Harrods Tea Room

Harrods Tea Room

เปิดเมนู Harrods Tea Room ของร้านอาหารและห้องดื่มน้ำชาแนว Contemporary All Day Dining ซึ่งให้บริการเมนูในแบบ ‘เทรดิชั่นนัล บริติช’

แฮร์รอดส์ (Harrods) คือหนึ่งในสัญลักษณ์และความหรูหราของมหานครลอนดอน เมืองหลวงของประเทศอังกฤษที่ได้รับการขนานนามว่าเมืองแห่งรสนิยมการใช้ชีวิต

นอกจากความเพียบพร้อมของแฟชั่นแบรนด์เนมระดับโลกและสินค้าไลฟ์สไตล์ที่ตอบโจทย์ลูกค้าผู้มีรสนิยมวิไล ห้างสรรพสินค้าแฮร์รอดส์ยังดำเนินธุรกิจร้านค้าซึ่งเป็นที่กล่าวขานในแวดวงนักชิมและดื่มชาภายใต้ชื่อ แฮร์รอดส์ ที รูม (Harrods Tea Room) มักเป็นที่รวมตัวของผู้มีไลฟ์สไตล์อย่างมีระดับมาเป็นเวลาช้านานตั้งแต่ปีค.ศ.1849 เป็นอีกตำนานคู่กรุงลอนดอน

ล่าสุดนักธุรกิจแฟชั่นชาวไทย บุญชัย คงปักไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทแอล เอ็ม อี จำกัด สามารถนำ 'แฮร์รอดส์ ที รูม' มาเปิดบริการในประเทศไทยได้เป็นผลสำเร็จโดยตั้งอยู่ที่สยามพารากอน เพิ่งเปิดบริการไปเมื่อวันที่ 10 มกราคมที่ผ่านมา

“ความจริงแฮร์รอดส์เกิดจากธุรกิจค้าขายใบชามาก่อน ตั้งแต่ 1849(ค.ศ.) ทำเรื่องอาหาร แล้วจึงมาทำดีพาร์ตเมนต์สโตร์ ด้านเอฟแอน์บี(Food and Beverage)เขาเก่งมาก ฟู้ดฮอลล์ในแฮร์รอดส์ใหญ่และสมบูรณ์มาก ใน(ห้างสรรพสินค้า)แฮร์รอดส์มีอาหารมากกว่า 30 จุดขาย” คุณบุญชัย เล่า

ช่วงเปิดร้านที่สยามพารากอนใหม่ๆ คนจะเข้าใจว่ามีบริการเฉพาะน้ำชาและขนม แต่พอทุกคนเห็นเมนูก็ลองรับประทานอาหารกันและชอบ

“จากวันแรกที่เปิด ยอดขายขึ้นมาเท่าตัว” คุณบุญชัยกล่าว

รายการอาหารของ 'แฮร์รอด ที รูม' ในประเทศอังกฤษมีความหลากหลายมาก คุณบุญชัยเลือกรายการอาหารบางส่วนมาบริการในร้านที่เมืองไทย กับเมนูอีกส่วนที่นำเสนอไปตามที่คิดว่าเหมาะกับนักชิมชาวไทย

ขณะนี้คนไทยนิยมรับประทานฟัวกราส์และทรัฟเฟิล คุณบุญชัยยกตัวอย่าง ดังนั้นจึงนำวัตถุดิบสองประเภทนี้ไปคุยกับทางอังกฤษ ซึ่งทีมเชฟของแฮร์รอดส์ ที รูม ในลอนดอนก็ช่วยทำเมนูมาให้เป็น Deluxe Foie Gras Benedict (450 บาท) หรือเอ้กเบเนดิกต์ซอสฮอลแลนเดสที่เสิร์ฟพร้อมวัตถุดิบหรูหราตับห่านกริลล์นั่นเอง ส่วนเมนูดั้งเดิมที่แฮร์รอดส์มีอยู่แล้วก็เช่นไข่เจียวทรัฟเฟิล ซุปคาปูชิโนทรัฟเฟิล เป็นอาทิ

แฮร์รอดส์ ที รูม เป็นร้านอาหารและร้านน้ำชา(tea room) ให้บริการเมนูแบบ คอนเทมโพรารี่ ออลเดย์ ไดนิง (Contemporary All Day Dining)

