‘6 องค์กร’ ร่วมคุ้มครองสุขภาพประชาชน สกัดปัญหาหลอกลวง ฉ้อโกงผู้บริโภค

‘6 องค์กร’ ร่วมคุ้มครองสุขภาพประชาชน สกัดปัญหาหลอกลวง ฉ้อโกงผู้บริโภค

6 องค์กร สานพลังพัฒนาศักยภาพองค์กรผู้บริโภค คุ้มครองสุขภาพประชาชน ป้องกันปัญหาถูกหลอกลวง ฉ้อโกง ซื้อขายออนไลน์ โดยเฉพาะผู้บริโภคสูงอายุ

Key Point : 

  • โลกออนไลน์ ทำให้ผู้บริโภค ถูกหลอกลวง เอาเปรียบ ฉ้อโกงได้ง่าย จากการเข้าถึงในหลายช่องทาง ส่งผลต่อประชาชนโดยเฉพาะด้านสุขภาพที่อาจได้ใช้ ยา อาหาร เครื่องสำอาง ที่ไม่ได้มาตรฐาน 
  • ปัญหาเหล่านี้นับเป็นความท้าทายของทั้ง หน่วยงานรัฐ และองค์กรผู้บริโภค ในการเดินหน้าคุ้มครองผู้บริโภคได้อย่างเหมาะสม และครอบคลุม
  • ล่าสุด มีการลงนาม MOU ร่วมกันระหว่าง 6 องค์กร เพื่อบูรณาการ การทำงาน พัฒนาศักยภาพองค์กรผู้บริโภค และสนับสนุนองค์กรผู้บริโภคให้บรรลุเป้าหมายร่วมกัน 

 

สถานการณ์ปัจจุบันเกิดปัญหาการหลอกลวง เอารัดเอาเปรียบ จากการเข้าถึงผู้บริโภคง่ายจากเทคโนโลยี หรือระบบออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็น เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม อีกทั้ง ยังพบการบริโภคสินค้าบริการที่ไม่ได้มาตรฐาน ขณะเดียวกัน ในด้านสุขภาพของผู้บริโภคเองยังพบกับประเด็นความท้าทาย

 

ข้อมูลจาก สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ระบุว่า ปัญหาสำคัญของผู้บริโภคคือ การที่ผู้บริโภคได้รับสินค้า และบริการที่ไม่ปลอดภัย หรือถูกเอารัดเอาเปรียบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ เช่น ยา อาหาร เครื่องสำอาง ซึ่งมีแหล่งกระจาย ทั้งสถานที่ขายตามกฎหมาย ร้านค้าในชุมชน ร้านค้าออนไลน์ พร้อมทั้งมีโฆษณาส่งเสริมการขายที่ผิดกฎหมาย

 

ในขณะที่หน่วยงานรัฐ และองค์กรผู้บริโภคยังไม่สามารถคุ้มครองผู้บริโภคได้อย่างเหมาะสมเท่าที่ควร เนื่องด้วยกฎหมาย และการบังคับใช้กฎหมายไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ และไม่ทันสมัย อีกทั้ง ผู้บริโภคที่อ่อนแอเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ก็ขาดแหล่งข้อมูลแจ้งเตือนภัยในการบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพ ทำให้เสี่ยงสูงต่อการบริโภคที่ไม่เท่าทันการโฆษณา และการส่งเสริมการขาย

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

 

โดยเฉพาะผู้บริโภคกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุ ซึ่งมักแสวงหาผลิตภัณฑ์สุขภาพ และบริการสุขภาพต่างๆ สำหรับตนเองด้วยความถี่สูงกว่ากลุ่มทั่วไป และเมื่อได้รับความเสียหายจากการบริโภคนั้นๆ ก็จะมีผู้บริโภคที่ร้องเรียนเพียงบางส่วนเท่านั้น ที่ได้รับการชดเชย เยียวยาความเสียหาย แม้ในปัจจุบันจะมีการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค ทำหน้าที่เป็นแกนหลักให้กับองค์กรผู้บริโภคต่างๆ แล้วก็ตาม แต่ก็ยังอยู่ในระยะเริ่มต้นของการจัดตั้ง สภาองค์กรของผู้บริโภค จึงยังคงต้องการ การส่งเสริมและการสนับสนุน อีกมากเพื่อพัฒนาศักยภาพให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น

