แรงงาน 40% ไม่อยาก 'เลื่อนตำแหน่ง' เผย แฮปปี้กับงานเดิม กลัวเสียสมดุลชีวิต

แรงงาน 40% ไม่อยาก 'เลื่อนตำแหน่ง' เผย แฮปปี้กับงานเดิม กลัวเสียสมดุลชีวิต

วิจัยเผย คนทำงานเกือบ 40% มีความสุขกับงานที่ทำอยู่ ไม่อยาก “เลื่อนตำแหน่ง” ผู้เชี่ยวชาญชี้ “คนรุ่นใหม่” ไม่ได้มองว่าการเลื่อนตำแหน่งเป็น “ความก้าวหน้าทางอาชีพ” อย่างเดียว แต่ “ความยืดหยุ่นในการทำงาน” ก็เป็นปัจจัยสำคัญเช่นกัน

เมื่อก่อนใคร ๆ ก็คงอยากจะ “เลื่อนตำแหน่ง” กันทั้งนั้น เพราะเป็นสิ่งที่แสดงถึงความสามารถของพนักงาน อีกทั้งได้รับการยอมรับจากที่ทำงาน และเป็นสัญลักษณ์แห่งความเจริญในหน้าที่การงาน ซึ่งในระยะหลังนายจ้างมักใช้การเลื่อนตำแหน่งเป็น “ข้อเสนอ” รั้งตัวไม่ให้พนักงานศักยภาพสูงลาออกจากงาน แต่ดูเหมือนว่าตอนนี้ค่านิยมจะเปลี่ยนไป เพราะผลสำรวจพบ พนักงานเกือบ 40% ไม่อยากเลื่อนตำแหน่ง เพราะตอนนี้มีความสุขดีอยู่แล้ว กลัวเสียสมดุลในชีวิต

 

  • ชีวิตดีอยู่แล้ว ไม่อยากเลื่อนตำแหน่งให้วุ่นวาย 

รายงาน Workmonitor ประจำปีของ Randstad บริษัทที่ปรึกษาด้านทรัพยากรบุคคลข้ามชาติ ที่ทำการสำรวจความเห็นของแรงงานที่มีอายุ 18-67 ปี จำนวน 27,000 คนในตลาดงานทั่วยุโรป เอเชียแปซิฟิก และอเมริกา โดยจะต้องมีงานทำอย่างน้อย 24 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือเป็นฟรีแลนซ์ 

พบว่าคนงาน 39% ไม่ต้องการเลื่อนตำแหน่งเพราะพวกเขาชอบงานปัจจุบันของตน ขณะที่อีก 34% ไม่เคยคิดอยากจะเป็นผู้จัดการเลย

ทั้งนี้จากผลสำรวจยังพบว่า คนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะชาวมิลเลนเนียลและเจน Z ลังเลที่จะรับงานด้านการบริหารจัดการ เนื่องจากพวกเขามองว่างานเหล่านี้มีใช้ความรับผิดชอบและมีความกดดันสูง ซึ่งดูแล้วไม่น่าคุ้มกับเงินเดือนที่ได้เพิ่มขึ้นมา อีกทั้งขาดความไว้วางใจในพนักงานซีเนียร์ 

ขณะที่ ร็อด ธิล ผู้ก่อตั้ง WorkDaze ตัวช่วยสร้างวัฒนธรรมที่ดีขึ้นในที่ทำงาน ระบุว่า เขามักได้รับข้อเสนอการเลื่อนตำแหน่งที่เขาไม่ต้องการอยู่เสมอ ซึ่งเขามองว่าข้อเสนอเหล่านี้เป็นสิ่งที่หัวหน้าบังคับว่าเขาจะต้องยอมรับ ทั้งที่เขาทำงานออกมาให้ดีเพื่อต้องการแสดงให้เห็นว่าเขายังมีไฟในการทำงานอยู่

ธิลกล่าวเสริมว่า บ่อยครั้งที่ผู้บริหารระดับสูงมองว่าการเลื่อนตำแหน่งจะเป็นสิ่งจูงใจให้พนักงานอยากทำงานต่อ ทั้งที่พนักงานพอใจกับงานและไลฟ์สไตล์ของตัวเองที่เป็นอยู่แล้ว ในเมื่อทุกอย่างกำลังลงตัว งานก็ดี เงินก็ดี แล้วทำไมเขาต้องหาเรื่องเครียดให้กับตัวเอง ทำให้ตัวเองหมดไฟด้วยการเลื่อนตำแหน่ง

 

  • ปัญหาไม่ได้อยู่ที่เงินเพียงอย่างเดียว

การสำรวจของ McKinsey บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำ เมื่อปี 2023 พบว่า เงินไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ทำให้คนเจน Z ปฏิเสธการเลื่อนตำแหน่ง แต่พวกเขายังดูด้วยว่าตำแหน่งงานใหม่จะมีความยืดหยุ่นในการทำงานหรือไม่ เพราะคนรุ่นใหม่หันมาให้ความสำคัญกับความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงานมากยิ่งขึ้น ซึ่งผลการสอดคล้องกับเทรนด์อาชีพในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ทั้ง “Quiet Quitting” “Lazy Girl Jobs” และ “Bare Minimum Mondays” ที่กระตุ้นให้คนทำงานน้อยลง และมีเวลาใช้ชีวิตด้วยความผ่อนคลายมากขึ้น 

“แรงจูงใจของผู้คนในที่ทำงานไม่จำเป็นต้องขับเคลื่อนด้วยการเลื่อนตำแหน่งเท่านั้น ตอนนี้พนักงานที่มีความสามารถกำลังคิดทบทวนว่าเป้าหมายในการทำงานคืออะไร พวกเขาให้ความสำคัญกับความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน ความยืดหยุ่นในการทำงาน ความเท่าเทียม และทักษะที่มีเป็นหลัก” ซานเดอร์ แวน นัวร์เดนด์ ซีอีโอของ Randstad กล่าวกับ Business Insider

ส่วนการสำรวจ Deloitte บริษัทที่ปรึกษาและตรวจสอบบัญชีพบว่า เกือบ 40% ของพนักงานปฏิเสธการเลื่อนตำแหน่งเพราะความกังวลด้านจริยธรรม ขณะที่กว่า 30% ปฏิเสธตำแหน่งจากองค์กรที่พวกเขารู้สึกว่าทำได้ไม่ดีในเรื่องต่าง ๆ เช่น การรักษาสิ่งแวดล้อม ไม่มีความหลากหลาย ความเสมอภาค และการมีส่วนร่วม หรือ DEI อีกทั้งมีไม่ถึง 50% เชื่อว่าการตอบแทนเพื่อสังคมขององค์กรต่าง ๆ ไม่ได้ช่วยให้ภาพลักษณ์องค์กรดูดีขึ้น

พนักงานรุ่นใหม่จำนวนมากชี้ให้เห็นว่าแค่ทำงานให้กับองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างผลกระทบที่ดีต่อโลกและสังคม มากกว่าการมุ่งหวังเพียงกำไรอย่างเดียวนั้นยังไม่เพียงพอ เพราะพวกเขาต้องการมีส่วนร่วมเพื่อขับเคลื่อน

การเปลี่ยนแปลงผ่านงานของตนเอง และต้องการอยู่ในองค์กรที่ให้พวกเขามีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น แต่ความจริงที่พนักงานกำลังเผชิญนั้นแตกต่างกว่าสิ่งที่พวกเขาต้องการ

 

  • พนักงานรู้สึกไม่มีส่วนร่วมในที่ทำงาน

มีผู้ตอบแบบสอบถามเพียง 50% เท่านั้น ที่คิดว่าตนเองมีพลังในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในที่ทำงาน อีกราว 33% กล่าวว่าการตัดสินใจต่าง ๆ ภายในองค์กรอยู่ผู้นำองค์กร ความคิดเห็นของพวกเขามักถูกมองข้าม และไม่มีความสำคัญ

อีกทั้งมีเพียง 15% ของกลุ่มคนรุ่นใหม่เท่านั้นที่รู้สึกว่าตนเองสามารถมีพลังเพียงพอในการพัฒนาองค์กรด้านความยั่งยืน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลต่อการตัดสินใจในหน้าที่การงานมากขึ้น เพราะมีผู้ตอบแบบสอบถามเกินครึ่งที่ศึกษาผลกระทบและนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของแบรนด์ก่อนที่จะรับตำแหน่ง และราว 25% พร้อมจะเปลี่ยนงานเนื่องจากความกังวลเรื่องสภาพภูมิอากาศ

แวน นัวร์เดนด์ แนะนำนายจ้างที่ต้องการรักษาและพัฒนาพนักงานที่มีศักยภาพไว้ว่า นายจ้างควรจะต้องเสนอความก้าวหน้าในสายอาชีพในด้านอื่น ๆ นอกเหนือจากการเลื่อนตำแหน่ง ซึ่งต้องดูว่าเป้าหมายในหน้าที่การงานของแต่ละคนเป็นอย่างไร เพราะในตอนนี้พนักงานต่างอยากก้าวหน้าในอาชีพไปพร้อม ๆ กับการรักษาชีวิตส่วนตัว สองเรื่องนี้จึงเกี่ยวข้องกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้และต้องรักษาให้ทั้งสองด้านสมดุลกัน


ที่มา: Business Insider 1Business Insider 2Fortune