ย้อนรอย “โฟร์โมสต์” ก่อนจะหยุดขาย “นมพาสเจอไรซ์” เพราะขาดทุน 1.3 พันล้าน

ย้อนรอย “โฟร์โมสต์” ก่อนจะหยุดขาย “นมพาสเจอไรซ์” เพราะขาดทุน 1.3 พันล้าน

รู้จัก "โฟร์โมสต์" แบรนด์นมพร้อมดื่มที่อยู่คู่คนไทยมานานกว่า 60 ปี ตั้งแต่ปี 2499 จนถึงปัจจุบัน ภายใต้การดำเนินธุรกิจของบริษัทฟรีสแลนด์คัมพิน่า ซึ่งเป็นหนึ่งในสหกรณ์โคนมที่ใหญ่ที่สุดในโลก

เมื่อ “โฟร์โมสต์” ออกประกาศผ่านทางแฟนเพจเฟซบุ๊ก ระบุว่า ยุติการจัดส่งสินค้านมพาสเจอไรซ์ โดยมีคำชี้แจงว่า “ขอแจ้งว่าเป็นการพิจารณาอย่างรอบคอบตามแนวทางการดำเนินธุรกิจเชิงกลยุทธ์ของบริษัทฯ โดยบริษัทจะมุ่งเน้นการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมที่หลากหลาย สามารถเก็บรักษาได้ยาวนานมากยิ่งขึ้น”

นอกจากนี้ยังได้ออกมาชี้แจงเพิ่มเติมถึงสถานการณ์ที่บริษัทกำลังเผชิญ และนำมาสู่การตัดสินใจ “ปิดโรงงานหลักสี่” ซึ่งเป็นโรงงานแห่งแรกของบริษัทที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2499 โดยปิดฉากลงเมื่อ 30 มิ.ย.65 ที่ผ่านมา

โฟร์โมสต์ คือแบรนด์นมพร้อมดื่มที่อยู่คู่คนไทยมากกว่า 60 ปี จึงไม่น่าแปลกใจที่คนไทยจำนวนไม่น้อยจะรู้สึกผูกพันกับนมยี่ห้อนี้ ทั้งนี้มีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับโฟร์โมสต์ที่น่าสนใจ กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ขอพาไปรู้จัก “โฟร์โมสต์” ให้มากขึ้น

 

ย้อนรอย “โฟร์โมสต์” ก่อนจะหยุดขาย “นมพาสเจอไรซ์” เพราะขาดทุน 1.3 พันล้าน

  • ฟรีสแลนด์คัมพิน่า ทุ่งหญ้าแห่งนมคุณภาพ

ปัจจุบัน “โฟร์โมสต์” เป็นของ บริษัทฟรีสแลนด์คัมพิน่า (ประเทศไทย) มีกลุ่มทุน “เนเธอร์แลนด์” เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และ จดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชน เมื่อวันที่ 20 พ.ค. 2537 โดยบริษัทแห่งนี้เป็นหนึ่งในสหกรณ์โคนมที่ใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยจำนวนเกษตรกรที่ร่วมถือหุ้นกว่า 12,000 ราย ในเนเธอร์แลนด์ เยอรมนี เบลเยียม ปัจจุบันมีบริษัทในเครือกว่า 34 ประเทศทั่วโลก

สำหรับ "ฟรีสแลนด์" คือพื้นที่ทางตอนเหนือของประเทศเนเธอร์แลนด์ซึ่งรู้จักกันดีในด้านทุ่งหญ้าเขียวขจี ทะเลสาบสุดสวย ท้องฟ้าสีครามสดใส และฝูงโคพันธุ์ฟรี เซียนที่สมบูรณ์

