เด็กรุ่นใหม่งง ‘นาฬิกาแบบเข็ม’ ดูอย่างไร ถูกตั้งคำถามโรงเรียนไม่สอนแล้ว?

เด็กรุ่นใหม่งง ‘นาฬิกาแบบเข็ม’ ดูอย่างไร ถูกตั้งคำถามโรงเรียนไม่สอนแล้ว?

แม้ “นาฬิกาแบบเข็ม” ยังคงมีอยู่ทั่วไป แต่ “คนรุ่นใหม่” กลับอ่านเข็มนาฬิกาไม่เป็น ไม่รู้ว่ากี่โมงแล้ว เพราะเคยชินกับนาฬิกาดิจิทัล อีกทั้งไม่รู้ “คำศัพท์” ที่เกี่ยวกับการบอกเวลา สร้างความประหลาดใจให้แก่คนรุ่นก่อน จนสงสัยว่าโรงเรียนไม่มีการสอนเรื่องนี้แล้วหรือ

หลาย ๆ สิ่งในโลกของเราถูกแทนที่ด้วย “เครื่องมือดิจิทัล” อะไรที่เป็นของเดิม ๆ ก็ย่อมหายไปตามกาลเวลา หนึ่งในนั้นคือ “นาฬิกาแบบเข็ม” ถึงแม้หลายบ้านจะยังมีนาฬิกาแขวนอยู่บนฝาผนัง แต่เด็กรุ่นใหม่หลายคนดูเข็มนาฬิกาไม่เป็นแล้ว เพราะโตมากับนาฬิกาแบบดิจิทัล และกำลังกลายเป็นปัญหาทั่วโลก

ในโลกโซเชียลกำลังพูดคุยกันถึงประเด็น เด็กรุ่นใหม่ดูนาฬิกาแบบเข็มไม่เป็นแล้ว เนื่องจากไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นอีกต่อไป ปัจจุบันมี “นาฬิกาดิจิทัล” ที่ดูเวลาได้อย่างรวดเร็ว สะดวก และแม่นยำมากกว่า มองแวบเดียวก็รู้ว่ากี่โมง แต่หลายคนก็ตั้งข้อสังเกตว่าเดี๋ยวนี้ในวิชาคณิตศาสตร์ไม่มีการสอนเรื่องอ่านนาฬิกากันแล้วหรือ?

 

  • คนรุ่นใหม่ดูนาฬิกาเข็มไม่เป็น ?

เมื่อเดือนธ.ค. 2566 ครูโรงเรียนมัธยมปลายแห่งหนึ่งในสหรัฐโพสต์คลิปลง TikTok ระบุว่าเธอแปลกใจที่เด็กม.ปลายเดี๋ยวนี้บอกเวลาด้วยนาฬิกาเข็มไม่ได้ ไม่รู้วิธีอ่าน ทำให้ครูสาวสงสัยว่านี่ไม่ใช่ทักษะจำเป็นอีกต่อไป เริ่มหมดความนิยมในโรงเรียนลงไปเรื่อย ๆ พร้อมตั้งคำถามว่าเดี๋ยวนี้โรงเรียนประถมไม่ได้สอนเรื่องนี้แล้วหรือไม่ ซึ่งปัจจุบันคลิปนี้มีผู้เข้าชมมากกว่าล้านครั้งเป็นที่เรียบร้อย

นอกจากนี้ ผลการสำรวจล่าสุดของ clearitwaste บริษัทกำจัดขยะในสหราชอาณาจักร พบว่า ผู้ตอบแบบสำรวจประมาณ 16% จาก 2,000 คน กล่าวว่าพวกเขามีปัญหาในการดูเวลาด้วยนาฬิกาแอนะล็อกแบบเก่า โดยพวกเขาต้องใช้เวลาหลายวินาทีในการแยกแยะ “เข็มนาฬิกา” ก่อน ถึงจะเข้าใจ

สำหรับกลุ่มคนที่มีปัญหาในการอ่านเวลามากที่สุดคือ คนเจน Z ซึ่งมีมากถึง 21% ตามมาด้วย ชาวมิลเลนเนียล (19%) แต่ไม่ใช่ว่าคนรุ่นก่อนจะไม่มีปัญหาเลย เพราะผลสำรวจพบว่า 14% ของคนเจน X และ 12% ของเบบี้บูมเมอร์ ยังคงมีปัญหากับการอ่านเข็มนาฬิกาด้วยเช่นกัน

เด็กรุ่นใหม่หลายคนยอมรับว่าพวกเขาไม่เคยสนใจนาฬิกาแบบเข็มเลย โดยเด็กเจน Z ที่อายุ 23 ปีคนหนึ่งเปิดเผยกับสำนักข่าว Metro ว่า เขามีโทรศัพท์มือถือตั้งแต่อายุ 11 ขวบ และไม่เคยมีนาฬิกาเป็นของตัวเองเลย แถมนาฬิกาเข็มที่มีอยู่ที่บ้านยังตายไปนานแล้ว ไม่มีใครสนใจจะเปลี่ยนถ่าน เขาจึงไม่รู้สึกจำเป็นจะต้องให้ความสำคัญกับการอ่านนาฬิกา แต่เมื่อเขาจำเป็นต้องดูนาฬิกาแบบเข็ม เขาจึงต้องใช้เวลาสักครู่ในการประมวลผลว่าตอนนี้คือกี่โมงแล้ว

ขณะที่ จิมมี คิมเมล พิธีกรชื่อดังของสหรัฐ ทำการสำรวจว่าคนตามท้องถนนยังอ่านเวลาจากนาฬิกาแบบเข็มได้หรือไม่ ซึ่งผลที่ออกมาไม่ค่อยน่าพิสมัยเท่าไหร่ เพราะไม่ว่าจะเป็นเด็กประถม หรือ เด็กมหาวิทยาลัยไม่มีใครบอกเวลาด้วยนาฬิกาแบบเข็มได้เลย โดยบางคนถึงกับบอกว่า “ฉันทำไม่ได้” และหวังว่าคุณครูของเธอจะไม่เห็นคลิปนี้

 

แม้โรงเรียนจะยังมีการสอนดูนาฬิกาเข็มอยู่ ในวิชาคณิตศาสตร์ระดับชั้นประถมศึกษา แต่คนรุ่นใหม่คุ้นเคยกับการใช้นาฬิกาดิจิทัลมากกว่ามาก ด้วยเหตุนี้ มัลคอล์ม โทรบ รองเลขาธิการสหภาพครูในอังกฤษ เรียกร้องให้โรงเรียนติดนาฬิกาดิจิทัลในห้องสอบของเด็กนักเรียนแทน เพื่อลดความเครียดเรื่องเวลาสอบ เพราะไม่รู้ว่าเวลาจะหมดกี่โมง

“สำหรับผู้ใหญ่แล้ว การอ่านเวลาด้วยนาฬิกาเข็มอาจเป็นเรื่องง่าย แต่สำหรับเด็ก ๆ อาจไม่ได้ง่ายขนาดนั้น เพราะพวกเขาคุ้นชินกับดิจิทัลมากกว่า ดังนั้นถ้าใช้นาฬิกาแบบดิจิทัลเขาจะได้รู้ว่ามีเวลาเหลือในการทำข้อสอบอีกเท่าไหร่” โทรบกล่าว

 

  • คำบอกเวลากำลังจะหายไป ?

การรู้เวลาบนนาฬิกาเข็มอาจจะทำให้ “คำศัพท์” ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการบอกเวลาอาจจะค่อย ๆ หายไป โดยปรกติแล้วระบบบอกเวลาที่ใช้กันหลัก ๆ ในโลกมีด้วยกัน 2 แบบ คือ 24 ชั่วโมง (24-hour clock) ซึ่งเป็นการนับต่อเนื่องตั้งแต่เที่ยงคืนไปจนครบ 24 ชั่วโมง โดยเริ่มจากเที่ยงคืน หรือ 00:00 น. ไปจนถึง 23:59 น. พอเข้าเที่ยงคืนก็นับเป็นวันถัดไป

อีกรูปแบบหนึ่งก็คือ 12 ชั่วโมง (12-hour clock) ตามหน้าปัดนาฬิกา โดยจะใช้เลข 1-12 ตามด้วย a.m. และ p.m. เพื่อบอกเวลา ซึ่งจากในคลิปของจิมมี คิมเมล ก็พบว่าเด็ก ๆ หลายคน รวมถึงคนไทยที่ไม่คุ้นชินกับระบบนี้ก็จะสับสนว่า a.m. และ p.m. แตกต่างกันอย่างไร 

สำหรับ a.m. (ante meridiem) จะใช้บอกเวลาตั้งแต่หลังเที่ยงคืนถึงก่อนเที่ยงวัน (00.01 a.m. – 11.59 a.m.) ขณะที่ p.m. (post meridiem) จะใช้ตอนหลังเที่ยงวัน – ก่อนเที่ยงคืน (12.00 p.m. – 11.59 p.m.) ข้อสังเกตที่ต้องระวัง เที่ยงคืนจะใช้ 00.00 a.m. ส่วนเที่ยงวันจะใช้ 12.00 p.m.

ในภาษาอังกฤษแบบบริติช จะมีรูปแบบการบอกเวลาที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง ซึ่งมีความซับซ้อนในระดับหนึ่ง โดยจะใช้นาทีขึ้นก่อนหลักชั่วโมง และมีจำนวนนาทีเฉพาะตัว ได้แก่ quarter หมายถึง 15 นาที และ half หมายถึง 30 นาที ซึ่งมีวิธีการบอกดังนี้ “half ten” หมายถึง 10:30 น. 

