‘เลสลี จาง’ กับ 'อัตลักษณ์ทางเพศ' และ 'โรคซึมเศร้า' ในวันที่สังคมไม่เข้าใจ

‘เลสลี จาง’ กับ 'อัตลักษณ์ทางเพศ' และ 'โรคซึมเศร้า' ในวันที่สังคมไม่เข้าใจ

ย้อนรำลึก “เลสลี จาง” นักแสดงเจ้าบทบาทและราชาเพลงแคนโตป๊อป ผ่านชีวิต ผลงาน ความรัก ตัวตน อัตลักษณ์ทางเพศ และโรคซึมเศร้า 

(บทความนี้ มีการพูดถึงการฆ่าตัวตาย และโรคซึมเศร้า)

หากจะพูดถึงนักแสดงและนักร้องในยุคที่วงการบันเทิงฝั่งฮ่องกงโด่งดังสุดขีด หนึ่งในชื่อแรก ๆ ที่คนนึกถึงจะต้องมีชื่อของ “เลสลี จาง” (Leslie Cheung) อย่างแน่นอน แม้ว่าเขาจะจากโลกนี้ไปนานถึง 20 ปีแล้วก็ตาม แต่ชื่อของเลสลียังคงอยู่ในใจของแฟนคลับไม่เสื่อมคลาย

กรุงเทพธุรกิจพาย้อนตำนานความสำเร็จกว่า 26 ปีในวงการบันเทิงของ “เลสลี จาง” ผู้ที่ฝากผลงานระดับมาสเตอร์พีซไว้มากมายทั้งผลงานการแสดงและผลงานเพลง จนได้รับสมญานาม ราชาเพลงแคนโตป๊อป อีกทั้งยังถือเป็นคนแรก ๆ ของวงการบันเทิงฮ่องกงที่เปิดตัวว่าเป็นเกย์ต่อสาธารณชน

‘เลสลี จาง’ กับ \'อัตลักษณ์ทางเพศ\' และ \'โรคซึมเศร้า\' ในวันที่สังคมไม่เข้าใจ

  • แจ้งเกิดเลสลี จาง

จาง กั๋วหรง” หรือที่คนไทยรู้จักดีในชื่อ “เลสลี จาง” นักแสดง ศิลปินชื่อดังของวงการบันเทิงฮ่องกงในช่วงยุค 80-90 ซึ่งถือว่าเป็นช่วงเวลาที่อุตสาหกรรมบันเทิงฮ่องกงรุ่งเรืองถึงขีดสุด 

เลสลีเข้าสู่วงการบันเทิงโดยเข้าร่วมประกวดร้องเพลงในเวทีนักร้องสมัครเล่นยอดเยี่ยมแห่งเอเชีย (The Asian Amateur Singing Contest) เมื่อปี 1977 ด้วยบทเพลง “American Pie

แม้ว่าเลสลีจะไม่ได้เป็นผู้ชนะในค่ำคืนนั้น ได้อันดับที่ 2 มาครอง แต่ด้วยเสน่ห์บนเวทีของเขาก็เตะตาผู้บริหารของสถานีโทรทัศน์ RTV เข้าอย่างจัง จนได้เซ็นสัญญาเป็นนักแสดงของสถานี รวมถึงเป็นนักร้องภายใต้สังกัด Polydor 

เส้นทางในวงการบันเทิงช่วงแรกของเลสลีไม่ได้ประสบความสำเร็จมากนัก เขาเดบิวต์ในฐานะนักแสดงด้วยภาพยนตร์เรื่อง “ความฝันในหอแดง” (1978) ขณะที่ผลงานเพลงก็มีแต่อัลบั้มคัฟเวอร์เพลงสากล ซึ่งไม่ได้สร้างชื่อเสียงให้เลสลีเป็นที่รู้จักในฮ่องกงมากเท่าใดนัก ต่างจากในไทยที่เขาโด่งดังอย่างมากจากซีรีส์เรื่อง “นักสู้ผู้พิชิต” หรือ “กระบี่กระชากวิญญาณ” (1978) จนต้องบินลัดฟ้ามาโชว์ตัวที่ประเทศไทย

