อันตราย“แคดเมียม” โรค “อิไต-อิไต”  หลังพบกากแคดเมียมสมุทรสาคร

อันตราย“แคดเมียม” โรค “อิไต-อิไต”  หลังพบกากแคดเมียมสมุทรสาคร

อันตรายแคดเมียม พิษต่อไต ทำลายกระดูก เกิดโรคอิไต-อิไต สารก่อมะเร็ง ความเสี่ยงหลังพบกากแคดเมียมสมุทรสาคร กรมการแพทย์แนะ 3 วิธีป้องกัน

KEY

POINTS

  • กากแคดเมียมสมุทรสาคร กระทรวงสาธารณสุขเร่งตรวจสุขภาพแรงงาน เบื้องต้น 11 คน ยังไม่พบความผิดปกติ รอผลตรวจเลือด
  • อันตรายแคดเมียมต่อร่างกาย มีพิษต่อไต ไตอักเสบ ไตวายเรื้อรัง โรคกระดูกพรุนโรคอิไต – อิไต และเป็นสารก่อมะเร็ง แนะ 3 วิธีป้องกัน
  • ในประเทศไทยพบการทำงานของร่างกายผิดปกติ ที่เกิดจากแคดเมียมบ้าง แต่โรคที่เป็นพิษจากแคดเมียมชัดๆไม่มี ห่วงแคดเมียมในโรงงาน เกิดฟุ้งกระจาย 

อันตรายแคดเมียม พิษต่อไต ทำลายกระดูก เกิดโรคอิไต-อิไต สารก่อมะเร็ง ความเสี่ยงหลังพบกากแคดเมียมสมุทรสาคร กรมการแพทย์แนะ 3 วิธีป้องกัน

จากกรณีกรรมาธิการการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร แถลงข้อมูลมีบริษัทแห่งหนึ่งในจังหวัดตากขายกากแร่สังกะสีและกากแร่แคดเมียมที่ฝังกลบในจังหวัดตาก ให้กับบริษัทหนึ่งที่ตั้งอยู่ในอำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร จำนวนกว่าหมื่นตัน พบโรงงานซุกซ่อนกากแคดเมียมและกากสังกะสีนับพันถุงในจังหวัดสมุทรสาคร

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า   ได้รับรายงานจาก นพ.สุรวิทย์ ศักดานุภาพ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร จากการตรวจสอบพบบริษัทดังกล่าวได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการโรงงานเกี่ยวกับการหล่อและหลอมโลหะประเภทต่างๆ 3 โรงงาน โรงงานแห่งแรก

พบกากแคดเมียมและกากสังกะสีในถุงบิ๊กแบ็กสีขาวในโรงงาน 1,300 ถุง และนอกโรงงานอีก 100 ถุง แห่งที่ 2 ที่อยู่บริเวณเดียวกัน พบกากอลูมิเนียมอยู่ภายในโรงงาน และมีกากแคดเมียมและกากสังกะสีอยู่นอกโรงงาน 9 ถุง ส่วนแห่งที่ 3 พบกากแคดเมียมและกากสังกะสีอีก 227 ถุง อยู่ภายในโรงงาน

กากแคดเมียมเร่งตรวจสุขภาพแรงงาน

เจ้าหน้าที่ได้ให้เคลื่อนย้ายกากแคดเมียมและกากสังกะสีที่อยู่ภายนอกไปเก็บไว้ในโรงงานทั้งหมดแล้ว โดยกรมควบคุมมลพิษตรวจสอบพบว่า กากแคดเมียมและกากสังกะสีมีการผสมด้วยปอร์ตแลนด์ซีเมนต์ 30% เพื่อทำลายฤทธิ์และอยู่ในสถานะแข็งตัว หากเก็บไว้ในสถานที่มิดชิดและไม่มีการชำระล้าง จะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ด้านการดูแลผลกระทบทางสุขภาพ ตรวจคัดกรองสุขภาพของพนักงานในโรงงานจำนวน 11 ราย แบ่งเป็น คนไทย 8 ราย และต่างด้าว 3 ราย

