อนาคตของความเป็นเมือง | ภัณณิน สุมนะเศรษฐกุล

อนาคตของความเป็นเมือง | ภัณณิน สุมนะเศรษฐกุล

“เมืองต่างๆ จำเป็นต้องปรับจุดแข็งของตน เพื่อให้สอดคล้องกับลำดับความสำคัญในการตอบโจทย์อนาคต สิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่การพัฒนาในระดับประเทศให้ดียิ่งขึ้น”

ข้อมูลสหประชาชาติ สะท้อนว่า 55% ของประชากรโลกอาศัยอยู่ในเขตเมืองและเป็นสัดส่วนที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 68% ภายในปี 2593 การเติบโตโดยรวมของประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นอีก 2.5 พันล้านคนไปยังเขตเมืองภายในช่วงปีเดียวกัน

ซึ่งมากกว่า 90% ของการเติบโตนั้นจะเกิดขึ้นในทวีปเอเชียและแอฟริกา ข้อมูลเหล่านี้สะท้อนถึงความจำเป็นในการเตรียมความพร้อมสำหรับประเทศไทย เพื่อตอบโจทย์เมืองในอนาคต

ความเป็นเมืองก็มีวงจรชีวิตเช่นเดียวกัน กล่าวคือ เมืองมีการเกิดใหม่ เติบโต และหากไม่สามารถจัดการความท้าทายได้ก็อาจจะล่มสลายลงไป

ในปัจจุบัน มีเมืองเกิดใหม่หลายเมืองที่เรียกว่า Brand New City เป็นการสร้างเมืองขึ้นมาใหม่อย่างรวดเร็ว เพื่อให้เมืองกลายเป็นเครื่องจักรทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ เช่น Lanzhou New Area ในประเทศจีน และ King Abduliah Economic City ของซาอุดีอาระเบีย

ขณะที่บางเมืองเติบโตไปสู่เมืองขนาดใหญ่มาก ดังเช่น โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ที่สุด นับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1960 หรือเมืองเดลีในประเทศอินเดีย จะกลายเป็นเมืองที่มีประชากรมากที่สุดในทศวรรษหน้า 

อนาคตของความเป็นเมือง | ภัณณิน สุมนะเศรษฐกุล

ในอีกด้านหนึ่ง หลายเมืองทั่วโลกกำลังพยายามปรับไปสู่เมืองอัจฉริยะ โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อให้บริการประชาชนในเมืองอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดในหลายมิติ เช่น เมืองซองโด (Songdo International Business District, IBD) ประเทศเกาหลีใต้ หรือเมืองสงอัน (Xiong An) ประเทศจีน

ในขณะเดียวกัน ก็มีเมืองที่ค่อยๆ ล่มสลายลงไปจากประชากรเด็กที่เกิดน้อยลง ดังเช่นหมู่บ้านนาโกโระ ประเทศญี่ปุ่น บางเมืองมีความเสี่ยงจะจมน้ำทะเล ดังเช่นเมืองจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย และเมืองโฮจิมินห์ซิตี ประเทศเวียดนาม หรือบางเมืองอาจลดบทบาทลงไปเมื่อมีรถไฟความเร็วสูงวิ่งผ่านกลายเป็นเมืองรองระหว่างเส้นทางไฟฟ้า

ทั้งนี้ ข้อท้าทายที่จะเข้ามาปะทะเมืองในอนาคต สามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มที่ทุกเมืองควรนำไปพิจารณา

