‘นอนกรน -โรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น’ เรื่องใกล้ตัวที่ต้องแก้

‘นอนกรน -โรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น’ เรื่องใกล้ตัวที่ต้องแก้

‘นอนกรน’เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเกือบจะทุกคน แต่คนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจว่าเป็นอาการปกติ หรือไม่อันตราย แต่ที่จริงแล้วมีผลกระทบต่อสุขภาพอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อมีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับร่วมด้วย

Keypoint:

  • นอนกรน-โรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (OSA) อย่าปล่อยไว้ หากไม่รักษาอาจทำให้มีโอกาสเสียชีวิตจากโรคเส้นเลือดสมองและหัวใจถึง 3 เท่า ของคนที่ไม่ได้เป็นโรค OSA
  • สาเหตุของโรค OSA เกิดได้จากทั้ง อายุที่มากขึ้น  โครงสร้างทางเดินหายใจแคบลงจากภาวะต่างๆ  เช่น โรคอ้วน  เพศ เชื้อชาติ
  • หากมีอาการนอนกรน มีคนสังเกตว่าหยุดหายใจขณะหลับ มีอาการเหมือนสำลักตอนนอน ง่วงกลางวัน ตื่นเช้ามาไม่สดชื่น  มีอาการปวดหัวตอนเช้า ความดันโลหิตสูง ควรรีบพบแพทย์ เพื่อตรวจรักษาโรค OSA

จากการศึกษา พบว่าผู้ใหญ่ประมาณ 936 ล้านคนทั่วโลกที่มีอายุ 30-69 ปีมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ และส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้หากยังไม่ได้รับการรักษา วิทยาศาสตร์พบว่าจะมีความเสี่ยงในการเสียชีวิตถึง 3 เท่าของคนที่ไม่ได้เป็นโรค

คนที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจะมีการทำลายสมองส่วน White matter มากกว่าคนที่นอนหลับปกติ โดยทุกๆ 10% ของเวลาการหลับลึกที่ลดลง จะไปเพิ่มรอยโรคในสมอง เทียบเท่าผลของการมีอายุมากขึ้น 2.3 ปี

มีการศึกษาในปี 2561 พบเช่นเดียวกันว่าภาวะหยุดหายใจขณะหลับขั้นรุนแรง มีแนวโน้มที่จะทำให้เซลล์เนื้อสมองในส่วนที่เกี่ยวกับความทรงจำลดลง นอกจากนี้ยังมีผลการศึกษาเมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ Neurology ของ American Academy of Neurology พบว่าในคนที่มีการสะสมของโปรตีนอะมัยลอยด์ มีความเชื่อมโยงกับการเกิดภาวะหยุดหายใจที่รุนแรงขึ้น และมีขนาดสมองส่วนความจำ ที่เรียกว่า ‘สมองกลีบขมับส่วนใน’ ลดลง ชี้ให้เห็นว่าคนที่มีความเสี่ยงโรคอัลไซเมอร์ในระยะเริ่มต้น ส่วนใหญ่มีปัญหาภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ

ผลการศึกษาทั้งหมด ต่างชี้ชัดว่า นอนกรน ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ ถือเป็นเรื่องใกล้ตัวที่หากมีอาการต้องแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน เพราะอาจจะนำมาซึ่งโรคร้ายต่างๆ ร่วมด้วย

รู้จักนอนกรนและโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น

นอนกรน’ ไม่ใช่เรื่องปกติอย่างที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ เพราะเป็นอาการหนึ่งของโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (OSA) ซึ่งทางเดินหายใจส่วนบนจะหย่อนขณะนอนหลับ ทำให้ไม่สามารถหายใจได้สะดวกขณะหลับ เกิดภาวะขาดออกซิเจนเป็นช่วงๆ สมองถูกกระตุ้นให้ตื่นบ่อย  ทำให้การนอนหลับไม่ต่อเนื่อง ส่งผลให้มีอาการปวดศีรษะตอนตื่นนอน อ่อนเพลีย ง่วงนอนตอนกลางวันไม่มีสมาธิในการทำงาน เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุขณะขับรถ รวมถึงอารมณ์แปรปรวน

