ว สถานที่ค้นพบพระแก้วมรกต โดยพบในพระเจดีย์สีทอง ส่วยนตำนานการค้นพบนั้นมีการเขียนเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังบอกเล่าเรื่องราวอยู่ภายใน หอพระหยก ที่เป็นอาคารทรงล้านนาโบราณ ส่วนโฮงหลวงแสงแก้ว เป็นอาคารพิพิธภัณฑ์จัดแสดงของโบราณและศิลปะวัตถุที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาและวัฒนธรรม เช่น พระพุทธรูปสำคัญ เครื่องอัฐบริขาร และโบราณวัตถุเก่าแก่อื่นๆ

เราปั่นจักรยานผ่าน โรงพยาบาลโอเวอร์บรุ๊ค หรือ โฮงยาฝรั่ง ที่นี่เป็นโรงพยาบาลเอกชนเก่าแก่ที่สุดของจังหวัด มองเข้าไปจะเห็นอาคารแบบโคโลเนียลสวยๆ นั่นคืออาคารหลังแรกของโรงพยาบาล

ถนนแสงแก้วพาเราไต่เนินเขาขึ้นไปทีละน้อย จนเกือบจะต้องเปลี่ยนเกียร์นั่นแหละ วัดดอยงำเมือง จึงปรากฏอยู่ตรงหน้า

วัดนี้เป็นที่ตั้งสถูป(กู่) ของพญามังราย ที่สร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 1860 โดยพญาไชยสงครามผู้เป็นโอรส ฉันสะดุดตากับบันไดนาคที่เป็นทางขึ้นวัด เพราะทอดยาวจากเชิงดอยไปจนถึงหน้าพระอุโบสถ ด้านบนมีอนุสาวรีย์และกู่พญามังราย และพระประธานศิลปะเชียงแสนองค์ใหญ่อยู่ด้วย

ข้อดีของการเดินทางด้วยจักรยานคือเราจะไม่ค่อยพลาดช็อตสำคัญๆ ริมถนน หลังออกจากวัดดอยงำเมืองฉันเห็นเด็กเล็กๆ สองคนยกนิ้วก้อยเกี่ยวกัน เป็นสัญลักษณ์ของการคืนดี ถือเป็นภาพที่ทำให้ฉันอมยิ้มได้อย่างสุขใจ แต่ที่เริ่มจะทุกข์บ้างก็เพราะหนทางข้างหน้ามันช่างสูงชันเสียนี่กระไร

เราทดเกียร์เพื่อให้จักรยานช่วยส่งแรงกำลังในการขึ้นเนิน มันสูงราว 400 เมตร ในระดับความเอียงราวๆ 30 องศา ไม่ทันเหงื่อผุดเราก็พบต้นฉำฉา หรือจามจุรี แผ่กิ่งก้านสาขาอยู่บนเนินสูง ใต้ต้นไม้ที่ร่มรื่นนั้นคือ พิพิธภัณฑ์บ้านจอมพล ป. ที่สร้างเมื่อปี 2484 เพื่อเป็นที่พักรับรองจอมพล แปลก(ป.) พิบูลสงคราม อดีตนายกรัฐมนตรี ใครไม่รู้จักท่านต้องไปที่นี่ เพราะจะมีประวัติบอกไว้หมดว่าท่านมีบทบาทสำคัญอย่างไรต่อเชียงรายและต่อประเทศไทย แต่ถ้าเหนื่อยล้าจากการปั่นจักรยานอยากเติมพลังก็แนะนำให้แวะไปร้านกาแฟนายพลที่อยู่ภายในบริเวณนั้นได้

ฉันกลับมาใส่หมวกกันน็อคอีกครั้งและขึ้นไปนั่งบนหลังอาน จักรยานขาลงมีข้อควรระวัง คืออย่าพยายามบีบเบรคมือจนสุดแรง เพราะรถอาจจะคว่ำได้ แต่ก็นั่นแหละ บีบเบาๆ ยังมีอาการไถล ฉันจึงขี่เลยทางเข้า วัดพระธาตุดอยจอมทองและเสาสะดือเมืองเชียงราย มาแบบงงงๆ จุดเด่นของที่นี่นอกจากจะเป็นสถานที่ซึ่งพญามังรายเสด็จมาพบชัยภูมิอันเหมาะสมก่อนทรงสร้างเมืองเชียงรายแล้ว ยังเป็น 1 ในเส้นทางไหว้พระธาตุ 9 จอม ที่เชื่อกันว่า หากกราบไหว้และตั้งจิตอธิษฐานขอพรจะมีโชคในเรื่องทรัพย์สินเงินทองด้วย ว่าแล้วก็แวะไปอธิษฐานสักหน่อย

