เข้าออฟฟิศ จิบกาแฟ แล้วกลับบ้าน วิธีรับมือเมื่อถูกเรียกเข้าออฟฟิศ

เข้าออฟฟิศ จิบกาแฟ แล้วกลับบ้าน วิธีรับมือเมื่อถูกเรียกเข้าออฟฟิศ

“Coffee Badging” การเข้าออฟฟิศไปดื่มกาแฟสักแก้ว อยู่ออฟฟิศสักชั่วโมง ให้เจ้านายได้เห็นหน้า แล้วกลับบ้านไปทำงานต่อ เป็นการตอบโต้นายจ้างที่อยากให้พนักงานกลับเข้ามาทำงานในออฟฟิศ เพราะไม่เชื่อว่า Work Form Home จะทำให้งานมีประสิทธิภาพ

สถานการณ์การทำงานปัจจุบันไม่สามารถใช้โควิด-19 มาเป็น “ข้ออ้าง” ในการทำงานอยู่ที่บ้านได้อีกต่อไป บริษัทหลายแห่งเรียกพนักงานกลับเข้าออฟฟิศ แต่ดูเหมือนว่าพนักงานจะไม่ยอมง่าย ๆ พยายามหากลยุทธ์ใหม่ ๆ เพื่อจะได้ทำงานอยู่ที่บ้าน ล่าสุดเกิดเทรนด์ “Coffee Badging” ซึ่งเป็นการเข้าออฟฟิศไปดื่มกาแฟสักแก้ว อยู่ออฟฟิศสักชั่วโมง ให้เจ้านายได้เห็นหน้า แล้วกลับบ้านไปทำงานต่อ

 

  • พนักงานไม่อยากเข้าออฟฟิศ

Owl Labs บริษัทผลิตอุปกรณ์สำหรับการประชุมแบบ 360 องศา เผยแพร่รายงานสถานการณ์การทำงานแบบผสมผสาน (State of Hybrid Work) ประจำปี 2023 ซึ่งพบว่า บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Zoom, Meta, Salesforce และ J.P. Morgan พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้พนักงานกลับมาทำงานที่ออฟฟิศ ทั้งไม้อ่อน (ขอร้อง) และไม้แข็ง (บังคับ)

แฟรงก์ ไวชาวพ์ ซีอีโอของ Owl Labs กล่าวว่า พนักงานไม่อยากจะเสียเงินและเสียเวลาในการเข้าออฟฟิศบ่อย ๆ ถ้าหากพวกเขาเข้าไปแล้ว ต้องทำสิ่งเดิม ๆ ที่เขาสามารถนั่งทำจากที่บ้านได้อย่างสบาย ๆ ขณะที่บางคนรู้สึกว่าการทำงานในออฟฟิศทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานของพวกเขาลดลง แต่พวกเขาก็รู้ดีว่าหัวหน้าอยากให้กลับเข้าไปทำงานในออฟฟิศเหมือนยุคก่อนโควิด

เนื่องด้วยบริษัทต่าง ๆ ไม่ได้กำหนดว่าพนักงานจะต้องอยู่ในออฟฟิศกี่ชั่วโมงต่อวัน ทำให้พนักงานหลายคนใช้ช่องว่างนี้ เข้าออฟฟิศไปจิบกาแฟ และนั่งอยู่ในสำนักงานนานพอที่จะให้หัวหน้าได้เห็นหน้า รับรู้แล้วแล้วว่า พวกเขาเข้าออฟฟิศ หลังจากนั้นก็กลับบ้านไปทำงานเหมือนเดิม โดยวิธีนี้เรียกว่า “Coffee Badging”

รายงานของ Owl Labs พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 69% เชื่อว่านายจ้างต้องการให้พวกเขากลับมานั่งทำงานในออฟฟิศ แต่เหล่าพนักงานกว่า 60% กลับรู้สึกว่าเวลาทำงานอยู่บ้านมีประสิทธิภาพมากกว่าทำที่สำนักงาน 

ส่วน 58% พนักงานที่โดนเรียกตัวกลับเข้าออฟฟิศมักใช้วิธี Coffee Badging เข้าออฟฟิศไปให้เห็นเจ้านายเห็นหน้า แล้วกลับบ้านไปทำงานต่อ  ขณะที่ 8% ยังไม่เคยใช้ไอเดียนี้ แต่อยากลองทำดู

ไวชาวพ์กล่าวว่า การที่พนักงานอยู่ออฟฟิศเพียงครึ่งวัน (หรือน้อยกว่านั้น) ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะเป็นคนขี้เกียจ หรือใช้เวลานอกออฟฟิศเพื่อไปเที่ยวเล่นและพักผ่อน ซึ่งสามารถตีความได้ว่า พนักงานเหล่านี้เห็นความคุณค่าของสำนักงานในฐานะเป็นสถานที่ใช้พบปะ ติดต่องาน ประชุมกับเพื่อนร่วมงาน