ส่วน “คัมพิน่า” เป็นชื่ออีกย่านที่อุดม สมบูรณ์ไปด้วยต้นไม้และทุ่งหญ้าในประเทศเนเธอร์แลนด์ตั้งขึ้นโดยชาวโรมันเมื่อ 20 ศตวรรษมาแล้ว ทุ่งหญ้าที่อุดมสมบูรณ์แห่งนี้จึงกลายเป็นฟาร์มอีกแห่งหนึ่งที่สามารถผลิตนมโคอันดับต้นๆ ของโลก โดยในปี ค.ศ.1871 เกษตรกรได้ร่วมมือกันสร้างชุมชนขึ้นโดยมีพันธะสร้างฟาร์มโคนมอย่างยั่งยืนเพื่อให้ได้มาซึ่งผลผลิตที่มีคุณภาพดีขึ้น

  • ความทรงจำต่อ "โฟร์โมสต์"

ถ้าหากดูแค่ปีที่ "โฟร์โมสต์" จดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชน ก็นับได้แค่ 28 ปีเท่านั้น แต่ทำไมถึงบอกว่าโฟร์โมสต์อยู่คู่คนไทยมากกว่า 60 ปี? คำตอบคือ ก็เพราะว่านมโฟร์โมสต์ในตอนแรกเริ่ม ก่อกำเนิดขึ้นมายาวนานกว่านั้น โดยมีไทม์ไลน์ ดังนี้

  • ปี 2499 โฟร์โมสต์ เป็นแบรนด์อิมพอร์ต โดยมีนักธุรกิจชาวไทยและอเมริกัน ภายใต้ชื่อบริษัทโฟร์โมสต์อาหารนม (กรุงเทพฯ) จำกัด เน้นขายผลิตภัณฑ์ไอศกรีมและนมคืนรูป
  • ปี 2512 เพิ่มผลิตภัณฑ์นมข้นหวานและนมข้นจืด
  • ปี 2521 เริ่มผลิตเพื่อการส่งออกไปยังประเทศในแถบทวีปเอเชีย ได้แก่ สิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวัน และลาว
  • ปี 2527 เริ่มจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมยูเอชที
  • ปี 2535 โฟร์โมสต์ ขายธุรกิจไอศกรีมให้แก่วอลล์ และเปิดร้านไอศกรีมชื่อ “ศาลาโฟร์โมสต์” ซึ่งเปิดสาขาอยู่กับโรงภาพยนตร์ขนาดใหญ่ในกรุงเทพมหานคร เช่น ศาลาเฉลิมไทย โรงภาพยนตร์สยาม

สรุปแล้ว จนถึงปัจจุบันแบรนด์โฟร์โมสต์ มีอายุรวมประมาณ 66 ปี และแบรนด์นี้ไม่ใช่เป็นแค่ผู้ขายเท่านั้น แต่โฟร์โมสต์เป็นหนึ่งในผู้รับซื้อน้ำนมดิบรายใหญ่จากสหกรณ์โคนมไทยกว่า 100 ล้านลิตรต่อปี และมีการกระจายความรู้ฟาร์มโคนมจากเนเธอร์แลนด์สู่ฟาร์มคนไทย

 

  • นมพาสเจอไรซ์เลิกผลิตแล้วเหลืออะไร ต่างกันยังไง?

หลังจากที่ โฟร์โมสต์ยุติการจัดส่งสินค้านมพาสเจอไรซ์ แต่ก็ใช่ว่าจะงดผลิตภัณฑ์อื่นๆ ด้วย โดยปัจจุบันมี 5 ไลน์สินค้าหลักๆ คือ นม UHT นมข้นหวาน นมข้นจืด โยเกิร์ตพร้อมดื่ม

นมยูเอชที = นมที่ผ่านการให้ความร้อนสูงมากในระยะเวลาสั้นมาก เก็บรักษาได้นานหลายเดือน

นมพาสเจอไรซ์ = ผ่านการให้ความร้อนเพื่อกำจัดจุลินทรีย์ที่ก่อโรคทั้งหมด และจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดการเน่าเสียเกือบทั้งหมด เหมือนนมสดมากที่สุด