นพ.สุรวิทย์ ศักดานุภาพ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) สมุทรสาคร กล่าวว่า เมื่อวันที่ 4 เม.ย. สำนักงานธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร ร่วมกับโรงพยาบาลสมุทรสาครเข้าไปตรวจสุขภาพแรงงานในบริษัทดังกล่าว 11 คน เบื้องต้นยังไม่พบอาการผิดปกติ จากพิษโลหะหนัก ส่วนผลการตรวจการปนเปื้อนในปัสสาวะ ต้องรอผล 3-5 วัน ก็จะรู้ว่า มีผลกระทบอะไรหรือไม่

วันที่ 5 เม.ย. อยู่ระหว่างการตรวจสุขภาพแรงงานที่เหลืออีกประมาณ 8 คน อยู่ระหว่างประสานงาน และมีการสื่อสารให้ประชาชนทราบ เข้าใจเพื่อคลายความกังวล หากประชาชนบริเวณโดยรอบมีความกังวล และไม่แน่ใจก็สามารถมาขอรับการตรวจร่างกายได้ 

2 ทางแคดเมียมเข้าสู่ร่างกาย

นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า  พิษภัยของแคดเมียมต่อร่างกาย แคดเมียมเข้าสู่ร่างกายได้ 2 ทางหลัก คือ

1. ทางจมูก จากการหายใจเอาควันหรือฝุ่นของแคดเมียมเข้าไป เช่นผู้ที่ทำงานในเหมืองแร่ โรงงานอุตสาหกรรมที่มีการใช้แคดเมียม และที่สำคัญจากการสูบบุหรี่หรืออยู่ใกล้ผู้ที่กำลังสูบบุหรี่

 2.ทางปาก จากการบริโภค อาหารที่มีการปนเปื้อนแคดเมียม เช่น ข้าวที่ปลูกบนดินที่มีการปนเปื้อนของแคดเมียมอยู่ สัตว์น้ำที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำที่มีการปนเปื้อน เนื้อหรือนมจากวัวที่กินหญ้าที่เกิดจากดินที่มีการปนเปื้อน

แคดเมียมพิษต่อไต-กระดูก

นพ.เกรียงไกร นามไธสง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กล่าวเพิ่มเติมว่า พิษต่ออวัยวะที่สำคัญ คือ พิษต่อไต โดยจะมีการอักเสบที่ไต ทำให้ไตสูญเสียการทำงาน เนื่องจากมีการสะสมของแคดเมียมอยู่ และอาจทำให้เกิดไตวายเรื้อรังได้ในที่สุด ซึ่งการเกิดความผิดปกติของไตนี้จะเป็นแบบถาวร แม้ไม่ได้รับแคดเมียมเข้าสู่ร่างกายแล้วไตก็ไม่สามารถกลับคืนสภาพเดิมได้ 

อันตราย“แคดเมียม” โรค “อิไต-อิไต”  หลังพบกากแคดเมียมสมุทรสาคร

พิษต่อกระดูก คือ แคดเมียมจะเข้าไปสะสมอยู่ในกระดูก เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคกระดูกพรุนและอาจมีอาการปวดกระดูกอย่างมากโดยเฉพาะที่กระดูกสะโพก ซึ่งเป็นอาการของโรคอิไต – อิไต โดยคนกลุ่มนี้จะมีอาการกระดูกเปราะ แตกหักง่าย

และเป็นสารที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งได้ เช่น มะเร็งเต้านม และมะเร็งต่อมลูกหมาก นอกจากนี้แคดเมียมยังมีส่วนที่ทำให้อาการของโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ เพิ่มขึ้นอีกด้วย

ป้องกันตัวเองจากแคดเมียม

นพ.กิติพงษ์ พนมยงค์ นายแพทย์เชี่ยวชาญ ด้านเวชกรรม สาขาเวชกรรมทั่วไป หัวหน้ากลุ่มศูนย์การแพทย์เฉพาะทางด้านอาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กล่าวว่า  โดยทั่วไปแล้วการได้รับแคดเมียมในพื้นที่ที่มีการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม เช่น พื้นที่ลุ่มแม่น้ำตาว ไม่ค่อยพบอาการเฉียบพลัน เนื่องจากในแต่ละวันเราได้รับแคดเมียมในปริมาณไม่มาก แต่แคดเมียมจะถูกสะสมอยู่ในร่างกายเป็นระยะเวลานาน 20 - 30 ปี อาการจึงเป็นลักษณะแบบเรื้อรัง