ในความเป็น 'ที รูม' โดดเด่นด้วยชุดน้ำชาบ่ายสุดคลาสสิกตามแบบฉบับชาวอังกฤษ บริการตั้งแต่ 10.00-17.00 น. เช่น ชุดน้ำชา The Mayfair (990 บาทสำหรับ 2 คน) เลือกน้ำชาสำหรับดื่มได้จากเมนูในรายการชา

เบเกอรี่บนแพลตเตอร์จานบนสุดของ ‘เดอะ เมย์แฟร์’ เรียกว่า แฮร์รอดส์ ที แฟนซี (Harrods Tea Fancy) เพสตรี้เชฟสร้างสรรค์สูตรและรูปลักษณ์ให้กับ 'แฮร์รอดส์ ที รูม' โดยเฉพาะ ชื่อเสียงเรียงนามขนมประกอบด้วย เอิร์ลเกรย์ เอแคลร์, มินิ ช็อกโกแลต โดม, เลมอน คิส (lemon kiss หรือมินิ เลมอน ทาร์ต) อิงลิช เบอร์รี ทริฟเฟิล (English berry trifle) และมาการองบลัง (macaroon blanc) มาการองฝาสีขาวสอดไส้อัลมอนด์ครีมรสแชมเปญ

จานถัดลงมาเป็น สโคน(scone) สูตรแฮร์รอดส์ คือ สโคนเนย 2 ชิ้น สโคนลูกเกด และสโคน เอิร์ลเกรย์ อย่างละ 1 ชิ้น เสิร์ฟคู่กับคล็อดเต็ด ครีม (clotted cream) ครีมเนื้อเบาตามแบบฉบับชาวอังกฤษ และแยมอีก 3 ชนิด คือแยมลิ้นจี่กลิ่นกุหลาบ แยมสตรอว์เบอร์รี เวนิกา และเลมอน เคิร์ด (แยมกึ่งคัสตาร์ด)

เบเกอรี่จานที่สามมีแซนด์วิชเนื้ออบ(หรือขอเปลี่ยนเป็นแฮมกับผักดองก็ได้) แซลมอนรมควันและครีมชีส ทูน่ามายองเนส แซนด์วิชไข่และวอร์เตอร์เครส ล็อบสเตอร์โรล

หากต้องการชุดน้ำชาบ่ายขนาดย่อมลงมาสำหรับรับประทานคนเดียวก็มีชุด The Chelsea (390 บาท) ประกอบสโคนแบบดั้งเดิมและสโคนเอิร์ลเกรย์-กุหลาบ อย่างละ 1 ชิ้น เสิร์ฟกับคล็อดเต็ด ครีม และแยมผลไม้, มาการองสอดไส้รสส้มและกุหลาบอังกฤษ, คัพเค้กมะนาว

รายการอาหารในแบบฉบับ คอนเทมโพรารี่ ออลเดย์ ไดนิง ของ แฮร์รอดส์ ที รูม เรียกน้ำย่อยได้หลายรายการ เช่น Chef's Creation Salad (280 บาท) สลัดผักสด เดรสซิ่งบัลซามิกน้ำผึ้ง เสิร์ฟร่วมจานกับแซลมอนรมควันสไตล์ชาวสก็อต ไข่มิโมซา เนื้อปลาทูน่าครีบเหลือง

อาหารรับประทานง่ายๆ อีกจาน Bangers and Mash (320 บาท) จานนี้ถือเป็น ‘เทรดิชั่นนัล บริติช’ ไส้กรอกที่เห็นในจานเรียกว่าไส้กรอกคัมเบอร์แลนด์ (Cumberland sausage) เป็นไส้กรอกเนื้อหมูผสมสมุนไพรที่มีสูตรและกรรมวิธีการทำเฉพาะใน ‘คัมเบอร์แลนด์’ ชุมชนเก่าแก่ของประเทศอังกฤษ เสิร์ฟกับมันฝรั่งบดผสมทรัฟเฟิล

อีกหนึ่งเมนูที่บ่งบอกว่าเป็นวัฒนธรรมอาหารชาวอังกฤษ London Metro Fish & Chips (390 บาท) เนื้อปลาค็อดชุบแป้งที่นวดกับเบียร์แล้วนำไปทอด เสิร์ฟกับมันฝรั่งทอดสไตล์อังกฤษ คือหั่นชิ้นหนา ทอดแบบกรอบนอกแต่ข้างในนิ่มคล้ายๆ ถูกบด และเครื่องจิ้ม 4 ชนิด ซอสมะเขือเทศ ทาร์ทาร์ซอส ถั่วสีเขียวบด และธัญพืชผสมน้ำส้มสายชูหมัก

อาหารจานหลัก เช่น Harrods Heritage Wellington (550 บาท) เนื้อเทนเดอลอยน์คัดคุณภาพอย่างดีและเห็ด ห่อด้วยแป้งพัฟฟ์แผ่นบาง แล้วนำไปอบ ลักษณะแปลกตานูนคล้ายหลังเต่า (ขอเปลี่ยนจากเนื้อวัวเป็นเนื้อปลาก็ได้) เสิร์ฟกับแอสพารากัสย่างและมันฝรั่งที่เก็บมาใหม่ๆ เมนูนี้เป็นเมนูพิเศษประจำแฮร์รอดส์ ที รูม ในลอนดอน มีบริการเฉพาะวันเสาร์เท่านั้น เรียกว่านักชิมตั้งตารอให้ถึงวันเสาร์เพื่อไปรอชิมเมนูนี้กันเลยทีเดียว

อีกหนึ่งเมนูซึ่งมีชื่อเสียงในย่าน Knightbridge ของลอนดอนคือ Traditional Roasted Beef (520 บาท) เนื้อย่างสุดนุ่มและชุ่มฉ่ำ ราดซอสเกรวี่หอมใหญ่ เสิร์ฟกับสิ่งที่ดูครั้งแรกคิดว่าเป็นมันฝรั่ง แต่จริงๆ คือ พุดดิ้งยอร์กเชียร์ (Yorkshire Pudding) ขนมพุดดิ้งที่ทำจากแป้งผสมไข่และนม มีบันทึกสูตรการทำไว้ตั้งแต่ปีค.ศ.1737 ชาวอังกฤษนิยมรับประทานคู่กับเนื้อย่าง ผักในจานนี้มีแอสพารากัส บร็อกโกลี่และเบบี้แครอท

คุณบุญชัยอยู่ในธุรกิจเสื้อผ้าสำเร็จรูปมานานกว่า 33 ปี มองเห็นความเปลี่ยนแปลงของธุรกิจแฟชั่นที่ค่อยๆ เปลี่ยนไปสู่ความเป็น ‘ไลฟ์สไตล์ บิซิเนส’ ในขณะนี้

“เอฟแอนด์บี(อาหารและเครื่องดื่ม)คือส่วนหนึ่งของ ไลฟ์สไตล์ บิซิเนส ซึ่งบริษัทเราคิดว่าต้องขยายธุรกิจออกไปในเชิงนี้ เดี๋ยวนี้เอฟแอนด์บีไมใช่แค่อาหาร แต่เป็นเอนเตอร์เทนเมนต์ คนเรามากินข้าวมาสนุกสนานกัน สังเกตไหมตอนนี้ก่อนกินข้าวต้องถ่ายรูปก่อน เป็นไลฟ์สไตล์ขึ้นมา” บุญชัย กล่าว

ด้วยความชอบชิมและชอบทำอาหาร คุณบุญชัยเคยทำธุรกิจร้านอาหารมาแล้วสามครั้ง ยี่สิบปีก่อนใครเคยเป็นลูกค้าร้านอาหารไทยซีฟู้ดชื่อ ‘แสมสาร’ ย่านสุขุมวิท กับร้านอาหารแนวเท็กซ์เม็กซ์(เท็กซัส-เม็กซิกัน)ภายในบริเวณโรงแรมดุสิตธานีล่ะก็ นี่แหละสองร้านที่คุณบุญชัยและหุ้นส่วนซึ่งล้วนแต่อยู่ในสกุลดังของฟ้าเมืองไทยเคยร่วมกันทำ แต่ด้วยความที่ยังเป็นวัยรุ่นทุกคน ไม่ได้บริหารจริงจัง ทำให้ต้องอำลาวงการไป

