“84 ปีที่ปล่อยจอย ตามจังหวะชีวิต” คุณหญิง จำนงศรี หาญเจนลักษณ์

“84 ปีที่ปล่อยจอย ตามจังหวะชีวิต” คุณหญิง จำนงศรี หาญเจนลักษณ์

“ปล่อยจอย”ที่มีความหมายว่า “ให้ตัวเองได้ทำอะรในสิ่งที่อยากทำ” จึงไม่ผิดหนักหากนำศัพท์วัยรุ่นนี้ มานิยามการดำเนินชีวิตของ “คุณหญิง จำนงศรี หาญเจนลักษณ์” ในปีที่อายุ 84 “อะไรเกิดขึ้น ก็อย่าเก็บมาคิดมากจนเครียดเกินไป ทุกอย่างเป็นไปตามจังหวะชีวิต”

วันที่ “กรุงเทพธุรกิจ”มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษนี้  คือวันที่ “คุณหญิง” เข้าร่วมแชร์ประสบการณ์การดูแลสุขภาพ  ภายในงานเสวนา ‘ไข้หวัดใหญ่หายไปไหนในยุค COVID-19 และควรดูแลตัวเองอย่างไร’ จัดโดยมูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่ เพื่อเป็นการสร้างแรงบันดาลใจในการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุ ซึ่งคุณหญิงสะท้อนมุมมองบนเวทีไว้ส่วนหนึ่งว่า “อยู่กับชีวิตที่ยังอยู่อย่างมีดุลยภาพ และสุขตามอรรถภาพ”

     เมื่อได้พูดคุยเพิ่มเติมจึงทำให้เข้าใจถึงคำว่า “ดุลยภาพ”ที่คุณหญิงหมายถึง แบบไม่ต้องอธิบายความหมายจำกัดความเฉพาะ แต่สามารถเข้าใจได้จากสิ่งต่างๆที่คุณหญิงถ่ายทอดผ่านเรื่องราวที่เล่าให้ฟัง อย่างยิ้มแย้ม และการทำงานกับแพทย์มากและมีลูกเป็นแพทย์ด้วย จึงทำให้เข้าใจเรื่องสุขภาพอย่างมาก

     “ปีนี้ก้าวเข้าสู่อายุ 84 ปี” คุณหญิงเริ่มต้นบอกด้วยน้ำเสียงที่ตื่นเต้น ก่อนตอบคำถามเรื่องการดูแลสุขภาพของตนเองว่า การดูแลสุขภาพใจและสุขภาพสมองสำคัญมาก แล้วสุขภาพกายจะตามมาเอง  ซึ่งแน่นอนว่าอยู่ในโลกนี้ สิ่งแวดล้อมต่างๆและสังคมต่างๆ ก็ย่อมมีสิ่งต้องกังวล แต่การรักษาดุลยภาพของใจสำคัญที่สุด

        “ป้ามีช่วงประสบการณ์ชีวิตที่ยาวนานมาก ผ่านช่วงวิกฤตต่างๆมามาก ผ่านสิ่งที่สาหัสสากรรจ์มามาก เรารู้ว่าเวลาดิ่งสุดมันเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นเวลาที่เป็นปกติ มันคือความโอเค”คุณหญิงจำนงศรีกล่าว 

  สนใจเทคโนโลยีทันโลก

     ในยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทต่อสังคมอย่างมาก คุณหญิงจึงพยายามชวนผู้สูงอายุใช้เทคโนโลยีให้เป็น ในระดับที่ใช้เป็น อย่างน้อยเพื่อเป็นช่องทางในการสื่อสาร รวมถึง การเรียนรู้สิ่งต่างๆ

     ระหว่างนั่งคุย คุณหญิงเล่าถึงบทความหนึ่งที่อ่านจนดึกดื่นจากเวบไซต์สำนักข่าวต่างประเทศแห่งหนึ่ง ที่เขียนเกี่ยวกับ  “gpt แชท” ซึ่งผู้สื่อข่าวทดลองนำตัวเองไปคุยกับgpt โดยเมื่อถึงคำถามว่าความต้องการอยากจะเป็นอะไร gpt ตอบว่าอยากจะเป็นมนุษย์ ถามต่อว่าทำไม ก็ตอบว่า เพราะอยากมีอารมณ์ความรู้สึก  แต่สิ่งที่น่าตกใจ คือ เมื่อถามว่าด้านมืดที่อยู่ในจิตใจคืออะไร นั่นก็คือ การสร้างความแตกแยกระหว่างมนุษย์ให้ฆ่ากันเองด้วยข้อมูลต่างๆ ผลิตไวรัสใหม่ๆที่ฆ่าคน

