ชีวิต ‘ธรรมดา’ ของผู้ลี้ภัยในเขตเมือง

ชีวิต ‘ธรรมดา’ ของผู้ลี้ภัยในเขตเมือง

เราอาจเคยได้ยินเรื่องผู้ลี้ภัยพร้อมกับคำไม่คุ้นหู อย่างค่ายลี้ภัย ภัยการเมือง พื้นที่ควบคุมตัว ขบวนการค้ามนุษย์ จึงมักมองว่านี่ช่างเป็นเรื่องไกลตัว เป็นเรื่องของคนชายขอบ อยู่ตามชายแดนที่คนเมืองอย่างเราๆ เข้าไม่ถึง

 

แต่ความเป็นจริงชี้ชัดว่า นอกจากผู้ลี้ภัยในค่ายพักพิงชั่วคราวบริเวณชายแดนไทยแล้ว ยังมีกลุ่มผู้ลี้ภัยในเขตเมือง (urban refugee) ซึ่งเป็นบุคคลที่อยู่ระหว่างขอสถานภาพผู้ลี้ภัยกับ UNHCR ประเทศไทย พวกเขาอาศัยปะปนกับผู้คนในเมือง ใช้ชีวิตเร็วช้าในจังหวะไม่ต่างกับคนอื่นๆ อีกนับล้าน

ในระหว่างที่เราตื่นเช้า เดินทางไปทำงาน ใช้ชีวิตธรรมดาๆ อยากรู้ไหม เวลาเดียวกันนี้พวกเขาทำอะไรอยู่บ้าง

(1)

เที่ยวเขาดินวันธรรมดา

วันธรรมดาคือวันทำงานของคนทั่วไป แต่สำหรับผู้ลี้ภัยนี่คือวันพิเศษ อย่างน้อยๆ ช่วงเวลาที่คนไม่พลุกพล่านมาก ก็ทำให้พวกเขาได้ทำอะไรอย่างใจคิด โดยไม่ต้องถูกจับจ้อง และการเดินทางไปเป็นกลุ่มก็ดูจะปลอดภัยกว่า

 การเที่ยวสวนสัตว์ดุสิต (สวนสัตว์เขาดิน) เดินห้าง เดินสวนสาธารณะในวันธรรมดาคือกิจกรรมที่พวกเขารอคอย เพราะช่วยผ่อนคลายความเครียดจากการที่ต้องใช้ชีวิตต่างถิ่นแบบไม่ตั้งใจ

นุชลิน ลีระสันธนะ นักสังคมสงเคราะห์ Asylum access Thailand บอกว่า กิจกรรมพาผู้ลี้ภัยไปยังสถานที่ต่างๆ ของ Asylum access Thailand เปรียบได้กับรางวัลสำหรับผู้ลี้ภัยที่ประพฤติตัวดี หมายถึงการให้ความร่วมมือกับกิจกรรมที่องค์กรจัดขึ้น ทั้งการทำเอกสารส่งตามขั้นตอน การช่วยผู้ลี้ภัยรายอื่นปรับตัวเข้ากับประเทศไทย การเข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาทักษะต่างๆ เช่น เรียนภาษาอังกฤษ คอมพิวเตอร์ การฝึกทำอาหารจากวัตถุดิบที่หาได้ง่ายในประเทศไทย

“การจัดกิจกรรมมันเหมือนมอบของรางวัลให้ผู้ลี้ภัยที่มาเข้าร่วมกับองค์กรสม่ำเสมอ ไม่ไปไหนโดยไม่ได้รับอนุญาต พกเอกสารไปด้วยทุกครั้ง คนทั่วไปอาจมองว่าเป็นเรื่องเล็กๆ แต่สำหรับพวกเขา นี่คือความสุขที่พอจะมีได้ในเวลานี้”

