พิพิธภัณฑ์ช่างฝีมือกุชชี่

พิพิธภัณฑ์ช่างฝีมือกุชชี่

'พิพิธภัณฑ์กุชชี่' พื้นที่รวมเรื่องราวเบื้องหลังงานออกแบบที่พลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์แฟชั่นโลกและลวดลายเอกลักษณ์อันเป็นมรดกของแบรนด์

สถาปัตยกรรมสามารถเล่าเรื่องยุคสมัยได้ แต่ แฟชั่น หรือการออกแบบเครื่องแต่งกาย ไม่เพียงแต่ 'เล่าเรื่อง' แต่ยังสามารถ 'สร้างเรื่องราว' ที่โลกสนใจไว้มากมายให้กับยุคสมัยได้ด้วย


28 กันยายน 2554 ถือเป็นจุดสูงสุดของปีแห่งกิจกรรมเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสครบรอบ 90 ปีของแฟชั่นแบรนด์เนมอิตาลีที่โลกจับตา กุชชี่ (Gucci) เนื่องจากเป็นวันเปิดตัวต่อสาธารณชนอย่างเป็นทางการของ กุชชี่ มูซีโอ (Gucci Museo) หรือ พิพิธภัณฑ์กุชชี่ สถานที่จัดแสดงผลงานออกแบบชิ้นสำคัญ ผลงานที่พลิกโฉมหน้าแฟชั่นโลก ผลงานซึ่งหาชมได้ยาก ผลงานซึ่งใครหลายคนอาจไม่เคยทราบว่ากุชชี่เคยสร้างสรรค์เอาไว้ แต่ละชิ้นบันทึกและแอบบอกเล่าเรื่องราวของยุคสมัยให้ผู้เข้าชมได้ตื่นตาและประทับใจกับความคิดสร้างสรรค์


กุชชี่ มูซีโอ ถือกำเนิดขึ้นจากความคิดของ ฟรีดา จิอานินี่ (Frida Giannini) ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ของกุชชี่คนล่าสุด


"นับตั้งแต่วันที่ฉันได้มาเยือนห้องเก็บผลงานเป็นครั้งแรก ในตอนที่ฉันร่วมงานกับกุชชี่เมื่อ 9 ปีก่อน ฉันก็รู้สึกผูกพันอย่างลึกซึ้งกับตำนานของแบรนด์ และต้องการเผยให้โลกเห็นถึงชิ้นงานอันมีค่า เพื่อเฉลิมฉลองให้กับเรื่องราวที่อยู่เบื้องหลังผลิตภัณฑ์และลวดลายอันเป็นเอกลักษณ์ของเรา" ฟรีดา จิอานินี่ กล่าวในวันเปิดพิพิธภัณฑ์กุชชี่


แบรนด์กุชชี่มีอายุครบ 90 ปีในปี 2011(พ.ศ.2554) 'ฟรีดา' รู้สึกได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่จะก่อตั้งพื้นที่ที่เป็นของกุชชี่เอง พื้นที่ซึ่งสมบัติอันล้ำค่าที่ซ่อนอยู่จะได้เผยต่อสายตาของสาธารณชนเป็นครั้งแรก


"ด้วยวิธีนี้ กุชชี่ มูซีโอ จะเป็นทั้งสถานที่สำหรับอนุรักษ์และเฉลิมฉลองห้วงเวลาสำคัญต่างๆ ในประวัติศาสตร์ของเรา รวมทั้งทำหน้าที่บอกเล่าถึงต้นกำเนิดพัฒนาการและอิทธิพลทางวัฒนธรรมอย่างเป็นทางการด้วย" ฟรีดา จิอานินี่ กล่าว


พิพิธภัณฑ์กุชชี่ หรือ กุชชี่ มูซีโอ มีทั้งหมด 3 ชั้น รวมพื้นที่ 1,715 ตารางเมตร ชั้นล่างและชั้นบนของอาคารเปิดให้สาธารณชนเข้าชมได้ ส่วนชั้นใต้ดินเป็นห้องนิรภัย กุชชี่ อาร์ไคฟส์ (Gucci Archive) รวบรวมผลงานจากคอลเลคชั่น เรดดี้ ทู แวร์(ready-to-wear) แอคเซสซอรี่ส์ ( Accessories) ข้าวของต่างๆ เอกสาร และภาพถ่ายที่รวบรวมไว้อย่างใส่ใจ แยกแยะเป็นหมวดหมู่ เก็บรักษาไว้เพื่อเป็นเครื่องบันทึกถึงจักรวาลแห่งความสร้างสรรค์และอิทธิพลทางวัฒนธรรมอันเป็นมรดกของแบรนด์