“84 ปีที่ปล่อยจอย ตามจังหวะชีวิต” คุณหญิง จำนงศรี หาญเจนลักษณ์
     “โอ้โห อ่านแล้วใจหายเลย น่ากลัวมากเลย ทำให้เข้าใจอะไรลึกซึ้งว่า สมองมนุษย์ผลิตสิ่งที่เป็นประโยชน์ได้ แต่ก็เป็นมีด 2 คมตลอด ฉะนั้น ประโยชน์ของมีดต้องดูว่าเราใช้คมไหน ก็เหมือนกับเทคโนโลยี”คุณหญิงจำนงศรีสะท้อนมุมมอง
เรียนรู้ตลอด-ทำงานอดิเรก

     คุณหญิงบอกว่า ส่วนตัวยังหาความรู้ตลอดเวลา เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้ตัวเองทันการกับความรู้ใหม่ๆ โดยทุกวันนี้ยังค้นหาหลักสูตรการเรียนออนไลน์หลากหลายคอร์ส เพื่อเข้าไปเรียนรู้ ซึ่งพบว่ามีสิ่งที่น่าสนใจมากมายให้เลือกเรียน ก่อนหน้านี้เคยเรียน “เป่าขลุ่ย”ตอนปีก่อน แต่ไม่ได้เรียนต่อแล้ว  ล่าสุดคุณหญิงกำลังเริ่มเรียน“ภาษาฝรั่งเศส”

    เมื่อได้คุยไปเรื่อยๆ คุณหญิงยิ่งทำให้รู้สึกว้าว!เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หลังจากที่เปิดรูปในโทรศัพท์ให้ดูพร้อมกับบอกว่า “นี่ผ้าเช็ดหน้าที่ป้าปักเอง” เป็นลวดลายของเถาดอกไม้ที่ละเอียดปราณีต ซึ่งคุณหญิงย้ำว่า “เป็นลายที่ปักสด ไม่ได้มีการร่างลายก่อนแต่อย่างใด”

       ด้วยท่าทีที่ค่อนข้างตกใจกับคำพูดที่เอ่ยออกไปของผู้เขียน “เซอร์ไพรส์มากค่ะ ที่ผู้สูงอายุวัย 84 ปีปักผ้าได้ละเอียดแบบนี้ เพราะโดยส่วนใหญ่ สายตาจะใช้ใส่ด้ายเข้าเข็มก็ลำบากแล้ว”

     คำตอบที่ได้รับกลับมาว่า “ทำไมจะทำไม่ได้ มีอุปกรณ์ช่วยเยอะแยะ มองไม่ชัดก็ใช้แว่นได้”

“84 ปีที่ปล่อยจอย ตามจังหวะชีวิต” คุณหญิง จำนงศรี หาญเจนลักษณ์

     และมีสิ่งที่ “เซอร์ไพรส์”มากยิ่งขึ้นไปอีก ก็คือ ตอนอายุ  76 ปี คุณหญิงเคยเดินทาง ไปปฏิบัติธรรมบนเทือกเขาหิมาลัย 12 วันคนเดียว, วัย 80 ประสบอุบัติเหตุ ขาหักทั้งสองข้าง

      นอกจากนี้ งานอดิเรกคุณหญิงยังชอบ อยู่กับป่า อยู่กับธรรมชาติ แบบอย่าไปตัดสิน และปลูกต้นไม้แล้วดูเขาค่อยๆงอก ค่อยๆเติบโตเป็นความสุขที่สุด แบบรสชาติสบายๆ

