"กาแฟรสพระทำ" เมื่อนักบวชเปิด "โรงคั่วกาแฟ"

"กาแฟรสพระทำ" เมื่อนักบวชเปิด "โรงคั่วกาแฟ"

อดีตกาล "กาแฟ" เคยเป็นเครื่องดื่มต้องห้ามของคริสต์ศาสนา แต่ปัจจุบันกาแฟกลายมาเป็นหนึ่งในเครื่องดื่มที่พระหรือ "นักบวช" หลายนิกายในคริสต์ศาสนา ผลิตออกจำหน่ายจนกลายเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญ

มีเรื่องเล่าขานว่า ในศตวรรษที่ 16 เครื่องดื่ม กาแฟ ถูกประณามจากโบสถ์คริสต์ต่างๆในยุโรปว่าเป็น "เครื่องดื่มปิศาจ" หรือ "น้ำขมจากซาตาน" ถือเป็นสิ่ง "นอกกฎหมาย" จนพระสันตะปาปาเคลมองต์ที่ 8 ได้ทรงทดลองชิมกาแฟด้วยตัวเอง แล้วเอ่ยขึ้นว่า “เครื่องดื่มของซาตานถ้วยนี้...อร่อยมาก เราควรโกงปิศาจด้วยการล้างบาปให้กาแฟเสียเลย” พร้อมทำพิธีบัพติศมา (Baptize) รับกาแฟเข้าไว้ในศาสนาคริสต์นับจากบัดนั้นมา

ปัจจุบัน “กาแฟ” กลายมาเป็นหนึ่งในเครื่องดื่มที่พระหรือนักบวชหลายนิกายในคริสต์ศาสนา ผลิตออกจำหน่ายจนกลายเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญ เพื่อดำรงชีวิต, เพื่อกิจการทางศาสนา เช่น ซื้อที่ดินสร้างโบสถ์หรือที่อยู่อาศัยของพระ และเพื่อตอบแทนสังคมในรูปแบบการกุศล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กาแฟคั่วบดที่ผลิตโดย “คณะนักบวช” ในสหรัฐอเมริกา ดูจะได้รับความนิยมจากชุมชนโดยรอบอารามอยู่ไม่น้อย มีร้านกาแฟและร้านค้าปลีกนำไปจำหน่าย รวมไปถึงลูกค้าจากต่างประเทศก็สามารถเข้ามาซื้อทางเว็บไซต์ออนไลน์ได้ด้วยเช่นกัน

\"กาแฟรสพระทำ\" เมื่อนักบวชเปิด \"โรงคั่วกาแฟ\" กาแฟกลายเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของวัดคริสต์หลายแห่ง / ภาพ : mysticmonkcoffee.com

เท่าที่ผู้เขียนทราบมา เครื่องดื่มจากฝีมือพระทำที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก ก็เห็นจะเป็น เบียร์แทรปปิสต์ (Trappist beer) ซึ่งเป็นเบียร์ที่ผลิตขึ้นโดยคณะนักบวชนิกายแทรปปิสต์ในยุโรป โดยเฉพาะในเบลเยียม มีสมาคมทราปปิสต์ระหว่างประเทศเป็นผู้กำหนดกฎระเบียบการผลิต เน้นที่ต้องไม่เป็นกิจการที่แสวงหากำไร และต้องทำกันภายในเขตรั้วบริเวณวัดเท่านั้น

แม้เบียร์รสพระทำโด่งดังในยุโรป แต่ กาแฟรสพระทำ ในฝั่งสหรัฐอเมริกานั้นมีชื่อเสียงมากทีเดียว

\"กาแฟรสพระทำ\" เมื่อนักบวชเปิด \"โรงคั่วกาแฟ\"