เริ่มกันที่ชั้นแรกที่เปิดให้เข้าชมได้ เรียกว่า ชั้นกราวนด์ (Ground) เมื่อเดินเข้าประตูพิพิธภัณฑ์ ทางซ้ายมือเป็นทางเดินที่นำไปสู่ ร้านหนังสือ เดอะ บุ๊คสโตร์ (The Bookstore) จำหน่ายหนังสือในกลุ่มสถาปัตยกรรม แฟชั่น ภาพถ่าย ศิลปะ และงานดีไซน์ แต่ละเล่มล้วนถูกตาต้องใจคนรักงานออกแบบ เพราะกุชชี่บริหารร้านหนังสือแห่งนี้ร่วมกับ ริซโซลี (Rizzoli) ร้านหนังสือใหญ่ที่มีสาขาในนิวยอร์ก ลอนดอน มิลาน และสาขาใหม่ล่าสุดในฟลอเรนซ์ (Florence) ภายในพื้นที่เดียวกันนี้มี 'ของที่ระลึก' จำหน่ายด้วย เช่น เคสไอโฟนและไอแพด เทียนหอม ที่คั่นหนังสือ กระเป๋าทรงโท้ต โปสการ์ด การ์ดอวยพรภาพจตุรัส ซินญอเรีย (Signoria) แบบ 3 มิติ โปสการ์ดผลิตจากหนังสัตว์ เครื่องเขียนลักซ์ชัวรี่ สีเทียน Carand'Ache และช็อกโกแลต สินค้าทั้งหมดล้วนประทับตรา กุชชี่ มูซีโอ และมีจำหน่ายที่นี่เพียงที่เดียว


ถัดจาก 'เดอะ บุ๊คสโตร์' เข้าไป เป็นที่ตั้งของ กุชชี่ คาเฟ่ (Gucci Caffe) พื้นที่ขนาดย่อม บริการเครื่องดื่มและอาหารเพื่อสุขภาพหลากหลายที่ใช้วัตถุดิบออร์แกนิคท้องถิ่น ใกล้กันเป็น ไอคอน สโตร์ (Icon Store) จำหน่ายสินค้าเอ็กซ์คลูซีฟ ไอคอน คอลเลคชั่น (Exclusive Icon Collection) คือจัดทำพิเศษเพื่อจำหน่ายที่นี่แห่งเดียวเช่นกัน เช่น กระเป๋า the New Jackie, the New Bamboo, the Stirrup, the Horsebit Chain รวมไปถึงรองเท้าหนัง the Horsebit Moccasin และผ้าพันคอพิมพ์ลาย ฟลอร่า สคาร์ฟ (Flora Scarf) อันโด่งดัง ทั้งหมดออกแบบโดย ฟรีดา จิอานินี่ (Giannini) โดยทำขึ้นเป็นสีพิเศษ


ห้องนิทรรศการห้องแรก อยู่ทางขวามือของประตูเข้าพิพิธภัณฑ์ (ตรงข้ามกับ 'เดอะ บุ๊คสโตร์') ตั้งชื่อว่า ห้อง การเดินทาง (Travel) พาผู้มาเยือนย้อนเวลากลับไปในปีค.ศ.1921 ปีที่ มร.กุชชิโอ กุชชี่ (Guccio Gucci) เริ่มต้นธุรกิจทำกระเป๋าเดินทางแบรนด์กุชชี่ ที่เมืองฟลอเรนซ์ ผลงานการออกแบบชิ้นสำคัญ และลายพิมพ์ที่เป็นสัญลักษณ์ลายแรกของแบรนด์


ห้อง ‘การเดินทาง’ เล่าว่า ระหว่างปีค.ศ.1935-1936 สันนิบาตชาติมีมติคว่ำบาตรอิตาลี กุชชี่จึงต้องหาวัสดุอื่นเพิ่มเติมจากหนังแท้นำเข้า โดยพัฒนา คานาปา (Canapa) หรือ ผ้าป่านทอพิเศษจากเมืองเนเปิล พร้อมออกแบบลายพิมพ์เป็นลายเพชรเชื่อมต่อกันเป็นโยงใยสีน้ำตาลเข้มบนผืนผ้าสีแทน ซึ่งผ้าคานาปาพร้อมลายพิมพ์นี้เองที่เป็นวัสดุทำกระเป๋าเดินทางใบแรกของกุชชี่ และเรียกลายพิมพ์ลายนี้ว่าลาย ไดมอนด์ (Diamond) ซึ่งเป็นลายสัญลักษณ์ลายแรกของแบรนด์


กระเป๋าชิ้นเก่าแก่ที่สุดในที่พิพิธภัณฑ์นี้ ทำขึ้นในยุคเธอร์ตีส์(30s)เช่นเดียวกัน เริ่มแรกเป็นสีขาว ทำจากไม้เคลือบหนังชั้นบน กระเป๋าใบนี้เป็นใบเดียวที่ใช้ หนังม้าลาย และหาไม่ได้อีกแล้วในสมัยนี้ เพราะม้าลายได้รับการอนุรักษ์แล้ว


ธุรกิจผลิตหนังสัตว์เริ่มฟื้นตัวอีกครั้งหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ราวปีค.ศ.1947 กุชชี่ลองนำ หนังหมูป่า มาปรับใช้ และกลายเป็นวัสดุที่เป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ในเวลาต่อมา ลักษณะเด่นของ 'หนังหมูป่า' คือมีจุดเล็กๆ สองจุดคู่กันเรียงบนกระเป๋า อันเนื่องมาจากลักษณะรูขุมขนของหมู่ป่านั่นเอง รวมทั้ง กระเป๋าหูหิ้วไม้ไผ่ (Bamboo Bag) ที่ได้แรงบันดาลใจจากรูปทรงอานม้าก็ผลิตขึ้นในช่วงเวลานี้ อีกสี่ปีต่อมากุชชี่เปิดบูติคแรกที่มิลาน ช่วงนี้เองที่ แถบเขียวคาดแดง กลายเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของแบรนด์


แต่ถ้าจะพูดถึงเครื่องหนังซึ่งสร้างให้ชื่อเสียงกุชชี่ขยายไปสู่ระดับนานาชาติในยุคฟิฟตีส์(50s) ซิกส์ตีส์(60s) และเซเวนตีส์(70s) ต้องยกให้เครื่องหนังชุด กระเป๋าเดินทางและอุปกรณ์การเดินทาง (Califeria e Articoli da Viaggio) หรือกระเป๋าเดินทางที่มีลักษณะคล้าย 'หีบ' แอคเซสซอรี่ส์และของใช้ต่างๆ ที่สร้างมาเพื่อนักเดินทางนานาชาติ ซึ่งมร.กุชชิโอได้แรงบันดาลใจมาจากกระเป๋าเดินทางมากมายที่เขาเห็นระหว่างทำงานเป็นเด็กยกกระเป๋าที่โรงแรม เดอะ ซาวอย ลอนดอน (London’s Savoy Hotel)ในปีค.ศ.1897 ก่อนเดินทางกลับฟลอเรนซ์บ้านเกิดในปีค.ศ.1902


ผลงานออกแบบอีกชิ้นที่น่าตื่นตาตื่นใจในห้อง ‘การเดินทาง’ คือการทำงานร่วมกันระหว่างกุชชี่และ คาดิลแลค (Cadillac) รถยนต์คาดิลแลค รุ่น Seville ปี 1979 ออกแบบและตกแต่งโดยแบรนด์กุชชี่ทั้งภายนอกและภายใน ผู้มีโอกาสครอบครอง 'คาดิลแลค กุชชี่' มีเพียง 200 คนเท่านั้น เพราะผลิตจำนวนจำกัด 200 คันทั่วโลกในปีนั้น


ออกจากห้อง ‘การเดินทาง’ เดินขึ้นบันไดไปชั้น 1 แบ่งพื้นที่ใช้สอยเป็น พื้นที่จัดแสดงศิลปะร่วมสมัย (Contemporary Art Space) หรือห้องนิทรรศการหมุนเวียน ขณะนี้จัดแสดงงาน ซินดี้ เชอร์แมน (Cindy Sherman) ช่างภาพชาวอเมริกัน งานศิลปะถ่ายรูปแสดงอารมณ์ในบทบาทและตัวละครต่างๆ ซึ่งซินดี้ เชอร์แมนออกแบบตัวละครเอง แต่งหน้าแต่งตัวและถ่ายรูปตัวเอง ซึ่งได้รับความนิยมจากศิลปินมากมายในยุคเซเว่นตีส์(70s) ภาพแต่ละเซตของซินดี้มีประมาณ 200 รูป เมื่อนำมาเรียงต่อกันจะเหมือนเรื่องราวเรื่องหนึ่ง


ห้องขนาดย่อมด้านข้างเป็น ห้องฉายวิดีโอและจัดแสดงภาพยนตร์ จัดฉายภาพยนตร์ดั้งเดิมและร่วมสมัย รวมไปถึงภาพยนตร์ซึ่งกุชชี่ร่วมมือกับ มูลนิธิเดอะ ฟิล์ม ฟาวเดชั่น (The Film Foundation) ของ มาร์ติน สกอร์เซซี (Martin Scorsese) ช่วยซ่อมแซมฟิล์มให้กลับมาอยู่ในสภาพดีอีกครั้ง และจัดฉายสารคดีซึ่งกุชชี่เป็นผู้สนับสนุนเงินทุน ผ่านทางกองทุน กุชชี่ ไทรบีค่า ด็อคคิวเมนทารี่ ฟันด์ (Gucci Tribeca Documentary Fund)


ส่วนถัดมาคือห้องบันทึกอีกหนึ่งประวัติศาสตร์ของกุชชี่ซึ่งอุทิศให้กับการนำเสนอธีมและเอกลักษณ์อื่นๆ ของกุชชี่ ตั้งแต่ โลกแห่งบุปผา (Flora World) หรือห้องแสดงลวดลายอมตะที่ผ่านการนำมาตีความใหม่นับครั้งไม่ถ้วน และนำไปเป็นองค์ประกอบในสินค้าหลายต่อหลายชิ้น เช่น ลายดอกไม้ ที่ มร.วิคตอริโอ แอคคอร์นิโร (Vittorio Accornero) สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อพิมพ์ลงบนผ้าไหม ใช้ทำ 'ผ้าพันคอ' ถวาย เจ้าหญิงเกรซ เคลลี่ แห่งโมนาโก เมื่อครั้งมีหมายกำหนดการเสด็จเยือนร้านกุชชี่ มิลาน ในปีค.ศ.1966 เรียกลายนี้ว่าลาย Flora และฟรีดา จิอานินี่ นำลายฟลอร่านี้มาทำใหม่เป็นของแต่งบ้าน ชุดน้ำชา จาน และกระเป๋า ในปีค.ศ.2005


เชื่อมต่อกันคือห้องแสดง กระเป๋าถือ (Handbags) รวบรวมงานฝีมือของช่างกระเป๋ารุ่นประวัติศาสตร์หลายรุ่นที่เป็นวัตถุแห่งยุคสมัยที่ผู้คนยังคงอยากครอบครองมาจนถึงทุกวันนี้ เช่น กระเป๋าหูหิ้วไม้ไผ่ (Bamboo Bag)


กระเป๋าหูหิ้วไม้ไผ่ ถือกำเนิดขึ้นในช่วงปลายทศววรษที่ 1940 เนื่องจากกระแสแฟชั่นตะวันออกที่มาแรงในขณะนั้น หูหิ้วกระเป๋าทำจาก ‘รากไม้ไผ่’ นำเข้าจากจีนและญี่ปุ่น ส่วนที่ ‘ลงยา’ ทำจากยางไม้ที่นำเข้าจาก ประเทศไทย รูปทรงกระเป๋าได้รับแรงบันดาลใจจากด้านข้างของอานม้า ที่จับกระเป๋าตกแต่งรูปและสีด้วยความร้อน กระเป๋าไม้ไผ่จึงดูโดดเด่นและเป็นที่ชื่นชอบของคนดังมากมายในยุคนั้น สมเด็จพระราชินี ฟิดีริค่า (Federica) แห่งประเทศกรีซ, เจ้าหญิงเกรซ เคลลี แห่งโมนาโก, เอลิซาเบธ เทย์เลอร์, เดโบราห์ เคอร์ รวมถึงผู้กำกับภาพยนต์ ไมเคิลแอนจิโล่ แอนโทนิโอนี่ (Michelangelo Antonioni) ที่ใช้เป็นกระเป๋าประกอบฉากหลายครั้งในภาพยนตร์ของเขา กลายเป็นอีกหนึ่งตำนานแห่งความทรงจำบนหน้าประวัติศาสตร์ของกุชชี่