  • ความเชื่อมโยง (Connectivity) ซึ่งให้ความสำคัญมากกว่าการเชื่อมโยงเชิงกายภาพของการคมนาคมขนส่งภายในเมืองและระหว่างเมือง แต่ครอบคลุมประเด็นการยกระดับผ่านการเชื่อมโยงข้อมูลต่อกระบวนการพัฒนาเมือง รวมไปถึงการบูรณาการเชื่อมโยงระบบเพื่อทำให้เมืองสามารถอยู่อาศัยได้
  • พลเมือง (Citizen) การเปลี่ยนแปลงเชิงประชากรทั้งอัตราการเกิดที่ลดน้อยลงและประเด็นสังคมสูงวัย นำไปสู่การตั้งคำถามว่าเมืองต้องพัฒนาอย่างไร เพื่อตอบสนองแนววิถีชีวิตที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป และต่อยอดกับการส่งเสริมด้านเศรษฐกิจหรือการสร้างงานเพื่อดึงดูดแรงงานฝีมือมาเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเมือง
  • ความเสี่ยงรูปแบบใหม่ (Emerging Risk) แนวทางการบริหารจัดการเมืองต่อความเสี่ยงและข้อท้าทายแบบใหม่ทั้งในเชิงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมของเมือง รวมทั้งข้อกดดันจากความต้องการที่อยู่อาศัยที่เพิ่มสูงขึ้น สะท้อนถึงแนวทางการตัดสินใจของผู้บริหารเมือง ว่ายังควรคงอยู่ในรูปแบบเดิมหรือต้องปรับเปลี่ยนเพื่อตอบข้อท้าทายใหม่ๆ ของอนาคตของเมือง 

ผู้นำเมืองในหลายประเทศได้เปิดพื้นที่และใช้เทคนิคกระบวนการคาดการณ์อนาคต (Foresight) เข้ามาเพื่อช่วยในวางทิศทางการบริหารจัดการเมืองในอนาคต 

กรณีศึกษาจากสหราชอาณาจักร สะท้อนว่าการเชื่อมโยงของเมืองกับหน่วยงานส่วนกลางของรัฐ (Central Government) หลังผ่านกระบวนการด้านอนาคตได้มีการปรับรูปแบบความสัมพันธ์จากข้อตกลงของเมือง (City Deal) ไปสู่การจัดกลุ่มการทำงานเชิงประเด็น (Thematic Action Group) ที่สะท้อนการทำงานต่อประเด็นอนาคตได้ชัดขึ้น 

นอกจากนี้ กระบวนเชิงอนาคตกับการพัฒนาเมืองได้ช่วยเปิดโอกาสให้เกิดการมีส่วนร่วมกับกลุ่มคนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใหม่ๆ อาทิ กลุ่มเยาวชน ที่สนใจในการสร้างรากฐานเพื่อพัฒนาเมือง

กรณีศึกษาจากประเทศสิงคโปร์ มีการระบุในคู่มือการทำงานพัฒนาเมืองสำหรับข้าราชการท้องถิ่นผ่านค่านิยมสำคัญที่ว่า “การเปลี่ยนแปลงถือเป็นความจำเป็นที่ต้องคงอยู่แบบถาวร” ซึ่งสะท้อนผ่านโมเดลการทำงานด้านการคาดการณ์อนาคตที่ต้องจัดทำในแวดวงราชการในทุกๆ 5 ปี

ทุกเมืองจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับอนาคตของเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป ตัวอย่างเช่น แนวโน้ม “การอยู่อาศัยร่วมกัน (co-living)” ที่ส่งสัญญาณผ่านปรากฏการณ์ทางสังคมในกลุ่มคนรุ่นใหม่ รวมถึงการเปิดใจอยู่อาศัยร่วมกันของผู้สูงวัยที่อาจไม่ได้เป็นเครือญาติกัน 

สัญญาณเหล่านี้ทำให้ผู้บริหารเมืองนำไปสู่การตั้งคำถามที่ว่าอนาคตของที่พักอาศัย เพื่อนบ้านและสภาพแวดล้อมโดยรอบควรจะมีการปรับเปลี่ยนไปในทิศทางใด หากการอยู่อาศัยแบบอยู่ร่วมกันมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงมากขึ้นในคนหลากหลายวัย รวมถึงคำถามที่ว่าการพัฒนาและออกแบบเมืองแบบเดิมจะยังตอบแนวทางใช้ชีวิตแบบใหม่ของคนในเมืองหรือไม่

กระบวนการเชิงอนาคตศึกษาจะช่วยลดทอนข้อท้าทายและเสริมโอกาสของเมือง ซึ่งถือเป็นองค์ประกอบในการขับเคลื่อนภาพใหญ่ของประเทศไปสู่อนาคตในแบบที่ร่วมกันสร้างไปด้วยกัน และเป็นทิศทางการทำงานของเมืองในการส่งต่อชุมชนจากคนในยุคปัจจุบันไปสู่อนาคตของคนยุคถัดไป.

อนาคตของความเป็นเมือง | ภัณณิน สุมนะเศรษฐกุล