ย้อนรอย ‘ตำรวจรถไฟ’ ผู้พิทักษ์ความปลอดภัยให้ผู้โดยสาร หลังปิดตำนาน 72 ปี

ย้อนรอย ‘ตำรวจรถไฟ’ ผู้พิทักษ์ความปลอดภัยให้ผู้โดยสาร หลังปิดตำนาน 72 ปี

เจาะลึกที่มา “ตำรวจรถไฟ” ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ที่คอยดูแลความปลอดภัยให้ผู้โดยสารที่เดินทางโดยรถไฟไทยมานานถึง 72 ปี แต่ล่าสุดถูกปิดหน่วยงานลงตาม พ.ร.บ. ตำรวจแห่งชาติฉบับใหม่ รัฐบาลส่งต่อให้ รฟท. ทำหน้าที่แทน

Key Points:

  • เมื่อวันที่ 17 ต.ค. ที่ผ่านมา “ตำรวจรถไฟ” ได้ยุติบทบาทการปฏิบัติหน้าที่ลงตาม พ.ร.บ. ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565
  • แม้จะครบรอบวันสถาปนา 72 ปี แต่จริงๆ แล้ว “กองบังคับการตำรวจรถไฟ” เป็นหน่วยงานเก่าแก่รุ่นคุณทวด ที่มีความเป็นมายาวนานถึง 129 ปี (ก่อตั้งในปี 2437)
  • หลังจากนี้เป็นต้นไป จะไม่มีการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจรถไฟแล้ว ส่วนการดูแลความปลอดภัยของผู้โดยสารนั้นจะเป็นหน้าที่ของ “การรถไฟแห่งประเทศไทย” มารับไม้ต่อ 

สำหรับผู้ที่มีความจำเป็นต้องเดินทางด้วย “รถไฟ” เป็นประจำ คงคุ้นเคยกับ “ตำรวจรถไฟ” เป็นอย่างดี โดยเจ้าหน้าที่หน่วยงานนี้จะคอยดูแลความปลอดภัยและความเรียบร้อยในการเดินทางของรถไฟทั้งหมด ทั้งในสถานีรถไฟ ทางรถไฟ ขบวนรถไฟ จุดถ่ายโอนสินค้า ที่พักสินค้า ไปจนถึงที่ดินที่เป็นทรัพย์สินของการรถไฟ ที่สำคัญ..ยังมีอำนาจหน้าที่ในการสืบสวนสอบสวนและป้องกันการทำความผิดที่เกิดขึ้นในเขตรถไฟอีกด้วย

ดังนั้นที่ผ่านมาเราจึงได้เห็นการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจรถไฟผ่านสื่ออยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะเรื่องราวเกี่ยวกับการปราบปรามผู้กระทำความผิด เช่น การลักลอบขนส่งยาเสพติด การทำร้ายร่างกาย การลักขโมย หรือการหลบหนีคดีของผู้กระทำความผิด ตามคำขวัญของตำรวจรถไฟที่ว่า “ทุกขบวนปลอดภัย ตำรวจรถไฟ พร้อมให้บริการ”

แต่เมื่อวันที่ 17 ต.ค. ที่ผ่านมา ถือเป็นวันสุดท้ายในการปฏิบัติหน้าที่ของ “ตำรวจรถไฟ” หลังจากมีการประกาศใช้ พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ทำให้ “กองบังคับการตำรวจรถไฟ” ถูกยกเลิก และให้ตำรวจรถไฟแยกย้ายไปทำหน้าที่ตามหน่วยงานต่างๆ ในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือ ตร. แทน ก่อนที่รัฐบาลจะให้ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เข้ามาทำหน้าที่ดูแลความปลอดภัยเจ้าหน้าที่และผู้โดยสารของ รฟท. หลังจากนี้ไป

ด้วยความที่เป็นหน่วยงานเก่าแก่ซึ่งอยู่มานานกว่าร้อยปี กรุงเทพธุรกิจจึงขอพาย้อนเวลาไปทำความรู้จักประวัติความเป็นมาอันยาวนานของ “ตำรวจรถไฟ” ที่ปัจจุบันหลงเหลือเพียงแค่ชื่อเท่านั้น

  • “ตำรวจรถไฟ” หน่วยงานที่อยู่คู่รถไฟไทยมานาน 129 ปี

กองบังคับการตำรวจรถไฟ (Railway Police Division) หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ตำรวจรถไฟ” ซึ่งในช่วงแรกเริ่มเดิมทีนั้นใช้ชื่อว่า กองตำรวจรถไฟ ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2495 และเพิ่งจะครบรอบวันสถาปนาฯ 72 ปี ไปเมื่อ 12 ต.ค. ที่ผ่านมา แต่ความจริงแล้วมีประวัติความเป็นมายาวนานกว่านั้น

สำหรับ “กองบังคับการตำรวจรถไฟ” เป็นหน่วยงานตำรวจระดับกองบังคับการ สังกัดกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ของ ตร. ก่อตั้งหน่วยงานขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2437 หลังการจัดตั้ง “กรมรถไฟหลวง” ณ สถานีรถไฟกรุงเทพ หรือหัวลำโพงในปัจจุบัน โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ทั้งนี้ หากนับตั้งแต่การก่อตั้ง เรียกได้ว่าตำรวจรถไฟมีอายุมากถึง 129 ปี

ต่อมากองตำรวจรถไฟเริ่มออกปฏิบัติหน้าที่ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2443 ในเส้นทางรถไฟสาย กรุงเทพ-นครราชสีมา มีหน้าที่หลักในการป้องกันภัยให้แก่รถไฟ และผู้โดยสาร จากการก่ออาชญากรรม ไปจนถึงป้องกันอันตรายจากสัตว์ป่าดุร้าย เนื่องจากในอดีตเส้นทางการเดินรถไฟของไทย ยังต้องผ่านบริเวณผืนป่าหนาทึบที่มีสัตว์ป่าชุกชุม ทำให้เสี่ยงต่อการถูกสัตว์ทำร้ายได้ทั้งกลางวันและกลางคืน

 

  • “ตำรวจรถไฟ” เจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ประชาชนไม่อยากให้ยุบ?

ถัดมาในปี พ.ศ. 2500 พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจ (ผบ.ตร) ในขณะนั้น มีคำสั่งยกสถานะกองตำรวจรถไฟ ขึ้นเป็น “กองบังคับการ” เพื่อเพิ่มอำนาจหน้าที่และอัตรากำลังพลให้เพียงพอ เนื่องจากมีอัตราการเกิดอาชญากรรมและอุบัติเหตุเพิ่มมากขึ้น รวมถึงมีเส้นทางเดินรถไฟ สถานีรถไฟ รวมถึงปริมาณการเดินรถไฟและจำนวนผู้โดยสารเพิ่มมากขึ้น ทำให้ต่อมาในปี 2548 มีการโอนไปสังกัด “กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง”

ที่ผ่านมา ตำรวจรถไฟสามารถจับกุมผู้ต้องหาได้หลายคดี โดยเฉพาะคดียาเสพติดชนิดต่างๆ ที่ในยุคหนึ่ง ผู้ก่อเหตุหันมาลำเลียงยาเสพติดผ่านทางรถไฟมากขึ้น เพื่อหลบเลี่ยงการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

ทั้งนี้ ตามข้อมูลล่าสุดจาก กองบังคับการตำรวจรถไฟ ก่อนที่จะถูกยุบ ระบุว่า ปัจจุบันมีอัตรากำลังพลตำรวจรถไฟกว่า 738 นาย กระจายอยู่ใน 15 สถานีตามเส้นทางรถไฟ และมีหน่วยบริการอยู่ตามสถานีรถไฟ 40 แห่ง

ในช่วงแรกที่มีการประกาศว่าจะยุบตำรวจรถไฟ เพื่อให้เป็นไปตามหลักการปฏิรูปตำรวจ ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสังคม โดยเฉพาะประชาชนที่เดินทางด้วยรถไฟเป็นประจำที่ต่างก็กังวลว่า แล้วใครจะมาทำหน้าที่ดูแลความปลอดภัยในส่วนนี้แทน?  เพราะผู้โดยสารบางคนก็มองว่า “ตำรวจรถไฟ” ถือเป็นเจ้าหน้าที่ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่ได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดีในการดูแลความสงบเรียบร้อยให้กับผู้โดยสาร

ล่าสุด.. หลังจากประกาศยกเลิกหน่วยงาน “กองบังคับการตำรวจรถไฟ” รัฐบาลได้ประสานให้ รฟท. เตรียมพร้อมแผนดำเนินงานดูแลความปลอดภัยแก่ผู้โดยสาร แทนการทำงานของตำรวจรถไฟ เพื่อความสบายใจให้กับผู้โดยสารในการเดินทางในทุกขบวนรถและสถานีรถไฟทั่วประเทศ