 มีเพื่อนอ่อนกว่าทำให้สนุก

      การสื่อสารกับผู้คนทุกวัน สำหรับผู้สูงอายุแล้วสำคัญมาก ส่วนตัวคุณหญิงชอบที่จะมีเพื่อนรุ่นน้องไม่เกี่ยงว่าจะอายุน้อยกว่ากี่ปี  คุณหญิงพูดขึ้นว่า อาจจะเพราะเพื่อนวัยเดียวกันนั้นจากไปพอสมควรแล้ว  โดยเพื่อนคุณหญิงอายุ 50 ปีก็มี หรือหลานสาวคนเล็กสุดอายุ 20 ปีก็เป็นเพื่อนกัน

    การพูดคุยกับ “เพื่อนต่างวัย”สนุกมาก สิ่งสำคัญ คุณหญิง บอกว่า ต้องคุยอย่างเป็นเพื่อน ไม่ปิดกั้นว่าฉันแก่กว่าเธอ รู้มากกว่าเธอ ไม่ต้องเคารพเรามาก คุยแบบแลกเปลี่ยนกัน เพราะการคุยแบบนี้ จะทำให้แลกเปลี่ยนกันได้อย่างสนุกและช่วยให้ทันกับเรื่องต่างๆ

“84 ปีที่ปล่อยจอย ตามจังหวะชีวิต” คุณหญิง จำนงศรี หาญเจนลักษณ์

      และไม่เพียงแต่สูงวัยจะได้เรียนรู้จากคนที่อ่อนวัยกว่าเท่านั้น ผู้ที่อ่อนวัยก็เรียนรู้จากผู้สูงวัยกว่าเช่นกัน ดังที่คุณหญิง ระบุว่า ในยุคสังคมผู้สูงวัย ผู้เฒ่าจะขอเป็นนางแบบเพื่อแสดงให้เห็นถึงความงดงามของศิลปะหัตถกรรมไทยเราอีกครั้ง ทั้งผ้าซิ่นไหมทอมือ ทั้งกระเป๋าเงินสาน ทั้งเข็มขัดเงินวันนี้ แต่งตัวไปงานแต่งงานของคู่บ่าวสาวที่แสนน่ารัก

     คนรุ่นใหม่จะแต่งตัวอวดศิลปหัตถกรรมที่ประยุกต์จากไทยโบราณ ที่เป็นผลงานสร้างสรรค์ของช่างฝีมือร่วมสมัยที่เป็นคนไทยด้วยกันเพื่อช่วยเขาให้มีรายได้ และอิ่มใจ ภาคภูมิในผลผลิตจากแรงงาน ความอุสาหะและฝีมืออันปราณีตของเขาถ้าพูดถึงสนนราคา ก็ถูกกว่าแบรนด์หรูๆมากมาย
     “การนุ่งซิ่นนั้นพลิกแพลงได้สารพัด ให้จ๊าบแค่ไหนก็ได้ ขึ้นกับนวัตกรรมการนุ่งของแต่ละคน สนุกด้วย วันนี้อย่างนั้น วันนั้นอย่างนี้ สำหรับวันนี้ ป้าศรีก็นุ่งให้สมวัยป้า แต่ก็แซมๆความฉวัดเฉวียนไว้เล็กน้อยไม่ให้น่าเบื่อ”
 ออกไปทำงานสร้างสรรค์

     แม้วันนี้คุณหญิงจะวางมือจากงานหลายๆอย่างที่ทำในอดีต ทั้งการเป็น ประธานกรรมการบริษัท แพทย์รัตนิน จำกัด (โรงพยาบาลจักษุรัตนิน), กรรมการนโยบายศูนย์จิตตปัญญาศึกษา ม.มหิดล, ผู้ก่อตั้งบริษัท ชีวามิตร วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด, ประธานชมรมสมองใสใจสบาย ศูนย์ดูแลภาวะสมองเสื่อม รพ.จุฬาลงกรณ์

“84 ปีที่ปล่อยจอย ตามจังหวะชีวิต” คุณหญิง จำนงศรี หาญเจนลักษณ์
     แต่ก็ยังลงมือทำงานใหม่ๆอยู่เสมอ อย่างการช่วยผลักดันรำวงให้กับชมรมสมองใสใจสบาย  รวมถึง การรับเชิญเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ในเวทีต่างๆ เฉกเช่นเวทีไข้หวัดใหญ่นี้  และในราวเดือนพ.ค.นี้มีแผนไปร่วมวางระบบการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายที่ประเทศภูฎานและไปปฏิบัติธรรมที่นั่นด้วย    

