เจาะกฎ ‘PSR’ ทำไมเอฟเวอร์ตันโดนตัดแต้ม 2 รอบแต่แมนฯ ซิตียังไม่โดนสักที?

เจาะกฎ ‘PSR’ ทำไมเอฟเวอร์ตันโดนตัดแต้ม 2 รอบแต่แมนฯ ซิตียังไม่โดนสักที?

โค้งสุดท้ายวัดใจว่าใครจะไปใครจะอยู่ พรีเมียร์ลีก มีคำสั่งลงโทษทีม “ทอฟฟี่สีน้ำเงิน” เอฟเวอร์ตัน ที่กระทำผิดกฎทางการเงินที่เรียกว่า “Profit and sustainability Rule” (PSR) ด้วยการตัดแต้ม 2 คะแนน ทำให้อันดับหล่นลงไปอยู่ที่ 16 และอยู่เหนือโซนตกชั้นเพียงแค่ 2 แต้มเท่านั้น

Key Points

  • กฎ PSR ของพรีเมียร์ลีก (ซึ่งก็จะไม่เหมือนกับ EFL อีก) ที่เริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 2013 ในชื่อเดิม FFP นั้นหากสรุปให้เข้าใจง่ายที่สุด คือ “อย่าขาดทุนเกินกว่า 105 ล้านปอนด์ในช่วงเวลา 3 ฤดูกาล”
  • เอฟเวอร์ตันโดนลงโทษจากความผิดเดิม (2021-22) ด้วยการตัด 10 แต้มก่อนจะอุทธรณ์ได้เหลือแค่ 6 แต้ม จึงโดนลงโทษจากความผิดใหม่ในการตรวจสอบของฤดูกาลนี้ (นับถึงจบ 2022-23) ที่มีตัวเลขการขาดทุน 16.6 ล้านปอนด์ หรือคิดเป็น 15.8 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่น็อตติงแฮม ฟอเรสต์ก็โดนตัดไป 4 แต้มเหมือนกัน
  • ที่สำคัญมากๆคือกรณีของเอฟเวอร์ตันกับแมนฯ ซิตี้ เป็น “คนละเรื่อง” โดยของเอฟเวอร์ตันเป็นเรื่องของการขาดทุนสะสมตามความผิดของกฎ PSR ในขณะที่แมนฯ ซิตี้ สิ่งที่พวกเขาต้องเผชิญคือเรื่องของการปลอมแปลงเอกสาร ทำข้อมูลใหม่ ไปจนถึงกระบวนการหลบเลี่ยงความผิดเรื่องเส้นทางทางการเงิน

 

การลงโทษครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 2 แล้วที่ เอฟเวอร์ตัน ต้องโดน พรีเมียร์ลีก ลงดาบ หลังจากที่ก่อนหน้านี้เคยโดนสั่งลงโทษปรับถึง 10 แต้มด้วยกัน ก่อนที่สุดท้ายจะยื่นอุทธรณ์สำเร็จทำให้โดนปรับเหลือเพียงแค่ 6 แต้ม ทำให้ทีมจากเมอร์ซีย์ไซด์ที่ไม่เคยตกชั้นจากระดับดิวิชั่นสูงสุดมายาวนานถึง 71 ปีโดนปรับไปแล้วถึง 8 คะแนนด้วยกัน

ต่อเรื่องนี้นอกเหนือจากคำถามถึง บทลงโทษพรีเมียร์ลีก ที่มีต่อเอฟเวอร์ตันที่มีการลงดาบถึง 2 ครั้งในฤดูกาลเดียว

ความยุติธรรมมีอยู่จริงไหมในพรีเมียร์ลีก?

รู้จักกฎ PSR

ก่อนอื่นต้องว่ากันถึงเรื่องของกฎ “Profit and Sustainability” หรือเรียกกันสั้นๆว่า “PSR” ซึ่งหลายคนอาจจะสงสัยว่ากฎนี้มาจากไหนทำไมไม่เคยได้ยินที่ไหนมาก่อน (จนกระทั่งมีการลงโทษเอฟเวอร์ตันเป็นสโมสรแรก)

 

เจาะกฎ ‘PSR’ ทำไมเอฟเวอร์ตันโดนตัดแต้ม 2 รอบแต่แมนฯ ซิตียังไม่โดนสักที?