 

ความท้าทายที่สำคัญในปัจจุบัน สำหรับการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพคือ จะดูแลผู้บริโภคอย่างไร ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของการโฆษณา และการส่งเสริมการขาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการซื้อขายกันทางออนไลน์ที่นับวันจะได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุด จะกลายเป็นการซื้อขายของคนส่วนใหญ่ (Majority)

 

การคุ้มครองผู้บริโภคในปัจจุบันเป็นอย่างไร

 

รศ.ภญ.ดร.วรรณา ศรีวิริยานุภาพ หัวหน้าโครงการ การจัดทำตัวชี้วัดคุ้มครองผู้บริโภคไทย โดย คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วย ภก.สรชัย จําเนียรดํารงการ ผู้ร่วมวิจัยฯ เปิดเผย รายงานสถานการณ์การคุ้มครองผู้บริโภคไทย โดยแบ่งออกเป็นตัวชี้วัด 5 องค์ประกอบ ได้แก่

 

 

องค์ประกอบที่ 1 ศักยภาพ และการส่งเสริมศักยภาพผู้บริโภ

พบว่า สถานการณ์การมีส่วนร่วมกับภาครัฐในการกำหนดนโยบาย การได้รับงบสนับสนุนจากรัฐ และการมีแผนงานร่วมกับภาครัฐในการคุ้มครองผู้บริโภคอยู่ในเกณฑ์ดี ขณะที่จำนวนขององค์กรของผู้บริโภค และหน่วยงานประจำจังหวัดซึ่งครอบคลุมจังหวัดเพียงร้อยละ 53 และ 17 ตามลำดับเท่านั้น อีกทั้งมีอัตราการขยายตัวที่เติบโตค่อนข้างช้า อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเป็นช่วงเริ่มต้นของการบังคับใช้ พ.ร.บ. สภาองค์กรของผู้บริโภค จึงยังไม่อาจตีความได้ว่าความล่าช้าดังกล่าวบ่งชี้ความด้อยศักยภาพขององค์กรที่เกี่ยวข้อง

 

องค์ประกอบที่ 2 กลไกการคุ้มครองผู้บริโภค และการบังคับใช้กฎหมาย

แม้ตัวชี้วัดภายใต้องค์ประกอบนี้จะผ่านเกณฑ์ทั้งหมด เช่น มีการออกหรือแก้ไขกฎหมายตามสมควร หน่วยงานรัฐมีการบังคับใช้กฎหมายเป็นที่ประจักษ์ มีการพัฒนาและกำหนดมาตรฐาน ผลิตภัณฑ์ มีการบังคับใช้มาตรการ หน่วยงานรัฐมีส่วนร่วมในการพัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์ในระดับนานาชาติ และมีระบบรับเรื่องร้องเรียน แต่การสำรวจกฎหมาย และการบังคับใช้กฎหมายยังอาจไม่กว้างขวางพอ การพัฒนาและกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์ยังคงจำกัดอยู่ที่หน้าที่ของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ซึ่งนับว่าน้อยเกินไป อีกทั้ง ระบบรับเรื่องร้องเรียนที่ควรจะครบวงจรถึงการชดเชยความเสียหายจากการบริโภค มีความแตกต่างหลากหลายมาก ควรมีการทบทวนทั้งระบบให้มีมาตรฐาน

 

องค์ประกอบที่ 3 ความรู้ และข้อมูลข่าวสารสู่ผู้บริโภค

ในระบบวัดที่ อย.น้อย มีประมาณร้อยละ 30 ของ โรงเรียนทั้งหมด ขณะเดียวกัน อย.และ สคบ. วัดการได้รับความรู้ และมีความรู้เกี่ยวกับการบริโภคได้ร้อยละ 70-80 และ 60-90 ตามลำดับแต่โครงการ อย.น้อยที่มีเพียงร้อยละ 30 ของโรงเรียนทั้งหมด ก็มีคำถามว่าจะมีผลกระทบต่อการศึกษาหรือไม่ ส่วนการศึกษานอกระบบ รูปแบบควรจะเป็นอย่างไร ใครควรจะเป็นผู้รับผิดชอบหลัก เพราะทุกวันนี้การให้ความรู้เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคทางออนไลน์มีน้อยเกินไป ในขณะที่สื่อหลอกลวงมีมากมาย นอกจากนี้ ในด้านเนื้อหานั้น ไม่สามารถคาดหวังความทั่วถึง และความลึกซึ้งได้