เนื่องจากไม่ได้มีเงินบริจาคเข้ามามากมายอะไรนัก บราเธอร์หรือนักบวชที่คั่วกาแฟขายหาทุนใช้ในกิจการของสงฆ์ ถือเป็นเรื่องปกติในสหรัฐอเมริกา ที่ดูเหมือนจะเป็นข่าวและพูดถึงกันมากตามเว็บไซ ก็คือ โรงคั่วกาแฟ "มีสติค มังค์ ค๊อฟฟี่" (Mystic Monk Coffee) ของวัด Carmelite Monks of Wyoming ในรัฐไวโอมิ่ง เปิดดำเนินธุรกิจคั่วกาแฟจำหน่ายมาตั้งแต่ปีค.ศ. 2007 หรือ 15 ปีมาแล้ว มีโลโก้แบรนด์เป็นรูปพระยืนจิบกาแฟ ท่ามกลางขุนเขาและฟ้าใสๆ สอดคล้องกับสถานที่ตั้งของวัดที่อยู่บนเทือกเขาร็อคกี้

จุดประสงค์ของการเปิดโรงคั่วกาแฟรสพระทำ "มีสติค มังค์ ค๊อฟฟี่" นั้น ก็เพื่อหาทุนรอนมาสานต่อสิ่งปลูกสร้างต่างๆภายในวัดให้เสร็จ และเพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวันในฐานะนักบวช อย่างไรก็ดี ต้องยึดจับกฎข้อบัญญัติไว้แน่นๆ ตรงที่ว่า การขายกาแฟเป็นเพียงกิจการรองจากกิจกรรมหลักทางศาสนา

\"กาแฟรสพระทำ\" เมื่อนักบวชเปิด \"โรงคั่วกาแฟ\" โรงคั่วกาแฟรสพระทำ "มีสติค มังค์ ค๊อฟฟี่" / ภาพ : mysticmonkcoffee.com  

ในระยะแรกๆ มีการซื้อสารกาแฟจากมาคั่ว ใช้ “กระทะเหล็กหล่อ” เป็นอุปกรณ์ มีโรงครัวของวัดเป็นสถานที่ดำเนินการ ต่อมา เมื่อขายกาแฟและสินค้าอื่นๆจนมีรายได้มากพอ จึงนำไปขยับขยายกิจการผ่านทางซื้อเครื่องคั่วกาแฟแบบเชิงพาณิชย์ เพื่อตอบรับต่อออร์เดอร์ของลูกค้าที่มีเข้ามาอยู่มิได้ขาด แล้วก็ใช้โรงรถนั่นแหละทำหน้าที่เป็นโรงคั่วกาแฟ

การผลิตกาแฟของ "โรงคั่วกาแฟรสพระทำ" แห่งนี้ ไม่ต่างไปจากบริษัทผลิตกาแฟ มีการออกแบบแบรนด์สินค้า, ขายผลิตภัณฑ์กาแฟเกี่ยวเนื่อง และใช้แฟลตฟอร์มออนไลน์เป็นช่องทางจำหน่าย ขาดเพียงสิ่งเดียวก็คือไม่ได้ทำการตลาดเพื่อโปรโมทสินค้าแบบรัวๆ

แล้วอยู่ดีๆ ไฉนวัดในคริสต์ศาสนาบนเทือกเขาร็อคกี้ จึงเข้าสู่ธุรกิจคั่วกาแฟขาย ... เรื่องราวต้องย้อนกลับไปเมื่อเกือบ 20 ปีก่อน มีบราเธอร์ท่านหนึ่งเกิดไอเดียอยากขายกาแฟเพื่อให้เป็นโปรเจ็กต์หารายได้เข้าวัด หลังจากพี่สาวของบราเธอร์ท่านนี้ได้เดินทางไปยังประเทศคอสตาริก้าแล้วซื้อไร่กาแฟเล็กๆแห่งหนึ่งเอาไว้ ในอดีตนั้น บราเธอร์เคยมีอาชีพเป็น “บาริสต้า” มาก่อน และชอบดื่มกาแฟเป็นชีวิตจิตใจ 

สงสัยอีกว่าแล้วบรรดาบราเธอร์เหล่านี้เอาเวลาที่ไหนมาทำธุรกิจด้านกาแฟ เพราะเป็นกิจการที่มีขั้นตอนเยอะและใช้เวลาไม่น้อยทีเดียว ไหนจะคั่ว ไหนจะชง ไหนจะชิม ไหนจะขายอีก น่าจะเป็นคำถามที่หลายๆ ท่านรวมทั้งตัวผู้เขียนเองอยากรู้เช่นกัน