แดดเริ่มร้อนขึ้นมาก แต่ดีที่อากาศในฤดูนี้ไม่อบอ้าวเกินไป ฉันจึงปั่นจักรยานต่อได้แบบชิลล์ๆ ขี่ผ่านถนนประตูเชียงใหม่แล้วเลี้ยวขวาออกมาใช้บนถนนบรรพปราการ ตรงโค้งนี้มี แนวกำแพงเมืองและคูเมืองโบราณ ตั้งอยู่ ว่ากันว่า กำแพงนี้จำลองของจริงมา เพราะการพัฒนาเมืองเมื่อปี 2540 ทำให้กำแพงจริงถูกถมปรับปรุงไปหมด

ห่างออกไปไม่ถึง 100 เมตร คือที่ตั้งของ วัดมิ่งเมือง ซึ่งเป็นวัดของชาวไทยใหญ่ คนส่วนมากเรียกกันว่า วัดเงี้ยว หรือวัดจ๊างมูบ(ช้างหมอบ) วัดนี้มีมาตั้งแต่การสร้างเมืองเชียงราย อายุกว่า 800 ปีแล้ว สิ่งที่น่าสนใจคือ วิหารไม้ลายคำศิลปะไทยใหญ่ผสมล้านนา เป็นวิหารไม้หลังเดียวที่เหลืออยู่ในเมืองเชียงราย ภายในประดิษฐานหลวงพ่อศรีมิ่งเมือง อายุกว่า 400 ปีไว้ด้วย ส่วนด้านหลังคือพระธาตุมิ่งเมืองที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ สร้างตามแบบศิลปะล้านนา น่าสนใจอีกอย่างคือวัดนี้มีกิจกรรมตักบาตรเที่ยงคืน (เป็งปุ๊ด) ด้วย

เชฟโรเลตคันจิ๋ว พาฉันแล่นฉิวไปจนถึง หอนาฬิกาเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ออกแบบโดย อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ เมื่อปี 2548 ใครมาที่นี่ต้องมาดูหอนาฬิกาเปลี่ยนสียามค่ำคืน ซึ่งจะเปลี่ยนทุกวันในช่วงเวลา 19.00, 20.00 และ 21.00 น. แต่ถ้ามากลางวันขอให้ชมรายละเอียดของการประดับตกแต่งที่แฝงไว้ด้วยความนัยต่างๆ ฉันมาที่นี่เมื่อคืนนี้ หลังจากลองปั่น Night Ride ลงมาจากร่วมกิจกรรม Night at the Museum ที่ อุทยานศิลปวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง

ก่อนจะเลี้ยวเข้าถนนรัตนาเขต เราแวะไปชมด้านนอกของ โบสถ์คริสตจักรที่ 1 เชียงราย พักนึง ที่นี่สร้างขึ้นด้วยเงินบริจาคของคณะอเมริกันเพรสไบทีเรียน เมื่อปี 2457 อำนวยการสร้างโดย นายแพทย์วิลเลี่ยม เอ.บริกส์ ผู้สร้างโรงพยาบาลโอเวอร์บรุ๊ค เพราะฉะนั้นรูปแบบสถาปัตยกรรมจึงออกมาคล้ายๆ กัน คือเป็นแบบโคโลเนียลที่เรียบง่าย ซึ่งในปี 2557 นี้พระวิหารมีอายุครบ 100 ปีพอดี

สวนตุงและโคมเฉลิมพระเกียรติ ตั้งอยู่ในสวนสาธารณะกลางเมืองเชียงราย ปรับปรุงมาจากอาคารเรือนจำกลางอายุกว่า 100 ปี ภายในมีสวนพรรณไม้และดอกไม้ที่ตกแต่งอย่างสวยงาม มีอาคารแสดงศิลปะการแต่งกาย 30 ชนเผ่า แต่ถ้าอยากศึกษาอย่างลึกซึ้ง ออกแรงปั่นอีกแค่ 2 เลี้ยวเท่านั้นก็สามารถเข้าไปเรียนรู้วิถีชีวิตชนเผ่าทั้งหมดได้ใน พิพิธภัณฑ์ชาวเขา ที่ตั้งอยู่บริเวณชั้น 3 ของอาคารสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน ภายในมีนิทรรศการและประวัติที่น่าสนใจของชนเผ่าในเชียงรายทั้งหมด

