ออก'สมุดปกขาว'แก้วิกฤตเด็กเกิดน้อย-สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์

ออก'สมุดปกขาว'แก้วิกฤตเด็กเกิดน้อย-สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์

“วราวุธ” เตรียมจัดเวทีแก้ปัญหาวิกฤตเด็กเกิดน้อย-สูงวัยสมบูรณ์แบบ ออกสมุดปกขาวชง ครม. ก่อนนำเสนอ “สหประชาชาติ” พร้อมเตรียมจัดวันสตรี 8 มี.ค.นี้

KEY

POINTS

  • โครงสร้างประชากรเปลี่ยน เด็กอายุ 0-14 ปี เหลือเพียง 1 ล้านคน ขณะที่ผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 65 ปี จะเพิ่มขึ้นจาก 8 ล้านคน เป็น 18 ล้านคน
  • พม.เตรียมจัดทำเป็นสมุดปกขาว นำเสนอคณะรัฐมนตรีต้นเดือน เม.ย.นี้ ซึ่งเป็นวันครอบครัว แก้วิกฤตเด็กเกิดน้อย-สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์
  • ประชากรยุค Post Modern ที่อายุต่ำกว่า 40 ปีจะอยู่ด้วยค่านิยมและความเชื่อ จึงควรนำเสนอวิธีการและขั้นตอนในลักษณะอธิบาย

“วราวุธ” เตรียมจัดเวทีแก้ปัญหาวิกฤตเด็กเกิดน้อย-สูงวัยสมบูรณ์แบบ ออกสมุดปกขาวชง ครม. ก่อนนำเสนอ “สหประชาชาติ” พร้อมเตรียมจัดวันสตรี 8 มี.ค.นี้

ปี 2567 ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) อย่างเต็มรูปแบบ โดยปี 2566 ข้อมูลจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย พบว่า ไทยมีประชากรผู้สูงอายุ อายุ 60 ปีขึ้นไป คิดเป็น 1 ใน 5 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ หรือประมาณ 13 ล้านคน ของประชากรไทยทั้งประเทศ 66,057,967 คน หรือกว่า 20% ของประชากรทั้งประเทศ และจะมีอัตราการเพิ่มขึ้นปีละกว่า 1 ล้านคนในปี 2567-2568 จากการส่งเสริมการมีบุตรเมื่อ 60 ปีก่อน

ข้อมูลจาก World Population 2022 ขององค์การสหประชาชาติ คาดการณ์ตัวเลขจำนวนประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น 8 พันล้านคน โดยเป็นผู้มีอายุมากกว่า 65 ปี อยู่ที่ 10 % และคาดว่าจะเพิ่มสัดส่วนขึ้นภายในปี 2593 เป็น 16 %

ขณะที่ ข้อมูลจำนวนการเกิดของคนไทย 10 ปีย้อนหลัง จากสำนักบริการหารทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย (มท.) พบว่าลดลงอย่างต่อเนื่อง

  • ปี 2556 จำนวนเด็กเกิดใหม่ 782,129 คน
  •  ปี 2557 จำนวน 776,370 คน
  •  ปี 2558 จำนวน 736,352 คน
  • ปี 2559 จำนวน 704,058 คน
  • ปี 2560 จำนวน 703,003 คน
  • ปี 2561 จำนวน 666,366 คน
  •  ปี 2562 จำนวน 618,205 คน
  • ปี 2563 จำนวน 587,368 คน
  • ปี 2564 จำนวน 544,570 คน
  • และปี 2565 จำนวน 502,107 คน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ทำไมคนยุคใหม่ "ไม่นิยมมีลูก" เด็กเกิดใหม่น้อยลง ถึงจุดวิกฤติ

เร่งแก้ "เด็กเกิดใหม่น้อย" ก่อนสังคมไทยเข้าสู่สังคมไร้บุตรหลาน

วิกฤตเด็กเกิดน้อย สูงวัยพุ่งส่งผลกระทบประเทศ

ตั้งแต่ปี 2564 จำนวนการเกิดยังน้อยกว่าการตาย  โดยการตาย 563,650 คน และปี 2565 จำนวน 595,965 คน ส่วนอัตราการเจริญพันธุ์รวม (Total Fertility Rate) หรือจำนวนบุตรโดยเฉลี่ยของผู้หญิง 1 คน ลดลงเหลือเพียง 1.08 ซึ่งต่ำกว่าที่เหมาะสมหรือระดับทดแทนคือ 2.1 และมีแนวโน้มที่จะลดลงต่อเนื่อง

ส่วนเด็กอายุ 0-14 ปี เหลือเพียง 1 ล้านคน ขณะที่ผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 65 ปี จะเพิ่มขึ้นจาก 8 ล้านคน เป็น 18 ล้านคน ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างจำนวนประชากรมากขึ้น และเสี่ยงต่อการขาดแคลนแรงงานกระทบเศรษฐกิจ สังคมและความมั่นคงด้านประชากร

ขณะที่แนวโน้มประชากรไทยมีอายุยืนมากขึ้น โดยข้อมูลปี 2562 ประชากรเพศชายมีอายุขัยเฉลี่ย 65.9 ปี เพิ่มขึ้นจากปี 2543 ที่มีอายุเฉลี่ย 59.9 ปี ส่วนเพศหญิงอายุขัยเฉลี่ยอยู่ที่ 70.9 ปี เพิ่มขึ้นจากปี 2543 ที่อายุขัยเฉลี่ย 65.5 ปี

ออก\'สมุดปกขาว\'แก้วิกฤตเด็กเกิดน้อย-สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์

หากสถานการณ์เป็นเช่นนี้ต่อคาดว่าอีก 60 ปี ประชากรไทยจะลดลงถึงครึ่งหนึ่ง เหลือเพียง 33 ล้านคน โดยวัยทำงานลดลงจาก 46 ล้านคน เหลือ 14 ล้านคน

เล็งออกสมุดปกขาว เสนอครม.แก้วิกฤตเด็กเกิดน้อย

วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวง การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยว่า สัปดาห์ที่จะถึงนี้ กระทรวงพม.มี 2 กิจกรรม สำคัญที่จะถือ เป็นนโยบาย เร่งด่วนของกระทรวง คือวันที่ 7 มี.ค. เวลา 08.00 น. จะมีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการภายใต้หัวข้อ 'การพัฒนาความมั่นคงครอบครัวไทย ผ่านพ้นภัยวิกฤตประชากร' ซึ่งจะเป็นการพูดถึงปัญหาที่ประเทศไทยจะเจอในอนาคต 5-10 ปี ไม่ว่าจะเป็นสังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบโดยสมบูรณ์ รวมถึงปัญหาเด็กแรกเกิดมีจำนวนน้อยลงทุกๆ ปี

ทั้งนี้ การประชุมจะแบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม กลุ่มเด็กเยาวชน กลุ่มวัยทำงาน กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มผู้พิการ และจะมีการพูดถึงระบบนิเวศเพื่อความมั่นคงของครอบครัวไทย  กิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ต้องการให้ประเทศไทย สังคมไทย ภาครัฐและประชาชนได้ตระหนักถึงภัยที่กำลังจะมาถึง ในระยะ 5-10 ปีจากนี้ ว่าจะมีผลกระทบอย่างไรบ้างจากสภาพสังคมและเศรษฐกิจ ความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนทุกคน

"หลังการประชุมจะมีการรวบรวมผลการหารือและการ workshop ทั้ง 5 กลุ่มทำเป็นสมุดปกขาวและนำเสนอคณะรัฐมนตรีต้นเดือน เม.ย.นี้ ซึ่งเป็นวันครอบครัว และปลายเดือนจะนำเสนอต่อคณะกรรมาธิการประชากรและพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ที่กรุงนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เพื่อแสดงให้สังคมโลกเห็นว่าปัญหาสังคมผู้สูงอายุนั้น ประเทศไทยมีการเดินหน้าแก้ปัญหาในมิติใดบ้าง"นายวราวุธ กล่าว

ออก\'สมุดปกขาว\'แก้วิกฤตเด็กเกิดน้อย-สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์

เตรียมจัดกิจกรรมวันสตรีสากล 8 มี.ค.นี้ 

นอกจากนั้น กิจกรรมที่ 2 จะมีขึ้นในวันศุกร์ที่ 8 มี.ค.นี้ช่วงบ่าย กรมกิจการเด็กและสถาบันครอบครัว จะจัดงานวันสตรีสากลภายใต้แนวคิด 'เสริมพลังสตรีและเด็กหญิงขจัดความยากจนสู่ความเท่าเทียมระหว่างเพศบนพื้นฐานครอบครัวที่อบอุ่น'  เพราะวันที่ 8 มี.ค. องค์การสหประชาชาติกำหนดให้เป็นวันตรีสากล และประเทศไทยของก็ได้เฉลิมฉลองวันสตรีสากลนี้มาทั้งหมด 36 ปีแล้ว

โดยในงานนี้ จะพูดถึงการส่งเสริม พัฒนา สนับสนุนบทบาทสตรีทุกภาคส่วนของสังคมไม่ว่าจะภาครัฐ เอกชน และภาคการเมือง ให้มีการปฏิบัติที่เท่าเทียมกันระหว่างเพศ ซึ่งรัฐบาลนี้ได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง รวมถึงการขจัดความเหลื่อมล้ำสร้างความเป็นธรรมให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่องค์กรสหประชาชาติกำหนดไว้

ปีนี้ภายในงานจะมีการมอบรางวัลเพื่อเชิดชูเกียรติแก่สตรี บุคคล และหน่วยงานต่างๆ ที่ทำงานด้านสตรีตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา และจะมีการจัดนิทรรศการเครือข่ายด้านสตรีทั่วประเทศ ประชาชน และความเสมอภาคทางเพศโดยในวันเดียวกันนั้น ทางสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) ทั้ง 76 จังหวัดก็จะจัดงานเฉลิมฉลอง เนื่องในวันดังกล่าวเช่นเดียวกัน

ออก\'สมุดปกขาว\'แก้วิกฤตเด็กเกิดน้อย-สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์

มี.ค.นี้ ประกาศส่งเสริมการมีบุตรเป็นวาระแห่งชาติ

สำหรับในประเทศไทย รัฐบาลได้ส่งเสริมการมีบุตรเป็น “วาระแห่งชาติ” คาดว่าประกาศเดือน มี.ค.2567 มีความท้าทายถึงมาตรการสนับสนุนการมีบุตร สวัสดิการที่รองรับและจูงใจการเกิด รวมถึงการจัดสวัสดิการที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของเด็กให้พัฒนาทักษะได้ถึงวัยแรงงานเพื่อเพิ่มผลิตภาพการผลิต

รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขผลักดันการส่งเสริมมีบุตรอย่างมีคุณภาพในการพัฒนาประชากรและทุนมนุษย์เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อบูรณาการทุกภาค ขณะนี้กำลังส่งรายละเอียดให้แต่ละหน่วยงานพิจารณา เพราะเกี่ยวข้องหลายกระทรวงก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) คาดว่าจะประกาศได้เดือน มี.ค.นี้ และมีเป้าหมายปี 2570 อัตราการเจริญพันธุ์รวมไม่น้อยกว่า 1.0 และปี 2585 ไม่น้อยกว่า 1.0-1.5

ทั้งนี้การประชุมคณะกรรมการพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ วันที่ 25 ธ.ค.2566 เห็นชอบ (ร่าง) วาระแห่งชาติส่งเสริมมีบุตรอย่างมีคุณภาพเน้น 3 มาตรการหลัก ดังนี้ 

1.ปรับสภาพแวดล้อมให้เอื้อการมีบุตร เช่น แก้ไข ปรับปรุง กฎหมายที่เกี่ยวข้อง การสนับสนุนนโยบาย Family Friendly Workplace ช่วยค่าดูแลและเลี้ยงบุตร สถานพัฒนาเด็กปฐมวัยอายุต่ำกว่า 2 ปี

2.เสริมสร้างความรู้และปรับเปลี่ยนทัศนคติ โดยให้คุณค่าทุกการเกิดมีความสำคัญ, บทบาทชาย-หญิง และความรู้และทัศนคติต่อการสร้างครอบครัวที่มีรูปแบบหลากหลาย 

3.สนับสนุนให้ผู้ตัดสินใจมีบุตรได้รับดูแลครบวงจรและมีคุณภาพ ได้แก่ ดูแลรักษาภาวะมีบุตรยาก การส่งเสริมการเจริญเติบโตและพัฒนาการเด็ก รวมถึงให้คำปรึกษาทางเลือกในผู้ท้องไม่พร้อมเพื่อให้ตัดสินใจตั้งครรภ์ต่อได้รับการดูแล

