อาสาฬหบูชา เข้าพรรษา 10 ข้อต้องรู้ ถวายอาหาร-สังฆทาน ไม่สร้างบาปไม่เจตนา 

อาสาฬหบูชา เข้าพรรษา 10 ข้อต้องรู้ ถวายอาหาร-สังฆทาน ไม่สร้างบาปไม่เจตนา 

วันอาสาฬหบูชา 2566 วันเข้าพรรษา ชวนรู้  10 ข้อถวายอาหาร-สังฆทานให้ได้บุญอันบริสุทธิ์  ไม่สร้างบาปโดยไม่เจตนา 

Keypoints:

  •       ความสำคัญและหลักธรรมที่ควรระลึกและถือปฏิบัติเป็นพิเศษเนื่องในวันอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษา เพื่อเจริญจิตใจของคนตนเอง
  •         ผลสำรวจสุขภาพ พระภิกษุสงฆ์อ้วน 48% เณรอ้วน 22% เสี่ยงอาพาธโรค NCDs สูง ก่อนถวายอาหาร ควรคำนึงสูตร “4 เสริม 2 ลด” เลี่ยงอาหารรสจัด ลดหวาน-มัน-เค็ม รับอาสาฬหบูชา เข้าพรรษา
  •       ชาวไทยพุทธจำนวนไม่น้อยนิยมถวายชุดสังฆทานยาในวันสำคัญทางพุทธศาสนา รวมถึงวันอาสาฬหบูชา และเข้าพรรษา โดยควรใช้หลัก  “3 เลือก 1 ห้าม” เพื่อความปลอดภัยและสุขภาพที่ดีของพระภิกษุสงฆ์

           ช่วงวันพระใหญ่ วันอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษา ชาวไทยพุทธต่างตั้งใจจะถือศัีล ทำบุญ อาจจะด้วยการถวายอาหารพระภิกษุสงห์ หรือการถวายสังฆทาน แต่ควรจะต้องรู้เกี่ยวกับอาหารที่เหมาะที่เหมาะควร และการพิจารณาสังฆทานก่อนนำไปถวาย เพื่อให้ได้บุญสมเจตนา ไม่เป็นสร้างบาปโดยไม่เจตนา ด้วยการเพิ่มความเสี่ยงในการอาพาธ และอันตรายจากยาหรือสิ่งของในสังฆทาน 

       หลักธรรมอาสาฬหบูชา-เข้าพรรษา

         สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ   ระบุถึงความสำคัญของวันอาสาฬหบูชา ตรงกับ วันเพ็ญ เดือน 8 เป็นวันคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา คือ เทศน์กัณฑ์แรก ชื่อว่าธัมมจักกัปปวัตตนสูตร โปรดพระปัญจวัคคีย์ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมือง พาราณสี ในปีแรกที่ทรงตรัสรู้และเพราะผลของพระธรรมเทศนากัณฑ์นี้เป็นเหตุให้ท่าน พระโกณฑัญญะในจำนวนพระปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ได้ธรรมจักษุ

        ดวงตาเห็นธรรม คือ ปัญญา รู้เห็นความจริงว่า สิ่งใดก็ตามมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงล้วนมีความดับไป เป็นธรรมดา แล้วขอบรรพชาอุปสมบทต่อพระองค์ เป็นพระอริยสงฆ์องค์แรกของ พระพุทธศาสนา และทำให้พระรัตนตรัยครบองค์ 3 คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

  ธัมมะ-จักกัปปวัตตนสูตร นับเป็นเทศนากัณฑ์แรกใจความคือทางสายกลางเท่าเป็นข้อปฏิบัติที่สมควร แล้วทรงแสดงทางสายกลางคือ อริยมรรค 8 ประการ ได้แก่ 

            1. สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบ 
            2. สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ 
            3. สัมมาวาจา เจรจาชอบ 
            4. สัมมากัมมันตะ ทำการงานชอบ 
            5. สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพชอบ 
            6. สัมมาวายามะ เพียรชอบ 
            7. สัมมาสติ ระลึกชอบ 
            8. สัมมาสมาธิ ตั้งใจชอบ 

สรุปด้วยอริยสัจ ๔ ได้แก่ 

           1. ทุกข์ความไม่สบายกายไม่สบายใจ 
           2. สมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ 
           3. นิโรธความดับทุกข์ 
           4. มรรค ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ 

ส่วนวันเข้าพรรษา เริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำเดือน 8 จนถึงวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 จัดเป็นพิธีกรรมของพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา ที่ทรงวางเป็นระเบียบข้อบังคับให้พระสงฆ์ต้องเขาจำพรรษาในสถานที่ที่ทรงอนุญาตให้เข้าอาศัยอยู่ได้ และพิธีกรรมวันเข้าพรรษานี้ พุทธศาสนิกชนได้มีส่วนร่วมประกอบคุณงามความดีตามหน้าที่ของชาวพุทธ เพื่อช่วยเหลือพระสงฆ์ด้วย

