ปัญหาวันนี้คือ “กินมาก” ไม่ใช่ “อดอยาก”

ปัญหาวันนี้คือ “กินมาก” ไม่ใช่ “อดอยาก”

เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2024 วารสาร The Lancet ตีพิมพ์ผลงานวิจัยขนาดใหญ่ นำโดย Imperial College London ร่วมกับองค์การอนามัยโลก (World Health Organization, WHO) เปรียบเทียบแนวโน้มปัญหาโรคอ้วนกับภาวะขาดอาหารของโลกในช่วงปี 1990-2022

โดยเก็บข้อมูลจากประชากรทั้งเด็กผู้ใหญ่ 222 ล้านคนใน 190 ประเทศ ซึ่งผลของงานวิจัยดังกล่าว ผมได้นำมาสรุปในตาราง

สิ่งแรกที่เห็นจากผลวิจัยคือ ในช่วงเวลาประมาณ 32 ปีที่ผ่านมา ปัญหาหลักปัญหาหนึ่งของโลกในเชิงของสุขภาพนั้นได้เปลี่ยนไปแล้ว จากปัญหาความอดอยาก (underweight) กลายมาเป็น การกินอาหารมากเกินไปจนมีคนเป็นโรคอ้วน (obesity) รวมกันแล้วมากกว่า 1,000 ล้านคนในปี 2022 (มากกว่า 1 ใน 8 ของประชากรโลกทั้งหมด) จากเดิมที่มีเพียง 226 ล้านคนในปี 1990 ที่เป็นโรคอ้วน

จะเห็นได้ว่าในช่วงเดียวกันนั้น ปัญหาความอดอยากในโลกลดลงจากจำนวนผู้อดอยากในปี 1990 ที่มีอยู่ 440 ล้านคน มาเหลือเท่ากับ 347 ล้านคนในปี 2022

ปัญหาวันนี้คือ “กินมาก” ไม่ใช่ “อดอยาก”

ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า ปัญหาความอดอยากไม่ใช่ปัญหาสำคัญ แต่เปรียบเทียบไม่ได้เลยกับปัญหาโรคอ้วนที่ทาง WHO เตือนว่า กลายเป็น “โรคระบาด” (epidemic) ไปแล้วและกำลังเป็นระเบิดเวลา (time bomb) ที่ต้องได้รับการแก้ไขโดยเร็ว

เพราะ WHO มองว่าโรคอ้วนนั้น ก็เป็นปัญหาการขาดอาหาร (malnutrition) แบบหนึ่ง คือการขาดอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ตลอดจนการออกกำลังกายไม่เพียงพอ และเป็นปัญหาที่กำลังแพร่ขยายไปอย่างรวดเร็ว

ข้อสังเกตข้อที่ 2 คือปัญหาโรคอ้วน ดูเหมือนว่า จะเป็นปัญหาที่รุนแรงในผู้หญิงมากกว่าในผู้ชาย เพราะมีผู้หญิงเป็นโรคอ้วนมากถึง 598 ล้านคน เทียบกับผู้ชายที่เป็นโรคอ้วน 439 ล้านคน ในปี 2022 แต่หากดูแนวโน้มเมื่อเปรียบเทียบกับปี 1990 แล้ว จะเห็นได้ว่า จำนวนผู้ชายที่เป็นโรคอ้วนได้เพิ่มขึ้นมากถึง 5.5 เท่า แต่สำหรับผู้หญิงนั้น เพิ่มขึ้น 4.1 เท่า

ดังนั้น ผมจึงสรุปว่า สัดส่วนผู้ชายที่เป็นโรคอ้วนที่สูงถึง 14.0% นั้น ไม่น่าจะมองว่าต่ำกว่าสัดส่วนผู้หญิงที่เป็นโรคอ้วนที่ 18.5% ในเชิงของการทำให้เกิดปัญหาสุขภาพ

เพราะนักวิจัยคำนวณความอ้วนโดยวัดดัชนีมวลรวมของร่างกาย (body mass index) ซึ่งในความเห็นของผมนั้นไม่แม่นยำในเชิงที่ผู้หญิงจะสะสมไขมันที่สะโพกและต้นขามากกว่าผู้ชาย (ส่วนหนึ่งมาจากการทำงานของฮอร์โมนเอสโทรเจน) ที่สะสมไขมันที่หน้าอกและช่องท้อง ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพมากกว่า กล่าวคือ ผู้ชายมีความเสี่ยงจะเป็นโรคเบาหวานมากกว่าผู้หญิง

อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญคือ โรคอ้วนนั้น แพร่ขยายไปยังทุกประเทศ แทบจะไม่มีข้อยกเว้นและกลายเป็นว่า การเพิ่มขึ้นของการเป็นโรคอ้วนนั้น เพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่า ในประเทศที่มีรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง (ไม่ใช่ประเทศที่ร่ำรวย) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในตะวันออกกลาง แอฟริกาเหนือและประเทศหมู่เกาะต่างๆ ใน Polynesia, Micronesia และ Caribbean (เช่นที่  America Samoa และ Tonga นั้น มีสัดส่วนคนเป็นโรคอ้วนสูงถึง 60% สำหรับผู้ใหญ่และ 30% สำหรับเด็ก)

ประเด็นสุดท้ายที่สำคัญมากที่สุดในความเห็นของผมคือ การที่มีจำนวนเด็กเล็กและเด็กโตกำลังเป็นโรคอ้วนเพิ่มขึ้นอย่างมาก

โดยรายงานนี้ได้แบ่งกลุ่มเด็กออกมาเป็น 2 กลุ่มคือ เด็กเล็ก (อายุ 5-9 ปี) และเด็กโต (อายุ 10-19 ปี) แต่เนื่องจากบทความนี้มีพื้นที่จำกัด ผมจึงจะขอรวมข้อมูลเข้าไปด้วยกัน ซึ่งจะเห็นได้ว่าจำนวนเพิ่มขึ้นของ “เด็กอ้วน” นั้น เพิ่มมากขึ้นถึง 5.1 เท่าตัวในช่วง 1990-2022 โดยจะเห็นได้ว่า อัตราการเพิ่มขึ้นนั้น เด็กชายจะเพิ่มขึ้นมากกว่าเด็กหญิง

การที่โลกของเราปัจจุบันมี “เด็กอ้วน” มากถึง 159 ล้านคน (และคงจะเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ) นั้น ย่อมจะเป็นปัญหาที่สำคัญมากสำหรับอนาคตของเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อจำนวนที่เพิ่มขึ้นนั้น เพิ่มขึ้นมากกว่าในประเทศที่มีรายได้ปานกลางและรายได้ต่ำ ผมเกรงว่าความอ้วนกำลังจะทำลายอนาคตของเด็กกลุ่มนี้

ทางออกคือ การกินอาหารที่ถูกสุขลักษณะ ซึ่งมีนักวิจัยที่อังกฤษให้ข้อสังเกตว่า คำแนะนำของทางการนั้น ล้าสมัยอย่างมาก กล่าวคือยังเน้นการกินอาหารไขมันต่ำและให้กินอาหารให้ครบ 3 มื้อ และไม่จำกัดการกินอาหารว่าง

ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีในกลุ่มนักวิชาการว่า การกินอาหารที่ถูกสุขลักษณะนั้น ควรเลือกไขมันที่เป็นประโยชน์กับร่างกาย (ไม่ใช่หลีกเลี่ยงการกินไขมัน) คือไขมันที่ให้กรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัว เป็นต้น

แต่ที่สำคัญคือ การหลีกเลี่ยงการกินอาหารว่าง และการลดปริมาณการกินลง โดยเฉพาะการกินตอนดึก

ผมคิดว่าควรงดการกินอาหารว่าง และการกินอาหารที่มีการปรุงแต่งมาก (ultra processed food) ที่มีแคลอรี่หนาแน่น (calorie dense) และยังมีการปรุงแต่งรสชาติให้อยากกินไปเรื่อย ๆ ดังนั้น จึงควรหันมากินอาหารที่มีความหลากหลาย ปรุงแต่งน้อยและมีกากอาหาร (fiber) มาก ๆ เป็นต้น 

ที่สำคัญคือ หลังจากการกินอาหารมื้อใหญ่แล้ว ก็มีความเสี่ยงที่ระดับน้ำตาลในเลือดจะพุ่งสูง (glucose spike) ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างมาก ดังนั้น จึงไม่ควรกินอาหารแบบยืดเยื้อ และควรออกเดิน (หรือออกกำลังกายเบาๆ) หลังอาหารมื้อใหญ่ประมาณ 20-30 นาทีครับ.    

คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์+สุขภาพ

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร

กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร