รู้ทัน 'พาร์กินสัน' เช็ก 4 สัญญาณ จับอาการความเคลื่อนไหว

รู้ทัน 'พาร์กินสัน' เช็ก 4 สัญญาณ จับอาการความเคลื่อนไหว

'พาร์กินสัน' เป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมของเซลล์ประสาทบริเวณก้านสมอง ส่งผลให้ เกิดความผิดปกติทางการเคลื่อนไหว ทำให้มีอาการมือสั่น เคลื่อนไหวช้าลง เช็ก 4 อาการ ที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหว พร้อมแนวทางการรักษาและดูแลผู้ป่วย

Key Point : 

  • โรคพาร์กินสัน ความผิดปกติทางการเคลื่อนไหว ทำให้มีอาการมือสั่น เคลื่อนไหวช้าลง ส่วนใหญ่พบในผู้สูงอายุ มักเกิดในผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี
  • สาเหตุของพาร์กินสัน เกิดจาก สารโดพามีนลดลง รวมถึงสาเหตุอื่นๆ ในผู้สูงอายุ เช่น การรับประทานยาบางชนิด เช่น ยาแก้เวียนศีรษะ ยารักษาความผิดปกติทางจิตบางชนิด เป็นตัน
  • พาร์กินสัน ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ช่วยบรรเทาอาการไม่ให้แย่ลง ด้วยการใช้ยา และ/หรือ การผ่าตัดฝังเครื่องกระตุ้นสมองส่วนลึก เพื่อลดอาการสั่น

 

'พาร์กินสัน' อาการป่วยที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ที่เป็น โดยจะมีอาการสั่นตลอดเวลาทำให้เคลื่อนไหวได้ลำบาก ที่สำคัญโรคนี้เป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้ และต้องได้รับความเข้าใจจากคนรอบข้าง จึงมีการรณรงค์เกี่ยวกับโรคพาร์กินสันอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้คนในสังคมทำความเข้าใจ ทั้งนี้ในส่วนของคนรอบข้างยังต้องมีวิธีการดูแลที่ถูกต้องเหมาะสมด้วย จึงจะเป็นผลดีต่อตัวผู้ป่วยเอง

 

ข้อมูลจาก ศ.นพ.วีรศักดิ์ เมืองไพศาล โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์ อธิบายว่า โรคพาร์กินสัน (Parkinson's disease) เป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมของเซลล์ประสาทบริเวณก้านสมอง ทำให้การผลิตสารบางอย่างที่ชื่อว่า ‘โดพามีน’ ลดลง ส่งผลให้ เกิดความผิดปกติทางการเคลื่อนไหว ทำให้มีอาการมือสั่น เคลื่อนไหวช้าลง ส่วนใหญ่พบในผู้สูงอายุ มักเกิดในผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี หากปล่อยไว้ไม่ได้รับการรักษา ผู้ป่วยอาจใช้ชีวิตลำบากได้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

 

 

สาเหตุของโรคพาร์กินสัน

 

สาเหตุที่ทำให้การผลิตสารโดพามีนลดลงนั้น ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดว่าคืออะไร และยังไม่แน่ชัดว่ามีปัจจัยใดที่กระตุ้นการเกิดโรคพาร์กินสัน อย่างไรก็ตามโรคพาร์กินสัน อาจเกิดจากสาเหตุอื่นก็ได้ ซึ่งที่พบบ่อยๆ ในผู้สูงอายุ คือ การรับประทานยาบางชนิด เช่น ยาแก้เวียนศีรษะ แก้มึนงง ยาแก้อาเจียน ยารักษาความผิดปกติทางจิตบางชนิด ยากล่อมประสาท เป็นตัน

 

นอกจากนั้น อาจเกิดจากความผิดปกติในสมองจากสาเหตุอื่นๆ เช่น หลอดเลือดสมองอุดตัน หลอดเลือดสมองแตก สมองขาดอ็อกซิเจน สมองอักเสบ เนื้องอกสมอง โพรงน้ำในสมองขยายตัว หรือเคยได้รับอุบัติเหตุที่ศีรษะ เป็นดัน บางคนมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคพาร์กินสันซึ่งสามารถพบได้จากการถ่ายทอดทางพันธุกรรมร้อยละ 10-15

 

อาการโรคพาร์กินสัน

 

1. อาการที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหว มี 4 อาการหลัก ดังนี้

  • มือสั่น ใช้มือไม่คล่องเหมือนเก่า เช่น กลัดกระดุม เปิดฝาขวดน้ำ เขียนหนังสือ หรืออาจมือสั่นขณะอยู่นิ่งแต่เวลาเคลื่อนไหวอาการมือสั่นกลับหายไป
  • ฝืด หนืด กล้ามเนื้อเกร็ง แขนขาเกร็งแข็งจนบางครั้งอาจปวดหรือเกิดตะคริว ใบหน้าแสดงออกได้น้อย ยิ้มน้อยหรือไม่แสดงออกทางสีหน้า ไม่ค่อยกระพริบตา พูดเสียงเบาลง กลืนไม่คล่องเหมือนเดิม อาจมีน้ำลายหรือสำลักง่ายขึ้น
  • เคลื่อนไหวช้า เคลื่อนไหวร่างกายหรือทำอะไรได้ช้าลง
  • การทรงตัวและการเดินผิดปกติ เดินลำบาก ก้าวขาไม่ค่อยออก ก้าวเท้าสั้น ๆ เดินซอยเท้าถี่ ศีรษะพุ่งไปข้างหน้าขณะเดิน หมุนกลับลำตัวลำบาก