จริงๆแล้ว กฎ PSR นี้ก็คือกฎการเงินอันโด่งดัง Financial Fair Play หรือ “FFP” ที่คุ้นเคยกันเป็นอย่างดีนั่นเอง เพียงแต่พรีเมียร์ลีกมีการเปลี่ยนแปลงชื่อใหม่ให้สอดคล้องกับทางด้านองค์กรใหญ่อย่างยูเอฟา (UEFA) ที่มีการเปลี่ยนชื่อเป็น Financial Sustainability

ทั้งนี้กฎการเงินในแต่ละที่จะมีรายละเอียดที่แตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นของฝั่งยูเอฟาเอง หรือฝั่งของประเทศสมาชิกที่จะมีรายละเอียดแตกต่างกันออกไป ทำให้กฎในอังกฤษ จะไม่เหมือนกับสเปน, อิตาลี, เยอรมนี หรือฝรั่งเศส

สำหรับกฎ PSR ของพรีเมียร์ลีก (ซึ่งก็จะไม่เหมือนกับ EFL อีก) ที่เริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 2013 ในชื่อเดิม FFP นั้นหากสรุปให้เข้าใจง่ายที่สุด สามารถสรุปให้จบเพียงแค่ประโยคเดียว

“อย่าขาดทุนเกินกว่า 105 ล้านปอนด์ในช่วงเวลา 3 ฤดูกาล”

อย่างไรก็ดีในรายละเอียดปลีกย่อยแล้วมีความสลับซับซ้อนอยู่พอสมควร เช่น จริงๆแล้วสโมสรได้รับอนุญาตให้ขาดทุนได้ไม่เกินปีละ 5 ล้านปอนด์ หรือเท่ากับจะขาดทุนได้ไม่เกิน 15 ล้านปอนด์สำหรับ “รายจ่าย” ในเรื่องของค่าตัวนักฟุตบอลในการย้ายทีม (Transfer fees)

ส่วนที่เหลืออีกปีละ 30 ล้านปอนด์ จะต้องมีการการันตีจากเจ้าของสโมสรผ่านการซื้อหุ้นของตัวเองในรูปแบบ “Secure funding”

นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดในเรื่องของรายจ่ายที่จะนำมาใช้หักลบได้ เช่น เรื่องการลงทุนในระบบเยาวชนอคาเดมีหรืออื่นๆ เพียงแต่โดยสรุปแล้วห้ามไม่ให้ขาดทุนรวมเกิน 105 ล้านปอนด์ในระยะเวลา 3 ปี

 

ปัญหานั้นอยู่ที่ตัวเลข 105 ล้านปอนด์นี่แหละ!

ความผิดเราเท่าขุนเขา

สำหรับบทลงโทษของเอฟเวอร์ตันที่โดนลงดาบถึง 2 ครั้งในฤดูกาลนี้ถือเป็นกรณีพิเศษ (ที่แฟนทอฟฟี่ไม่เห็นจะอยากได้)

ที่มาที่ไปคือเอฟเวอร์ตันถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนเกี่ยวกับการกระทำผิดกฎ PSR มาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2023 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลมาจากการขาดทุนสะสม 3 ฤดูกาลนับจนถึงจบฤดูกาล 2021-22

เจาะกฎ ‘PSR’ ทำไมเอฟเวอร์ตันโดนตัดแต้ม 2 รอบแต่แมนฯ ซิตียังไม่โดนสักที?

แต่เนื่องจากไม่เคยมีการสอบสวนในลักษณะนี้มาก่อนในพรีเมียร์ลีกทำให้กระบวนการมีความล่าช้า สุดท้ายแล้วเอฟเวอร์ตันจึงรอดตัวจากฤดูกาลที่แล้วไม่โดนบทลงโทษใดๆ (ในขณะที่เลสเตอร์, ลีดส์​ ยูไนเต็ด และเซาแธมป์ตันต้องตกชั้น) อันมีผลทำให้พรีเมียร์ลีกเร่งรัดกระบวนการพิจารณาคดีเรื่องนี้ใหม่ ที่เริ่มตั้งแต่ฤดูกาลนี้ว่า “จะต้องตัดสินให้จบภายในฤดูกาลเดียว ไม่ข้ามไปฤดูกาลอื่นเด็ดขาด”