ในเว็บไซต์ของ "มีสติค มังค์ ค๊อฟฟี่" บอกเอาไว้ดังนี้... หลังจากเสร็จสิ้นการฝึกจิตวินิจฉัย และสวดมนต์ตั้งแต่เช้าตรู่แล้ว บรรดานักบวชจะเริ่มลงมือคั่วกาแฟตามออร์เดอร์ และขายเมล็ดกาแฟทางออนไลน์ ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าไม่ต่างไปจากวิถีของนักบวชแทรปปิสต์ที่ต้มเบียร์ขาในยุโรปที่สวดมนต์ภาวนาและศึกษาคัมภีร์ในช่วงเช้า ก่อนเข้าสู่การผลิตเบียร์ในช่วงบ่าย เรียกว่าสวดมนต์ไป ทำงานไป ภายใต้ปรัชญา "Ora et labora" ซึ่งแปลว่า “pray and work”ของคณะสงฆ์ที่ยึดกฎของนักบุญเบเนดิกต์

บราเธอร์ที่เป็นมือคั่วกาแฟเองก็สงสัยอยู่เหมือนกันว่า กาแฟฝีมือรสพระทำนั้นรสชาติดีพอที่จะได้รับ “คะแนนรีวิว” จากนักชิมกาแฟระดับมือกาแฟหรือไม่  ดังนั้นจึงจัดส่งกาแฟคั่วที่บราเธอร์เบลนด์ขึ้นเองจากการผสมผสานของกาแฟชั้นดี 2 แหล่งปลูก ได้แก่ ละตินอเมริกากับเอธิโอเปีย ตั้งชื่อว่า Christmas Blend Coffee ไปให้ "เคนเนธ เดวิดส์" เทสเตอร์กาแฟชื่อดัง ผู้เขียนตำราว่าด้วยศาสตร์และศิลป์ของกาแฟไว้ถึง 3 เล่มด้วยกัน ลองชิมดู ปรากฎว่า ได้คะแนนสูงถึง 91 คะแนนทีเดียว ขณะที่คะแนนจากนักรีวิวอีกหลายสิบคนก็ให้สูงเกิน 90 คะแนนด้วยกันทั้งสิ้น จากวันนั้นมา กาแฟจากโรงคั่วรสพระทำก็เริ่มมีชื่อเสียงขึ้นเรื่อยๆ

\"กาแฟรสพระทำ\" เมื่อนักบวชเปิด \"โรงคั่วกาแฟ\" เมล็ดกาแฟคั่วบรรจุถุงยอดนิยมของแบรนด์ "มีสติค มังค์ ค๊อฟฟี่" / ภาพ : mysticmonkcoffee.com

มาถึงวันนี้ โรงคั่วมีสติค มังค์ ค๊อฟฟี่ นำเข้าสารกาแฟอาราบิก้ามาจากหลายแหล่งปลูกด้วยกัน เช่น เอธิโอเปีย, เปรู,โคลอมเบีย, กัวเตมาลา, บราซิล, เม็กซิโก และปาปัว นิวกินี ฯลฯ แล้วกาแฟก็มีขายหลากรูปแบบมาก ตั้งแต่กาแฟคั่วบรรจุถุงทั้งแบบเบลนด์และซิงเกิลออริจิ้นในทุกระดับการคั่ว, กาแฟดีแคฟที่มีคาเฟอีนต่ำ ไปจนถึงกาแฟแคปซูล  

บางตัวเป็นกาแฟที่ใช้ "สารแต่งกลิ่น" (flavored coffee) แน่นอน บราเธอร์ท่านบอกไว้ชัดเจนบนฉลากสินค้าให้ลูกค้าทราบว่า ใช้สารแต่งกลิ่นแบบไหน ธรรมชาติหรือสังเคราะห์

หลังจากคั่วกาแฟขายอยู่หลายปี ก็มีเงินทุนเพียงพอที่จะใช้ในกิจการของสงฆ์ตามเป้าหมายที่วางเอาไว้ เช่น ซื้อที่ดินเพื่อขยายอาณาเขตของวัด และสร้างสิ่งปลูกสร้างเพิ่มเติม เช่น อารามหินแบบศิลปะโกธิค, เรือนพัก 24 แห่งเพื่อให้พระภิกษุแต่ละคนได้พักอาศัยและสวดมนต์,โรงอาหารใหม่, บ้านพักรับรอง, หอประชุม และแน่นอน โรงคั่วกาแฟแท้ๆ ด้วย ไม่ต้องหยิบยืมโรงเก็บรถมาใช้อีกต่อไป

ในนิวเม็กซิโก รัฐทางตอนใต้ของสหรัฐอเมริกา ก็มีโรงคั่ว "กาแฟรสพระทำ" ที่น่าสนใจอยู่แห่งหนึ่ง ชื่อว่า โรงคั่ว “แอบบีย์ โรสต์ ค๊อฟฟี่” (Abbey Roast Coffee) ของคณะสงฆ์ Our Lady of Guadalupe Monastery ดำเนินกิจการคั่วและขายเมล็ดกาแฟบรรจุถุงเพื่อใช้เลี้ยงชีพและเพื่อกิจการของสงฆ์เช่นกัน  มีผลิตภัณฑ์วางจำหน่ายทางเว็บไซต์และร้านค้าภายในรัฐ  แต่ดูเหมือนขนาดธุรกิจกำลังเติบโต เพราะยังใช้เครื่องคั่วกาแฟขนาดเล็กแบบแบชละ 1-2 กิโลกรัมอยู่ 

มือคั่วกาแฟของโรงคั่วแอบบีย์ โรสต์ ค๊อฟฟี่ คือบราเธอร์ที่เคยทำงานเป็นสถาปนิกในนิวยอร์กมาก่อน และก็เป็นคนจุดประกายให้ทางวัดเริ่มเข้าสู่ธุรกิจกาแฟ หลังจากเมื่อหลายปีก่อนหน้า บราเธอร์ท่านนี้เดินทางไปยังเยือนวัดคริสต์แห่งหนึ่งใน “บราซิล” ที่มีไร่กาแฟของชาวบ้านอยู่ล้อมรอบ จึงมีโอกาสเรียนรู้เรื่องกาแฟและฝีกคั่วกาแฟไปในตัวด้วย เมื่อกลับมาจากบราซิล จึงเสนอแผนหารายได้โดยการเปิดโรงคั่วให้ทางวัดต้นสังกัดพิจารณา

แม้ว่าจะเคยฝึกคั่วกาแฟมาก่อน แต่การทำธุรกิจคั่วกาแฟขายให้ประสบความสำเร็จ มันเป็นเรื่องใหญ่ ต้องใช้ทักษะมากกว่านี้ ทางวัดจึงส่งบราเธอร์หลายคนไปเรียนวิชายังโรงคั่วกาแฟในนิวเม็กซิโก เป็นระยะเวลา 8 เดือนเต็ม

\"กาแฟรสพระทำ\" เมื่อนักบวชเปิด \"โรงคั่วกาแฟ\" ผลิตภัณฑ์กาแฟและถ้วยมัคของโรงคั่วแอบบีย์ โรสต์ ค๊อฟฟี่ / ภาพ : facebook.com/abbeyroastcoffee

กาแฟตัวหลักของโรงคั่วแอบบีย์ โรสต์ ค๊อฟฟี่ นำเข้ามาจากบราซิล เป็นกาแฟจากไร่ขนาดเล็กที่เคย “ชนะเลิศ” การประกวดกาแฟพิเศษประจำเมืองริโอ เดอ จาเนโร เมื่อปีค.ศ. 2010