รายงานสถานการณ์การทำงานแบบผสมผสาน แสดงให้เห็นว่าผู้ชายมีแนวโน้มที่จะออกจากออฟฟิศ (62%) มากกว่าผู้หญิง (38%) เมื่อพิจารณาตามช่วงอายุ พบว่า คนรุ่นมิลเลนเนียลเป็นกลุ่มคนที่มีแนวโน้มจะออฟฟิศมากที่สุด ตามมาด้วยเจน X เจน Z และเบบี้บูมเมอร์

ในปัจจุบันพนักงานหันมาให้คุณค่ากับ “ความยืดหยุ่นในการทำงาน” ดังนั้นพวกเขาจึงคาดหวังกับรูปแบบการทำงาน มากกว่า สถานที่ทำงาน ที่เป็นค่านิยมดั้งเดิม

  • นายจ้างไม่เชื่อมั่นประสิทธิภาพการทำงานจากบ้าน

ประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานยังคงเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้นายจ้าง “ไม่ไว้ใจ” ลูกจ้าง จนอยากให้พนักงานกลับมาทำงานในออฟฟิศ แม้ว่าช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จะพิสูจน์แล้วว่าการทำงานจากที่บ้านไม่ได้ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลงก็ตาม

ตอนนี้พนักงานต้องการความยืดหยุ่นในการทำงาน และไม่ได้ถูกจ้างมาเพื่อให้คนมานั่งจับผิดว่าพวกเขาทำงานหรือเปล่า” ไวชาวพ์เปิดเผย

ดูเหมือนว่าความต้องการของพนักงานจะสวนทางกับมาตรการของบริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่งใน Fortune 500 กลับมาให้พนักงานรตอกบัตรเข้าออกงาน เช่น Meta บริษัทแม่ของ Facebook กำหนดให้พนักงานเข้าออฟฟิศสัปดาห์ละ 3 วัน ถ้าพนักงานคนใดฝ่าฝืนจะถูกลงโทษทางวินัย อาจถึงขั้นโดนไล่ออก 

ส่วน JPMorgan ให้พนักงานกรอกเมมโมระบุเหตุผลว่าทำไมถึงไม่เข้าออฟฟิศ ไม่ว่าจะเหตุผลส่วนตัว เช่น วันหยุดหรือวันลาป่วย หรือออกไปพบลูกค้าก็ตาม

มาตรการของ Meta และ JPMorgan อาจจะเรียกได้ว่าดูเป็นเรื่องเด็ก ๆ เมื่อเทียบกับองค์กรอื่น ๆ แมตต์ โคเปิล (Matt Kopel) ซีอีโอร่วมของ SwiftConnect ผู้ให้บริการซอฟต์แวร์การเข้าถึงอาคารกล่าวว่า บางบริษัทเช็กหมายเลข IP เพื่อตรวจสอบว่าพนักงานทำงานอยู่ที่ไหน ขณะที่บางบริษัทล้ำกว่านั้น ใช้เซนเซอร์ความร้อนบนเพดานและเซนเซอร์ตรวจจับน้ำหนักที่อยู่บนเก้าอี้พนักงานตรวจจับว่าพนักงานเข้ามาทำงานในออฟฟิศหรือไม่

สำหรับไวชาวพ์แล้วการพยายามเช็กการเข้าทำงานของพนักงานถือว่าเป็น “ทำลายความไว้ใจ” อย่างยิ่ง เขากล่าวว่า “ถ้าผมต้องนั่งอยู่ที่โต๊ะตอนเย็นวันศุกร์ ทั้ง ๆ ที่ไม่มีอะไรให้ทำแล้ว แต่จะกลับบ้านก็ไม่ได้ เพราะกลัวเจ้านายจะโทรตาม ผมว่าคงมีปัญหาเรื่องความไว้ใจแล้วละ”

ไวชาวพ์ยังเสริมอีกว่า “ออฟฟิศไม่ใช้โรงเรียนประถม ที่จะต้องจ้างคนมาคอยดูว่าพนักงานทำงานตามที่ได้มอบหมายหรือไม่ เราจ้างพวกเขามาทำงาน มันเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของหัวหน้าที่จะต้องหาวิธีที่เหมาะสมเพื่อวัดประสิทธิภาพการทำงานให้ได้ มากกว่าไปนั่งจ้องว่าใครเข้าออฟฟิศหรือไม่”

บางทีบริษัทอาจจำเป็นต้องสร้างสภาพแวดล้อมของสำนักงานให้เป็นมิตรกับทำงาน สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปราศจากความเครียด เป็นที่ดึงดูดให้พนักงานกลับเข้าออฟฟิศ มากกว่าการบังคับหรือใช้มาตรการตรวจสอบการเข้าออฟฟิศของพนักงาน


ที่มา: CNBCForbesINSIDERWall Street Journal