อายิโนะโมะโต๊ะ สร้างความอยู่ดีมีสุข ระบบอาหารยั่งยืน สู่เป้าหมาย Net Zero ปี 2050

อายิโนะโมะโต๊ะ สร้างความอยู่ดีมีสุข ระบบอาหารยั่งยืน สู่เป้าหมาย Net Zero ปี 2050

การบริโภคอาหารที่ดี ย่อมส่งผลให้สุขภาพดีตามไปด้วย ขณะเดียวกัน กระบวนการจัดการอาหารตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ยังส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้น การทำงานร่วมกันทั้งเกษตรกร ภาคธุรกิจ และผู้บริโภค จึงเป็นสิ่งสำคัญให้เกิดการบริโภคที่ยั่งยืน

อายิโนะโมะโต๊ะ ประเทศไทย ในฐานะบริษัทที่ดำเนินธุรกิจด้านอาหารมากกว่า 60 ปี มีเป้าหมายในการ "สร้างความอยู่ดีมีสุข" ให้กับสังคมไทย หรือ "Well-Being" ที่ครอบคลุมทั้งด้านสุขภาพและโภชนาการ ควบคู่ไปกับการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ภายใต้การดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบต่อสังคม สอดรับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs ในการสร้างระบบเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง ผู้คนมีความสุข ภายใต้สิ่งแวดล้อมที่มีความ Resilience

เป้าหมายคือการสร้างสุขภาพที่ดีให้กับผู้คน 1,000 ล้านคนทั่วโลกภายในปี 2030 ลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการดำเนินธุรกิจลง 50% ภายในปี 2030 และเข้าสู่ Net Zero ในปี 2050 ครอบคลุมทั้งการ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดปัญหาขยะพลาสติก ลดขยะอาหาร ลดความสูญเสียอาหาร การใช้ทรัพยากรน้ำอย่างคุ้มค่า และการจัดซื้อจัดหาอย่างยั่งยืน

สร้างความยั่งยืนทุกมิติ

ศรชัย กุสันใจ กรรมการ บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด ให้สัมภาษณ์กับกรุงเทพธุรกิจว่า สำหรับ ด้านสิ่งแวดล้อม มีการบริหารจัดการธุรกิจภายใต้เป้าหมายการสร้างโรงงานสีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และลดการปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ ปี 2050 จึงนำระบบบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมที่ยอมรับในระดับสากลมาใช้ และได้ดำเนินการติดตั้งเทคโนโลยีที่ใช้ พลังงานสะอาด หรือ พลังงานหมุนเวียน รวมถึงใช้หลัก 3R (Reduce-Reuse-Recycle) เพื่อจัดการทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด จะนำไปสู่สิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นยั่งยืนในระยะยาว 

ด้านสังคม ให้ความสำคัญกับชุมชนท้องถิ่นที่เชื่อมโยงและมีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจ รวมถึงความอยู่ดีมีสุขของพนักงาน ผู้บริโภค พาร์ตเนอร์ หุ้นส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง การซื้อขายอย่างเป็นธรรมตามหลักธรรมาภิบาล และหลักปฏิบัติที่ดีในด้านการดำเนินธุรกิจ

ด้านธรรมาภิบาล มีแนวปฏิบัติคือ การดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใส เป็นธรรม และยั่งยืน อาทิ การเป็นส่วนหนึ่งของแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต หรือ CAC (Thai Private Sector Collective Action Against Corruption)

Bio-cycle หมุนเวียนไม่รู้จบ

ศรชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า อายิโนะโมะโต๊ะ ประเทศไทย ส่งเสริมวัฏจักรชีวภาพ หรือ Bio-cycle โดยบริษัทฯ รับวัตถุดิบมาจากภาคการเกษตร โดยเฉพาะแป้งมันสำปะหลังมากกว่า 150,000 ตันต่อปี รวมถึงเมล็ดกาแฟจากแหล่งผลิตภายในประเทศกว่า 1,500 ตันต่อปี เข้าสู่วงจรการผลิต ซึ่งน้ำหมักที่ได้จากกระบวนการผลิตผงชูรสยังอุดมไปด้วยสารอาหารจำนวนมาก จึงนำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ร่วม ได้แก่ ปุ๋ยน้ำสำหรับพืช หรืออาหารสัตว์ เพื่อสร้างประโยชน์กลับคืนสู่ภาคเกษตรกรรม รวมถึงการเปลี่ยนจากพลังงานฟอสซิลมาใช้พลังงานชีวมวล อาทิ แกลบที่เหลือทิ้งจากภาคการเกษตร ก็สามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับผลิตพลังงานไอน้ำใช้ภายในโรงงาน ส่วนขี้เถ้าแกลบที่เหลือจากการผลิตพลังงาน ก็ถูกนำมาพัฒนาเป็นวัสดุปรับปรุงดินให้กับเกษตรกร เพื่อเพิ่มปริมาณและคุณภาพของผลผลิตต่อไป เกิดเป็นวงจรที่สนับสนุนซึ่งกันและกันระหว่างอายิโนะโมะโต๊ะกับเกษตรกร