‘เลสลี จาง’ กับ \'อัตลักษณ์ทางเพศ\' และ \'โรคซึมเศร้า\' ในวันที่สังคมไม่เข้าใจ

ซีรีส์เรื่อง “นักสู้ผู้พิชิต” หรือ “กระบี่กระชากวิญญาณ” ผลงานอันโด่งดันของเลสลี จางในไทย

 

เมื่อหมดสัญญากับค่ายเดิม เลสลีได้เซ็นสัญญากับค่ายใหม่ ซึ่งในครั้งนี้เขาได้ปรับภาพลักษณ์ใหม่และได้ทำเพลงของตัวเองในแนวแคนโตป๊อป โดยเพลงที่ทำให้เขาแจ้งเกิดอย่างเต็มตัวจากเพลง “Monica” (1984)  ส่วนผลงานการแสดงที่ทำให้เลสลีโด่งดังในวงกว้างทั้งในฮ่องกงและเอเชีย มาจากภาพยนตร์เรื่อง “โหด เลว ดี” (1986) และ “โปเยโปโลเย เย้ยฟ้าแล้วก็ท้า” (1987) หลังจากนั้นไม่ว่าเขาจะปล่อยผลงานอะไรออกมา ไม่ว่าจะเป็นผลงานเพลงหรือผลงานเพลงล้วนประสบความสำเร็จทั้งสิ้น ทำให้เลสลีจางกลายเป็นซูเปอร์สตาร์แถวหน้าของฮ่องกงทันที

  • ตัวตนที่ต้องหลบซ่อน

เลสลี จางค้นพบว่าตนเองเป็นเกย์ตั้งแต่สมัยเรียนอยู่ไฮสคูลที่อังกฤษ แต่ด้วยหน้าที่การงานในวงการบันเทิงและสภาพสังคมที่ยังไม่ยอมรับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศทำให้เขาจำเป็นต้องปิดบังตัวตน แม้ว่าเขาจะคบหาดูใจกับ “แดฟฟี ถง” เพื่อนสมัยเด็กที่แม่ของเขารับเป็นลูกทูนหัวมาตั้งแต่เข้าวงการได้ไม่นาน 

ปี 1989 เลสลี่ตัดสินใจจัดคอนเสิร์ตอำลาวงการเพลง ท่ามกลางความเสียดายของแฟนเพลง เพราะในช่วงนั้นถือว่าเขากำลังขาขึ้นสุด ๆ หลังจากคอนเสิร์ตในครั้งนั้นจบ เลสลีและแดฟฟีได้ย้ายไปอยู่ที่แคนาดา เพื่อใช้ชีวิตกันอย่างสงบสุขและเปิดเผย ไม่จำเป็นต้องหลบซ่อนจากสายตาของทุกคนที่คอยจับจ้อง และไม่ต้องคอยตอบคำถามนักข่าว ว่าเขากำลังคบหาอยู่กับใคร หรือมีรสนิยมแบบใด

แต่ถึงอย่างนั้นเลสลียังคงรับงานแสดงในฮ่องกงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ในช่วงนั้นเขาต้องบินไปมาระหว่างแคนาดาและฮ่องกงอยู่บ่อยครั้ง และในที่สุดเขาและแดฟฟีย้ายกลับไปอยู่ที่ฮ่องกง โดยทั้งคู่ได้ซื้อบ้านใหม่และอาศัยอยู่ด้วยกัน

‘เลสลี จาง’ กับ \'อัตลักษณ์ทางเพศ\' และ \'โรคซึมเศร้า\' ในวันที่สังคมไม่เข้าใจ

เลสลีและแดฟฟีเดินจับมือกัน โดยมีปาปารัสซีตามถ่ายภาพ

 

ผลงานเด่นของเขาในช่วงนี้เป็นภาพยนตร์เรื่อง “Days of Being Wild” (1991) ของหว่อง กาไว ที่แม้จะทำรายได้ไม่ดี แต่ได้รับคำวิจารณ์ในแง่บวกจากนักวิจารณ์ และทำให้เขาได้รับรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมเป็นครั้งแรกจากเทศกาลภาพยนตร์ฮ่องกง

ต่อมาปี 1993 ชื่อเสียงของเลสลี จางกลายเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกจากภาพยนตร์เรื่อง “Farewell My Concubine” ที่เขารับได้รับบทเป็นนักแสดงงิ้วที่แอบชอบนักแสดงชายด้วยกัน จนทำให้เขาได้รับการเสนอชื่อเขาชิงรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจากเทศกาลหนังเมืองคานส์ กลายเป็นหนึ่งในผลงานชิ้นโบว์แดงของเขา และเป็นการรับบทเป็นชายรักชายครั้งแรกของเขาด้วยเช่นกัน

‘เลสลี จาง’ กับ \'อัตลักษณ์ทางเพศ\' และ \'โรคซึมเศร้า\' ในวันที่สังคมไม่เข้าใจ

เลสลี จางในภาพยนตร์เรื่อง Farewell My Concubine

 

  • พระจันทร์แทนใจ

จากนั้นในปี 1995 เลสลีกลับไปทำผลงานเพลงอีกครั้ง ซึ่งก็ยังได้รับความนิยมเช่นเดิม แต่ปีที่ถือว่าเป็นปีทองของเขาคงจะหนีไม่พ้นปี 1997 ที่ได้กลับไปเล่นภาพยนตร์กับหว่อง กาไวอีกครั้งในเรื่อง “Happy Together” ภาพยนตร์ที่เล่าเรื่องความสัมพันธ์ของคู่เกย์ที่มีความสัมพันธ์แบบทั้งรักทั้งเกลียด หนังเรื่องนี้ได้รับผลตอบรับที่ดีมากและกลายเป็นผลงานของเขาที่คนรู้จักมากที่สุด

ครั้งหนึ่งเลสลีเคยให้สัมภาษณ์ว่า “เหลียง เฉาเหว่ย” นักแสดงนำที่ต้องเล่นคู่กับเขาใน Happy Together ไม่ยอมเล่นฉากเลิฟซีน จนเขาต้องไปพูดกับเฉาเหว่ยว่า ทีนี้เข้าใจความรู้สึกของผมหรือยังเวลาที่ผมต้องทนเล่นเลิฟซีนกับพวกผู้หญิง? ซึ่งหลังจากนั้นเฉาเหว่ยก็ยอมเล่นบทเข้าพระเข้านายแต่โดยดี

‘เลสลี จาง’ กับ \'อัตลักษณ์ทางเพศ\' และ \'โรคซึมเศร้า\' ในวันที่สังคมไม่เข้าใจ

หนึ่งในซีนที่เป็นภาพจำที่สุดของ "Happy Together"

 

ขณะที่ ความสัมพันธ์กับแดฟฟีเป็นไปได้ด้วยดี มีหลายครั้งที่ทั้งคู่ออกไปเดทกันในพื้นที่สาธารณะ และปาปารัสซีสามารถจับภาพของทั้งคู่จับมือกันได้ แต่เลสลีก็พยายามหลีกเลี่ยงที่จะตอบตรง ๆ  

นอกจากนี้ ปี 1997 เลสลีได้จัดคอนเสิร์ตใหญ่อีกครั้ง ในคอนเสิร์ตนี้เขาได้ปรากฏตัวในชุดสูทสีดำพร้อมกับรองเท้าส้นสูงสีแดง ซึ่งสร้างความฮือฮาในแก่ผู้ชมเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังกล่าวก่อนที่จะร้องเพลง “The Moon Represents My Heart” (月亮代表我的心)

 

“คืนนี้ผมมีเพลงจะร้องให้แม่ และมอบใครอีกคนที่อยู่ในหัวใจของผม คนนั้นคือลูกทูนหัวของแม่ ในช่วงที่ผมลำบากที่สุด เขาให้เงินผมใช้หลายเดือน เขาอยู่กับผมในช่วงที่ลำบากที่สุด เขาคือเพื่อนที่ดีที่สุดของผม คุณถง” 

 

ดังนั้น คอนเสิร์ตครั้งนี้จึงเป็นการเปิดตัวต่อสาธารณชนอย่างเต็มตัวว่า เลสลีเป็นเกย์และกำลังคบหาอยู่กับแดฟฟีนั่นเอง ซึ่งเหตุการณ์นี้ทำให้เขาได้รับการยกย่องจากชุมชน ผู้มีความหลากหลายทางเพศในประเทศจีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน และฮ่องกง อีกทั้งผลตอบรับที่มีต่อคอนเสิร์ตออกมาในแง่บวกทั้งหมด ผู้ชมและแฟนคลับต่าง “ยอมรับ” ในตัวตนของเลสลีได้

อันที่จริงก่อนที่เปิดตัวอย่างเป็นทางการในคอนเสิร์ต เลสลีพยายามบอกอัตลักษณ์ทางเพศของเขาผ่านผลงานการแสดงของเขาอยู่เรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็น Farewell My Concubine หรือ Happy Together ที่รับบทเป็นชายรักชาย และกลายเป็นผลงานที่ดีที่สุดของเขา

 

 

  • โรคซึมเศร้าที่ไม่มีใครเข้าใจ

ทุกอย่างกำลังดำเนินไปได้ด้วยดี ชีวิตของเลสลีกำลังทะยานขึ้นจนถึงจุดสูงสุด เขามีความรักที่ดี การงานรุ่งเรือง แถมแฟนคลับก็ยอมรับในตัวตน จนกระทั่งปี 2000 เลสลีเปิดทัวร์คอนเสิร์ตครั้งใหม่ (และครั้งสุดท้าย) ในชื่อว่า “Passion Tour” หมายมั่นจะแสดงในหลายประเทศ ในครั้งนี้เขาได้ “ฌอง ปอล โกลติเยร์” ดีไซเนอร์ระดับโลก มาออกแบบชุดสำหรับคอนเสิร์ตครั้งนี้ด้วย ในคอนเซ็ปต์ “เทวาสู่ซาตาน” โดยเป็นเสื้อผ้าที่ผสมผสานระหว่างแฟชั่นไม่ระบุเพศ และวัฒนธรรมแดร็ก ซึ่งมีทั้งวิก และกระโปรง ซึ่งแสดงตัวตนของเลสลีได้อย่างขัดเจน

แน่นอนว่าสำหรับแฟนแล้ว ไม่ว่าเลสลีจะทำอะไร พวกเขาต่างยอมรับได้เสมอ และประสบความสำเร็จในหลายประเทศ แต่สำหรับสังคมและสื่อต่าง ๆ ในฮ่องกงไม่เป็นเช่นนั้น ดูเหมือนว่าเลสลีจะก้าวข้ามการยอมรับของสังคมและ “ล้ำสมัย” มากเกินไป ทำให้คำวิจารณ์ของคอนเสิร์ตนี้ไปในทางลบ และทำให้เขาต้องเผชิญกับถูกสังคมตีตรา การสอดแนม และการถูกกีดกันทางสังคมไปโดยปริยาย

หลังจากจบทัวร์เลสลีพยายามสร้างความท้าทายในเส้นทางอาชีพของเขาด้วยการเขียนบทและเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ เขาทุ่มเทให้ภาพยนตร์เรื่องนี้อย่างหนัก พยายามติดต่อนักแสดงและหานายทุนสำหรับการสร้างภาพยนตร์ แต่สุดท้ายหนังเรื่องนี้ก็ไม่ได้เกิดขึ้น เพราะว่านายทุนของเขาถูกจับ ทำให้ต้องถอนทุนไปโดยปริยาย

หลังจากความผิดหวังทั้งจากทัวร์คอนเสิร์ตในฮ่องกงและภาพยนตร์ที่หวังจะทำให้กลับมายืนได้อีกครั้ง เขาเริ่มมีอาการป่วย ทั้งตาพร่ามัว มือสั่น เจ็บปวดตามร่างกาย ไม่มีสมาธิ จนไม่สามารถทำงานได้ แม้ว่าจะไปหาหมอแล้วก็ไม่ทำให้อาการเหล่านี้ดีขึ้น 

เลสลีจมปลักอยู่ในบ้าน ไม่ยอมออกไปไหน ร้อนถึงแดฟฟีทำการนัดให้คนรักเข้าพบจิตแพทย์ที่บ้านพี่สาวของเขา เพราะเหล่าปาปารัสซีมักตามติดจนไม่สามารถไปหาหมอที่โรงพยาบาลได้ เลสลีได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น “โรคซึมเศร้า” และเข้ารับการรักษา เมื่ออาการทุเลาลง เขากลับไปทำงานได้บ้าง เริ่มปรากฏตัวในงานประกาศรางวัลต่าง ๆ

 

  • นกไร้ขา กลับสู่ดิน

1 เม.ย. 2003 เวลา 18.43 น. ตามเวลาท้องถิ่น มีข่าวออกมาว่า เลสลี จาง ตกลงมาจากชั้น 24 ของโรงแรมแมนดาริน โอเรนเต็ล ในเขตเซ็นทรัล ของฮ่องกง ซึ่งในตอนนั้นคนต่างคิดว่าเป็นเรื่องโกหก เพราะเหตุการณ์เกิดขึ้นในวันเมษาหน้าโง่ จนกระทั่งแดฟฟีได้ออกมายืนยัน พร้อมพบกับจดหมายที่เลสลีเขียนไว้ว่า

 

“ภาวะซึมเศร้า!

ขอบคุณมากสำหรับเพื่อน ๆ ทุกคน

ขอบคุณมากสำหรับศ.เฟลิซ ลี-มัค (จิตแพทย์คนสุดท้ายของเลสลี)

ปีนี้เป็นปีที่โหดมาก

ผมทนไม่ไหวแล้ว

ขอบคุณมากนะ ถง ถง (ชื่อเล่นของแดฟฟี)

ขอบคุณมากนะครอบครัวของผม

ขอบคุณมากนะพี่เฟย

ในชีวิตนี้ ผมไม่ได้ทำอะไรไม่ดีเลย

ทำไมถึงต้องเป็นแบบนี้ด้วย???”

 

การจากไปของเลสลีทำให้ให้แฟนคลับหลายล้านคนช็อกและเสียใจเป็นอย่างมาก ถึงอย่างนั้นเขายังคงอยู่ในหัวใจของแฟนคลับทุกคน แม้ว่าเลสลีจะจากโลกนี้ไป 20 ปีแล้ว แต่เมื่อถึงวันครบรอบการเสียชีวิตของเลสลี คนที่รักเขาต่างพากันนำดอกไม้ไปวางที่โรงแรมแมนดาริน โอเรนเต็ลอยู่เสมอ นอกจากนี้ยังทำให้โรคซึมเศร้าและการยอมรับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศเป็นที่พูดถึงในวงกว้าง

ขณะที่ แดฟฟียังคงไม่มีคนรักใหม่จนถึงปัจจุบัน ในทุกเทศกาล รวมถึงวันเกิดและวันครบรอบการเสียชีวิตของเลสลี แดฟฟีจะลงรูปของเลสลีเสมอ โดยคนที่รักเลสลีเข้าไปคอมเมนต์แสดงความรักและคิดถึง พร้อมให้กำลังใจแดฟฟี

‘เลสลี จาง’ กับ \'อัตลักษณ์ทางเพศ\' และ \'โรคซึมเศร้า\' ในวันที่สังคมไม่เข้าใจ

ภาพของเลสลีที่แดฟฟีลงในอินสตาแกรมส่วนตัว เมื่อครบรอบ 20 ปีที่เลสลีเสียชีวิต

 

หลายคนมักจะเปรียบเทียบชีวิตของเลสลี จาง ว่าเหมือนกับตัวละครที่เขาเล่นในภาพยนตร์เรื่อง Days of Being Wild ที่มีประโยคทองว่า 

“ผมเคยได้ยินเรื่องนกไร้ขา มันเอาแต่บินและบิน พอเหนื่อยก็นอนในสายลม ชีวิตของมันจะลงดินเพียงครั้งเดียว เมื่อตอนมันตาย” 


บทความ: กฤตพล สุธีภัทรกุล
ที่มา: Cinema EscapistDazed, People You May KnowSouth China Morning PostThe Pink News


‘เลสลี จาง’ กับ \'อัตลักษณ์ทางเพศ\' และ \'โรคซึมเศร้า\' ในวันที่สังคมไม่เข้าใจ