‘สักยันต์ไทย’ หมุดหมายชาวต่างชาติที่หลงใหลในรอยสัก

‘สักยันต์ไทย’ หมุดหมายชาวต่างชาติที่หลงใหลในรอยสัก

“ยันต์ไทย” แม้จะเป็นสิ่งที่อยู่คู่สังคมไทยมาตั้งแต่โบราณ ด้วยความเชื่อในเรื่องของการคุ้มครองผู้เข้ารับการสัก แต่ปัจจุบันกำลังได้รับความนิยมในหมู่ชาวต่างชาติที่ชื่นชอบรอยสักเป็นอย่างมากเพราะความสวยงามแปลกตา แม้แต่ศิลปินดัง “เอ็ด ชีแรน” ยังต้องไปสัก

Key Points:

  • “สักยันต์” แม้จะมีจุดเริ่มต้นมาจากความเชื่อของคนไทยในสมัยโบราณ ในเรื่องของการคุ้มครอง ปกปักรักษาผู้เข้ารับการสักหรือลูกศิษย์ แต่ปัจจุบันได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางไปทั่วโลกในหมู่ผู้ที่ชื่นชอบรอยสัก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความสวยงาม แปลกตา และมีเอกลักษณ์ความเป็นไทย
  • ที่ผ่านมามีคนดังระดับโลกที่มีโอกาสเดินทางมาเยือนประเทศไทยและสักยันต์กลับไปเป็นที่ระลึกมากมาย เช่น แองเจลินา โจลี, โอลิเวอร์ ไซคส์ และล่าสุด “เอ็ด ชีแรน” ที่ได้ไปสัก “ยันต์แปดทิศ” ระหว่างเดินทางมาแสดงคอนเสิร์ตในประเทศไทย
  • หลายคนมองว่าการสักยันต์อาจเรียกได้ว่าเป็น “Soft Power” ที่โดดเด่นอย่างหนึ่งของประเทศไทยก็ว่าได้ เพราะถือเป็นหมุดหมายสำคัญที่หลายคนเดินทางมาสัก แม้แต่เว็บไซต์และบล็อกเกอร์สายท่องเที่ยวของต่างประเทศยังแนะนำว่าเป็นหนึ่งในจุดเช็กอินสำคัญเมื่อมาเที่ยวเมืองไทย

ได้รับการพูดถึงในวงกว้างอีกครั้งสำหรับการ “สักยันต์” หรือที่ชาวต่างชาติเรียกกันว่า “Sak Yant Tattoo” หลังศิลปินชื่อดังระดับโลก เอ็ด ชีแรน (Ed Sheeran) เดินทางไปสัก “ยันต์แปดทิศ” ระหว่างที่มาจัดคอนเสิร์ตในประเทศไทยเมื่อวันที่ 11 ก.พ. 2024 ที่ผ่านมา ก่อนจะโพสต์คลิปวิดีโอการสักยันต์ตั้งแต่เริ่มต้นจนจบลงบนอินสตาแกรมส่วนตัว ทำให้ได้รับความสนใจจากผู้ติดตามที่เป็นชาวต่างชาติเป็นอย่างมาก จนการสักยันต์ของไทยกลับมาเป็นกระแสอีกครั้ง โดยบางความคิดเห็นก็มองว่านี่แหละคือ “Soft Power” เพราะก่อนหน้านี้ก็มีนักร้องและนักแสดงระดับโลกเดินทางมาสักยันต์ที่ประเทศไทยเป็นจำนวนมาก

‘สักยันต์ไทย’ หมุดหมายชาวต่างชาติที่หลงใหลในรอยสัก

ภาพจากอิสตาแกรมของเอ็ด ชีแรน (teddysphoto)

สำหรับคนไทยนั้นการ “สักยันต์” ถือว่าเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อและความศรัทธา โดยเฉพาะการสักเพื่อคุ้มครองตนเองให้แคล้วคลาดปลอดภัย ต้องสักกับพระอาจารย์หรือผู้ที่มีวิชาเท่านั้น รวมถึงยังมีข้อปฏิบัติและข้อห้ามเป็นจำนวนมากสำหรับผู้ที่เข้ารับการสัก มีการสักที่เน้นไปยังอักขระโบราณและลวดลายที่แตกต่างกันออกไปตามประเภทของความเชื่อ แต่ปัจจุบัน “ยันต์ไทย” ก็ได้รับความนิยมจากต่างชาติไม่แพ้กัน โดยเฉพาะในเรื่องของความสวยงาม แปลกตา มีเรื่องราวความเป็นมา ทำให้ผู้ที่หลงใหลในแฟชั่นการสักมองว่าประเทศไทยถือเป็นจุดหมายหนึ่งที่จะต้องเดินทางมาสักให้ได้

