Pom Chan กับงานอินทีเรียเพื่ออยู่ในงานศิลป์

Pom Chan กับงานอินทีเรียเพื่ออยู่ในงานศิลป์

เมื่อนักวาดภาพประกอบในอังกฤษ ใช้ 'ของแต่งบ้าน' และรูปแบบ 'สถาปัตยกรรม' รวมกับ 'โทนสี' ทำงานออกแบบตกแต่งภายในห้องชุดคอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯ

Pom Chan (ปอม ชาน) เป็นสตรีนักวาดภาพประกอบ ใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เคยสร้างสรรค์ Advertorial ให้กับผู้ทรงอิทธิพลทางแฟชั่น มาร์ค เจคอบส์ (Marc Jacobs), เคยดีไซน์ลายบนรองเท้าให้กับแบรนด์ ไนกี้ (Nike), ภาพวาดบนฉากในห้างสรรพสินค้าเซลฟริเจส (Selfridges) ในลอนดอน, ออกแบบลายชุดและวาดกำแพงให้แบรนด์ท็อปช้อป(Top Shop)ในอังกฤษ, ออกแบบตัวอักษรให้ เดอะ นิวยอร์ก ไทม์ส (The New York Times) และแบรนด์ชุดชั้นใน ลา เพอร์ลา (La Perla), ดีไซน์ Lookbookให้แบรนด์คอนเวิร์ส, ดีไซน์เสื้อยืดให้แบรนด์ Adidas และมีงานแสดงที่ร้าน Adidas กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ฯลฯ


ล่าสุด เธอรับงาน ออกแบบและตกแต่งภายใน ให้กับ 'ห้องชุด' คอนโดมิเนียม Via 49 ของ บมจ.แสนสิริ ในซอยสุขุมวิท 49 กรุงเทพมหานคร จำนวน 2 ห้อง


“เนื่องจากคอนเซปต์อาคารเป็น ลิฟ อิน อะ เวิร์ค ออฟ อาร์ต (Live In a Work of Art) แสนสิริจึงอยากได้อาร์ติสมาทำงานนี้” ปอม ชาน หรือ ธัชมาพรรณ จันทร์จำรัสแสง กล่าวถึงที่มาของการร่วมงานกับ ‘แสนสิริ’


ชื่อ ปอม ชาน มาจากชื่อเล่นของเธอ รวมกับคำแรกของนามสกุล แต่ด้วยความที่ชาวตะวันตกออกเสียง “จันทร์” ไม่สะดวกเท่าเสียง “ชาน” เธอจึงใช้ชื่อ 'ปอม ชาน' เมื่อเริ่มต้นทำงานภาพประกอบในลอนดอนอย่างจริงจัง ธัชมาพรรณเล่าเหตุผลในการใช้ชื่อนี้


นักวาดภาพประกอบ ใช้ 'รายละเอียด' ของ สิ่งของแต่งบ้าน และรูปแบบ สถาปัตยกรรม รวมกับ โทนสี ในการออกแบบตกแต่งภายในครั้งนี้

“แสนสิริไม่ได้วางคอนเซปต์อะไร แค่บอกว่า ทำให้เป็นห้องของปอม ส่งแบบไปไม่มีการแก้แบบ ให้อิสระจริงๆ ไม่เหมือนลูกค้าที่แอบตีกรอบเรา” ปอม กล่าว


Via 49 เป็นคอนโดมิเนียม Low-rise พร้อมเข้าอยู่ มีทั้งหมด 8 ชั้น จำนวนห้องชุด 85 ยูนิต มีพื้นที่และผังห้องหลากหลาย ห้องชุดที่ ปอม ชาน ออกแบบและตกแต่งภายในมีด้วยกัน 2 ห้องชุด


ห้องชุดแรกมีพื้นที่ขนาด 45 ตารางเมตร 'ปอม' เลือกตกแต่งด้วยคอนเซปต์ บรุคลิน ลอฟท์ (Brooklyn Loft) ที่ดีไซน์ขึ้นให้เสมือนสตูดิโอของตัวเอง ห้องชุดที่สองมีพื้นที่ 75 ตารางเมตร ตกแต่งด้วยคอนเซปต์ อิงลิช ชิค (English Chic)