ดังนั้นการที่เอฟเวอร์ตันที่โดนลงโทษจากความผิดเดิม (2021-22) ด้วยการตัด 10 แต้มก่อนจะอุทธรณ์ได้เหลือแค่ 6 แต้ม จึงโดนลงโทษจากความผิดใหม่ในการตรวจสอบของฤดูกาลนี้ (นับถึงจบ 2022-23) ที่มีตัวเลขการขาดทุน 16.6 ล้านปอนด์ หรือคิดเป็น 15.8 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ น็อตติงแฮม ฟอเรสต์ ก็โดนตัดไป 4 แต้มเหมือนกัน

อย่างไรก็ดีเอฟเวอร์ตันยังมีประเด็นต้องสะสางกับพรีเมียร์ลีกสำหรับบทลงโทษของรอบที่ 2 โดยนอกจากจะเตรียมยื่นอุทธรณ์สำหรับการลงโทษตัด 2 แต้ม ซึ่งในความรู้สึกของสโมสรแล้วคิดว่าตัดแค่แต้มเดียวก็เพียงพอแล้ว โดยการอุทธรณ์จะรู้ผลในช่วงสุดท้ายของฤดูกาลนี้

ยังมีเรื่องตัวเลขบางส่วนที่ต้องโต้แย้งกันคือตัวเลขการก่อสร้างสนามแห่งใหม่ของสโมสรที่เอฟเวอร์ตันมองว่าไม่ควรนำมานับว่าเป็นการขาดทุน แต่พรีเมียร์ลีกมองว่าต้องนับตามกฎที่วางไว้ ซึ่งตรงจุดนี้คาดว่าจะตัดสินไม่จบทันฤดูกาลนี้ และจะนำไปตัดสินในฤดูกาลหน้า​ ซึ่งหมายถึงมีโอกาสที่เอฟเวอร์ตันจะโดนลงโทษอีกในฤดูกาลหน้า

แต่ในเวลาเดียวกันก็มีการวิพากษ์ถึงจำนวนตัวเลขขาดทุนสะสม 105 ล้านปอนด์ ซึ่งเป็นกฎที่ตั้งมาตั้งแต่ปี 2013 ว่า “ล้าสมัย” เกินไปหรือไม่ เพราะปัจจุบันมูลค่าของนักฟุตบอล ค่าเหนื่อย ไปจนถึงการลงทุนต่างๆ

ในเกมลูกหนังขยับขึ้นตามเงินเฟ้อโลกไปไกลแล้ว (และนั่นคือเหตุผลที่ทำไมก่อนหน้านี้ไม่มีสโมสรไหนเจอกฎนี้เล่นงาน แต่เพิ่งมีในตอนนี้)

พรีเมียร์ลีกรับปากว่าจะมีการพิจารณา “อัพเดต” กฎใหม่แต่จะเริ่มในฤดูกาลหน้า (2024-25)

ว่าแต่แล้วแมนฯ ซิตี้กับ 115 ข้อหาของพวกเขาล่ะ?

 

แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ต่างกรรมต่างวาระ

จริงๆเรื่องของเอฟเวอร์ตันที่โดนลงโทษถึง 2 ครั้งจะไม่เป็นปัญหาอะไรเลยหากว่าพรีเมียร์ลีกจะมีความชัดเจนในเรื่องบทลงโทษของ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ บ้าง

นั่นเพราะเป็นเวลามากกว่า 1 ปี 2 เดือนแล้วนับจากที่มีการประกาศตั้งข้อหาความผิดทางการเงินของทีม “เรือใบสีฟ้า” จำนวนมากถึง 115 ข้อหา (ไม่นับช่วงเวลาอีกเกือบ 4 ปีที่ใช้ในการสืบสวนการกระทำผิด) โดยที่ไม่มีความคืบหน้าใดๆที่สามารถตอบต่อสังคมได้

ต่อประเด็นนี้ อย่างแรกที่ต้องให้ความยุติธรรมกับพรีเมียร์ลีกคือ จำนวนความผิดของแมนฯ ซิตี้ ซึ่งเป็นการสอบสวนย้อนหลังตั้งแต่ปี 2008-2018 นั้นมีจำนวนมากถึง 115 กระทงด้วยกัน