 

2. อาการที่ไม่เกี่ยวช้องกับการเคลื่อนไหว เช่น คิดช้าลง ความจำไม่ดี ซึมเศร้า นอนหลับไม่สนิท ฝันนอนละเมอ ออกท่าทาง ท้องผูก จมูกดมกลิ่นไม่ค่อยได้หรือได้กลิ่นลดลง

 

 

การตรวจวินิจฉัยโรคพาร์กินสัน

 

ผู้ป่วยโรคนี้ส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับการตรวจวินิจฉัย เนื่องจากอาจยังไม่ตระหนักถึงอาการของโรคเพราะคิดว่าเกิดจากอายุที่มากขึ้น ทำให้เกิดผลเสียจากตัวโรคตามมา เช่น หกล้ม กลืนอาหารลำบาก การคัดกรองเบื้องต้นอย่างง่ายด้วยตัวเองจะสามารถทำให้คันพบอาการป่วยได้ โดยวิธีการตรวจเซ็กอาการใน 11 ข้อดังต่อไปนี้ หากมีอาการดังกล่าว 5 ข้อขึ้นไปควรพบแพท: แต่หากมีอาการน้อยกว่า 5 ข้อแนะนำให้ตรวจเช็กอาการเป็นระยะ

 

รู้ทัน \'พาร์กินสัน\' เช็ก 4 สัญญาณ จับอาการความเคลื่อนไหว

ที่มา : โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์

 

 

การรักษาโรคพาร์กินสัน

 

สำหรับการรักษาโรคพาร์กินสัน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สิริรัตน์ ลีลาจรัส อาจารย์พยาบาลโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายผ่านเว็บไซต์ RAMA Channel ว่า พาร์กินสัน ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ช่วยบรรเทาอาการไม่ให้แย่ลง โดยที่โรคพาร์กินสันจะมีความก้าวหน้าของโรคไปเรื่อย ๆ การรักษาสามารถรักษาด้วยยา และ/หรือ การผ่าตัดฝังเครื่องกระตุ้นสมองส่วนลึก เพื่อลดอาการสั่น แต่การผ่าตัดอาจมีข้อจำกัดซึ่งอาจไม่สามารถทำได้กับผู้ป่วยทุกราย อาการแสดงของผู้ป่วยแต่ละรายจะแตกต่างกันออกไป ในผู้ป่วยที่มีความก้าวหน้าของโรคดำเนินไป อาการจะดำเนินจากระดับเป็นเล็กน้อยไปจนถึงระดับรุนแรง เช่น จากที่เคยเดินได้กลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง เป็นต้น ในช่วงที่ระยะแรกของโรคพาร์กินสัน การช่วยบริหารร่างกายจะเป็นประโยชน์กับผู้ป่วย

 

การดูแลผู้ป่วยพาร์กินสัน

 

  • คนรอบข้างควรช่วยผู้ป่วยในการบริหารร่างกาย ป้องกันการเกิดข้อยึดติด เช่น การแกว่งแขวน การเดินก้าวเท้ายาว ยกเท้าสูงขึ้น
  • แนะนำการบริหารลูกตาด้วยการกลอกลูกตาไปมา โดยการดูกีฬาที่มีการโต้ตอบไปมา เช่น เทนนิส ปิงปอง เป็นต้น
  • ในระยะแรก หากผู้ป่วยยังสามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ เช่น การปั่นจักรยาน ก็อาจให้ผู้ป่วยทำกิจกรรมดังกล่าวได้
  • ระวังเรื่องอุบัติเหตุ ปัญหาการกลืน การพูด
  • ผู้ป่วยควรรับประทานอาหารที่มีกากใย เพื่อป้องกันอาการท้องผูก
  • ผู้ดูแลต้องทำความเข้าใจผู้ป่วยและดูแลสภาพจิตใจอยู่เสมอ เนื่องจากในผู้ป่วยบางรายอาจมีปัญหาการนอนไม่หลับ วิตกกังวล หรือซึมเศร้า

 

เทคนิคการทานยา ผู้ป่วยพาร์กินสัน

 

อ.ดร.พญ.อรอนงค์ โพธิ์แก้ววรางกูล โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เทคนิคการ รับประทานยา ในผู้ป่วย พาร์กินสัน ดังนี้

1. รับประทานยาให้ถูกขนาดถูกปริมาณ และตรงต่อเวลาทุกวัน

2. หลีกเลี่ยงการรับประทานยาร่วมกับอาหารที่มีโปรตีนสูงบางชนิด เช่น น้ำนมถั่วเหลือง นมสด เพราะจะลดการดูดซึมของยา

3. รับประทานยาขณะที่ท้องว่างอย่างน้อย 30 นาที

4. กรณีที่จำเป็นต้องรับประทานยาใกล้กับมื้ออาหารจริง ๆ ควรเลือกอาหารที่มีโปรตีนต่ำ เช่น น้ำผลไม้ ขนมปังกรอบ และขนมปัง

5. สามารถดื่มชาหรือกาแฟได้ในปริมาณที่พอเหมาะ

6. ยาที่ใช้อาจมีผลข้างเคียง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ลับสน มึนงง ประสาทหลอน เป็นต้น หากพบอาการข้างเคียงจากการใช้ยาควรปรึกษาแพทย์เจ้าของไข้

 

รู้ทัน \'พาร์กินสัน\' เช็ก 4 สัญญาณ จับอาการความเคลื่อนไหว

 

 

อ้างอิง : โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์ , โรงพยาบาลรามาธิบดี , โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย