PM 2.5 พุ่งทะลุกราฟ! สาเหตุอุบัติการณ์ "มะเร็งปอด" ที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก

PM 2.5 พุ่งทะลุกราฟ! สาเหตุอุบัติการณ์ "มะเร็งปอด" ที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก

สัมผัสอากาศดีไม่ทันไร "PM 2.5" ก็มายึดพื้นที่คืนอย่างไว ชาวกรุงอย่าประมาท เพราะ "ฝุ่นจิ๋ว" หรือ "ฝุ่นพิษ" ชนิดนี้ ถือเป็นหนึ่งในสาเหตุการป่วย "มะเร็งปอด" (ในผู้ที่ไม่สูบบุหรี่) และการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของคนทั่วโลก

ฝุ่นพิษ "PM 2.5" ก่อตัวหนาปกคลุมกรุงเทพฯ อีกครั้ง ล่าสุดวันนี้ (2 ก.พ. 66 ณ เวลา 12.40 น.) มีรายงานจากเว็บไซต์ IQAir หน่วยงานตรวจวัดฝุ่นพิษทั่วโลก พบว่าในประเทศไทย (พื้นที่ กทม.) พบฝุ่น PM 2.5 สูงถึง 168 ไมโครกรัม/ลบ.ม. (µg/m³) ซึ่งเกินมาตรฐานถึง 17.8 เท่า ของค่าแนวทางคุณภาพอากาศประจำปีของ องค์การอนามัยโลก

PM 2.5 พุ่งทะลุกราฟ! สาเหตุอุบัติการณ์ \"มะเร็งปอด\" ที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก

ขณะที่ในวันเดียวกันนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานคร (กทม.) สรุปผลการตรวจวัด PM2.5 ระหว่างเวลา 9.00-11.00 น. พบว่า มีค่าPM2.5 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเกินมาตรฐาน โดย 46 พื้นที่ในกรุงเทพฯ มีระดับฝุ่นพิษที่พุ่งสูงจน "ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ"  ของคนกรุงเทพฯ แล้ว ได้แก่

เขตสัมพันธวงศ์, เขตวังทองหลาง, เขตปทุมวัน, เขตบางคอแหลม, เขตยานนาวา, เขตบางกะปิ, เขตลาดกระบัง, เขตธนบุรี, เขตคลองสาน, เขตบางกอกน้อย, เขตภาษีเจริญ, เขตบางเขน, เขตบางขุนเทียน, เขตสาทร, เขตคลองเตย, เขตหลักสี่, เขตบึงกุ่ม, เขตสวนหลวง, เขตคลองสามวา, เขตสายไหม, เขตบางแค, เขตจอมทอง, เขตดอนเมือง,

เขตราษฎร์บูรณะ, เขตบางกอกใหญ่, เขตตลิ่งชัน, เขตทวีวัฒนา, เขตหนองแขม, เขตบางบอน, เขตทุ่งครุ, เขตวัฒนา, เขตบางนา, เขตคันนายาว, เขตมีนบุรี, เขตหนองจอก, เขตประเวศ, เขตจตุจักร, สวน 6 พรรษาฯ เขตลาดกระบัง, สวนธนบุรีรมย์ เขตทุ่งครุ, สวนเสรีไทย เขตบึงกุ่ม, สวนทวีวนารมย์ เขตทวีวัฒนา, สวนพระนคร เขตลาดกระบัง, สวนหนองจอก เขตหนองจอก, สวนกีฬารามอินทรา เขตบางเขน, สวนหลวง ร.9 เขตประเวศ, สวนบางแคภิรมย์ เขตบางแค

 

  • “ฝุ่น PM 2.5” มาแล้ว ชาวกรุงต้องป้องกันตนเอง

ตามคำแนะนำของ "กรมควบคุมมลพิษ" ระบุว่า ผู้ที่อยู่อาศัยในเขตพื้นที่ “อากาศมีผลกระทบต่อสุขภาพ” (ระดับสีแดง) จะต้องดูแลตัวเองมากขึ้น โดยกลุ่มประชาชนทั่วไปควรเฝ้าระวังสุขภาพ ด้วยการ "ลด" หรือ "งด" การทำกิจกรรมนอกบ้าน หากจำเป็นต้องอยู่นอกบ้าน ให้สวมหน้ากาก ป้องกัน PM 2.5 อีกทั้งควรงดการออกกำลังกายกลางแจ้ง ให้เปลี่ยนมาออกกำลังกายในที่ที่ไม่มีฝุ่นละออง

