FACT ก่อนเริ่ม FACT หลังเสร็จ | บวร ปภัสราทร

FACT ก่อนเริ่ม FACT หลังเสร็จ | บวร ปภัสราทร

ทำงานเหนื่อยแทบตาย แต่งานเสร็จแล้วถูกตำหนิว่าผลงานไม่ได้เรื่อง คงไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น ถ้าอยากทำงานที่ไม่ได้หนักหนาเท่ากับที่เคยทุ่มเทลงไป แต่งานเสร็จเมื่อใด คำชมมักจะตามมาจากลูกพี่เสมอ แนะนำให้ลองทำ “FACT ก่อนเริ่ม FACT หลังเสร็จ” ดูก่อน

หลักการคือคิดเรื่องสำคัญ 4 เรื่อง ก่อนที่จะทำงานใดๆ และเมื่อทำงานนั้นสำเร็จลงไปแล้ว ก็ย้อนกลับมาทบทวนความสำเร็จของงานที่ได้ทำไปนั้นใน 4 เรื่องนั้นอีกรอบ ก่อนที่จะส่งมอบงานนั้นออกไป

 FACT เป็นคำย่อของ F-Frame A-Activity C-Ckecking และ T-Target ซึ่งดัดแปลงมาจาก Plan-Do-Check-Act แต่ปฏิบัติได้ตรงกับงานที่ทำมากขึ้น ผลงานมีประสิทธิผลเพิ่มมากขึ้น

หมายความว่า ผลงานที่เกิดขึ้นนั้นตรงกับความคาดหวัง และความต้องการของผู้ที่ใช้ผลงานนั้น ผลงานตรงกับที่บอกกล่าวไว้ก่อนทำ และผลงานที่บอกไว้ตรงใจคนที่ต้องการได้ผลงานนั้นอีกด้วย ทำถูกเรื่อง และทำเรื่องนั้นอย่างถูกวิธี

F-Frame ก่อนทำงาน ให้คิดให้รอบคอบก่อนว่ากำลังทำงานให้ใคร ใครคนนั้นต้องการอะไร รวมถึงรู้ตัวด้วยว่าหน่วยงานของตนมีเป้าหมายอย่างไรบ้าง โดยต้องมั่นใจก่อนทำว่างานที่จะทำตรงกับที่ใครคนนั้นต้องการ พร้อมกับที่เป็นไปในทิศทางเดียวกับเป้าหมายที่หน่วยงานกำหนดไว้

ที่สำคัญคืองานนั้นมีประเด็นกฎระเบียบใดบ้างที่ละเลยไม่ได้ ไม่เช่นนั้น งานเสร็จแต่ผิดกฎกติกา ผลงานก็ใช้อะไรไม่ได้เสียอีก ก่อนทำตั้งโจทย์ของงานให้แน่ชัดเสียก่อน

F-Frame หลังทำงาน คือดูภาพรวมของผลงานว่าตอบโจทย์ที่กำหนดไว้ได้มากแค่ไหน ถ้าตอบได้ไม่ครบถ้วน ต้องบอกได้ว่าที่ขาดไปนั้นคืออะไรบ้าง และทำไมจึงขาดไป หากแก้ไขเพิ่มเติมไม่ทัน ก็ต้องมีรายงานให้ผู้บริหาร หรือผู้ที่ต้องการผลงานนั้นได้ทราบความจริงเรื่องนี้ ก่อนการส่งมอบงาน

A-Activity ก่อนทำ คือคิดขั้นตอนที่ต้องกระทำในการทำงานนั้นให้สำเร็จ ขั้นตอนต้องสามารถกระทำซ้ำได้ ไม่ใช่ทำเสร็จไปแบบมั่วๆ บอกไม่ได้ว่าทำอย่างไรงานจึงเสร็จ ต้องใช้เครื่องมือ ต้องมีข้อมูลอะไรบ้าง

ถ้าเป็นงานเดิมที่เคยทำอยู่แล้ว ส่วนมากมักรู้วิธีทำอยู่แล้ว เพียงแต่ทำไปจนเคยชิน แยกแยะไม่ออกว่าขั้นตอนเป็นอย่างไร อย่าเริ่มงานก่อนที่จะรู้ว่าขั้นตอนการทำงานเป็นอย่างไร ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นมั่วงานแทนทำงาน

FACT ก่อนเริ่ม FACT หลังเสร็จ | บวร ปภัสราทร

A-Activity หลังทำ คือทบทวนดูว่าได้ทำตรงและครบขั้นตอนที่ได้กำหนดไว้แล้วหรือไม่ ขาดตรงไหนก็ทำให้ครบ เว้นเสียแต่มีเหตุผลว่าขั้นตอนนั้น ไม่มีความจำเป็นต่อความสำเร็จอีกต่อไป เป็นโอกาสให้ทบทวนวิธีการทำงานอีกรอบก่อนที่จะใช้ในการทำงานเดิมในโอกาสต่อไป

C-Ckecking ก่อนทำ คือกำหนดตัววัดความสำเร็จเมื่อเสร็จงาน ตัววัดความสำเร็จต้องเน้นไปที่ได้ผล ไม่ใช่แค่ได้ทำกี่งาน กำหนดตัววัดที่บอกได้ว่าผลงานที่ได้ตรงโจทย์หรือไม่ อย่าลืมกำหนดตัววัดเรื่องเวลาทำงานด้วย

C-Ckecking หลังทำ คือดูว่าวัดตัวชี้วัดหลังจากเสร็จงาน ครบถ้วนตรงกับที่กำหนดไว้หรือไม่ ถ้าวัดตัวไหนไม่ได้ก็อธิบายได้ว่าทำไมจึงวัดไม่ได้

T-Target ก่อนทำ คือกำหนดเป้าหมายของตัวชี้วัดที่จะใช้ในการตรวจสอบความสำเร็จของงาน เป้าหมายควรเป็นเป้าหมายเชิงปริมาณ สามารถทำได้จริง และวัดได้จริงอย่างตรงประเด็น อย่าเป็นเป้าหมายเชิงนามธรรม ที่จะว่าได้หรือไม่ได้สุดแล้วแต่การตีความ

T-Target หลังทำ คือเปรียบเทียบระหว่างเป้าหมายของตัววัดความสำเร็จที่กำหนดไว้ กับที่เกิดขึ้นจริงหลังทำงานเสร็จ งานสำเร็จตามกรอบเวลาหรือไม่ ในชีวิตจริง มีโอกาสไม่มากนักที่จะได้ตรงร้อยเปอร์เซ็นต์กับที่ตั้งใจไว้ ซึ่งไม่ผิดปกติอะไร เพียงแต่ต้องอธิบายได้ว่าสาเหตุที่ไปไม่ถึงเป้าหมายคืออะไร โดยไม่ใช่การแก้ตัว แต่เป็นการได้ความจริงที่นำไปคิดก่อนทำงานเดิมในโอกาสต่อไป

อยากให้งานมีประสิทธิผล ทำเสร็จได้คำชมไม่ใช่คำตำหนิ ลองทำตาม “FACT ก่อนเริ่ม FACT หลังเสร็จ” ทำได้ทุกคนทุกโอกาส

FACT ก่อนเริ่ม FACT หลังเสร็จ | บวร ปภัสราทร

คอลัมน์ ก้าวไกลวิสัยทัศน์
รศ.บวร ปภัสราทร 
นักวิจัย Digital Transformation
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
email. [email protected]