ขอโทษนะ แล้วแบบนี้ใครจะเดิน เพื่ออะไร

ขอโทษนะ แล้วแบบนี้ใครจะเดิน เพื่ออะไร

ในยุคสมัยนี้ปัญหาด้านสุขภาพไม่ดี อันเนื่องมาจากโรคไม่ติดต่อ เป็นเรื่องที่พูดกันมากในทุกสังคมทั้งในระดับโลกและระดับประเทศ จนมีข้อแนะนำทางการแพทย์ออกมาว่า ให้เดินวันละหมื่นก้าวหรืออย่างน้อยก็ไม่ควรน้อยกว่า 8 พันก้าว

เพราะข้อค้นพบจากงานวิจัยบอกย้ำว่า การเดินเช่นนี้เป็นการออกกำลังกายที่ง่าย ทำได้ทุกที่ ไม่ต้องมีอุปกรณ์ราคาแพง และช่วยลดปัญหาเรื่องความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคอ้วน ฯลฯ ได้ชะงัดนัก

    ในยุคสมัยนี้อีกเช่นกัน ที่โลกกำลังรณรงค์เพื่อลดปัญหาโลกวิบัติ หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกันอย่างกว้างขวาง ไม่เว้นแม้แต่ภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม ภาคขนส่ง รวมทั้งภาคราชการและภาคประชาชน ในส่วนของภาคธุรกิจหรือภาคอุตสาหกรรมนั้น ภาคประชาชนอาจมีส่วนไม่ได้มากนัก แต่ในภาคการขนส่งเดินทางนี่เป็นเรื่องวิถีชีวิตปกติของประชาชนทุกคน

การเดินทางโดยยานพาหนะที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น น้ำมัน ก๊าซปิโตรเลียม ล้วนปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นตัวการให้เกิดปัญหาโลกร้อนจนจะมาเป็นโลกวิบัติอยู่แล้ว ในสัดส่วนที่สูงถึงร้อยละ 15 ถึง 25

ทั่วโลกจึงเห็นพ้องต้องกันว่า การลดก๊าซเรือนกระจกหรือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากภาคการขนส่งและเดินทางเป็นไฟต์บังคับที่ต้องทำอย่างเร่งด่วน  

หลายประเทศจึงได้ส่งเสริมรวมทั้งใช้งบประมาณอย่างจริงจัง ให้มีระบบที่เอื้อต่อการเดินทางที่ไม่ใช้เครื่องยนต์ ซึ่งก็คือการเดินและการใช้จักรยาน

         ถึงจะไม่พูดถึงเรื่องสุขภาพดีส่วนตัว หรือไม่พูดเรื่องที่ใหญ่มากและไกลตัวอย่างเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ก็ยังมีประเด็นที่ควรพูดถึงอยู่ดี  นั่นคือเรื่องมลพิษอากาศ ผุ่นจิ๋ว ฝุ่น PM2.5 ที่เป็นอันตรายถึงชีวิตหากสูดดมเข้าไปมากและเป็นเวลานานพอ

การเดินและการจักรยานเป็นมาตรการที่ลดมลพิษอากาศได้อย่างดี มีประสิทธิภาพ ถึงขนาดที่มีวันของสหประชาชาติว่าด้วย World Bicycle Day และ Car Free Day       

     จากที่กล่าวมาข้างต้น จึงสรุปเป็นอื่นไม่ได้สำหรับรัฐไทย นอกจากต้องสนับสนุนให้มีระบบที่เอื้อต่อการเดินและการใช้จักรยานได้อย่างสะดวกและปลอดภัย โดยเฉพาะในเขตเมือง เพื่อส่งเสริมและผลักดันให้คนไทยออกมาเดินมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเดินเพื่อสุขภาพของตัวเอง หรือการเดินเพื่อให้โลกเลิกร้อน

    แต่บริบทและสถานภาพการณ์ทางกายภาพปัจจุบันของบ้านเรา มันเอื้อให้คนไทยเปลี่ยนพฤติกรรมจนออกมาเดินกันมากขึ้นบ้างไหม จะตอบคำถามนี้ได้เราลองมาดูตัวอย่างของสภาพถนนและทางเดินที่สี่แยกแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานครกัน

ขอโทษนะ แล้วแบบนี้ใครจะเดิน เพื่ออะไร

    ในแผนที่ที่แนบมา จะเห็นได้ว่าคนเดินเท้าหากต้องการเดินข้ามสี่แยกจากมุมอาคารศูนย์การค้าแห่งหนึ่งไปยังวัดหรือสถานีรถไฟไฟฟ้าที่อยู่ฝั่งตรงข้าม เขาจะต้องหยุดรอไฟจราจรหรือไฟเขียวที่บอกว่าให้เดินข้ามได้ถึง 5 ครั้ง  

ครั้งแรกจากมุมอาคารฯ ที่ต้องรอไฟเขียวที่ 1 เพื่อเดินไปยังเกาะเล็กๆ ตรงทางเลี้ยวซ้ายของรถยนต์ ส่วนไฟเขียวที่ 2 คือจากเกาะเล็กๆนั้นต้องรอไฟเขียวก่อนเดินข้ามถนนไปยังเกาะใหญ่กลางถนนใต้สะพาน และจากเกาะใต้สะพานนี้ต้องรอไฟเขียวที่ 3 ก่อนจะเดินข้ามไปยังอีกฝั่งหนึ่งของถนน

จากนั้นก็ต้องเดินเลี้ยวซ้ายไปที่ไฟเขียวที่ 4 เพื่อรอที่จะเดินข้ามถนนไปที่อีกเกาะหนึ่ง แล้วต้องรอไฟเขียวอีกครั้ง เป็นครั้งที่ 5 เพื่อเดินข้ามถนนต่อไปยังวัดหรือสถานีรถไฟไฟฟ้าใต้ดินที่ฝั่งตรงข้าม

    จากตัวอย่างนี้ ไม่ว่าใครก็ตามก็คงไม่อยากเดิน จะเพื่อสุขภาพหรือเพื่อลดโลกร้อนก็ตาม เพราะนอกจากต้องรอไฟเขียวให้เดินข้ามถนนถึง 5 ครั้งต่อการข้ามสี่แยกเพียงครั้งเดียวแล้ว ไหนยังจะแดดร้อน ไหนจะเปียกหากฝนตกอีกด้วย

    “ขอโทษนะ แล้วแบบนี้ใครจะเดิน เพื่ออะไร” จึงเป็นประโยคที่สะท้อนความอึดอัดใจออกมาเป็นหัวข้อบทความนี้ดังข้างต้น

 เมื่อปี 2565 มีงานวิจัยที่สุ่มตัวอย่างจากครม.(คนรุ่นใหม่)ใน 13 ประเทศที่มีคนไทยด้วย  สรุปว่า ครม.ไทยสูงถึง 62 % เต็มใจที่จะเปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อโลกที่ดีขึ้น  

ดังนั้น หากผู้บริหารเมือง นักวางผัง นักการจราจร นักออกแบบ นักก่อสร้าง ฯลฯ ลองลงมาเดินดัวยตัวเองเอง จนเห็นปัญหาที่ประชาชนคนเดินเท้าต้องเผชิญอยู่เป็นปกติทุกวัน แล้วหาทางแก้ไขอย่างเป็นระบบให้เป็นรูปธรรมทั้งเมือง

ไม่ใช่เพียงแค่เพื่อจุดตัวอย่างนี้เท่านั้น ผมเชื่อว่าจะมี ครม.ไทยมากมายที่ยอมสละความสะดวกสบายส่วนตัว แล้วหันมาเดินเพื่อเมืองที่น่าอยู่ขึ้นของทุกคน  

         ถ้าทำได้จริงก็จะเป็นการยิงด้วยกระสุนนัดเดียวได้ผลที่ยิ่งใหญ่อย่างน้อยถึง 3 ประการทีเดียว