คุณบุญชัยไม่ละความชอบ เขาเปิดร้านอาหารเองอีกครั้งชื่อ ‘คาเฟ่ เดคโค’ ที่สุขุมวิทซอย 39 ธุรกิจไปได้ดี แต่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ด้วยความที่ต้องดูแลธุรกิจแฟชั่นซึ่งเป็นธุรกิจหลัก จึงต้องพักการทำร้านอาหารไว้ก่อน

เนื่องจากชอบธุรกิจอาหารเป็นทุนเดิม จนกระทั่งเมื่อห้าปีที่แล้วเมื่อรู้ว่าธุรกิจสายแฟชั่นไม่พอ ต้องเป็น 'ไลฟ์สไตล์ บิซิเนส' มีการประชุมในบอร์ดและมีมติให้ควรเดินเส้นทางนี้ จึงเริ่มค้นหาแบรนด์อาหารอีกครั้ง คุณบุญชัย เล่า

“ปรากฏว่าเมืองไทยเต็มไปด้วยแบรนด์ร้านอาหาร ผมใช้เวลาหาอยู่เกือบสองปี จนกระทั่งเดินทางไปญี่ปุ่น ไปเจอ 'แฮร์รอดส์ ที รูม' ที่ย่านกินซ่า ประทับใจมาก อยากทำ ติดต่อไปก็ไม่ตอบ ติดต่อครั้งที่สองตอบรับมาว่ายังไม่มีโครงการในประเทศไทย”

คุณบุญชัยเล่ากว่าจะนำ 'แฮร์รอดส์ ที รูม' มาเปิดในไทยได้ไม่ใช่เรื่องง่ายและต้องอาศัยเวลา แต่ทำสำเร็จได้ด้วยความร่วมมือของบริษัทไทย เอ็ม ซี จำกัด (มิตซูบิชิ คอร์ปอเรชั่น เจแปน)

“บังเอิญโชคดีไปเจอหุ้นส่วนของเราเป็นบริษัทญี่ปุ่น คือมิตซูบิชิ ซึ่งเป็นบริษัทใหญ่มากทำทุกอย่าง เครื่องใช้ไฟฟ้า ธนาคาร เหล็ก รถไฟ ยูนิโคล่เขาก็ถือหุ้น 25% เป็นหุ้นส่วนเรามาสี่สิบกว่าปีด้านสิ่งทอ ธุรกิจเก่าแก่ของที่บ้าน เมื่อห้าสิบกว่าปีที่แล้วมิตซูบิชิเป็นผู้แนะนำผ้าจากญี่ปุ่นมาให้คุณป๋าผม และเมื่อสี่สิบกว่าปีที่แล้วเขาก็ดึงโรงงานที่ญี่ปุ่นมาหุ้นกับเรา ตัวเขาเองก็หุ้นกับเรา เปิดโรงานปั่นด้ายทอผ้าเมื่อ 44 ปีที่แล้ว..

บังเอิญผมไปดูงานที่ญี่ปุ่น เขาก็อยากร่วมทำธุรกิจกับผมบางอย่างเรื่องแบรนดิ้ง ผมก็บอกแบรนด์ที่ผมสนใจเช่นแฮร์รอดส์ ซึ่งผมติดต่อไม่ได้...

เขาก็บอกว่ามิตซูบิชิเป็นแฟรนไชส์แฮร์รอดส์ที่ญี่ปุ่น ติดต่อให้ได้ ก็เริ่มติดต่อให้ผม ซึ่งใช้เวลาทั้งหมดสองปีในการติดต่อกับอังกฤษเพื่อสร้างความเชื่อมั่น เสนอแผนธุรกิจ ใช้เวลาปรับปรุงร้านอีกปีกว่าๆ ผมเริ่มโครงนี้เมื่อสามปีกว่ามาแล้วครับ”

แฮร์รอดส์ ที รูม ที่สยามพารากอน ตกแต่งในบรรยากาศ โมเดิร์น เอลิแกนซ์ เน้นโทนสีขาวครีมและสีเขียว ซึ่งเป็นสีเอกลักษณ์โดดเด่นของแฮร์รอดส์ แบ่งพื้นที่ใช้สอยออกเป็น 2 ชั้น รองรับแขกได้ 80 ที่นั่ง โดยปรับเปลี่ยนตกแต่งร้านตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่แฮร์รอดส์ที่เดินทางจากลอนดอนมาดูสถานที่