       แนะนำให้ผู้สูงอายุหาอะไรทำ ไม่อยู่เฉย เพราะถ้าทำอะไรน้อย ก็มีเวลาเหลือกังวลเรื่องต่างๆมาก แต่หากทำอะไรที่สร้างสรรค์มากๆ ก็จะไม่มีเวลามานั่งกังวล
      “การทำงานหลายหน้า ไม่มีเวลากังวลอะไรมาก จึงนอนดี ซึ่งสำคัญมากของการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ เป็นสิ่งที่ถูกย้ำมาจากศูนย์สมองเสื่อมของจุฬาฯว่าการนอนสำคัญ”คุณหญิงจำนงศรีกล่าว 
 ดูแลกายป้องกันโรคที่ทำได้ 

        แม้จะดูเหมือนให้ความสำคัญกับการดูแล”สุขภาพใจ” แต่สุขภาพกายให้แข็งแรงก็สำคัญไม่แพ้กัน รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ออกกำลังกายเบาๆ  พักผ่อนให้เพียงพอ

        อย่างไรก็ตาม ด้วยวัยที่มากขึ้นเป็นผู้สูงอายุ  การเจ็บป่วยอาจเป็นสิ่งที่เลี่ยงได้ค่อนข้างยาก ปี 2562  เข้ารับการรักษาในห้อง ICU เพราะหัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอ แล้ววูบล้มลงไป  ปี 2563 ขาขวาหัก ปี 2564 ขาซ้ายหัก แม้จะระวังตัวแล้วแต่ก็ล้มจนได้ และก็รักษาจนกลับมาเดินได้

“84 ปีที่ปล่อยจอย ตามจังหวะชีวิต” คุณหญิง จำนงศรี หาญเจนลักษณ์

     ทว่า ส่วนของโรคที่ผู้สูงอายุสามารถป้องกันได้ คุณหญิงก็จะไม่รอช้าที่จะเลือกวิธีป้องกัน โดยเฉพาะการฉีดวัคซีนเพื่อลดความเสี่ยงจากการเจ็บป่วยด้วยโรคนั้นๆ เช่น วัคซีนโควิด-19 ก็ฉีดมาแล้ว 5 เข็ม  วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ฉีดมานานแล้วต่อเนื่องทุกปี ครอบครัวและผู้สูงอายุควรวางแผนในการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่แบบ 4 สายพันธุ์ล่วงหน้า

          “การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ทำให้จำไม่ได้แล้วว่ามีอาการป่วยเป็นไข้หวัดครั้งล่าสุดเมื่อไหร่ น่าจะไม่น้อยกว่า 25 ปีแล้ว เชื่อว่าการฉีดวัคซีนป้องกันช่วยได้มาก ซึ่งการฉีดวัคซีนไม่ได้น่ากลัว ส่วนตัวแทบไม่มีผลข้างเคียงอะไร ” คุณหญิงจำนงศรีกล่าว 
            การมองให้เห็นว่าโรคภัยไข้เจ็บ คือ เรื่องปกติวิสัย ผู้สูงอายุเป็นชนกลุ่มที่เสี่ยงอยู่แล้วด้วยอายุ ทำให้นึกถึงคุณภาพชีวิตระยะท้ายอยู่เสมอ จึงคุ้นชินกับการเป็นกลุ่มเสี่ยงกับทุกอย่าง และก็ไม่ให้ความสิ่งนั้นมากีดขวางผู้สูงอายุในการออกจากบ้านเพราะกลัวโรคภัยต่างๆ ยิ่งไม่ได้ออกจากบ้านนานเป็นปีๆ ก็ยังเสี่ยงโรค หรือสมองเสื่อมได้

“84 ปีที่ปล่อยจอย ตามจังหวะชีวิต” คุณหญิง จำนงศรี หาญเจนลักษณ์
       “ควรใช้ชีวิตที่ยังมีอยู่อย่างสมดุล สุขตามอรรถภาพ เพราะเมื่อถึงวันนั้น ก็ไม่มีสิทธินำอะไรติดตัวไปได้ อยู่กับสิ่งที่ไม่สร้างความเครียดให้ตัวเองเพิ่มจนมากเกินไป อยู่กับความพร้อมที่จะจากพรากเสมอ อยู่กับความเป็นจริงของความเป็นมนุษย์”