นพ.วีรวัชร น้อมสวัสดิ์ อายุรแพทย์เฉพาะทางโรคระบบการหายใจและโรคการนอนหลับ โรงพยาบาลเจ้าพระยา อธิบายว่าโดยทั่วไปแล้ว คนเรามักจะเข้าใจว่าการนอนกรนเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากในภาพยนตร์ หรือการ์ตูน มักจะใช้ภาพการนอนกรน เป็นการบ่งบอกว่าตัวละครนั้นๆ กำลังหลับอยู่แต่ในความเป็นจริงแล้ว  คนปกติไม่ควรจะมีอาการนอนกรน

‘นอนกรน -โรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น’ เรื่องใกล้ตัวที่ต้องแก้

“การนอนกรนเป็นหนึ่งในอาการสำคัญของโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น ซึ่งการกรนเกิดได้จากเมื่อตอนเราตื่น กล้ามเนื้อที่ใช้ถ่างขยายช่องคอของเราทำงานได้ปกติ เราก็จะหายใจได้สะดวก แต่เมื่อทุกคนหลับ กล้ามเนื้อที่ช่วยเปิดช่องคอก็พักผ่อนด้วย ทำให้การถ่างขยายช่องคอลดลง ส่งผลให้ช่องคอตีบแคบในขณะหลับได้  โดยเฉพาะในผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น น้ำหนักเกิน  ทางเดินหายใจแคบ หรือโครงหน้าผิดปกติ  เมื่อเราหายใจผ่านทางเดินหายใจที่แคบ อากาศจะไปทำให้เนื้อเยื่ออ่อนเกิดการพัดกระพือ ทำให้เกิดเสียงกรนขึ้น”นพ.วีรวัชร กล่าว

เพิ่มความเสี่ยงเส้นเลือดสมองและหัวใจถึง 3 เท่า

นพ.วีรวัชร  อธิบายต่อว่าผู้ที่นอนกรนสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ 1.ผู้ที่มีอาการนอนกรนเฉยๆ  และ 2.ผู้ที่นอนกรน และมีอาการหยุดหายใจขณะนอนหลับร่วมด้วย ซึ่งกรณีที่มีอาการนอนกรนและหยุดหายใจขณะนอนหลับร่วมด้วย หรือเป็นโรค OSA นั้น  พบว่า ผู้ป่วยโรค OSA ระดับรุนแรง มีโอกาสเสียชีวิตจากโรคเส้นเลือดสมองและหัวใจถึง 3 เท่า ของคนที่ไม่ได้เป็นโรค OSA   นอกจากนี้ยังเป็นโรคความดันโลหิตสูง  โรคเส้นเลือดสมอง และโรคหัวใจเพิ่มขึ้นด้วย

สำหรับ สาเหตุของการนอนกรน-ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ เกิดจากปัจจัยต่างๆ อาทิ

  • อายุ ซึ่งเมื่อเรามีอายุมากขึ้น เนื้อเยื่อและกล้ามเนื้อต่างๆ ในช่องลำคอ หย่อนยาน จนตกไปบังทางเดินหายใจได้ง่าย
  • โครงสร้างทางเดินหายใจแคบลงจากภาวะต่างๆ เช่น ต่อมทอนซิลโต ผนังกั้นจมูกคด ลิ้นโต เพดานอ่อนหย่อน ลิ้นไก่หย่อนยาน เป็นต้น
  • โรคอ้วน เนื่องจากไขมันจะกระจายอยู่รอบๆ ช่องคอ ทำให้ช่องคอแคบลง กระบังลมทำงานได้ไม่เต็มที่ ความจุของปอดลดลง จนเกิดการหยุดหายใจได้

‘นอนกรน -โรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น’ เรื่องใกล้ตัวที่ต้องแก้