ปีค.ศ.1961 กระเป๋าที่ต่อมาเป็นที่รู้จักในชื่อ แจ๊คกี้ โอ (Jackie O) เปิดตัวครั้งแรกในปีนี้ และในช่วงเวลานี้เช่นกันที่โลโก้ตัวอักษรจีคู่ หรือ ดับเบิล จี (GG) ได้รับการนำไปประดับบนผ้าแคนวาส บนกระเป๋า เครื่องหนังชิ้นเล็ก กระเป๋าเดินทาง และเสื้อผ้าโมเดลแรกๆ ของแบรนด์


ทะลุถึงกันคือห้อง ราตรี (Evening) ห้องนี้เผยให้เห็นถึงภาพฝันอันงดงามของชุดราตรีและมนต์เสน่ห์ของชุดราตรีในงานพรมแดงที่เหล่าคนดัง เบลค ไลฟ์ลี คาเมรอน ดิแอซ ซัลมา ฮาเย็ค เป็นอาทิ สวมใส่ในค่ำคืนทรงคุณค่า


จบชั้นที่ 1 ด้วยห้องแสดงสินค้า เลอค่า (Precious) จัดแสดงกระเป๋าคลัทช์ที่โดดเด่นและชิ้นงานหายากอื่นๆ


เดินต่อไปยังชั้น 2 ห้องนิทรรศการถาวรจัดแสดงในธีม หลงใหลในโลโก้(Logomania) พื้นที่เก็บบันทึกพัฒนาการของลายพิมพ์ ดับเบิล จี (Double G) ที่กลายมาเป็นสัญลักษณ์แทนคำว่า “ผลิตในอิตาลี”


ธีมสุดท้าย ไลฟ์สไตล์(Lifestyle) และ กีฬา (Sport) เติมเต็มการเดินทางของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ให้สมบูรณ์ด้วยสัญลักษณ์และผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ที่ได้แรงบันดาลใจจากโลกของกีฬาและการพักผ่อน โดยการนำรายละเอียดของอุปกรณ์กีฬามาเป็นแรงบันดาลใจในการนำเสนอสินค้าไลฟ์สไตล์ เช่น ถุงกอล์ฟ จักรยาน เกม ไพ่ กีตาร์ หัวเข็มขัดต่างๆ บัคเคิลรองเท้า


ส่วนกระเป๋าลายสีเขียวและแดงสุดคลาสสิกที่คุ้นตากันดี มร.กุชชิโอ กุชชี่ ได้รับแรงบันดาลใจจากความหลงใหลในการขี่ม้า และท้ายสุดก็ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของแบรนด์กุชชี่ในเวลาต่อมา


กุชชี่ มูซีโอ หรือ พิพิธภัณฑ์กุชชี่ ตั้งอยู่ภายในพระราชวัง พาลาซโซ่ เดลล่า เมอเคนเซีย (Palazzo della Mercanzia) ณ จตุรัส เปียซซ่า ซินญอเรีย (Pizzaria Signoria )ในกรุงฟลอเรนซ์ เปิดให้สาธารณชนเข้าชมและเปิดทำการตลอดทั้งปี 10.00 - 20.00 น. ค่าเข้าชมราคา 6 ยูโร เงินรายได้ 50% ของค่าเข้าชม กุชชี่มอบให้กับเทศบาลเมืองฟลอเรนซ์เพื่ออนุรักษ์และซ่อมแซมงานศิลปะอันทรงค่าของเมือง ส่วนเดอะ บุ๊คสโตร์ และคาเฟ เปิดบริการ 10.00-23.00 น. คลิก guccimuseo.com


ยังมีโฉมหน้าประวัติศาสตร์แฟชั่นอีกมากมายให้ค้นหา ณ สถานที่แห่งนี้

หมายเหตุ : ชมภาพมากกว่านี้ได้ที่ fan page เซ็คชั่น กรุงเทพวันอาทิตย์ กรุงเทพธุรกิจ คลิก http://www.facebook.com/sundaybkk