        ก่อนจบการพูดคุยขอให้บอกถึงหลักการใช้ชีวิตตั้งแต่ช่วงวัยหนุ่มสาวจนถึงปัจจุบัน คุณหญิงบอกว่า ไม่มีหลักอะไรเป็นพิเศษ แต่ในช่วงวัยต่างๆก็ไม่เหมือนกัน คล้ายแต่ละวันเปลี่ยนไปเรื่อยๆด้วยประสบการณ์และการรับรู้ และแต่ละคนต้องพิจารณาของตนเองว่าพอดี สมดุลหรือไม่
     “อยู่กับความเป็นจริงของชีวิต ยอมรับความเปลี่ยนแปลง เพราะมันเป็นธรรมชาติ จะอยู่ก็อยู่ให้สบายทั้งกายทั้งใจ จะตายเมื่อไหร่ก็ช่วยไม่ได้ ถึงเวลาก็จัดการตามจังหวะของมัน ให้ชีวิตไปตามจังหวะของมัน”

กรมการแพทย์แนะนำการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ

         พญ.พัชรินทร์ ปิงเมืองแก้ว รองผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ กล่าวว่า  ข้อแนะนำการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุในหน้าร้อนและฝุ่น PM 2.5 ดังนี้

1. พักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานผักและผลไม้ที่มีสีส้มและเหลือง เนื่องจากมีสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น มะเขือเทศราชินี แครอท ฟักทอง มะม่วงสุก เป็นต้น

2. การปรับอุณหภูมิของร่างกายที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วด้วยการดื่มน้ำ โดยปกติควรดื่มน้ำวันละประมาณ 6-8 แก้ว แต่ถ้าหากอยู่กลางแดดร้อนอาจดื่มได้มากกว่านี้

3. การป้องกันสายตาและผิวหนังจากแสงแดดจ้าในการทำกิจกรรมกลางแจ้งนาน ๆ เช่น สวมแว่นกันแดด สวมหมวก ใส่เสื้อผ้าที่ปกปิดร่างกาย เป็นต้น

“84 ปีที่ปล่อยจอย ตามจังหวะชีวิต” คุณหญิง จำนงศรี หาญเจนลักษณ์

4. หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมต่าง ๆ กลางแจ้งหากเป็นวันที่ค่าของฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานพิจารณาให้ออกกำลังกายภายในอาคารแทน

         5. ผู้สูงอายุที่มีโรคภูมิแพ้จมูก โพรงจมูกอักเสบ และหอบหืด ควรใช้ยาสูดทางปาก และยาพ่นจมูกต่อเนื่อง หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ พิจารณาการล้างจมูกอาจช่วยลดทั้งฝุ่น PM 2.5 ในทางเดินหายใจส่วนบน และสารก่อภูมิแพ้ได้

6. ผู้สูงอายุที่มีโรคภูมิแพ้ผิวหนัง แนะนำใส่เสื้อผ้าที่ปกปิดร่างกายมิดชิด และหลังกลับเข้ามาภายในอาคารแนะนำเปลี่ยนเสื้อผ้า อาบน้ำ สระผม ชำระล้างร่างกายที่อาจนำพาฝุ่นเข้ามาภายในอาคาร

และ7. สวมหน้ากากอนามัยที่สามารถกรอง PM 2.5 ได้ ทุกครั้งก่อนออกจากบ้าน ทั้งนี้ การให้ผู้สูงอายุได้สัมผัสแสงแดด ช่วงเช้าตรู่และช่วงเย็น ระยะเวลาสั้น ๆ ประมาณ 10 - 15 นาที เพื่อให้ร่างกายผลิตวิตามิน D ซึ่งเป็นวิตามินที่ร่างกายสามารถสร้างเองได้โดยการกระตุ้นจากรังสียูวีบี (UVB) จะมีส่วนช่วยในการสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย สามารถป้องกันโรค โดยเฉพาะภาวะกระดูกพรุน กล้ามเนื้ออ่อนแรงในวัยผู้สูงอายุได้