จริงๆ แล้วถ้าเป็นยามค่ำคืนวันเสาร์ ที่นี่คือถนนของคนเดินเท้า แต่เรามาในช่วงสายวันอาทิตย์ เลยได้ขี่จักรยานแบบสบายๆ แต่ความสบายก็มาให้สุขใจเพียงแว้บเดียว เมื่อเราเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนพหลโยธิน ซึ่งเป็นถนนสายหลัก

ถูกต้อง รถรามากมายวิ่งกันขวักไขว่แบบไม่สนใจจักรยานคันจิ๋ว ฉันพยายามขี่ให้เลียบขนานกับทางเท้ามากที่สุด จนมาถึงแยกพ่อขุนบริเวณ อนุสาวรีย์พ่อขุนเม็งรายมหาราช จึงได้หยุดพักหายใจเพราะติดไฟแดง

ฉันยกมือไหว้สักการะพ่อขุนเม็งราย ก่อนจะกวาดสายตามองไปรอบๆ

พ่อขุนเม็งราย หรือพญามังราย เป็นกษัตริย์องค์ที่ 25 แห่งราชวงศ์ลวจักราช ด้านหลังอนุสาวรีย์พ่อขุนเม็งรายคือตุงหลวงเฉลิมพระเกียรติฯ ออกแบบโดย อ.ถวัลย์ ดัชนี, อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ และอ.กนก วิศวกุล ศิลปินชาวเชียงราย มีความหมายโดยรวมสื่อถึงความเคารพเทิดทูน และการแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ส่วนบริเวณโดยรอบก็ถูกตกแต่งด้วยสวนไม้ดอกงดงามตลอดทั้งปี

จุดสุดท้ายของเส้นทางนี้อยู่ที่ หอประวัติเมืองเชียงราย 750 ปี ยอมรับว่าไม่ได้เข้าไปชม เพราะท้องหิวเต็มที่ วินาทีนี้คิดถึง "ชีวิตธรรมดา" ร้านกาแฟและอาหารที่เราหมายตาไว้นานแล้วที่สุด ว่าแล้วก็ปั่นเลยไป จัดอาหารชุดใหญ่ออกมาให้กระเพาะอาหารได้ทำงาน

ชีวิตหลังอานในเมืองเชียงรายแม้จะน้อยนิดไปในความรู้สึก แต่มันก็ทำให้ฉันได้สัมผัสเชียงรายในอีกมุมมองหนึ่ง ถือเป็นมุมมองใหม่ที่น่าสนใจมากทีเดียว

และหลังจากทดลองปั่นจักรยานโดยมี CHEVROLET คันจิ๋วเป็นพาหนะนำทางอย่างราบรื่นปลอดภัย ฉันก็ขอยืนยันอีกครั้งว่า เชียงรายเหมาะสมที่จะเป็น Bike Destination จริงๆ

.................

การเดินทาง

สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส มีเที่ยวบินให้บริการจากกรุงเทพฯ(สุวรรณภูมิ) - เชียงราย(แม่ฟ้าหลวง) ทุกวัน วันละ 2 เที่ยวบิน โดยเที่ยวบินแรก PG231 ออกจากกรุงเทพฯ เวลา 07.35 น. ถึงเชียงรายเวลา 08.55 น. และเที่ยวบินที่สอง PG235 ออกจากกรุงเทพฯ เวลา 18.05 น. ถึงเชียงราย เวลา 19.25 น. ขากลับเที่ยวบินแรก PG232 ออกจากเชียงราย เวลา 09.45 น. ถึงกรุงเทพฯ เวลา 11.05 น. และเที่ยวบินที่สอง PG236 ออกจากเชียงราย เวลา 20.10 น. ถึงกรุงเทพฯ เวลา 21.30 น. นอกจากนี้ยังมีบริการ Bike on Board ให้สามารถโหลดจักรยานขึ้นเครื่องได้ฟรี สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 1771 หรือ www.bangkokair.com

สอบถามรายละเอียดการท่องเที่ยว และเส้นทางจักรยานที่ ททท.สำนักงานเชียงราย โทร. 0 5371 7433, 0 5374 4675-6 หรือ www.facebook.com/bikingatchiangrai