ทำอย่างไร? ให้รักคงอยู่..ดูแลสุขภาพจิตใจ ก่อนสัมพันธ์ห่างหายในวัยรุ่น
ช่วงวัยรุ่น (อายุระหว่าง 10 -19 ปี) เป็นช่วง เวลาที่คนคนหนึ่งเติบโตทั้งในทางร่างกายและจิตใจ ทว่าสิ่งที่น่าเป็นห่วงในปัจจุบัน คือ วัยรุ่นเสี่ยงเป็น ‘ภาวะซึมเศร้า’ (depression) เพิ่มมากขึ้น และไม่ใช่เฉพาะวัยรุ่นไทย หรือคนไทย แต่เป็นปัญหาของคนทั่วโลก
รายงาน การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ระบบและบริการสนับสนุนทางจิตใจและจิตสังคมสำหรับเด็กและวัยรุ่นในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ฉบับประเทศไทย ซึ่งจัดทำโดยยูนิเซฟ กรมสุขภาพจิต สถาบันวิจัยประชากรและสังคม และสถาบันเบอร์เน็ต ประเทศออสเตรเลีย ระบุว่า วัยรุ่นไทยอายุ 10-19 ปี ประมาณ 1 ใน 7 คน และเด็กไทยอายุ 5-9 ปี ประมาณ 1 ใน 14 คน มีความผิดปกติทางจิตประสาทและอารมณ์
"ปัจจุบัน การฆ่าตัวตายคือสาเหตุการเสียชีวิตอันดับสามของวัยรุ่นไทย โดยการสำรวจภาวะสุขภาพนักเรียนทั่วโลกในส่วนของประเทศไทยเมื่อปี 2564 (2021 Global School-based Student Health Survey) พบว่า ร้อยละ 17.6 ของวัยรุ่นอายุ 13-17 ปี มีความคิดที่จะฆ่าตัวตาย"
ทั้งนี้ ภาวะซึมเศร้าเป็นปัญหาสุขภาพจิตที่พบมากในวัยรุ่น ทั่วโลก มีผลการศึกษาว่าระหว่างปีค.ศ.2005-2015 พบว่า อัตราการเกิดภาวะซึมเศร้าเพิ่มขึ้นถึง 18.4 เท่าหนึ่ง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
"ปัญหาสุขภาพจิต"เด็กและวัยรุ่นไทย เรื่องใหญ่!
วัยรุ่นรับบริการสุขภาพจิตไม่มีผู้ปกครองเพิ่ม1.5 เท่า ย้ำสิทธิทำได้
กรมสุขภาพจิต เผยวัยรุ่นไทยปรึกษา “ปัญหาเครียด” มากสุด แนะเทคนิคจัดการความเครียด
วัยรุ่นไทยถึงมีภาวะซึมเศร้าสูง สูญเสียจำนวนมาก
นอกจากนี้ ยังพบว่า ภาวะซึมเศร้าเป็นสาเหตุลำดับต้น ๆ ของการสูญเสียปีสุขภาวะของวัยรุ่น ที่มีช่วงอายุระหว่าง 15-19 ปี ย้อนกลับมาดูภาวะซึมเศร้าในหมู่วัยรุ่นไทยกันบ้าง
"จากงานวิจัยเรื่อง 'ความชุกของภาวะซึมเศร้าและความเสี่ยงฆ่าตัวตาย'สำรวจข้อมูลจากวัยรุ่นอายุระหว่าง 11-19 ปีทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 5,345 คน พบว่า วัยรุ่น กลุ่มตัวอย่างมีมากถึง ‘2 ใน 3’ ที่มีภาวะซึมเศร้า แบ่งเป็น ซึมเศร้าเล็กน้อย 49.8% ซึมเศร้าปานกลาง 13.2% ซึมเศร้ามาก 3.2% และซึมเศร้ารุนแรง 0.7% โดยเพศหญิง จะมีความเสี่ยงเป็นภาวะซึมเศร้ามากกว่าเพศชาย"