ผู้ลี้ภัยหญิง ชาวโซมาเลีย คนหนึ่งบอกว่า นี่เป็นครั้งแรกในรอบหลายเดือนที่เธอได้ออกจากห้องเช่าเล็กๆเพื่อไปยังสถานที่อื่น ที่ไม่ใช่ สำนักงานองค์กรช่วยผู้ลี้ภัยและสำนักงาน UNHCR ประเทศไทย การเดินเล่นที่สวนสัตว์เขาดินในวันธรรมดา จึงไม่ต่างจากพื้นที่พิเศษที่ช่วยทุเลาความทุกข์ของเธอได้บ้าง

  EP3-JUD

(2)

ตลาดนัดวันศุกร์ ต่ออายุผู้ลี้ภัย

ตลอดสัปดาห์ศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย รามคำแหงซอย 2 เป็นที่รู้จักของสถานที่พบปะ ประกอบพิธีกรรมของคนไทยมุสลิม แต่สำหรับผู้ลี้ภัยบางครอบครัว นี่คือพื้นที่แห่งโอกาสที่จะต่อลมหายใจชีวิตต่างถิ่นให้ยืดออกไป

ท่ามกลางบรรดาพ่อค้าเจ้าประจำ ที่ห้องโถงใต้อาคาร มีครอบครัวของผู้อพยพชาวซีเรีย 2 ครอบครัวและผู้อพยพชาวอัฟกานิสถาน 1 ครอบครัว เข้ามาร่วมอยู่ด้วย พวกเขาขายอาหารสไตล์ตะวันออกกลาง อาทิ Hummus (ฮัมมูส) ที่ทำจากถั่ว , แป้งนาน (Nan) , เคบับไก่-เนื้อ , Pastry (เพสตรี้) หรือขนมปังพาย ซึ่งมีทั้งไส้ชีส เนื้อ และไก่ ราคาชิ้นละ 20 บาท

ผู้ลี้ภัยชาวซีเรียคนหนึ่ง ย้อนว่า ก่อนหน้าที่จะมีสงครามในประเทศซีเรียทุกคนในประเทศซีเรียรวมกระทั่งเขาต่างมีความสุข และใช้ชีวิตปกติอย่างที่ควรจะเป็น แต่เมื่อสงครามเกิดขึ้นหลายครอบครัวต้องจากบ้านเกิดเพื่อไปยังถิ่นที่ไม่รู้จัก รวมถึงประเทศไทยโดยหวังให้เป็นที่พักพิงชั่วคราวและใช้เป็นทางผ่านให้ตนเองได้ไปในประเทศที่ 3

“ก่อนหน้านี้ผมมีอาชีพเป็นวิศวกรเครื่องกลรถไฟ ส่วนภรรยาเป็นเชฟในโรงแรม พอย้ายถิ่นมาอยู่เมืองไทยคือการเริ่มต้นใหม่ทุกอย่าง ต้องทิ้งอาชีพเดิมและต้องใช้เงินจำนวนมาก และยิ่งยากขึ้นเมื่อต้องอยู่โดยครอบครัวไม่มีรายได้ใด ๆ แต่มีค่าใช้จ่ายประจำในเรื่องพื้นฐานอย่างการเช่าคอนโดเดือนละ 5,000 บาท และค่าอาหารอาหารอีก”

พวกเขานำมาขายอาหารในราคาย่อมเยา ผิดจากอาหารตะวันออกกลางที่เคยเจอในภัตตาคาร เพราะพวกเขาอยากให้คนซื้อสนใจและขายได้มากที่สุด เพราะการมาขายของที่นี่ทุกวันศุกร์ คือรายได้ที่เราจะใช้ประคองชีวิตในยามที่ทุกอย่างไม่เป็นดั่งใจ ช่วยต่อลมหายใจของชีวิตเล็กๆ ที่ยังไม่รู้ชะตากรรมของตัวเอง

 (3)

คน (ไม่) มีสิทธิ์ เจ็บป่วย

เมื่อไม่มีสวัสดิการรองรับ ในยามที่พวกเขาเจ็บป่วยและต้องการพบแพทย์ ผู้ลี้ภัยในเมืองต้องพึ่งพาคลินิกเอกชนเป็นหลัก โดยอาศัยเครือข่ายขององค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านผู้ลี้ภัยเป็นผู้ติดต่อให้ เพื่อมั่นใจว่าระหว่างเดินทางไปพบแพทย์จะไม่เจอเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ มารวบตัวพวกเขาส่งต่อไปยังสถานที่คุมตัว สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง

นอกจากคลินิกเอกชนแล้ว ผู้ลี้ภัยในเมืองต้องฝากชีวิตไว้กับองค์กรการกุศล อาทิ มูลนิธิพุทธฉือจี้ไต้หวัน ประเทศไทย ซึ่งให้รับการรักษาฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย

สุกัญญา ริมพนาเวศ ประธานบริหารมูลนิธิพุทธฉือจี้ไต้หวันในประเทศไทย บอกกับ “จุดประกาย” ว่า คนที่มูลนิธินี้เข้าใจความทุกข์ยากของผู้ลี้ภัยดี และในทุกสัปดาห์สุดท้ายของแต่ละเดือนพวกเขาจะคัดเลือกเวลา ที่จะเปิดให้ผู้ด้อยโอกาสในชุมชน ในพื้นที่อื่นๆ รวมถึงผู้ลี้ภัยซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวปากีสถานและซีเรียเข้ามารักษาพยาบาลฟรี โดยแพทย์อาสาสมัคร ซึ่งมูลนิธิได้ทำต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 4 แล้ว และบริการสุขภาพพื้นฐาน สำหรับกลุ่มสตรีมีครรภ์ที่จะคลอดบุตร และผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นต้อกระจก มูลนิธิยังเปิดโอกาสให้ผู้ต้องการรับความช่วยเหลือมาลงชื่อไว้ เพื่อขอรับทุนค่าใช้จ่ายในการไปทำคลอด หรือการเข้ารับการผ่าตัดอีกด้วย

圖片4

圖片1

รู้จักผู้ลี้ภัยให้มากกว่าเดิม

ผู้ลี้ภัยในเมืองไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ถ้าจะหาใครสักคนที่ทำงานเรื่องผู้ลี้ภัยและคนกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยในเมืองมานานอย่างต่อเนื่อง หนึ่งในนั้นต้องมีชื่อ พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ อดีตประธานกรรมการแอมเนสตี้ประเทศไทย ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม

พรเพ็ญ ยืนยันว่า ผู้ที่แสวงหาการลี้ภัยในเมือง มักเป็นผู้ที่ประสบเหตุทางการเมือง ถูกภัยคุกคามในประเทศ คนกลุ่มนี้จะแตกต่างจากผู้ลี้ภัยในค่าย ซึ่งมักหนีภัยจากการสู้รบตามแนวชายแดน เราไม่ได้ต้องการจะบอกว่าคนไทยต้องต้อนรับขับสู้ แต่ขอให้มองถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ เช่น เรื่องสุขภาพ ถ้าเจ็บป่วยก็ต้องได้รับการรักษา ด้านการศึกษา ถ้าเป็นเด็กก็ต้องได้เรียน เช่นเดียวกับในด้านสังคมที่เขาต้องรู้สึกปลอดภัย หรือถ้าถูกจับกุมดำเนินคดี ก็ต้องได้รับสิทธิพื้นฐานในการต่อสู้คดี มีล่ามเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ไม่ถูกกดขี่ หรือหวาดกลัวว่าจะถูกคนกลุ่มใดมาทำร้าย

ผู้ลี้ภัยเลือกไม่ได้ว่าจุดแรกที่เขาจะอพยพคือประเทศใด เพราะต้องหนีภัยอันตรายออกจากประเทศมาก่อน ธรรมชาติของคนที่หลบหนีมา มีการปรับตัวสูงอยู่แล้ว สังคมที่ต้องเจอกับผู้ลี้ภัยต้องมีหลักคิดของสิทธิพื้นฐาน คือต้องไม่มีการละเมิดสิทธิ์ ต้องเตรียมการพร้อมและเข้าใจว่า เขาคือใคร? มาทำอะไร? จะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร? และจะเปลี่ยนผู้ลี้ภัยที่มีความสามารถให้เป็นทรัพยากรแรงงานที่ถูกต้องได้หรือไม่? เพราะหากการที่ไม่ทำอะไรเลยและปล่อยให้มีการบริหารที่ไม่ชัดเจน นั่นก็รั้งแต่จะเป็นช่องทางหาประโยชน์ สำหรับผู้ไม่หวังดี

……………………………………..

เรื่องของ“ม้ง” ในเมืองใหญ่

พวกเราเจอกับ “เหม็ง” หญิงชาวม้ง วัย 43 ปี ในวันที่เธอตัดสินใจเข้ากรุงเทพฯ ร้องเรียนกับองค์กรผู้ลี้ภัย เพราะถูกโกงเงินค่าจ้างหลังทำงานฟรีเป็นแรงงานก่อสร้างมาเกือบ 2 เดือน แต่กลับไร้เงินค่ายค่าห้องพัก (2000บาท/เดือน)

ในอดีตเธอเป็นม้งในฝั่งลาวที่ถูกทหารจากรัฐบาลกลางตามล่า หลบๆ ซ่อนๆ ตามชายป่า พี่ชายถูกฆ่าตายไป 3 คน ส่วนแม่เพิ่งป่วยเสียชีวิตได้ไม่นาน เหม็งมีความหวังที่จะถูกส่งต่อไปยังประเทศที่ 3 เช่นเดียวกับผู้ลี้ภัยรายอื่น แต่ถูกปฏิเสธ จนนานเข้าความหวังของเธอเหลือเพียงแค่ขอให้มีงานทำเพื่อให้มีเงินประทังชีวิตครอบครัว

“เอาจริงๆ ก็ไม่ได้คิดอยากจะไปประเทศไหนแล้ว หมดหวังแล้ว ก็อยากทำมาหากินอยู่ที่ไทยนี่แหละ แต่การไม่มีบัตรก็ไม่มีสิทธิอะไร แม้กระทั่งตอนโดนโกง เพื่อนแรงงานที่โดนโกงด้วยกันที่เป็นคนไทย ก็ไปแจ้งความ เรียกร้องสิทธิของตัวเองได้ แต่เราทำอะไรไม่ได้เลย” เธอ พูดพลางหยิบบัตรเก่าๆ ซึ่งประทับตราการเป็นผู้ลี้ภัยของเธอ ซึ่งออกมาเมื่อ 11 ปีมาแสดง

 เธอบอกว่า แม้จะลำบากกับชีวิตแรงงาน แต่การอยู่ในเมืองยังดีกว่าต้องหลบหนีภัยอันตราในป่า และการเลือกอยู่ จ.ลพบุรี ก็ไม่ใช่เรื่องที่ตั้งใจไว้แต่แรก แต่เงินค่ารถไม่เพียงพอที่จะเดินทางเข้ากรุงเทพ

“ถ้าไม่ได้ทำงานก่อสร้าง บางครั้งก็ไปรับจ้างเป็นแม่บ้านให้กับชาวบ้านแถวนั้นที่รู้จักกัน ได้เงินวันละ 200 บาท แต่มันก็ไม่ได้มีงานทุกวันหรอกนะ นี่มากรุงเทพฯ​แล้วเดี๋ยวต้องรีบกลับ และจะไปลองขอเจ้าของบ้านเขาอยู่ต่อ แต่ก็ไม่รู้จะได้ไหม เพราะเราก็ไม่มีเงิน ทุกวันนี้ ก็ไม่ได้หวังอะไรมาก ให้มีกินมีใช้วันต่อวันได้ก็พอแล้ว”