“ตัวร้านทำใหม่หมด เดิมข้างบนเป็นครัว ค่อนข้างเตี้ย ปรับเปลี่ยนด้วยการย้ายครัวลงไปอยู่ข้างล่าง ให้ความสูงกลับมาอยู่ข้างบน” คุณบุญชัยกล่าวและว่า ได้ขออนุญาตศูนย์การค้าขยายพื้นที่เลยต้นเสาเดิมออกไป และเปิดประตูด้านข้างให้ลูกค้าซึ่งนั่งโต๊ะข้างนอกมีความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของภายในร้าน

ข้าวของเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารทุกชิ้นดูสวยงามมีรสนิยม

“แฮร์รอดส์เข้าใจมาก เขาบอกว่าเขาอยู่ในธุรกิจนี้มานาน ถ้าต้องนำเข้าทุกอย่างจากอังกฤษเป็นสิ่งไม่จำเป็น เพราะทำให้ต้นทุนสูง แต่ขอให้ของทุกอย่างมีคุณภาพมาตรฐานพอ เราจะใช้ของใครเราแค่ส่งให้เขาพิจารณา ไม่จำเป็นต้องเป็นแบบเดียวกับของเขาทุกชิ้น แต่เขาก็มีแบบให้เราดูสาม-สี่แบบ ขอให้ใกล้เคียง” บุญชัย กล่าว

นอกจากพื้นที่ภายในร้าน ยังมีพื้นที่อีกส่วนคือ แฮร์รอดส์ ซิกเนเจอร์ บูติค (Harrods Signature Boutique) ตั้งอยู่บริเวณโซนด้านหน้า 'ที รูม' จำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่เป็นซิกเนเจอร์ของแฮร์รอดส์ เช่น กระเป๋าถือ ตุ๊กตาหมี พวงกุญแจ เครื่องเขียน ชา แยมผลไม้ น้ำผึ้ง ฯลฯ

“ด้วยความที่อยู่วงการแฟชั่น ผมสังเกตว่าคนไทยตอนหลังจะนิยมไปทางยูโรเปียนมากกว่าอเมริกัน แม้กระทั่งการแต่งตัว แฟชั่นก็หนีไปทางยุโรปมาก เด็กไทยแต่งตัวแบบสปอร์ตน้อยลง ทุกคนจะเดรสอัพมากขึ้น มากกว่าชาติในเอเชียตอนนี้ ในอดีตครอบครัวคนไทยมักส่งลูกหลานไปเรียนที่อเมริกา แต่ตอนหลังสังเกตว่าส่งไปเรียนอังกฤษมาก ถ้าไลฟ์สไตล์ไปทางนั้น เอฟแอนด์บีก็คงเป็นไปตามนั้นด้วย เปรียบเทีบบชากับกาแฟ ชาดูหรูหรากว่า ก็เริ่มศึกษามากขึ้น บินไปดูทั่วโลก สุดท้ายก็มาถูกใจที่แฮร์รอดส์” คุณบุญชัย กล่าว

รวมทั้งการทำวิจัยเกี่ยวกับชื่อแฮร์รอดส์ในกลุ่มคนวัยทำงาน นิสิตนักศึกษา นักเรียน พบว่าชื่อนี้เป็นที่ยอมรับในความหรูหรามีคุณค่า ขณะเดียวกันด้วยความเป็นตำนานอายุนับร้อยปีแห่งอังกฤษทำให้ตัดสินใจและมั่นใจเดินหน้าธุรกิจนี้

และทำให้นักชิมไทยสัมผัสไลฟ์สไตล์อังกฤษขนานแท้โดยไม่ต้องเดินทางไปค่อนโลก


หมายเหตุ : Harrods Tea Room ตั้งอยู่ที่ชั้น G สยามพารากอน เปิดบริการ 10.00-22.00 น. โทร.0 2683 9300 instagram : Harrodsthailand

ภาพ : เอกรัตน์ ศักดิ์เพชร
ชมคลิปวิดีโอร้าน Harrods Tea Room คลิก http://www.youtube.com/watch?v=VnULembwqeQ