งานวิจัยดังกล่าว ยังให้ข้อมูลเรื่องความเสี่ยงจะฆ่า ตัวตายที่น่าสนใจว่า วัยรุ่นกลุ่มตัวอย่าง เคยคิดอยากตาย 20.5% เคยคิดฆ่าตัวตาย 5.1% และเคยพยายามฆ่า ตัวตาย 6.4%2 ทั้งนี้ยังพบความสัมพันธ์ระหว่างภาวะซึมเศร้าและ ความเสี่ยงจะฆ่าตัวตาย
"โดยวัยรุ่นที่มีความเสี่ยงจะฆ่าตัวตาย มีโอกาสจะมีภาวะซึมเศร้ามากกว่าวัยรุ่นที่ไม่มีความเสี่ยงจะฆ่าตัวตายถึงเกือบสิบเท่า"
ข้อสรุปจากงานวิจัยดังกล่าวพบว่า วัยรุ่นกลุ่มตัวอย่างในสถาบันการศึกษาประมาณ 2 ใน 3 มีแนวโน้มจะมีปัญหาทางอารมณ์ไปจนถึงมีภาวะซึมเศร้า จึงควรได้รับการดูแลช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ทั้งการให้ความสำคัญกับระบบคัดกรองสุขภาพจิตทั้งในสถาบันการศึกษาการพัฒนาระบบส่งต่อไปยังสถานบริการสาธารณสุขในพื้นที่ ใกล้เคียง รวมถึงต้องช่วยกันสร้างระบบป้องกันปัญหาสุขภาพจิต และจัดบริการด้านสุขภาพจิตในหมู่วัยรุ่นในเขตบริการสุขภาพทั่วประเทศ
ทำไมวัยรุ่นไทยมี 'ภาวะซึมเศร้าสูง'
พญ.ดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ ระบุว่า อาการซึมเศร้าในหมู่วัยรุ่นจะดูออกได้ยาก เพราะมักแสดง อาการก้าวร้าว หรือหันไปหาสิ่งที่เบี่ยงเบน ความสนใจเพื่อหนีจากโลกความเป็นจริง เช่น ติดเกมหรือมีเพศสัมพันธ์ ปัญหาซึมเศร้าในหมู่วัยรุ่นอาจนำ ไปสู่ความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย
"วิธีการรับมือกับผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า ที่ดีที่สุดคือ การรับฟังและชวนเขามารับ การรักษา"
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน พ.ร.บ. สุขภาพจิตยังมีข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคต่อการ เข้ารับการรักษาของวัยรุ่นที่มีอายุตํ่ากว่า 18 ปี เพราะถ้าจะมารักษาต้องพาผู้ปกครอง มาด้วย แม้ผู้เกี่ยวข้องจะมองว่า ในเบื้องต้น วัยรุ่นสามารถขอเข้ารับคำปรึกษาได้แต่หากเข้าสู่การรักษายังคงจำเป็นต้องมีผู้ปกครองร่วมด้วยเช่นเดิม
อีกปัญหาที่พบคือ กลไกการแก้ไข ปัญหา รวมถึงความช่วยเหลือที่รัฐใช้ใน ปัจจุบัน ยังมุ่งเน้นที่โทรศัพท์ เว็บไซต์ หรือ เฟซบุ๊ก ในขณะที่วัยรุ่นจำ นวนไม่น้อยจะหัน ไปแสดงอารมณ์ความรู้สึกผ่านทวิตเตอร์
ล่าสุด กรมสุขภาพจิตร่วมมือกับ กองบังคับการปราบปรามและ Social Influencer 3 เพจดัง จัดตั้งทีมปฏิบัติการ พิเศษป้องกันการฆ่าตัวตาย หรือ HOPE Task Force (Helpers of Psychiatric Emergency) ซึ่งหมายถึง ผู้ช่วยเหลือด้าน สุขภาพจิตฉุกเฉิน โดยทีมปฏิบัติการดังกล่าว จัดตั้งขึ้นเพื่อนำมาใช้ดูแลช่วยเหลือผู้ที่กำลังได้รับผลกระทบหรือมีสัญญาณเสี่ยงต่อการ ฆ่าตัวตายในโลกโซเชียลให้ได้รับการช่วยเหลือ อย่างทันท่วงที