หากมีอาการผิดปกติ เช่น ไอบ่อย หายใจถี่ หายใจลำบาก หายใจ ไม่ออก หายใจมีเสียงวี้ด แน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก ใจสั่น คลื่นไส้ เมื่อยล้า ผิดปกติ หรือวิงเวียนศีรษะ ให้รีบไปพบแพทย์

ส่วนกลุ่มผู้ที่ต้องดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ เช่น เด็กเล็ก, หญิงตั้งครรภ์, ผู้สูงอายุ, ผู้มีโรคประจำตัว ฯลฯ ให้งดออกนอกบ้าน และงดออกกำลังกายกลางแจ้ง ให้อยู่แต่ในบ้าน ถ้าจำเป็นต้องออกนอกบ้านให้สวมหน้ากากป้องกัน PM2.5 ทุกครั้ง หากมีอาการผิดปกติ เช่น ไอบ่อย หายใจ ลำบาก หายใจถี่ หายใจไม่ออก หายใจมีเสียงวี้ด แน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก ใจสั่น คลื่นไส้ เมื่อยล้า ผิดปกติ หรือวิงเวียนศีรษะ ให้รีบไปพบแพทย์ ส่วนผู้ที่มีโรคประจำตัวห้ามออกนอกบ้าน ควรเตรียมยาและอุปกรณ์ ที่จำเป็นอย่างน้อย 5 วันในการอยู่บ้าน

PM 2.5 พุ่งทะลุกราฟ! สาเหตุอุบัติการณ์ \"มะเร็งปอด\" ที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก

 

  • ย้อนดูสถิติ WHO ชี้ มีผู้เสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศ 4.2 ล้านคนต่อปี

การป้องกันตนเองไม่ให้สูดหายใจเอา “ฝุ่นPM 2.5” เข้าไปในร่างกาย เป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจอย่างมาก เพราะหากย้อนไปดูสถิติข้อมูลของ WHO เมื่อปี พ.ศ. 2559 ได้รายงานเอาไว้ว่า มีผู้คน #เสียชีวิตก่อนวัยอันควร จากการได้รับมลพิษทางอากาศและฝุ่นละออง PM 2.5 มากถึง 4.2 ล้านคนต่อปี

ข้อมูลระบุอีกว่า 91% ของผู้เสียชีวิตอาศัยอยู่ในบริเวณที่มีระดับคุณภาพอากาศแย่เกินเกณฑ์กำหนดของ WHO ซึ่งประเทศที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศมากที่สุด คือ กลุ่มประเทศรายได้น้อยถึงปานกลางในแถบเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ และภาคพื้นแปซิฟิกตะวันตก

สำหรับสาเหตุการเสียชีวิตดังกล่าว พบว่า มีความเกี่ยวโยงสัมพันธ์กับการสัมผัสมลพิษทางอากาศ ซึ่งเป็นต้นตอของการเกิดโรคร้ายต่างๆ หรือไปกระตุ้นให้ผู้ที่ป่วยอยู่แล้วมีอาการแย่ลง โดยมีสัดส่วนการเสียชีวิตจากโรคต่างๆ คือ

        - 58% เสียชีวิตจากโรคหัวใจขาดเลือด และโรคหลอดเลือดสมอง

        - 18% เสียชีวิตจากโรคปอดอุดตันเรื้อรัง และการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง

         - 6% เสียชีวิตจากโรคมะเร็งปอด

 