ปัจจุบันวงการแพทย์หันมาสนใจศึกษาและคิดค้นวิธีแก้ไขปัญหาอาการนอนกรนกันมากขึ้น โดยการแนะนำให้สังเกตอาการด้วยตนเองก่อนปรึกษาแพทย์ ดังนี้

  • คนใกล้ตัวบอกว่าตอนคุณนอนหลับ มีการกรนแล้วหยุด สักพักก็กรนใหม่ พร้อมกับมีอาการสะดุ้งหรือสำลักน้ำลาย
  • เมื่อตื่นนอนตอนเช้าก็ไม่แจ่มใส ทั้งๆ ที่นอนครบตามจำนวนชั่วโมงที่ควรแล้ว
  • มีอาการมึนศีรษะ เพราะคุณอาจขาดออกซิเจนขณะนอนหลับ
  • มีความดันโลหิตที่ขึ้นสูงช่วงเช้า แต่ตอนสายๆ กลับลดลง
  • ในช่วงกลางวันมีอาการง่วงนอนมากกว่าปกติ ถึงขนาดมีการนั่งสัปหงกระหว่างทำงานหรือขณะประชุม บางรายเป็นขณะขับรถจนทำให้เกิดอุบัติเหตุ
  • ช่วงกลางคืนตื่นมาปัสสาวะบ่อยมากกว่า 2 ครั้ง แต่กลางวันกลับปัสสาวะไม่บ่อย

เมื่อมีลักษณะอาการข้างต้น ทางที่ดีควรรีบปรึกษาแพทย์เฉพาะทางโรคการนอนหลับ แต่เนิ่นๆ ดีกว่า เริ่มดูแลตัวเองตั้งแต่วันนี้ เพื่อสุขภาพที่ดีและแข็งแรงตลอดไป

‘นอนกรน -โรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น’ เรื่องใกล้ตัวที่ต้องแก้

ทราบได้อย่างไร? ว่านอนกรน มีอาการหยุดหายใจขณะหลับ

สามารถปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจการนอนหลับ หรือ Sleep Test ได้ โดยในคืนที่ตรวจ ผู้เข้ารับการตรวจจะมานอนที่โรงพยาบาล 1 คืน โดยเจ้าหน้าที่จะติดอุปกรณ์ที่ศีรษะดูการหลับว่ามีการตื่น หลับ หลับลึก หลับตื้น หลับฝันเพียงใด และมีอุปกรณ์ดูลมหายใจ การเคลื่อนไหวของทรวงอกและท้อง ตรวจระดับออกซิเจนในเลือด เพื่อดูว่ามีการหยุดหายใจขณะหลับหรือไม่  นอกจากนั้น จะมีการติดอุปกรณ์ดูการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อและคลื่นไฟฟ้าหัวใจร่วมด้วย

ในกรณีที่ครึ่งคืนแรกมีการหยุดหายใจขณะหลับจำนวนมากตามเกณฑ์ ครึ่งคืนหลัง เจ้าหน้าที่จะไปใส่เครื่องอัดอากาศแรงดันบวก หรือ CPAP เพื่อหาแรงดันที่เหมาะสมในการรักษา โรค OSA ของคนไข้

‘นอนกรน -โรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น’ เรื่องใกล้ตัวที่ต้องแก้

ใครควรเข้ารับการตรวจการนอนหลับบ้าง?

สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มหลักๆ คือ  

  • กลุ่มแรก คือ กลุ่มที่มีอาการสงสัยโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น เช่น นอนกรน มีคนสังเกตว่าหยุดหายใจขณะหลับ มีอาการเหมือนสำลักตอนนอน ง่วงกลางวัน ตื่นเช้ามาไม่สดชื่น หรือมีอาการปวดหัวตอนเช้า
  • กลุ่มที่สอง คือ คนไข้ที่มีปัจจัยเสี่ยงในการเป็นโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น  เช่น ความดันโลหิตสูงที่ควบคุมไม่ได้  มีภาวะหัวใจวาย หรือน้ำท่วมปอดที่ควบคุมไม่ได้ ภาวะเลือดข้น โรคเส้นเลือดที่ตาอุดตันบางชนิด
  • กลุ่มที่สาม คือ กลุ่มที่มีอาการผิดปกติอื่นๆ ขณะนอนหลับ เช่น กัดฟัน นอนละเมอ ฝันร้าย มีขากระตุก หรือมีพฤติกรรมผิดปกติขณะหลับ