วัยรุ่นไทย เครียดเรื้อรัง มีปัญหาความสัมพันธ์กับผู้อื่น
พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ขณะนี้มีการรายงานสถานการณ์ทั่วโลกและการศึกษาในประเทศไทยที่ พบว่า กลุ่มวัยที่อายุน้อย วัยรุ่น หรือวัยทำงานตอนต้น มีภาวะซึมเศร้าเพิ่มขึ้น ซึ่งจะสัมพันธ์กับการฆ่าตัวตายได้ เพราะมีหลายปัจจัย จากสถานการณ์โควิด-19 และภัยคุกคามอื่นๆ ที่ทำให้เยาวชนและวัยรุ่นต้องปรับการดำเนินชีวิต เช่น การใช้เวลาเรียนทำงานออนไลน์มากกว่าการพบปะเพื่อนและสังคมตามภาวะปกติ อาจทำให้เกิดความเครียดเรื้อรัง ส่งผลทั้งปัญหาสุขภาพและปัญหาความสัมพันธ์กับผู้อื่น
ทั้งนี้ในบางรายแม้จะเครียดมาก แต่พฤติกรรมภายนอกไม่แสดงออก ทว่าในใจมีอาการดำดิ่งสู่ความเจ็บปวดอย่างรุนแรง จนนำไปสู่การตัดสินใจด้วยอารมณ์ที่นำมา ซึ่งความเสียใจให้กับคนรอบข้าง เช่น ความกดดันของวัยเรียนที่กลัวว่าจะไม่สามารถทำตามความคาดหวังของครอบครัว นำไปสู่การทำร้ายตัวเองหรือการฆ่าตัวตาย เพราะเข้าใจว่าการกระทำนั้นเป็นทางเลือกที่ต้องการเผชิญหน้าหรือรับมือแต่เพียงคนเดียว
"ดังนั้นการช่วยเหลือเบื้องต้นที่สามารถทำได้ด้วยตัวเอง เมื่อมีความรู้สึกหดหู่ ให้มองด้านบวก นึกถึงคุณค่าของตนเอง ปล่อยวางความคิด ปรับวิธีคิดให้แตกต่างไปจากเดิมจะช่วยให้หาทางออกในการแก้ไขปัญหาได้ดีขึ้น แต่หากไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตนเอง การขอความช่วยเหลือจากคนใกล้ชิด หรือการรับบริการจากผู้เชี่ยวชาญเป็นวิธีที่จะสามารถช่วยได้"
การตัดสินใจขอความช่วยเหลือเหล่านั้นไม่ได้เป็นการสร้างภาระ เปรียบเหมือนการมองหาเข็มทิศที่จะช่วยในการรับมือต่อสู้กับความคิดของตนเอง เพื่อก้าวผ่านสถานการณ์ที่รุมเร้าได้
10 อาการสำรวจภาวะซึมเศร้าในวัยรุ่น
อย่างไรก็ตาม กลุ่มเด็กและวัยรุ่นยังต้องการการยอมรับเป็นเรื่องสำคัญ แต่ความเครียดในโลกไซเบอร์ ทำให้เกิดภาพของ Cyber Bullying ยิ่งมีความรู้สึกต้องการยอมรับ แต่กลับถูก Cyber Bullying ก็ยิ่งเป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญทำให้เครียดกดดันได้
กรมสุขภาพจิต ให้ข้อมูล 10 อาการของภาวะ ซึมเศร้าในวัยรุ่น สำหรับคนใกล้ชิด ไม่ว่าจะผู้ปกครอง เพื่อนฝูง ครูอาจารย์ จะได้ช่วยกันจับตา เพื่อนำไปสู่กลไกการให้คำ ปรึกษาหรือบำบัดรักษาต่อไป ได้แก่
1 มีความรู้สึกด้อยค่าในตัวเอง
2 นอนหลับยาก หรือนอนหลับมากกว่าปกติ