สำหรับการป้องกัน ได้แก่ 1.หลีกเลี่ยงอาหารที่ปลูกและผลิตในพื้นที่ที่มีการปนเปื้อนของแคดเมียมในปริมาณสูง 2. หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ และเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในบริเวณที่มีคนกำลังสูบบุหรี่ 3.หมั่นเข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำ เช่น การตรวจปัสสาวะเพื่อตรวจสอบความผิดปกติของไต

ไทยยังไม่พบผู้ป่วยจากแคดเมียม

ขณะที่ศ.นพ.วินัย วนานุกูล หัวหน้าศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี กล่าวว่า  การวินิจฉัยว่าป่วยจากแคดเมียมทำได้ไม่ง่าย ขณะนี้ในประเทศไทยยังไม่พบผู้ป่วยจากแคดเมียม อย่างในพื้นที่ที่มีโรงงาน มีเหมืองแร่ที่สกัดสังกะสี และเคยมีปัญหาแคดเมียมปนเปื้อนในดิน น้ำ ก็มีการสำรวจประชาชนในพื้นที่จังหวัดตาก พบการทำงานของร่างกายผิดปกติ ที่เกิดจากแคดเมียมบ้าง แต่โรคที่เป็นพิษจากแคดเมียมชัดๆไม่มี 

อาการผิดปกติแบบเฉียบพลันที่เกิดจากแคดเมียม ส่วนใหญ่เป็นการสัมผัสไอแคดเมียม คือต้องมีการเผาไหม้ ต้องมีการถลุงจนทำให้กลายเป็นไอ หากสูดดมเข้าไปจะทำให้เกิดการระคายเคืองระบบทางเดินหายใจ โอกาสที่จะรับประทานเข้าไปไม่เคยเห็นเลย 

สิ่งที่กังวลเป็นภาวะที่เกิดจากการรับ หรือสัมผัสในปริมาณไม่สูงมากนัก แต่รับเรื้อรังไปนานๆ หลายปี จะมีปัญหากับการทำงานของไตผิดปกติ ทำให้ไตสูญเสียการสร้างวิตามินดี คนไข้จะมีปัญหากระดูกที่เกิดจากการขาดวิตามินดี เรียกว่าโรค “อิไต-อิไต” แปลว่าเจ็บ เพราะจะทำให้เจ็บจากการที่กระดูกของเขาไม่แข็งแรง ส่วนประเทศไทยยังไม่เคยเจอโรคนี้

"ในพื้นที่การทำเหมืองแร่ แล้วพบแคดเมียมในประชาชน หรือพบในพื้นที่ ก็อาจจะยังไม่สามารถสรุปได้ว่า เกิดจากการรั่วไหลจากการถลุงแร่หรือไม่ หรือที่จริงๆ แล้ว เปลือกโลกตรงนั้น มีแร่สังกะสี แร่แคดเมียมอยู่ ยังเป็นข้อสรุปที่ไม่ชัดเจน"ศ.นพ.วินัยกล่าว

ส่วนที่จะก่อปัญหาจริงๆ ศ.นพ.วินัย มองว่า น่าจะแคดเมียมจากโรงงานที่เกิดจากการถลุงแร่แล้วเกิดการฟุ้งกระจายถึงจะก่ออันตรายต่อสุขภาพแบบเฉียบพลัน หากไม่มีการถลุงก็ไม่เกิด หรือไม่ได้ทำให้เกิดละอองเล็กมาก ถึงจะเข้าไปในปอดคนได้ ปัญหาคงอยู่ที่ว่า จะจัดเก็บอย่างไรไม่ให้กระจายสู่สิ่งแวดล้อมมากกว่า