‘นอนกรน -โรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น’ เรื่องใกล้ตัวที่ต้องแก้

การคัดกรองโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น

สามารถคัดกรองได้ง่ายๆ โดยใช้แบบสอบถามที่ชื่อว่า STOP-BANG ตามอาการหรือปัจจัยเสี่ยง ดังนี้

  • นอนกรน
  • ง่วงกลางวัน
  • มีอาการหยุดหายใจขณะหลับ
  • ความดันโลหิตสูง หรือกินยารักษาความดันโลหิตสูง
  • ดัชนีมวลกายมากกว่า 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร
  • อายุมากกว่า 50 ปี
  • เส้นรอบวงคอมากกว่า 40 เซนติเมตร
  • เป็นเพศชาย

หากมีอาการหรือปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ ตั้งแต่ 3 ข้อขึ้นไป มีโอกาสสูงที่จะเป็นโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (OSA)

‘นอนกรน -โรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น’ เรื่องใกล้ตัวที่ต้องแก้

วิธีการรักษาโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น

การรักษาหลักของโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น จะเป็นการใช้เครื่องอัดอากาศแรงดันบวก หรือเครื่อง CPAP ซึ่งสามารถใช้ได้กับทุกระดับความรุนแรงและแนะนำให้ใช้เป็นทางเลือกแรก  นอกจากนี้ อาจจะมีการใส่ทันตอุปกรณ์ การผ่าตัดทางเดินหายใจส่วนบน  หรือ การปรับท่านอนไม่ให้นอนหงาย  ซึ่งต้องประเมินว่าผู้ป่วยแต่ละราย เหมาะสมกับการรักษาทางเลือกใดบ้าง

“การไม่รักษาโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น จะทำให้ผู้ป่วยยังคงมีอาการหยุดหายใจขณะหลับ  และความเสี่ยงจากโรคอยู่ และการรักษาโดยใช้เครื่องอัดอากาศแรงดันบวก (CPAP) สามารถกำจัดอาการและความเสี่ยงดังกล่าวได้ ฉะนั้น ผู้ป่วยจึงควรจะรักษาโรค OSA หากสามารถใช้เครื่อง CPAP ได้”

การดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง นอกจากการเลือกรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย และอารมณ์ที่ดีแล้ว หนึ่งในการดูแลสุขภาพที่ต้องให้ความสำคัญ คือ การนอนหลับ

ระยะในการนอนหลับที่เพียงพอในผู้ใหญ่ ต้องนอนประมาณ 7-9 ชั่วโมงต่อวัน แต่ในบางรายพบว่าอาจมีอาการผิดปกติ เช่น เพลียเมื่อตื่นมาตอนเช้า รู้สึกนอนไม่อิ่ม ไม่สดชื่น อ่อนล้า ง่วงนอนตลอดเวลา ทั้งที่นอนอย่างเพียงพอแล้ว

โดยเราสามารถสังเกตอาการด้วยตนเอง หรือสอบถามผู้ที่นอนร่วมกับเรา ว่ามีอาการผิดปกติขณะนอนหลับหรือไม่ หากพบว่ามีปัญหาและอาการดังกล่าวแนะนำให้มาพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับ เพื่อรับคำแนะนำและวินิจฉัยโรคจากการนอนหลับ เพราะปัญหาการนอนหลับมีผลต่อสุขภาพทั้งโรคทางกาย เสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ระบบประสาท เบาหวาน ความดันโลหิตสูง รวมถึง โรคทางจิตใจด้วย

อ้างอิง : CNNNews Medical Lifesciences ,โรงพยาบาลเจ้าพระยา