เตือน แบคทีเรียกินเนื้อ กินอาหารทะเลดิบ ว่ายน้ำ ดำน้ำกลุ่มเสี่ยง เช็กอาการ

เตือน แบคทีเรียกินเนื้อ กินอาหารทะเลดิบ ว่ายน้ำ ดำน้ำกลุ่มเสี่ยง เช็กอาการ

รศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี โพสต์เตือนกรณี แบคทีเรียกินเนื้อ หรือการติดเชื้อ Vibrio vulnificus ซึ่งเกิดจากการกินอาหารทะเลดิบ และสามารถเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ผ่านการว่ายน้ำ หรือดำน้ำ เช็กอาการ ซึ่งหากมีอาการุนแรงอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

รศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี อาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) โพสต์เตือนกรณี แบคทีเรียกินเนื้อ หรือการติดเชื้อ Vibrio vulnificus ซึ่งเกิดจากการกินอาหารทะเลดิบ นอกจากนั้นแบคทีเรียชนิดนี้ยังพบได้ตามน้ำทะเลและน้ำเค็ม สามารถเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ผ่านการว่ายน้ำ หรือดำน้ำด้วย

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (CDC) ได้ออกการแจ้งเตือนด้านสุขภาพระดับชาติเกี่ยวกับแบคทีเรียกินเนื้อ (flesh-eating bacteria) ที่เรียกว่า Vibrio vulnificus แบคทีเรียชนิดนี้พบได้ตามน้ำทะเลและน้ำเค็ม และสามารถเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ผ่านการว่ายน้ำ ดำน้ำ หรือรับประทานอาหารทะเลดิบหรือปรุงไม่สุก

 

อาการของการติดเชื้อ Vibrio vulnificus

มักเกิดขึ้นภายใน 24 ชั่วโมงถึง 3 วันหลังสัมผัสกับแบคทีเรีย เช่น ไข้ หนาวสั่น ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ ท้องเสีย ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน รอยแดงหรือบวมบริเวณที่สัมผัสกับแบคทีเรีย

อาการรุนแรง เช่น ผิวหนังเน่าเปื่อย การติดเชื้อในกระแสเลือด ช็อก และเสียชีวิต ผู้ป่วยที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น ผู้ที่มีโรคเบาหวาน โรคไต หรือโรคตับ อาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดการติดเชื้อ Vibrio vulnificus ที่รุนแรงมากขึ้น

 

ปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้เพื่อลดความเสี่ยงของการติดเชื้อ Vibrio vulnificus

  1. ไม่ว่ายน้ำหรือดำน้ำในน้ำทะเลหรือน้ำเค็มที่มีน้ำขุ่นหรือมีสีผิดปกติ
  2. หลีกเลี่ยงการกินหอยนางรม กุ้ง หอยแมลงภู่ และปลาดิบหรือปรุงไม่สุก
  3. ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำเป็นเวลาอย่างน้อย 20 วินาทีก่อนและหลังสัมผัสกับอาหารทะเล
  4. ปรุงอาหารทะเลให้สุกทั่วถึงจนอุณหภูมิภายในอยู่ที่ 70 องศาเซลเซียล
  5. ผู้ที่มีอาการที่อาจเกิดจากการติดเชื้อ Vibrio vulnificus ควรไปพบแพทย์ทันที

 

รู้จักโรคแบคทีเรียกินเนื้อ

โรคแบคทีเรียกินเนื้อ หรือ โรคเนื้อเน่า เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียอย่างรุนแรงที่ผิวหนังชั้นลึก ตั้งแต่ชั้นหนังกำพร้า ชั้นหนังแท้ ชั้นไขมันใต้ผิวหนัง ไปจนถึงชั้นเนื้อเยื่อหุ้มกล้ามเนื้อ ทำให้เกิดการเน่าตายของเนื้อเยื่อบริเวณที่เกิดการติดเชื้อ และอาจลุกลามไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกายได้

โรคนี้พบไม่บ่อย แต่มีความรุนแรงมาก ผู้ป่วยมีโอกาสเสียชีวิตหรือเกิดภาวะทุพพลภาพจากโรคตามมาได้สูงหากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมอย่างทันท่วงที

สำหรับประเทศไทย มีรายงานผู้ป่วยด้วยโรคแบคทีเรียกินเนื้อทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ประมาณ 15.5 ราย ต่อประชากรแสนราย และมีอัตราการเสียชีวิตประมาณร้อยละ 17-49 ขึ้นกับชนิดของเชื้อก่อโรค ความรุนแรงของโรค ตำแหน่งที่มีการติดเชื้อ โรคประจำตัวและภูมิคุ้มกันของผู้ป่วย รวมถึงระยะเวลาตั้งแต่ที่ผู้ป่วยเริ่มมีอาการจนกระทั่งได้รับการวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสม

ช่วงระยะเวลาที่พบผู้ป่วยด้วยโรคนี้มากที่สุด คือ ช่วงเดือนมีนาคม-มิถุนายน และรองลงมา คือ เดือนกรกฎาคม-ตุลาคม ของทุกปี

 

การรักษาโรคแบคทีเรียกินเนื้อ

หัวใจสำคัญของการรักษาโรคแบคทีเรียกินเนื้อ คือ การวินิจฉัยโรคให้เร็ว และผ่าตัดเพื่อเอาเนื้อเยื่อที่มีการติดเชื้อหรือเนื้อเยื่อที่เน่าตายออกให้มากที่สุด ร่วมกับการให้ยาต้านจุลชีพทางหลอดเลือดดำ โดยหลักการเลือกยาต้านจุลชีพ คือ ในระยะแรกควรให้ยาที่ครอบคลุมเชื้อที่อาจเป็นสาเหตุให้มากที่สุด

หลังจากนั้นเมื่อได้ผลเพาะเชื้อแล้ว จึงปรับเปลี่ยนยาต้านจุลชีพตามผลเพาะเชื้อให้เหมาะสม ในผู้ป่วยบางรายที่มีการติดเชื้ออย่างรุนแรงอาจมีความจำเป็นต้องตัดอวัยวะนั้นร่วมด้วย

 

 

 

อ้างอิงจาก เฟซบุ๊ก หมอหมู วีระศักดิ์ , สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย , ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (CDC) , วารสารการแพทย์นิวอิงแลนด์