 

องค์ประกอบที่ 4 ความยั่งยืนสำหรับผู้บริโภค

กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ได้พัฒนามาตรฐาน G-GREEN เพื่อตรวจประเมินการจัดการสิ่งแวดล้อมและให้การรับรองสถานประกอบการใน 7 ด้าน ประกอบด้วย Green Production, Green Hotel, Green National Park , Green Office, Green Religion, Green Restaurant และ Green Upcycle จากปี 2556 ถึงปี 2566 มีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการแล้ว 2,390 แห่ง สรุปได้ว่า ผ่านมาได้ 10 ปีแล้ว ยังมีผู้ประกอบการน้อยที่ให้ความสนใจ อาจต้องเพิ่มสิ่งจูงใจให้มากกว่านี้

เป็นองค์ประกอบที่น่าจะสำคัญที่สุดเมื่อเทียบกับองค์ประกอบอื่น เพราะจะทำให้เกิดความยั่งยืนแก่ผู้บริโภค แต่ก็เป็นตัวชี้วัดที่โน้มเอียงไปในเชิงอุดมคติหรือเป็นเรื่องไกลตัวที่ผู้บริโภคทั่วไป หรือแม้แต่ผู้ประกอบการทั่วไปมักไม่ใส่ใจอย่างจริงจัง ดังนั้น การส่งเสริมให้เกิดการบริโภคอย่างยั่งยืนจึงยังคงเป็นแบบต่างคนต่างทำ และเหมือนทำพอเป็นพิธี ยังไร้พลังขับเคลื่อน

 

องค์ประกอบที่ 5 เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อผู้บริโภค

จำนวนผู้บริโภคที่สามารถเข้าถึงข้อมูลในระบบอินเทอร์เน็ตได้ง่าย พบว่า ระหว่างปี 2563 – 2565 มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และในปี พ.ศ. 2565 ไตรมาส 2 มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 55.7 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 85.0 ซึ่งนับว่าอยู่ในระดับสูงทีเดียว เพียงแต่ยังไม่ทราบว่า การเข้าถึงง่ายนั้นก่อประโยชน์หรือโทษมากน้อยกว่ากัน

ในกระแสสากลปัจจุบันมีความเชื่อว่า หากประชาชนสามารถเท่าทันเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป ประชาชนจะได้รับประโยชน์มากขึ้นจากระบบการบริโภค อย่างไรก็ตาม การส่งเสริมช่องทางสื่อสารทางออนไลน์ย่อมมีผลลบเพิ่มขึ้นมากด้วยจากมิจฉาชีพ ดังนั้น จึงต้องเร่งพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์ได้ง่ายในการตรวจสอบด้วย ซึ่งยังมีน้อยเกินไป

 

6 หน่วยงานผนึกกำลัง คุ้มครองผู้บริโภค

 

ล่าสุด เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2566 ณ โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต 6 องค์กร ประกอบด้วย สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สภาองค์กรของผู้บริโภค และ มูลนิธิวิทยาลัยการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพ (มวคบ.) จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ว่าด้วยการบูรณาการเรื่อง 'การพัฒนาศักยภาพองค์กรผู้บริโภคและสนับสนุนองค์กรผู้บริโภค' เพื่อประสานความร่วมมือในการบูรณาการ การทำงานพัฒนาศักยภาพองค์กรผู้บริโภค และสนับสนุนองค์กรผู้บริโภค ระยะเวลา 3 ปี โดยทั้ง 6 องค์กร จะได้ทำแผนปฏิบัติงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายร่วมกันต่อไป

 

ดร.ชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวว่า สสส. กำหนด 3 ยุทธศาสตร์ คุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพและพัฒนาระบบยา ได้แก่ 1.พลังนโยบายผลักดันการปฏิรูประบบคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อความปลอดภัยของประชาชน 2.พลังวิชาการ พัฒนามาตรการควบคุมสินค้าที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ 3. พลังสังคม หนุนเสริมการทำงานของภาคีเครือข่ายที่ช่วยลดปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพ ซึ่งเป็นสถานการณ์ปัญหาด้านการคุ้มครองผู้บริโภคปี 2566

 

และคาดว่าจะมีต่อเนื่องในปี 2567 คือ การขอชดเชยค่าสินไหมล่าช้า การกู้เงินออนไลน์ รวมทั้งปัญหาที่ยังต้องดำเนินการช่วยเหลือต่อเนื่อง เช่น ถูกหลอกลวง ฉ้อโกง ซื้อขายออนไลน์ ความปลอดภัยของสินค้าและบริการโดยเฉพาะผู้บริโภคกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุ ซึ่งมักแสวงหาผลิตภัณฑ์ และบริการสุขภาพต่างๆ ด้วยตนเอง เมื่อได้รับความเสียหาย จะมีผู้บริโภคที่ร้องเรียนบางส่วนเท่านั้นที่ได้รับการชดเชย

 

สสส. สนับสนุนการดำเนินงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ประกอบด้วย

1. ศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) พัฒนาความเข้มแข็งของระบบงานคุ้มครองผู้บริโภคระดับพื้นที่ จัดการความรู้ที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และบริการสุขภาพ

2. ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) สนับสนุนกลไกเฝ้าระวัง และพัฒนาระบบยาระดับภาค

3. มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) สร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จัดการความรู้ ฐานข้อมูล เฝ้าระวัง เตือนภัยสังคม

4. มูลนิธิพัฒนาเครือข่ายสุขภาพ สร้างความรู้ ความเข้าใจประชาชน ผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้สูงอายุ เรื่องการใช้ยาอย่างเหมาะสม

 

“พร้อมพัฒนาความเข้มแข็งของกลไกเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค รวมทั้งร่วมมือทำงานกับสภาองค์กรของผู้บริโภคอย่างใกล้ชิด ใน MOU นี้ สสส.มีบทบาทสนับสนุนและร่วมพัฒนาศักยภาพองค์กรผู้บริโภคคุณภาพ ทั้งการให้ข้อมูล ข้อเสนอแนะ ทรัพยากรต่างๆ และสนับสนุนองค์กร ผู้บริโภคที่ผ่านการรับรองคุณภาพให้มีบทบาทร่วมพัฒนาระบบคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ผ่าน กลไก คคส. โดยจะขยายองค์กรผู้บริโภคในจังหวัดต่างๆ มากขึ้น" ดร.ชาติวุฒิ กล่าว

 

ด้าน พ.ต.อ.ประทีป เจริญกัลป์ รองเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือของ 6 องค์กรในครั้งนี้ เปรียบเสมือนพันธสัญญาและคำมั่น ที่จะช่วยอุดช่องโหว่ของงานคุ้มครองผู้บริโภคได้ครบทุกมิติ ในบริบทที่เกี่ยวกับหน่วยงานอื่นได้อย่างครอบคลุมมาให้การทำงานไม่ซ้ำซ้อน ทั้งงานด้านสุขภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค เกิดแผนการทำงานร่วมกัน โดยในสถานการณ์ปัจจุบัน เกิดปัญหาการหลอกลวง เกิดการเอารัดเอาเปรียบกัน และง่ายแก่การเข้าถึงผู้บริโภคจากเทคโนโลยี หรือระบบออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ดังนั้นเมื่อมีการลงนามร่วมกันทำให้การคุ้มครองผู้บริโภค มีความเข้มแข็งมากขึ้น

 

ผศ.ทพ.ดร.วีระศักดิ์ พุทธาศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ หรือ ธรรมนูญสุขภาพ ล้วนแต่ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสุขภาพประชาชน และคุ้มครอง ไปถึงการบริโภคสินค้า ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ต้องปลอดภัย มีคุณภาพ มาตรฐาน อย่างมีศักดิ์ศรี และเสมอภาค ทั้งนี้ เมื่อมีการลงนามความร่วมมือกันเกิดขึ้น หวังว่าในอนาคตจะเกิดการพัฒนาระบบ หรือกฎหมาย ที่จะมาช่วยคุ้มครองประชาชนร่วมกัน เกิดความเท่าทัน ตอบสนองที่ทันต่อเหตุการณ์ในสถานการณ์ปัจจุบัน โดยมีระบบออนไลน์เข้ามาเป็นส่วนสำคัญ และเกิดการบูรณาการระบบ มีกลไกธรรมาภิบาล และเกิดการมีส่วนร่วม ร่วมกัน เช่น กลไกทางเทคโนโลยี หรือกระบวนการป้องกันเฝ้าระวังโรคอุบัติใหม่ การป้องกันเด็กติดเกม เป็นต้น

 

น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า สภาฯ เป็นองค์กรตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญในการเป็นผู้แทนผู้บริโภค ทำให้ผู้บริโภคมีอำนาจต่อรองเพิ่มขึ้น มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ทำให้มีองค์กรผู้บริโภคที่เข้มแข็ง ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิก 295 องค์กร ใน 41 จังหวัด ตั้งเป้าหมายให้มีทุกจังหวัดต่อไป ซึ่งการ MOU ครั้งนี้ เป็นประโยชน์โดยตรงต่อการคุ้มครองผู้บริโภค ทำให้เกิดกลไก องค์กรผู้บริโภคที่เข้มแข็งมากขึ้น เมื่อมีผู้บริโภคได้รับความเดือดร้อน ถูกละเมิดสิทธิ จะมีระบบ มีการวางแผนร่วมกันที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงคาดหวังว่าองค์กรที่ถูกรับรองโดยศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จะสามารถจดแจ้งเป็นสมาชิกของสภาฯ ได้คล่องตัวมากขึ้น ซึ่งจะมีสิทธิประโยชน์ต่างๆ มากกว่าเดิมด้วย

 

บทบาท 6 องค์กร ใครทำอะไร

 

สำหรับ บทบาทหน้าที่ทั้ง 6 องค์กรในการลงนาม MOU ในครั้งนี้ แต่ละองค์กรมีบทบาท ดังนี้

สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี

  • สนับสนุนการให้ข้อมูล และข้อเสนอแนะ เพื่อให้องค์กรผู้บริโภคสามารถยื่นแจ้งสถานะความเป็นองค์กรของผู้บริโภคตามกฎหมาย
  • สนับสนุนการประชาสัมพันธ์องค์ความรู้เพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพขององค์กรผู้บริโภค

 

สํานักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)

  • ส่งเสริม และสนับสนุนการมีส่วนร่วมของผู้บริโภค รวมถึงการรวมตัวกันของผู้บริโภคทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น
  • ส่งเสริมองค์กรของผู้บริโภคในการรักษาสิทธิของผู้บริโภค ให้ความรู้ และสร้างความตระหนักในสิทธิและหน้าที่ของผู้บริโภค

 

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

  • สนับสนุนและมีบทบาทร่วมในการพัฒนาศักยภาพขององค์กรผู้บริโภคคุณภาพ ทั้งในด้านการให้ข้อมูล ข้อเสนอแนะ รวมถึงการสนับสนุนทรัพยากรต่างๆ
  • สนับสนุนองค์กรผู้บริโภคที่ผ่านการรับรองคุณภาพให้มีบทบาทร่วมในการพัฒนาระบบคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ

 

สํานักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)

  • สนับสนุนการขับเคลื่อนการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพตามรัฐธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 พ.ศ.2565
  • สนับสนุนเครื่องมือ กลไก กระบวนการโดยร่วมกับภาคีในภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการสร้างเสริมศักยภาพแก่องค์กรผู้บริโภค

 

สภาองค์กรของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค)

  • สนับสนุนและมีบทบาทร่วมในการพัฒนาระบบรับรององค์กรผู้บริโภคคุณภาพ เพื่อเป็นการพัฒนาองค์กรของผู้บริโภคที่จะทําหน้าที่เป็นหน่วยงานประจําจังหวัด หน่วยงานเขตพื้นที่ และหน่วยงานอื่น
  • สนับสนุนองค์กรผู้บริโภคที่ผ่านการรับรองคุณภาพเพื่อทำหน้าที่คุ้มครอง พิทักษ์สิทธิ และรักษาผลประโยชน์ของผู้บริโภคในทุกระดับ

 

มูลนิธิวิทยาลัยการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพ (มวคบ.)

  • สนับสนุน และมีบทบาทร่วมในการพัฒนาระบบรับรององค์กรผู้บริโภคคุณภาพ และพัฒนาผู้ประเมินองค์กรผู้บริโภคคุณภาพ
  • สนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของผู้ปฏิบัติงานในองค์กรผู้บริโภคโดยพัฒนาหลักสูตรอบรมต่างๆ เพื่อส่งเสริมศักยภาพของผู้ปฏิบัติงานในองค์กรผู้บริโภค

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์