ทั้งนี้ปัญหามักจะเกิดเมื่อต้องพูดถึงเวลาที่ลงท้ายด้วย 15 และ 45 นาที เพราะทั้ง 2 คำใช้ quarter เช่นเดียวกัน แต่แตกต่างกันที่คำเชื่อม โดยถ้าผ่านมาแล้ว 15 นาทีจะใช้ past เช่น 9:15 จะพูดว่า a quarter past nine แต่ถ้าเป็นผ่านมาแล้ว 45 นาที จะใช้ to เชื่อม เช่น 9:45 จะใช้ a quarter to ten ซึ่งหมายถึง อีก 15 นาที จะสิบโมงนั่นเอง

ด้วยความยุ่งยากนี้เอง ทำให้รูปแบบการบอกเวลาแบบบริติชกำลังค่อย ๆ จางหายไป และเป็นที่เถียงกันว่าหมายถึงเวลาใดกันแน่ คล้ายกับการบอกเวลาแบบ “ทุ่ม-โมง” ของไทยที่คนรุ่นใหม่สับสนว่าการเรียกเวลาแต่ละแบบหมายถึงอะไร

เนื่องจากคนไทยสมัยก่อนใช้การตีฆ้องและตีกลองเป็นสัญญาณบอกเวลา ดังนั้น “โมง” จึงเป็นคำที่เลียนเสียงการตีฆ้อง ส่วนคำว่า “ทุ่ม” เป็นเสียงของการตีกลองนั่นเอง โดย พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้อธิบายคำศัพท์ที่เกี่ยวกับการนับเวลาของไทยไว้ดังนี้

  • โมง หมายถึง วิธีนับเวลาตามประเพณีในเวลากลางวัน ถ้าเป็นเวลาก่อนเที่ยงวัน ตั้งแต่ 7-11 นาฬิกา เรียกว่า “โมงเช้า” โดยไล่ไปตั้งแต่ 7 นาฬิกา คือ โมงเช้า ส่วน 12 นาฬิกา จะเรียกว่า “เที่ยงวัน” ถ้าหลังเที่ยงวัน ตั้งแต่ 13-17 นาฬิกา จะเรียกว่า บ่ายโมง ถึง บ่าย 5 โมง ถ้า 181 นาฬิกา นิยมเรียกว่า 6 โมงเย็น หรือ ยํ่าคํ่า
  • ทุ่ม หมายถึง วิธีนับเวลาตามประเพณีสําหรับ 6 ชั่วโมงแรกของกลางคืน ตั้งแต่ 19-24 นาฬิกา เรียกว่า 1 ทุ่ม ถึง 6 ทุ่ม ซึ่ง 6 ทุ่ม มักนิยมเรียกว่าสองยาม หรือเที่ยงคืน
  • ตี เป็นวิธีนับเวลาตามประเพณีในเวลากลางคืน หลังเที่ยงคืนเป็นต้นไป ตั้งแต่ 1-6 นาฬิกา เรียกว่า ตี 1 ถึง ตี 6 แต่ตี 6 นิยมเรียกว่า ยํ่ารุ่ง

นอกจากนี้การที่นาฬิกาแบบเข็มถูกลดความสำคัญลง ทำให้คนรุ่นใหม่ไม่เข้าใจถึงที่มาของคำว่า “ตามเข็มนาฬิกา” (clockwise) และ “ทวนเข็มนาฬิกา” (counterclockwise) ซึ่งเป็นคำศัพท์ที่มาจากลักษณะการเดินของเข็มนาฬิกา ที่ยังปรากฏอยู่ในชีวิตประจำวัน เช่น การเปิดบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ เป็นต้น รวมถึงไม่เข้าใจความหมายเวลาบอกตำแหน่งและทิศเป็นเข็มนาฬิกา เช่น มองไปที่ 12 นาฬิกา หมายถึงให้มองไปข้างหน้า ถ้า 9 นาฬิกาให้มองไปทางซ้าย เป็นต้น

แน่นอนว่าภาษาและเทคโนโลยีต่าง ๆ ย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามเวลา เมื่อคนแต่ละรุ่นเติบโตมาด้วยอุปกรณ์ที่แตกต่างกัน ความคุ้นเคยที่มีต่อสิ่งเหล่านั้นจึงมีไม่เท่ากัน คนแต่ละรุ่นจึงจำเป็นต้องปรับตัว เรียนรู้ ทำความเข้าใจในสิ่งที่ยังคงพบเห็นได้ในชีวิตประจำวันอยู่ เช่น การใช้นาฬิกาแบบเข็ม แม้การอ่านเข็มนาฬิกาไม่ออก อาจไม่ได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตมากนัก แต่การรู้ย่อมดีกว่าการไม่รู้ และช่วยให้เข้าใจในสิ่งต่าง ๆ รู้ที่มาที่ไปมากยิ่งขึ้น


ที่มา: BBCDistractifyMetroThe New York TimesToday