‘ของแต่งบ้าน’ ที่ใช้ตกแต่งทั้งสองห้องชุด เป็นการ มิกซ์ แอนด์ แมทช์ สิ่งของที่เธอเดินเลือกซื้อเองจาก ตลาดนัดมือสอง (Flea Market) ในกรุงลอนดอน กรุงปารีส กรุงอัมสเตอร์ดัม ตลาดดอกไม้โคลอมเบียมาร์เก็ต(ลอนดอน) ห้างลิเบอร์ตี้ ฯลฯ เข้ากับของสะสมส่วนตัวของเธอเอง และเดคเคอเรทีฟไอเทมส์สั่งทำใหม่บางชิ้น เพื่อให้มีสัดส่วนสมดุลกับขนาดห้อง ร่วมด้วยของตกแต่งที่หาซื้อได้ในประเทศไทย ผนวกกับ ลายเส้น อันเป็นเอกลักษณ์ของเธอเองที่สร้างสรรค์ขึ้นในรูปแบบต่างๆ ใช้ประโยชน์เป็นวอลล์เปเปอร์ ผ้าม่าน ผ้าบุเฟอร์นิเจอร์ เป็นลวดลายที่ได้แรงบันดาลใจจาก ‘ฝรั่งเศสตอนใต้’ ให้อารมณ์ทะเลและการท่องเที่ยว ตามงานอดิเรกที่เป็นไลฟ์สไตล์ที่เธอชื่นชอบ


ปอม ชาน พิสูจน์ให้เห็นห้องขนาด 45 ตารางเมตร หนึ่งห้องนอน หนึ่งห้องรับแขก หนึ่งห้องน้ำ สามารถออกแบบและตกแต่งให้มีประโยชน์ใช้สอยครบถ้วนลงตัว ทั้งแพนทรีทำครัว ห้องรับแขก-พักผ่อน พื้นที่ทำงาน


“เพราะห้องมีขนาด 45 ตารางเมตร ปอมไม่อยากทำให้มีบิวท์อินเยอะ ด้วยพื้นที่ขนาดนี้ การมีเฟอร์นิเจอร์ลอยตัว ทำให้เปลี่ยนห้องได้ง่าย” ปอม-ธัชมาพรรณ กล่าวจากนิสัยส่วนตัวที่มักเปลี่ยนห้องตามฤดูกาลปีละสองครั้ง โดยสลับห้องรับประทานอาหารกับห้องรับแขกซึ่งเป็นพื้นที่เปิด (open space) เชื่อมถึงกัน "เพราะคนเราถ้าอยู่นานๆ ก็เบื่อได้" เธอหมายถึงการหาแรงบันดาลใจให้ตัวเองด้วยวิธีหนึ่ง


“เช่นย้ายอาร์มแชร์ใกล้หน้าต่างสลับกับโต๊ะทำงาน หรือรายละเอียดเล็กๆ เช่น การมีกระดานดำอยู่ในห้องรับแขก ที่สามารถลบแล้วเขียนใหม่ได้” ปอม ยกตัวอย่าง ‘พื้นที่เปิด’ ในห้องขนาด 45 ตารางเมตรที่เธอออกแบบตกแต่งไว้

ปอม ชาน เล่าว่า คอนเซปต์ บรุคลิน ลอฟท์ ได้แรงบันดาลใจจากทริปที่เธอเดินทางไปนิวยอร์ก โทนห้องเป็นอารมณ์ผู้ชาย หรือผู้หญิงเท่ๆ ก็ได้ ที่ชอบของมิกซ์แอนด์แมตช์ เก่าผสมใหม่ ใช้งานไม้เยอะ แต่เป็นโทนไม้สีเข้ม เพื่อตัดกับพื้นห้องซึ่งเป็นไม้สีอ่อน และเฟอร์นิเจอร์ไม้ยังให้ความแข็งแรงทนทานอีกด้วย