 

  • เมื่อ “การรถไฟไทย” เข้ามารับช่วงการดูแลความปลอดภัยแทนตำรวจ

แม้ว่า “ตำรวจรถไฟ” จะหยุดปฏิบัติหน้าที่ไปแล้ว ท่ามกลางความกังวลของผู้โดยสารและผู้คนอีกหลายอาชีพที่ต้องใช้ชีวิตอยู่กับรถไฟ แต่ทาง รฟท. เองก็ยืนยันว่าจะเข้ามาดูแลความปลอดภัยในส่วนนี้แทน โดยมีการร่วมมือกับกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เพื่อยกระดับการดูแลความปลอดภัยและปราบปรามปัญหาอาชญากรรมในเขตรถไฟ

ทั้งนี้ ตำรวจสอบสวนกลาง มีขอบเขตความรับผิดชอบดูแลรักษาความปลอดภัยในเขตพื้นที่ กทม. อยู่แล้ว ซึ่งเป็นพื้นที่รับผิดชอบเดิมของตำรวจรถไฟ โดยเบื้องต้นได้มีการวางแผนจัดส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาช่วยดูแลความปลอดภัย และความเรียบร้อยบนขบวนรถไฟ รวมถึงสถานีรถไฟอย่างสม่ำเสมอ

ส่วนพื้นที่ความรับผิดชอบของตำรวจรถไฟในเขตภูมิภาคหรือต่างจังหวัด อยู่ในความรับผิดชอบของกองปัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 - 9 ในพื้นที่สถานีตำรวจภูธรต่างๆ

และเพื่อความสบายใจและความปลอดภัยของประชาชนผู้ใช้รถไฟ รฟท. และตำรวจได้มีการร่วมมือกันสนับสนุน แลกเปลี่ยน วางแผน ป้องกันปราบปราม และแก้ไขปัญหาอาชญากรรมในเขตพื้นที่ของ รฟท. ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลคนร้าย ผู้ก่อเหตุ ผู้ต้องสงสัย ข้อมูลระบบกล้องวงจรปิด (CCTV) เพื่อประโยชน์ในแก้ไขปัญหาอาชญากรรมในเขตพื้นที่รถไฟทุกรูปแบบ

 

  • ผู้ว่าการฯ ยืนยัน เจ้าหน้าที่ รฟท. ผ่านการฝึกมาตรการด้านความปลอดภัยมาแล้ว

ด้าน เอกรัช ศรีอารยันพงษ์ หัวหน้าสำนักงานผู้ว่าการ รฟท. ยืนยันว่า บุคลากรของ รฟท. มีการซักซ้อมและทำความเข้าใจในแผนการดูแลความปลอดภัยให้ผู้โดยสาร โดยผ่านการเข้ารับการฝึกมาตรการด้านความปลอดภัย เพื่อให้สามารถดูแลผู้โดยสาร และป้องกันเหตุเฉพาะหน้าได้ พร้อมทั้งสั่งการให้เจ้าหน้าที่ เพิ่มความถี่ในการออกตรวจตราความเรียบร้อยบนขบวนรถ ทางรถไฟ และพื้นที่โดยรอบสถานีอย่างต่อเนื่อง

หลังจากนี้ รฟท. มีแผนเพิ่มการติดตั้งกล้องวงจรปิดเพิ่มบนตู้โดยสารต่างๆ เพื่อให้ครอบคลุมมากขึ้น รวมถึงเตรียมความพร้อมของคู่สาย ศูนย์บริการลูกค้าสัมพันธ์ โทรศัพท์ 1690 เพื่อให้สามารถติดต่อสอบถามข้อมูล หรือแจ้งเหตุด่วนได้ตลอด 24 ชั่วโมง

สุดท้ายแล้วแม้ว่าหลังจากนี้ประเทศไทยจะไม่มี “ตำรวจรถไฟ” อีกต่อไป แต่ทั้ง รฟท. และ ตร. ก็ยังคงร่วมมือกันเพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชนว่าการเดินทางโดยรถไฟมีความปลอดภัย อย่างไรก็ตาม การป้องกันและปราบปรามปัญหาอาชญากรรมบนขบวนรถไฟในอนาคต จะมีประสิทธิภาพต่อเนื่องในระยะยาวหรือไม่ คงต้องติดตามกันต่อไป

-------------------------------------
อ้างอิง : กองบังคับการตำรวจรถไฟสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และ พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565