อายิโนะโมะโต๊ะ สร้างความอยู่ดีมีสุข ระบบอาหารยั่งยืน สู่เป้าหมาย Net Zero ปี 2050

ยกระดับชีวิต "เกษตรกร"

นอกจากนี้ ยังเดินหน้าโครงการ Thai Farmer Better Life Partner ปีที่ 3 เพิ่มผลผลิตไร่มันสำปะหลังและสร้างเกษตรกรรมยั่งยืน พัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของเกษตรกรไทย มุ่งเป้าที่เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง จังหวัดกำแพงเพชร มากกว่า 1,300 ราย มีโรงงานผลิตผงชูรสที่จังหวัดกำแพงเพชร แหล่งปลูกมันสำปะหลังใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศ รองจากจังหวัดนครราชสีมา มีการนำวิธีการใหม่ในการวิเคราะห์ดินพื้นที่เพาะปลูก เพื่อดูว่าคุณภาพดินเหมาะแก่การเพาะปลูกมันสำปะหลังหรือไม่ และแนะนำว่าควรปรับปรุงคุณภาพดินได้อย่างไร

ขณะนี้ มันสำปะหลังในไทยพบปัญหาโรคใบด่างมันสำปะหลัง จึงนำเทคโนโลยีในการผลิตท่อนพันธุ์ที่สะอาด ปราศจากโรคใบด่างมาใช้ โดยมีจังหวัดกำแพงเพชร เป็นโมเดลนำร่อง ทดลองไปกว่า 73,000 ต้น ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี สามารถยืนยันได้ว่าไม่เกิดโรค และผลผลิตที่ได้เป็นที่น่าพอใจ

"เมื่อผลผลิตเยอะขึ้นแปลว่าความอิสระทางการเงิน สภาพเศรษฐกิจของชาวไร่ก็ดีขึ้น ลูกหลานสามารถเข้าถึงแหล่งทุน ทรัพยากร การศึกษา แน่นอนว่าคุณภาพชีวิตจะต้องดีขึ้นในอนาคต"

กินหมด ลดโลกร้อน

ทั่วโลกกำลังเผชิญ "ขยะอาหาร" กว่า 30% ที่สูญเสียไปตลอดห่วงโซ่คุณค่า อายิโนะโมะโต๊ะจึงมุ่งจัดการขยะอาหารในกระบวนการผลิตและการดำเนินการของบริษัทฯ เอง ตั้งแต่คัดเลือกวัตถุดิบไปจนถึงการจำหน่าย ซึ่งสามารถลดขยะอาหารลงได้กว่า 1,300 ตัน หรือคิดเป็น 70% มากกว่าเป้าที่ตั้งไว้ว่าจะลดลง 50% ในปี 2030

สร้างความตระหนักรู้ในการบริโภคอาหารอย่างคุ้มค่าผ่าน "โครงการ Too Good To Waste กินหมด ลดโลกร้อน" เริ่มจากนิสิตนักศึกษาในสถาบันทางการศึกษา กลุ่ม Young Gen เพื่อสร้างความเข้าใจ แรงบันดาลใจ และการมีส่วนร่วม ไม่ว่าจะการใช้วัตถุดิบ วางแผนการซื้อ การจัดเก็บ พร้อมทั้งส่งต่อไอเดีย "เมนูอาหารรักษ์โลก" จากอายิโนะโมะโต๊ะที่เน้นรสชาติ ควบคู่ไปกับการใช้วัตถุดิบทุกส่วนอย่างคุ้มค่า และเหลือทิ้งเป็นขยะให้น้อยที่สุดเมื่อทำอาหาร เพื่อให้ผู้ที่สนใจนำไปต่อยอด 

"หากเราบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ สิ่งแวดล้อมมีความ Resilience มากขึ้น ก็แปลว่าเราสร้างสภาพแวดล้อมที่ทุกคนสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้เป็นอย่างดี ในขณะเดียวกันก็ส่งเสริมสุขภาพของผู้คนภายใต้การดำเนินการอย่างมีคุณธรรม เพื่อให้ทุกคนมีสุขภาพจิตที่ดี เมื่อสุขภาพจิตดี สุขภาพกายดี ได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี นั่นแปลว่าทุกคนมี Well-Being ที่แท้จริง" ศรชัย กล่าวทิ้งท้าย

อายิโนะโมะโต๊ะ สร้างความอยู่ดีมีสุข ระบบอาหารยั่งยืน สู่เป้าหมาย Net Zero ปี 2050