เท่าที่ติดตามดูยังมีโรงคั่วกาแฟรสพระทำในสหรัฐอีกหลายแห่งที่เสนอขายกาแฟผ่านทางเว็บออนไลน์ เช่น “โรงคั่วฮัมเบิล แฮบบิทส์ ค๊อฟฟี่”  (Humble Habits Coffee) ของวัด  Eastern Catholic Holy Resurrection Monastery ในรัฐวิสคอนซิน ที่คั่วกาแฟขายมาตั้งแต่ปีค.ศ. 2017  นำเข้าสารกาแฟเกรดพิเศษมาจากแหล่งปลูกทั่วโลก มีกาแฟคั่วอ่อนจากเอธิโอเปียเป็นตัวชูโรง นอกจากนั้นแล้วยังลงข้อมูลรสนิยมของทีมงานโรงคั่วด้วยที่ส่วนใหญ่ชอบดื่มเอสเพรสโซกัน ยกเว้นเจ้าอาวาสที่ชมชอบกาแฟจากเกาะสุมาตรา

\"กาแฟรสพระทำ\" เมื่อนักบวชเปิด \"โรงคั่วกาแฟ\" กาแฟจากหลายแหล่งปลูกของโรงคั่วฮัมเบิล แฮบบิทส์ ค๊อฟฟี่ / ภาพ : humblehabitscoffee.org

อีกแห่งหนึ่งที่น่าสนใจได้แก่ โรงคั่ว "เบิร์นนิ่ง บุช ค๊อฟฟี่ โรสเตอร์ส"(Burning Bush Coffee Roasters)  ของวัด Monastery of St. Tikhon of Zadonsk ในรัฐเพนซิลวาเนีย เปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปีค.ศ. 2016  เน้นนำเข้าสารกาแฟคุณภาพสูงเกรดพิเศษจากเอธิโอเปีย, กัวเตมาลา, บราซิล และแทนซาเนีย เรียกว่าคั่ว “กาแฟพิเศษ” ขายแบบเต็มตัวเลยทีเดียว ในเว็บไซต์ของโรงคั่วรสพระทำแห่งนี้  ยังนำเสนอวิธีการบดและชงกาแฟดริปเบื้องต้นเอาไว้ด้วย

ในเอเชียเราก็มีตัวอย่างของการขายกาแฟเพื่อกิจการทางศาสนาเช่นกัน ที่เมืองมินดาเนา ทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์ มีวัดคริสต์แห่งหนึ่งชื่อ Bukidnon Monastery เปิดโรงคั่วกาแฟขายภายใต้แบรนด์ "มังค์ เบลนด์ ค๊อฟฟี่" (Monk’s Blend Coffee) โดยสารกาแฟที่ใช้คั่วมาจากไร่กาแฟของวัดที่ปลูกเองนั่นแหละ ก็เรียกว่าทำธุรกิจกาแฟแบบครบวงจรเลียทีเดียว ปลูกเอง, คั่วเอง และขายเอง มีวางจำหน่ายตามร้านกาแฟท้องถิ่นทั่วไป และทางเว็บไซต์ค้าปลีกชื่อดังอีกต่างหาก

จากเครื่องดื่มยอดนิยมของชนชาวโลก ในอีกมุมหนึ่งกาแฟได้กลายเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญให้กับวัดคริสต์หลายแห่ง ไม่ใช่เพื่อหวังสร้างผลกำไร แต่เพื่อหล่อเลี้ยงชีวิตและเพื่อดำเนินกิจการทางศาสนา ในเมื่อไม่มีเงินบริจาคเข้ามามากมาย ก็ต้องหาช่องทางสร้างรายได้ตามสามารถและแรงศรัทธา

มาถึงตรงนี้ แม้การดื่มกาแฟกับเพื่อนในบรรยากาศแห่งมิตรสหายนั้นยอดเยี่ยมเสมอ  แต่ในกรณีกาแฟรสพระทำนี้ สำหรับผู้เขียนอาจต้องเพิ่มเติมไปด้วยว่า หากมีโอกาสชนแก้วกาแฟชนกับบราเธอร์นักคั่วกาแฟทั้งหลายแล้วละก็ ต้องถือว่าเลิศเลอเพอร์เฟ็กต์ไม่แพ้กัน