‘สักยันต์ไทย’ หมุดหมายชาวต่างชาติที่หลงใหลในรอยสัก

แองเจลินา โจลี กับยันต์ห้าแถว (dailymail)

  • สักยันต์ไทย ความเชื่อ และมนต์ขลัง

เมื่อกล่าวถึง “สักยันต์” เชื่อว่าหลายคนอาจมองเห็นลวดลายรอยสักไทยโบราณมีตัวอักษรและรูปภาพสัตว์ที่มีความเฉพาะตัว เช่น ยันต์เก้ายอด, ยันต์จิ้งจก, ยันต์เสือเหลียวหลัง, ยันต์แปดทิศ และ ยันต์ห้าแถว เป็นต้น โดยยันต์แต่ละลายก็จะมีความเป็นมา ความหมายและความศักดิ์สิทธิ์แตกต่างกันออกไป

การสักยันต์ในประเทศไทยมีจุดเริ่มต้นมาช้านานนับ 1,000 ปี ตั้งแต่ในสมัยสุโขทัย ที่เชื่อว่าได้รับอิทธิพลมาจากอาณาจักรขอมสมัยที่ยังเป็นส่วนเดียวกับดินแดนสุวรรณภูมิเมื่อประมาณ 1,400 ปีที่ผ่านมา ทำให้ลักษณะเด่นการ “สักยันต์” ของไทยที่เราเห็นกันจนชินตาในทุกวันนี้ส่วนใหญ่เป็นภาษาบาลี นั่นก็เพราะมาจากอักษรขอมโบราณ

ในอดีตการสักยันต์จะต้องทำโดยผู้ที่มีวิชาอาคมหรือพระผู้ใหญ่ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ เพราะไม่ใช่แค่การสักให้น้ำหมึกลงไปในผิวหนังด้วยเข็มเท่านั้น แต่ต้องผ่านพิธีกรรมที่มีความศักดิ์สิทธิ์อีกด้วย ตั้งแต่ การฝากตัวเป็นศิษย์ การยกพานครู ค่าครู ก่อนจะเริ่มต้นการสักแบบลงเข็ม ที่ระหว่างการสัก 1 จุดก็จะต้องลงคาถากำกับทุกครั้ง และเมื่อสักเสร็จแล้วครูที่ทำการสักให้ก็จะเชิญบรมครูมาให้พรกับลายสักอีกทีหนึ่งเพื่อเสริมความศักดิ์สิทธิ์ ขณะที่ลูกศิษย์เองเมื่อได้รับการสักแล้วก็จะต้องปฏิบัติตนตามข้อบังคับของครูบาอาจารย์อย่างเคร่งครัด เช่น ประพฤติตัวอยู่ในศีลธรรมอันดี ทำบุญเป็นประจำ ไม่ทำตัวเป็นคนพาล เพื่อป้องกันไม่ให้ของเสื่อม (เรื่องของเสื่อมเป็นความเชื่อมาแต่โบราณ) โดยหลายคนก็มองว่าเป็นการช่วยให้ลูกศิษย์ผู้นั้นปฏิบัติตนเป็นคนดีอย่างเสมอต้นเสมอปลาย

สำหรับการเลือกลายเพื่อ “สักยันต์” นั้น ส่วนหนึ่งจะมาจากความชอบและความต้องการของตัวผู้เข้ารับการสักหรือ “ลูกศิษย์” แต่อีกส่วนหนึ่งก็จะมาจากคำแนะนำและการออกแบบลายโดยอาจารย์ที่เป็นผู้สักให้ เพราะต้องเลือกลายและความหมายให้เหมาะสมกับแต่ละคน โดยลายสักยันต์ไทยที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลกจนมีคนดังนิยมเดินทางมาสักมากมายได้แก่

ยันต์เสือเหลียวหลัง ช่วยในเรื่องอำนาจ ความคงกระพัน และเมตตามหานิยม มีลวดลายโดดเด่นสวยงาม โดยนักแสดงสาวชื่อดัง แองเจลินา โจลี (Angelina Jolie) ก็เลือกจะมาสักลายนี้ที่ประเทศไทย