หลักธรรมที่ควรปฏิบัติ
     เทศกาลเข้าพรรษา พุทธศาสนิกชนนิยมไปวัด ถวาย ทาน รักษาศีล ฟังธรรมและเจริญจิตภาวนา ซึ่งเป็นการเว้นจากการกระทำความชั่วบำเพ็ญความดีและชำระจิตให้สะอาดแจ่มใสเคร่งครัดยิ่งขึ้น

        หลักธรรมสำคัญที่สนับสนุน คุณความดีดังกล่าวก็คือ "วิรัติ"คำว่า "วิรัติ" หมายถึงการงดเว้นจากบาป และความชั่วต่าง ๆ จัดเป็นมงคลธรรมข้อหนึ่ง เป็นเหตุนำบุคคลผู้ปฏิบัติตามไปสู่ความสงบสุขปลอดภัยและความเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นไปวิรัติ

 การงดเว้นจากบาปนั้น จำแนกออกได้เป็น 3 ประการ คือ

1. สัมปัตตวิรัติ ได้แก่การงดเว้นจากบาป ความชั่วและอบายมุขต่าง ๆ ด้วยเกิดความรู้สึกละอาย (หิริ) และเกิดความรู้สึกเกรงกลัวบาป(โอตตัปปะ) ขึ้นมาเอง เช่น บุคคลที่ได้สมาทานศีลไว้ เมื่อถูกเพื่อนคะยั้นคะยอให้ดื่มสุรา ก็ไม่ย่อมดื่มเพราะละอาย และเกรงกลัวต่อบาปว่าไม่ควรที่ชาวพุทธจะกระทำเช่นนั้นในระหว่างพรรษา

2. สมาทานวิรัติ ได้แก่การงดเว้นจากบาป ความชั่วและอบายมุขต่าง ๆ ด้วยการสมาทานศีล ๕ หรือศีล ๘ จากพระสงฆ์โดยเพียรระมัดระวังไม่ทำให้ศีลขาดหรือด่างพร้อย แม้มีสิ่งยั่วยวนภายนอกมาเร้าก็ไม่หวั่นไหวหรือเอนเอียง

3. สมุจเฉทวิรัติ ได้แก่การงดเว้นจากบาป ความชั่วและอบายมุขต่าง ๆ ได้อย่างเด็ดขาดโดยตรงเป็นคุณธรรมของพระอริยเจ้า ถึงกระนั้นสมุจเฉทวิรัติ อาจนำมาประยุกต์ใช้กับบุคคลผู้งดเว้นบาปความชั่วและอบายมุขต่าง ๆ ในระหว่างพรรษากาลแล้ว แม้ออกพรรษาแล้วก็มิกลับไปกระทำหรือข้องแวะอีก เช่นกรณีผู้งดเว้นจากการดื่มสุราและสิ่งเสพติดระหว่างพรรษากาล แล้วก็งดเว้นได้ตลอดไป เป็นต้น

อาสาฬหบูชา เข้าพรรษา 10 ข้อต้องรู้ ถวายอาหาร-สังฆทาน ไม่สร้างบาปไม่เจตนา 

สุขภาพพระสงฆ์

ศ.ดร.ภญ.จงจิตร อังคทะวานิช ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการและกำหนดอาหาร คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า จากการตรวจร่างกายกลุ่มตัวอย่างพระสงฆ์ พบว่า พระสงฆ์มีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วนถึง 48% สามเณร 22% เสี่ยงอาพาธด้วยโรค NCDs สูง สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากอาหารที่ถวายพระสงฆ์มีโปรตีนต่ำ ผักน้อย อีกทั้งยังเป็นของทอดที่มีไขมันสูง พระสงฆ์ได้รับน้ำตาลจากการฉันน้ำปานะสูงถึง 20 ช้อนชาต่อวัน ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่กรมอนามัยกำหนด คือ 6 ช้อนชาต่อวัน

สูตรถวายอาหารอาสาฬหบูชา เข้าพรรษา

    ปัจจัยสำคัญช่วยสงฆ์ไทยห่างไกลโรคเริ่มจากโภชนาการ สูตร “4 เสริม 2 ลด” 1.เสริมข้าวกล้องที่มีเส้นใยอาหารเยอะ 2.เสริมเนื้อปลา 3.เสริมผักเพิ่มใยอาหาร วิตามิน แร่ธาตุ 4.เสริมนมพร่องมันเนย พร้อมลด 1.ลดหวาน 2.ลดเค็ม นอกจากองค์ความรู้ด้านโภชนาการ ปรับพฤติกรรมของญาติโยมใส่ใจสุขภาพพระสงฆ์ หลีกเลี่ยงการถวายอาหารรสจัด ลดหวาน-มัน-เค็ม
       สิ่งสำคัญคือ กิจกรรมสำหรับพระสงฆ์ช่วยพัฒนาสุขภาวะอย่างยั่งยืน คือ การเคลื่อนไหวร่างกายให้เพียงพอ เช่น เดินบิณฑบาตให้มากขึ้น เดินจงกรม เดินรอบพระอุโบสถ กวาดลานวัด ล้วนเป็นกิริยาที่สำรวมที่พระสงฆ์ สามเณรทำได้ทั้งสิ้น ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ https://www.sonkthaiglairok.com/

อาสาฬหบูชา เข้าพรรษา 10 ข้อต้องรู้ ถวายอาหาร-สังฆทาน ไม่สร้างบาปไม่เจตนา 
3 เลือก 1 ห้ามถวายสังฆทาน

        นพ.วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า  วันสำคัญทางพุทธศาสนา รวมทั้งงานบุญต่าง ๆ ประชาชนมักจะมีการถวายสังฆทาน และมีบางส่วนจะนิยมถวายสังฆทานยา เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จึงขอแนะนำชาวพุทธ ในการเลือกซื้อชุดสังฆทานยาหรือจัดเอง โดยคำนึงถึง “3 เลือก 1 ห้าม” เพื่อความปลอดภัยและสุขภาพที่ดีของพระภิกษุ ดังนี้ 3 เลือก

          1. เลือกผลิตภัณฑ์ยาที่ปลอดภัย เช่น ผลิตภัณฑ์ต้องได้รับการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ฉลากระบุคำว่า “ยาสามัญประจำบ้าน” และมีเลขทะเบียนที่ถูกต้องกำกับบนฉลากของยานั้น ๆ รวมทั้งบรรจุในบรรจุภัณฑ์ที่ปิดสนิท เนื่องจากยาสามัญประจำบ้านที่ผู้บริโภคสามารถซื้อหามาใช้ในการรักษาอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยได้ โดยให้ใช้ตามคำแนะนำที่ระบุไว้บนฉลากยา

         2. เลือกผลิตภัณฑ์ยาที่มีลักษณะอยู่ในสภาพสมบูรณ์ เช่น กรณียาเม็ด ไม่แตกหัก ไม่ชื้นหรือมีสีที่เปลี่ยนไปจากเดิม กรณียาแคปซูล ไม่บวมหรือมีรูปร่างบิดเบี้ยว กรณียาน้ำ ต้องไม่มีตะกอน หรือกรณีที่เป็นยาน้ำแขวนตะกอนเมื่อเขย่าแล้วตัวยาต้องกระจายตัวอย่างสม่ำเสมอ

         3. เลือกผลิตภัณฑ์ที่มีการแสดงฉลากและเอกสารกำกับยาที่มีข้อความรายละเอียดครบถ้วน เพื่อให้ผู้บริโภคได้ทราบข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ เช่น ชื่อและที่ตั้งผู้ผลิต/นำเข้า วันเดือนปีที่ผลิตและวันหมดอายุ ส่วนประกอบวิธีการเก็บรักษา วิธีการใช้ยาตามขนาด คำเตือน ฉลากชัดเจนสมบูรณ์ ไม่ฉีกขาด เลือนหาย สีไม่ซีดจาง

      และ 1 ห้าม คือ 4. ห้ามนำผลิตภัณฑ์ยาหมดอายุ หรือใกล้หมดอายุมาจัดชุดสังฆทาน เนื่องจากอาจเป็นอันตรายต่อพระภิกษุสงฆ์ และต้องระมัดระวัง หากมียากลุ่มอื่นที่ไม่ใช่ยาสามัญประจำบ้าน ตาม พ.ร.บ.ยา ถือว่าผิดกฎหมาย

       สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีระบบการสืบค้นเลขทะเบียนยาทาง www.fda.moph.go.th หรือผ่าน Line@FDAThai เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบได้ว่ายาที่ซื้อได้รับการขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่และหากผู้บริโภคพบเห็นร้านใดจำหน่ายชุดสังฆทานยาที่บรรจุยาที่ไม่มีทะเบียน ยาหมดอายุ หรือใกล้หมดอายุ หรือพบร้านขายยาที่จำหน่ายยาผิดกฎหมาย หรือจำหน่ายยาอันตราย ยาควบคุมพิเศษ ในขณะที่เภสัชกรไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ตามเวลาทำการ สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่ สายด่วน อย. 1556  หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