ถ้ามองว่าแค่ความผิดของเอฟเวอร์ตันเรื่องเดียวยังใช้เวลาหลายเดือนทั้งในการพิจารณาและการอุทธรณ์แล้ว 115 ข้อหาของแมนฯ ซิตี้ย่อมต้องการเวลามากกว่ามากสำหรับกระบวนการไต่สวน

อย่างต่อมาคือพรีเมียร์ลีกไม่ได้สอบสวนทั้งหมดเอง แต่ได้แต่งตั้งคณะกรรมการอิสระเข้ามาตรวจสอบเพื่อความโปร่งใส และมีความพยายามในการเร่งรัดกระบวนการให้มีความรวดเร็วขึ้น เพียงแต่ย้อนกลับไปที่จำนวนข้อหาทั้งหมดก็ต้องใช้เวลาอยู่ดี

หวังใจกันว่าอย่างเร็วที่สุดเราอาจจะได้ความคืบหน้าเกี่ยวกับเรื่องนี้ภายในปลายปีนี้หรืออย่างช้าภายในปีหน้า

อย่างต่อมาที่สำคัญมากๆคือกรณีของเอฟเวอร์ตันกับแมนฯ ซิตี้ เป็น “คนละเรื่อง”

ของเอฟเวอร์ตันเป็นเรื่องของการขาดทุนสะสมตามความผิดของกฎ PSR ในขณะที่แมนฯ ซิตี้ สิ่งที่พวกเขาต้องเผชิญคือเรื่องของการปลอมแปลงเอกสาร ทำข้อมูลใหม่ ไปจนถึงกระบวนการหลบเลี่ยงความผิดเรื่องเส้นทางทางการเงิน ซึ่งเป็นผลจากการแฮ็กข้อมูลเปิดโปงครั้งประวัติศาสตร์ของวงการฟุตบอลที่ชื่อว่า Football Leaks ในปี 2018

 

เปรียบให้ง่ายก็เหมือนคดีแพ่งกับคดีอาญา มีกระบวนการพิจารณาที่แตกต่างกันออกไป

 

สุดท้ายคือแมนฯ ซิตี้ ไม่เคยให้ความร่วมมือใดๆกับพรีเมียร์ลีกเหมือนที่เอฟเวอร์ตันทำ ไม่มีการส่งมอบเอกสาร ไม่ตอบคำถาม ไม่อะไรทั้งนั้น มิหนำซ้ำยังจ้างทีมทนายความระดับโลกที่พร้อมต่อสู้ทางกฎหมายกับพรีเมียร์ลีกอย่างเข้มข้น

 

แม้แต่คำพิพากษาความผิดของเอฟเวอร์ตันและฟอเรสต์เอง ทีมทนายของแมนฯ ซิตี้ ก็ได้มีการตรวจสำนวนอย่างละเอียดเพื่อจะหาช่องโหว่ที่จะโต้กลับด้วย

 

นี่คือเหตุผลที่ทำให้จนถึงตอนนี้แมนฯ ซิตี้ยังรอดตัวไม่โดนบทลงโทษใดๆในเวลานี้ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับสิ่งที่มีการพูดกันว่า “คนจนมีสิทธิ์ไหมครับ” แต่อย่างใด เพราะต่อให้เอฟเวอร์ตันรวยไม่เท่าแต่ถ้าบริหารดีไม่ขาดทุนก็ไม่มีความผิด

 

สิ่งที่แฟนฟุตบอลทุกคน (ยกเว้นแฟนเรือใบ) ต้องภาวนาคือขอให้คณะกรรมการอิสระที่พรีเมียร์ลีกแต่งตั้ง ทำหน้าที่อย่างซื่อสัตย์ตรงไปตรงมาและเด็ดขาดมากพอที่จะชี้ความผิดที่เหมาะสมกับผลของการกระทำ

 

ถ้าบทลงโทษนั้นยุติธรรมพอ ต่อให้ใช้เวลานานแค่ไหนก็คุ้มค่าที่จะรอ เพราะจะชำระให้วงการฟุตบอลอังกฤษกลับมาสะอาดอีกครั้ง

 

 

 

อ้างอิง