ยันต์ห้าแถว ที่ออกแบบโดยอาจารย์หนู ช่วยเรื่องโชคลาภ ถือเป็นลายที่ได้รับความนิยมจากคนในวงการบันเทิงเป็นอย่างมาก ซึ่งแองเจลินา ก็เลือกสักลายนี้ด้วยเช่นกัน

ยันต์แปดทิศ แต่เดิมได้รับความนิยมในหมู่ผู้ที่ต้องเดินทางไกล เช่น พระธุดงค์ เพราะช่วยป้องกันสัตว์ร้ายและภูตผีปีศาจ ทำให้ในปัจจุบันใครที่จำเป็นต้องเดินทางบ่อยๆ จึงนิยมเลือกสักลายนี้ รวมถึง “เอ็ด ชีแรน” ศิลปินชาวอังกฤษที่บินมาจัดคอนเสิร์ตที่ไทยก็สักลายนี้ไว้ที่บริเวณต้นขา เนื่องจากชื่นชอบรอยสักเป็นการส่วนตัวอยู่ก่อนแล้ว

ดังนั้นการ “สักยันต์” ในปัจจุบันนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความเชื่อเพียงอย่างเดียว แต่ยังเชื่อมโยงไปถึงแฟชั่นและความสวยงามในกลุ่มคนที่ชื่นชอบรอยสัก และ “ยันต์ไทย” ก็เรียกได้ว่ามีชื่อเสียงไปในระดับโลก จนเว็บไซต์ท่องเที่ยวและบล็อกเกอร์แนวท่องเที่ยวพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ถ้ามาเที่ยวที่ประเทศไทยก็ควรมาสักยันต์ด้วยเช่นกัน

  • เมื่อยันต์ไทยโด่งดังไกลระดับโลก จนกลายเป็นจุด “เช็กอิน”

แน่นอนว่าใครที่มีใจรักใน “รอยสัก” เมื่อได้เดินไปยังประเทศหรือชุมชนที่มีชื่อเสียงด้านการสักก็มักจะอยากได้ลายสักที่มีเอกลักษณ์เฉพาะท้องถิ่นนั้นกลับบ้านไปเป็นที่ระลึก และสิ่งนี้เองที่ทำให้หลายคนเริ่มมองว่า “ยันต์ไทย” อาจกลายเป็น “Soft Power” ที่สามารถส่งออกวัฒนธรรมไทยไปพร้อมกับการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งชาวต่างชาติโดยเฉพาะบล็อกเกอร์ อินฟลูเอนเซอร์ ศิลปินและนักแสดงที่มีชื่อเสียงก็ถือเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันการสักยันต์ไทยให้ไปไกลในระดับเวทีโลก

เว็บไซต์แนะนำสถานที่ท่องเที่ยว Luxury Travel Magazine ได้เขียนแนะนำ 8 สถานที่และกิจกรรมที่ไม่ควรพลาดเมื่อเดินทางมาเที่ยวประเทศไทย และการ “สักยันต์” ก็เป็นหนึ่งในนั้น พร้อมกับอธิบายว่าเป็นกิจกรรมที่ทำให้รู้สึกว่าได้เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมท้องถิ่น รวมถึงได้เห็นถึงขั้นตอน กรรมวิธี และรายละเอียดของการสักยันต์ไทยที่ละเอียดอ่อน และที่สำคัญจะได้รับคำแนะนำเรื่องลวดลายและความหมายของรอยสักที่เลือกสักอีกด้วย

ด้านอินฟลูเอนเซอร์ด้านการท่องเที่ยวจากโปร์แลนด์ Eva zu Beck ก็เคยลงคลิปรีวิวการมาสักยันต์ในประเทศไทยเมื่อปี 2020 ทำให้ยันต์ไทยเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะในโซเชียลมีเดีย เพราะเธอมีผู้ติดตามมากกว่า 1.76 ล้านคน