“บรุคลิน คือ บริเวณที่อยู่อาศัยของศิลปิน (artist) ศิลปินส่วนมากออกจากเขตแมนฮัตตันกันหมดแล้ว เพราะแพง จะย้ายไปอยู่แถววิลเลียมสเบิร์ก(Williamsburg) บรุคลิน เวลาปอมไปนิวยอร์กก็ไปอยู่โซนนี้บ่อย อยากนำกลิ่นของสถานที่มา ถ้าให้เจ๋งต้องเป็นลอฟท์ แต่เพดานเราไม่ได้สูงหกเมตร ไม่งั้นเราจะมีบันได มีผนังอิฐดิบๆ เพราะตึกที่นั่นเป็นตึกแนวโรงงานเก่า แล้วเขาก็เปลี่ยนจากโรงงานมาเป็นที่อยู่อาศัย อารมณ์จริงๆ ของที่นั่นยังเป็นผนังอิฐ โครงเหล็ก บันไดเหล็กนอกตัวอาคาร และใช้เฟอร์นิเจอร์ไม้ แต่เราก็แก้ปัญหาและทำในสิ่งที่เราอยากทำได้ด้วย” ปอม ชาน กล่าว


ลายเส้น ซึ่งเพ้นท์เป็นคำว่า rire บนผนังหัวเตียงในห้องคอนเซปต์ ‘บรุคลิน ลอฟท์’ คือประสบการณ์ใหม่ของการวาดลายบนเท็กซ์เจอร์วัสดุ ไม้ ที่ 'ปอม ชาน' ทำเป็นครั้งแรกจากปกติที่เคยเพ้นท์แต่บนกระดาษและกำแพง


ขณะที่ห้องคอนเซปต์ อิงลิช ชิค ให้ความรู้สึกถึงความเป็นอังกฤษได้โดยไม่ต้องมีประติมากรรมบิ๊กเบนหรือธงชาติอังกฤษ แต่จะได้รับบรรยากาศความเป็นอังกฤษจาก 'รายละเอียด' รวมทั้ง พื้นห้อง ผนัง และ เพดาน


“ตอนแรกผนังห้องเป็นสีขาว ปอมก็คิด อะไรกันที่เป็นกลิ่นของอังกฤษ เราก็เดินดูร้านค้าและบ้านที่อังกฤษ จับได้ว่า การทำบัวบนผนัง แล้วทาสีเทาอมเขียว ตัดด้วยสีทองเล็กน้อย หรือทองแดง โครงเหล็ก นั่นคืออารมณ์อังกฤษ ถ้าเป็นสีขาวธรรมดาจะเป็นโอลด์แฟชั่น พอเป็นแบบนี้จะร่วมสมัยขึ้นมา...
การใช้สีโทนเทาตัดกับเฟอร์นิเจอร์สีสัน ทำให้เราดูร่วมสมัยขึ้น” ปอม ชาน ยกตัวอย่างงานตกแต่งที่ใช้ในห้องคอนเซปต์ ‘อิงลิช ชิค’ ที่เธอวางไว้


มีงานดีไซน์พิเศษเกี่ยวกับพื้นที่เด่นในห้องนี้หลายจุด เช่น โต๊ะกินข้าว-ชุดน้ำชา ถอดแรงบันดาลใจจากร้านอาหารและความชอบในการนั่งดื่มชาสังสรรค์กับเพื่อน


“โต๊ะกินข้าว ถ่ายรูปมาจากร้านที่ชอบในอังกฤษแล้วสั่งทำที่นี่(ไทย) อยากได้หน้าโต๊ะไม้หนาแบบนี้” ปอม ชาน เล่าและว่า ส่วนขาโต๊ะกลมสลักลายก็จ้างทำที่ประเทศไทยแล้วจึงนำมาประกอบเข้าด้วยกัน เช่นเดียวกับชุดน้ำชา จานวางชีส ผ้าสำหรับชุดน้ำชา ก็นำมาจากอังกฤษ แม้กระทั่งใบชายี่ห้อ ฟอร์ตนัมและเมซอง (Fortnum & Mason) ซึ่งเป็นซิกเนเจอร์ชาของอังกฤษ ไม่มีวางขายในซูเปอร์มาร์เก็ต ขายเฉพาะในร้านของเขาเองตรงพิกคาดิลลี เซอร์คัส ก็นำเข้ามาด้วย