3 ระบบย่อยอาหาร หรือนํ้าหนักเปลี่ยนไป
4 อารมณ์แปรปรวน โกรธ หงุดหงิดง่าย
5 ไม่รู้สึกสนุกสนานเพลิดเพลิน หรือสนใจต่อสิ่งที่เคยชอบ
6 ไม่มีสมาธิในการเรียน ความจำ ไม่ดี
7 ปวดหัวหรือปวดตามร่างกายที่หาสาเหตุไม่ได้
8 ขาดแรงจูงใจในการทำภารกิจสิ่งใดให้สำเร็จลุล่วง
9 อารมณ์ทางเพศลดลง
10 เหนื่อย เพลีย ไม่มีเรี่ยวแรง
คนใกล้ชิด ครอบครัว ครู เพื่อนเติมพลังใจ ไม่ตำหนิ
ทั้งนี้ คนใกล้ชิด ครอบครัว ครู อาจารย์และเพื่อน ต้องช่วยกันเติมพลังใจให้แก่กัน ไม่ตำหนิความคิด หรือการตัดสินใจของบุคคลเหล่านั้น พร้อมกับรับฟังปัญหาอย่างตั้งใจ โดยไม่ใช้ความคิดของตนเองเข้าไปตัดสิน ร่วมสะท้อนสภาวะจิตใจว่าความเศร้าหรือความเครียดที่กำลังเผชิญอยู่นั้น มีต้นตอมาจากไหน แนะนำว่าควรจะจัดการร่วมกันอย่างไร
กรมสุขภาพจิต ยังดำเนินการเฝ้าระวังอย่างเต็มที่ มุ่งหน้าทำให้ดีที่สุดเพื่อรักษาทุกชีวิตให้ได้มากที่สุด และยังเน้นการช่วยเหลือเพื่อป้องกันปัญหาตั้งแต่ต้นทาง ไม่ใช่เพียงการป้องกันไม่ให้ทำร้ายตัวเอง แต่ทำให้คนมีความทุกข์น้อยลงและยังสามารถช่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า เพิ่มความแข็งแกร่งให้กับสังคมอีกด้วย
"ประชาชนสามารถวัดใจตนเองอย่างสม่ำเสมอผ่าน www.วัดใจ.com หรือ Mental Health Check In เป็นการดูแลสุขภาพจิตระดับบุคคล ตรวจสอบสัญญาณเตือนความเสี่ยงต่างๆ"
วิธีการป้องกันปัญหาสุขภาพจิตในวัยรุ่นง่ายๆ
1.เริ่มจาก พ่อแม่ คุณครู มีบทบาทสำคัญ
- พ่อแม่และโรงเรียนสามารถมีส่วนในการป้องกันได้ โดยเริ่มตั้งแต่ส่งเสริมสุขภาพจิตในวัยเด็ก คุณหมอให้ข้อมูลว่า เด็กที่มีพัฒนาการของบุคลิกภาพดี จะมีภูมิต้านทานโรคทางจิตเวช และช่วยป้องกันปัญหาสุขภาพจิตในวัยรุ่นได้มาก
2.ฝึกให้เด็กมีอีคิว ไม่กลัวปัญหา
- ในแง่การป้องกันปัญหา ต้องฝึกเด็กให้มีอีคิว ฝึกเด็กให้นอกจากเป็นคนเก่งและคนดีแล้ว ยังต้องมีความสุขให้ได้ด้วย
- พ่อแม่ควรฝึกให้เด็กรู้จักคิดและทำอะไรด้วยตัวเอง รู้จักพอใจและภูมิใจในการทำงาน สนุกกับงาน ไม่ท้อแท้ง่ายๆ ไม่กลัวปัญหา
3.สร้างวงจรของความสุข
- วิธีสร้างวงจรของความสุข ว่าเด็กทุกคนควรมีวิธีทำให้ตนเองมีความสุข สร้างความสุขด้วยตัวเองได้ ส่งเสริมให้เด็กได้ทำสิ่งที่ชอบหรือถนัด เพราะเด็กมักทำได้ดี ทำแล้วมีความสุข ช่วยสร้างแรงจูงใจให้เด็กอยากทำสิ่งนั้นอีก ช่วยสร้างวงจรแห่งความสุข วงจรนี้ช่วยให้เด็กไกลจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ
อ้างอิง:กรมสุขภาพจิต