แต่เหตุการณ์ที่ทำให้การสักยันต์ของไทยได้รับการพูดถึงในระดับโลกก็คือเมื่อ “แองเจลินา โจลี” นักแสดงฮอลลีวูดระดับแถวหน้า บินมาสักยันต์เสือเหลียวหลัง และยันต์ห้าแถว ทำให้กระแส “สักยันต์” เริ่มขยายไปยังแฟชั่นของโลกตะวันตก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความสวยงามและเรื่องราวของรอยสักที่แตกต่างกันออกไป ทำให้ชาวต่างชาติให้ความสนใจในการสักแบบไทยๆ เป็นจำนวนมาก และที่สำคัญคนส่วนมากมองว่า “ยันต์ไทย” ก็ถือเป็นศิลปะแขนงหนึ่ง

ไม่ใช่แค่ แองเจลินา เท่านั้นที่ให้ความสนใจกับ “ยันต์ไทย” แต่ยังมีคนดังระดับโลกทยอยมาสักยันต์ที่ประเทศไทยอยู่เรื่อยๆ เช่น สตีเวน ซีกัล (Steven Seagal), บรูก ชีลด์ส (Brooke Shields), ไรอัน ฟิลลิปเป (Ryan Phillippe) แต่ที่เรียกเสียงฮือฮาได้ไม่น้อยก็คือ โอลิเวอร์ ไซคส์ (Oliver Sykes) ฟร้อนท์แมนจากวงดนตรีชื่อดัง “Bring Me the Horizon” ที่ไปสักยันต์เมื่อครั้งเดินทางมาร่วมเล่นคอนเสิร์ตในปี 2023 ที่ผ่านมา และได้โพสต์คลิปลงในอินสตาแกรมส่วนตัวพร้อมกับขอบคุณอาจารย์หนูผู้เป็นคนลงหมึกให้ ทำให้การสักยันต์ของไทยได้รับกระแสตอบรับในเชิงบวกมากขึ้นโดยเฉพาะเรื่องความสวยงาม

‘สักยันต์ไทย’ หมุดหมายชาวต่างชาติที่หลงใหลในรอยสัก

โอลิเวอร์ ไซคส์ ขณะสักยันต์ไทย (olobersykes)

หลังจากนั้นไม่นานเมื่อวันที่ 11 ก.พ. 2024 ที่ผ่านมา “เอ็ด ชีแรน” นักร้องนักแต่งเพลงชาวอังกฤษที่เดินทางมาแสดงคอนเสิร์ตในประเทศไทย ก็ถือโอกาสใช้เวลาที่อยู่ในเมืองไทยเดินทางไปสัก “ยันต์แปดทิศ” ก่อนจะลงคลิปวิดีโอนำเสนอขั้นตอนการสักยันต์ไทยอย่างละเอียดตั้งแต่เริ่มต้นจนจบในอิสนตาแกรมส่วนตัว ทำให้แฟนคลับชาวไทยรวมถึงคนไทยคนอื่นๆ ต่างพากันเข้าไปชื่นชมและแสดงความคิดเห็นว่าการสักยันต์นั้นถือเป็น “Soft Power” ที่โด่งดังและได้รับความนิยมมากที่สุดอย่างหนึ่งของไทย เพราะแม้กระทั่งคนดังผู้ชื่นชอบรอบสักจากทั่วโลกที่ได้มีโอกาสมาเยือนประเทศไทยก็ต้องไปสักยันต์ไทยเอาไว้เป็นที่ระลึก

ไม่ใช่แค่นั้นแต่เมื่อข่าวการสักยันต์ของเอ็ดเผยแพร่ออกไปในโลกออนไลน์ ก็ยิ่งทำให้ได้รับความสนใจจากชาวต่างชาติเพิ่มมากขึ้น และมีคนเข้าไปแสดงความคิดเห็นในคลิปวิดีโอดังกล่าวในเชิงชื่นชมความสวยงามในการสักยันต์ไทยเป็นจำนวนมาก

ท้ายที่สุดนี้ “สักยันต์” จะสามารถต่อยอดไปในระดับโลกได้มากแค่ไหนก็คงต้องติดตามกันต่อไป เพราะในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาก็เรียกได้ว่ามีกระแสตอบรับที่ดีจากชาวต่างชาติที่ชื่นชอบรอยสักเป็นอย่างมาก จึงกลายเป็นโจทย์ให้ภาครัฐและภาคเอกชนรวมถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องว่าจะวางแผนพัฒนาและต่อยอดเรื่องราวเหล่านี้ออกไปอย่างไรให้รับความสนใจมากขึ้นในฐานะ “Soft Power

อ้างอิงข้อมูล : Luxury Travel Magazine, Brandagedailymail และ Sanook