  • WHO ประกาศเกณฑ์วัดคุณภาพอากาศใหม่ในรอบ 16 ปี

อีกทั้งก่อนหน้านี้มีข้อมูลจาก WHO's International Agency for PM Research on Cancer (IARC) ได้ประเมินการเกิด “โรคมะเร็งปอด” ที่สัมพันธ์กับฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ซึ่งมีผลสรุปออกมาว่า ฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 เป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ และมีความสัมพันธ์กับ "อุบัติการณ์การเกิดโรงมะเร็งปอดของคนทั่วโลก" ทำให้ WHO ได้กำหนดค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศ หรือค่าความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เอาไว้ว่าห้ามเกิน 10 microgram/m3 (นี่เป็นข้อกำหนดเมื่อ 10 กว่าปีก่อน)

ต่อมาในปี 2564 WHO ได้ประกาศเกณฑ์วัดคุณภาพอากาศใหม่ในรอบ 16 ปี โดยปรับการกำหนดค่า PM2.5 จากเดิม 10 เหลือแค่ 5 microgram/m3 เพราะมีหลักฐานชัดเจนว่าระดับ PM2.5 ที่สูงเกินกว่า 5 microgram/m3 นั้น ส่งผลให้ผู้คนมีอัตราการเสียชีวิตที่สูงขึ้น

 

  • วิจัยล่าสุดปี 2022 ชี้ชัด คนป่วยมะเร็งปอดมากขึ้นจาก PM 2.5

สอดคล้องกับงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่เพิ่งจะถูกเผยแพร่บนเวที ESMO Congress 2022 ในเดือน ก.ย. 2565 ที่ผ่านมา ผลวิจัยชี้ชัดว่า การเสียชีวิตจาก โรคมะเร็งปอด (ในผู้ที่ไม่สูบบุหรี่) มีความเชื่อมโยงกับการสัมผัสมลพิษทางอากาศ  โดยในปี 2562 มีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งปอดมากกว่า 300,000 รายทั่วโลก ซึ่งเชื่อมโยงกับการสัมผัสมลพิษทางอากาศในสภาพแวดล้อมกลางแจ้ง

งานวิจัยดังกล่าวยังบอกอีกว่า การได้รับฝุ่นละออง PM 2.5 เข้าสู่ร่างกายเพิ่มขึ้น ก็จะเพิ่มความเสี่ยงของการเกิด “มะเร็งปอด” ชนิด non-small-cell ในผู้ไม่สูบบุหรี่ ที่มีการกลายพันธุ์ของเนื้อเยื่อปอดอยู่แล้วแต่เดิม โดยนักวิจัยจากสถาบันฟรานซิสคริก (Francis Crick Institute) อธิบายว่า ผลกระทบนี้เกิดจาก ฝุ่นละออง PM 2.5 เข้าไปทำให้เนื้อเยื่อปอดอักเสบ ส่งผลให้กลายเป็นเซลล์มะเร็งได้

อีกทั้งพบว่าประมาณ 50% ของผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ที่ป่วยเป็นมะเร็งปอดนั้น ผู้วิจัยพบว่า เนื้อเยื่อปอดของพวกเขามีการกลายพันธุ์อยู่แต่เดิม (EGFR mutations) เมื่อเซลล์ปอดที่มีการกลายพันธุ์เหล่านี้ ไปสัมผัสกับมลพิษทางอากาศ (PM 2.5) ก็จะไปกระตุ้นให้กลายเป็นเซลล์มะเร็งได้เร็วกว่าเซลล์ปอดที่ไม่ได้สัมผัสกับสารมลพิษ

อย่างไรก็ตาม มะเร็งปอดระยะเริ่มต้นสามารถตรวจพบได้ในผู้ไม่สูบบุหรี่ โดยใช้การตรวจคัดกรองด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์บริเวณทรวงอกโดยใช้รังสีต่ำ (LD-CT) แต่ทั้งนี้ ในระดับนโยบายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็ต้องให้ความสำคัญกับมาตรการ “การควบคุมมลพิษทางอากาศ” มากขึ้น เพื่อปรับปรุงผลลัพธ์ด้านสุขภาพให้แก่ประชาชน ซึ่งหวังว่าจะส่งผลให้ระดับ PM 2.5 ลดลง และช่วยป้องกันการสูญเสียประชากรจากโรคมะเร็งปอดได้

-------------------------------------

อ้างอิง : ESMO.orgกรมควบคุมโรคWHO global air quality guidelinesair4thai