'ธนาคารเวลา' เตรียมพร้อมรองรับสังคมสูงวัย

มีธนาคารเวลา ถูกนำมาปรับใช้ให้สอดคล้องกับบริบทของสังคมไทยในปี 2561 โดยรัฐบาลได้มอบหมายให้ “กรมกิจการผู้สูงอายุ” นำแนวคิดธนาคารเวลามาประยุกต์ใช้ในการดำเนินงานของประเทศไทย และได้กำหนดให้เป็น 1 ใน 10 ประเด็นเร่งด่วนด้านผู้สูงอายุเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับสังคมผู้สูงอายุ ที่มีเป้าหมายหลัก คือ ผู้สูงอายุไทยเป็น Active Ageing : Healthy, Security and Participation ผ่านการระดมพลังในหลายภาคส่วน 

ธนาคารเวลา เริ่มจากผู้ที่ต้องการไปช่วยเหลือดูแลผู้สูงอายุ มาสมัครเป็นอาสาสมัครธนาคารเวลา และจะมีผู้สูงอายุกลุ่มหนึ่งที่ต้องการได้รับการดูแล มาสมัครขอรับการดูแล และให้ชุมชนแต่ละชุมชนช่วยดูแล จับคู่เชื่อมต่อ เป็นเรื่องของความไว้วางใจในการดูแลซึ่งกันและกัน กติกา คือ หากเราที่เป็นอาสาสมัคร เข้าไปดูแลผู้สูงอายุ 1 ชั่วโมง จะได้มา 1 คะแนน และเมื่อเวลาที่เราสูงอายุต้องการคนดูแล ก็จะได้สามารถใช้ 1 คะแนน เท่ากับ 1 ชั่วโมง ปัจจุบันมี อาสาสมัครในโครงการมากกว่า 10,000 คน มีการดูแลผู้สูงอายุครอบคลุมกว่า 150 พื้นที่

ออก\'สมุดปกขาว\'แก้วิกฤตเด็กเกิดน้อย-สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์

แก้ปัญหาเด็กเกิดน้อย ต้องทำความเข้าใจสภาพสังคม

'ศ.ดร.เกื้อ วงศ์บุญสิน'นักประชากรศาสตร์ และที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการนวัตกรรมแห่งชาติอ มองว่า การแก้ปัญหาเด็กเกิดน้อยต้องเริ่มด้วยการทำความเข้าใจกับสภาพสังคมปัจจุบัน ประชากรยุค Post Modern ที่อายุต่ำกว่า 40 ปีจะอยู่ด้วยค่านิยมและความเชื่อ จึงควรนำเสนอวิธีการและขั้นตอนในลักษณะอธิบาย

โดยใช้ข้อมูลจากงานวิจัยสร้างแรงจูงใจให้คนกลุ่มนี้เห็นด้วย ดังนั้นนักวางแผนต้องเข้าใจประชากรที่จะเป็นวัยแรงงานในอนาคต เน้นการสร้างเรื่องราวเพื่อให้คนกลุ่มนี้รับรู้ เข้าใจและอยากมีลูก

อย่างไรก็ตาม การใช้นโยบายลักษณะนี้เป็นการโน้มน้าวให้คิด ไม่ได้บังคับให้แต่งงานหรือบังคับให้มีลูก เพียงแต่บอกว่า คนที่มีครอบครัวมีแนวโน้มสุขภาพดีและมีเงินออมมากกว่า ส่วนคนที่มีครอบครัวและมีลูกจะมีสุขภาพดี มีเงินออมมากกว่าคนที่มีครอบครัวแต่ไม่มีลูก เป็นสิ่งที่มีงานวิจัยยืนยัน 

ฉะนั้น การแก้ปัญหาเด็กเกิดน้อยในเวลานี้ หรือแม้แต่การแก้ปัญหาระยะสั้นเพื่อหวังเพิ่มจำนวนประชากรไทย อาจต้องทำให้สอดคล้องกับบริบทของสังคมที่เปลี่ยนไป วางแผนนโยบายอย่างรอบคอบและให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพราะการเกิดอาจไม่ใช่เรื่องของคนสองคนอีกต่อไป แต่ยังมีอีกหลายปัจจัยชวนให้คิดก่อนตัดสินใจที่จะมีลูก