นมข้นหวาน = นมสดระเหยน้ำ และใส่น้ำตาล

นมข้นจืด = นมสดระเหยน้ำ

โยเกิร์ตพร้อมดื่ม = รู้จักในชื่อนมเปรี้ยว มาจากนมสดที่หมักกับจุลินทรีย์

โดยหนึ่งในวิธีการแบ่งประเภทนมโคพร้อมดื่ม คือ การแยกตามกระบวนการให้ความร้อน ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทหลัก ได้แก่ นมสเตอริไลซ์ (sterilized milk) ที่มีการให้ความร้อนในระดับสูงสุด ตามด้วย นมยูเอชที (UHT milk) และนมพาสเจอไรซ์ (pasteurized milk) ซึ่งการให้ความร้อนถือเป็นกระบวนการสำคัญในการเก็บรักษานม เนื่องจากเป็นการทำลายจุลินทรีย์ทั้งที่ก่อให้เกิดโรค และจุลินทรีย์ที่ทำให้อาหารเสื่อมเสีย เพื่อให้ปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค เพราะนมเป็นอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วนเหมาะแก่การเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ 

นมสเตอริไลซ์ มักอยู่ในบรรจุภัณฑ์ที่เป็นกระป๋องโลหะ และมีอายุการเก็บได้นานถึง 12 เดือน อย่างไรก็ดีถึงแม้จะมีอายุการเก็บนานที่สุด แต่ด้วยผลิตภัณฑ์ผ่านการฆ่าเชื้อด้วยอุณหภูมิที่สูงเป็นระยะเวลานาน ทำให้มีการเปลี่ยน แปลงในรสชาติ สี และสูญเสียวิตามินบางชนิด

นมยูเอชที มีการให้ความร้อนที่อุณหภูมิสูงแต่ใช้ระยะเวลาสั้นกว่า ดังนั้นการสูญเสียวิตามินจะมีเพียงเล็กน้อยอย่างไม่มีนัยสำคัญมีอายุการเก็บประมาณ 6-8 เดือน

นมพาสเจอไรซ์ มีการให้ความร้อนที่ระดับต่ำและมีอายุการเก็บต่ำที่สุดประมาณ 10 วัน โดยต้องเก็บไว้ในตู้เย็น ข้อดีของการให้ความร้อนในระดับนี้คือรสชาติและสีของนมจะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งนี้ทั้งนั้นการสูญเสียวิตามินจะมีเพียงเล็กน้อยเช่นเดียวกับนมยูเอชที

 

  • โฟร์โมสต์กับวิกฤติที่เผชิญอยู่

บริษัท ฟรีสแลนด์คัมพิน่า เฟรช (ประเทศไทย) จำกัด ตัดสินใจยุติการดำเนินธุรกิจนมพาสเจอไรส์ในประเทศไทย และ ปิดโรงงานผลิตที่หลักสี่ โดยมีผลอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา

โดยมีเหตุผลเพื่อเปลี่ยนแปลงและปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ต่างๆ อย่างดีที่สุด ทั้งนี้ บริษัทฯ จะให้ความช่วยเหลืออย่างสุดความสามารถ แก่พนักงานที่ได้รับผลกระทบจากการปิดโรงงานดังกล่าว

เมื่อย้อนดูบริษัท ฟรีสแลนด์คัมพิน่า (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตนมยี่ห้อ “โฟร์โมสต์” นำส่งงบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2564 ขาดทุนกว่า 1.3 พันล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2563 ที่มีกำไรราว 289 ล้านบาท ถือว่าผ่านไปแค่ปีเดียว ขาดทุนหนักถึง 180% และนับเป็นการขาดทุนครั้งแรกในรอบ 8 ปี ซึ่งการขาดทุนของบริษัทอาจจะเป็นสาเหตุของการปรับตัวในที่สุดเพื่อให้โฟร์โมสต์ได้ไปต่อ

---------------------------------------

อ้างอิง : foremostthailand