ปอม ชาน สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี คณะมัณฑนศิลป์ สาขาออกแบบตกแต่งภายในจากมหาวิทยาลัยศิลปากร แต่ด้วยความที่รักการจับของสวยๆ มาวางรวมกัน ทำให้ตัดสินใจฝึกงานในตำแหน่ง กราฟิกดีไซเนอร์ ในบริษัทเอเยนซี่โฆษณา ก่อนเดินทางไปศึกษาต่อในสาขา FdA Graphic Design and communication อย่างจริงจังที่มหาวิทยาลัยลอนดอน คอลเลจ ออฟ คอมมูนิเคชั่นส์ (London College of Communications) ประเทศอังกฤษ ควบคู่ไปกับการฝึกงานทั้งที่อังกฤษและฮ่องกง จากนั้นจึงเริ่มต้นอาชีพ นักวาดภาพประกอบ ที่ประเทศอังกฤษ


“ที่อังกฤษ ทุกคนค่อยๆ ไต่ขั้นบันไดตามระบบ ใช้เวลาหลังเรียนจบ 2-3 ปีเริ่มเป็นที่รู้จักบ้าง” ปอม ชาน กล่าว

ปอม-ธัชมาพรรณ เล่าวิธีการประกอบอาชีพการเป็นนักวาดภาพประกอบในต่างประเทศว่า เธอมี ตัวแทน (agent) อยู่ที่อังกฤษ รัสเซีย ญี่ปุ่น เยอรมนี สหรัฐอเมริกา ทำหน้าที่นำผลงานไปเสนอกับลูกค้าแบรนด์ใหญ่ๆ


ขณะเดียวกันเธอเองก็มี ดรีม ลิสต์ หรือ ‘ลูกค้าในฝัน’ ให้ไว้กับเอเยนต์ โดยจะคุยกันก่อน เช่นปีนี้อยากทำงานแฟชั่นมากขึ้น ก็จะส่งลิสต์ให้เอเยนต์ที่นิวยอร์ก เอเยนต์จะติดต่อและนัดหมายบุคคลเหล่านั้นให้เราได้เข้าพบ การนัดหมายอาจมากถึง 25-30 ครั้ง ต่อการใช้เวลาอยู่ในนิวยอร์ก 5-6 วัน


“ปอมอยากไปเจอออฟฟิศเขา ถึงแม้เราไม่ได้งาน แต่อย่างน้อยเราได้ไปเปิดพอร์ตโฟลิโอ(portfolio)ให้เขาดู ลูกค้าทั้งหมดจะดูจากพอร์ตโฟลิโอและเว็บไซต์ จะไม่ดูจากสื่อออนไลน์อื่นๆ (เฟซบุ๊ค อินสตาแกรม) เพราะเขาต้องการเห็นงานจริง คุยเสร็จ บางรายให้งานเลย"


"พอดีเลย อยากได้งานคุณเอาไปทำปกซีดี จ้างเลย ขออาร์ตเวิร์คพรุ่งนี้" ปอม เล่าประสบการณ์ที่เคยเกิดขึ้นจากการเข้าพบลูกค้า


"พี่เพิ่งบริฟหนูวันนี้ เร็วไปไหมคะ" ปอมเล่าว่าเธอถามตัวเองในใจ


"แต่นั่นคือที่นิวยอร์ก ที่นิวยอร์กทำงานเป็นชั่วโมง ที่อังกฤษทำงานเป็นวัน ทุกอย่างเร็วมาก โดยเฉพาะการตอบอีเมล” ปอมบอกว่านี่คือความแตกต่างของอาชีพการทำงานออกแบบในต่างประเทศ


เป็นสิ่งหนึ่งที่คนทำงานออกแบบมืออาชีพต้องปรับตัว

หมายเหตุ : ชมภาพมากกว่านี้ได้ที่ fan page เซ็คชั่น กรุงเทพวันอาทิตย์ กรุงเทพธุรกิจ คลิก http://www.facebook.com/sundaybkk
ภาพ : ภักดี สุขเพิ่ม / www.pommepomme.com