"หมอธีระ" ชี้โควิดระลอก Omicron BA.5 ทั่วโลกขาลง เอเชียลงช้ากว่าทวีปอื่น
"หมอธีระ" เผยสถานการณ์โควิดระลอก Omicron BA.5 ทั่วโลกเป็นขาลง ทวีปเอเชียดูจะเป็นทวีปท้ายสุดที่เข้าสู่ขาลงช้ากว่าทวีปอื่น ชี้อาการ Long COVID สัมพันธ์กับความผิดปกติของเซลล์เยื่อบุหลอดเลือด
เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2565 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ หรือ "หมอธีระ" คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat" ถึงประเด็น "โควิด-19" ระบุว่า
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 403,999 คน ตายเพิ่ม 1,006 คน รวมแล้วติดไป 609,756,229 คน เสียชีวิตรวม 6,502,124 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุด คือ
- ญี่ปุ่น
- เกาหลีใต้
- รัสเซีย
- ไต้หวัน
- อิตาลี
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 16 ใน 20 อันดับแรกของโลก
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 92.32 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 83.59
สถานการณ์ระบาดของไทย
จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า
จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 12 ของโลก และอันดับ 6 ของเอเชีย แม้สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.จนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปมากก็ตาม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
อัพเดตความรู้โรคโควิด-19
1. สถานการณ์โควิดระลอก Omicron BA.5
ทั่วโลกเป็นขาลง ทวีปเอเชียดูจะเป็นทวีปท้ายสุดที่เข้าสู่ขาลงช้ากว่าทวีปอื่น
ขณะนี้ยังไม่มีสายพันธุ์ย่อยอื่นที่แสดงให้เห็นถึงการระบาดที่หนัก สายพันธุ์ที่ทั่วโลกจับตามองคือ BA.2.75 ที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้นในหลายประเทศ แต่ในภาพรวมของโลกยังไม่น่าวิตก
จากธรรมชาติของทุกระลอกที่ผ่านมา อาจมีโอกาสเกิดการปะทุ หรือระลอกถัดไปได้ในอีก 10-12 สัปดาห์ หากมีสายพันธุ์ที่มีสมรรถนะเพิ่มขึ้นจากเดิม และปัจจัยแวดล้อมเอื้อต่อการระบาด เช่น การใช้ชีวิตแบบไม่ระมัดระวัง ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลงตามเวลาที่ผ่านไป
การระบาดของไทยยังอยู่ในระดับสูง ดังจะสะท้อนได้จากจำนวนการเสียชีวิตเฉลี่ยรอบสัปดาห์ ต่อประชากรล้านคน ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยของโลก ของทวีปเอเชีย และของกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางระดับสูงมาตลอด ทั้งๆ ที่หลังจาก 1 พ.ค.65 สธ.ปรับระบบรายงานโดยไม่รวมเคสที่มีโรคร่วม ทำให้ตัวเลขรายงานน้อยลงไปแล้วก็ตาม
การระบาดที่ลดลงช้ากว่าธรรมชาติของ BA.5 ในประเทศอื่นๆ นั้น น่าจะเป็นผลมาจากเรื่องการมีวันหยุดยาวหลายครั้งที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้มีการเดินทางและท่องเที่ยวกันมากขึ้น การรณรงค์ให้ระมัดระวัง และมีพฤติกรรมป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอถือเป็นเรื่องจำเป็น
2. Bivalent vaccines
วัคซีนเข็มกระตุ้นล่าสุดที่อเมริกาได้มีการอนุมัติให้ใช้สำหรับประชาชนนั้น เป็นวัคซีนที่มีทั้งชิ้นส่วนไวรัสสายพันธุ์ดั้งเดิม และสายพันธุ์ Omicron BA.4/BA.5 ด้วย
โดยปริมาณแอนติเจนสำหรับแต่ละเข็มนั้นเท่าเดิม แต่แบ่งสัดส่วนแอนติเจนของแต่ละสายพันธุ์คนละครึ่ง
Pfizer/Biontech ขนาด 30 ไมโครกรัม (15/15)
Moderna ขนาด 50 ไมโครกรัม (25/25)
3. อาการ Long COVID นั้นสัมพันธ์กับความผิดปกติของเซลล์เยื่อบุหลอดเลือด
ด้วยความรู้ทางการแพทย์ในปัจจุบัน หลักฐานจากการวิจัยจำนวนมากได้อธิบายถึงกลไกที่ทำให้เกิดอาการผิดปกติของอวัยวะต่างๆ จนทำให้เกิด ปัญหา Long COVID
- กลไกที่สำคัญคือ หลังการติดเชื้อโรคโควิด-19 จะทำให้เกิดกระบวนการอักเสบ (chronic inflammation)
- เกิดการทำลายเซลล์อวัยวะต่างๆ (direct damage)
- เกิดการคงค้างของชิ้นส่วนของไวรัส หรือมีการติดเชื้อที่แฝงอยู่อย่างเรื้อรัง (persistent infection)
- เกิดการกระตุ้นของไวรัสอื่นที่แฝงในร่างกาย อาทิ EBV, VZV
- เกิดการเสียสมดุลของเชื้อโรคในร่างกาย (Dysbiosis) จนทำให้ระบบต่างๆ ของร่างกายทำงานผิดปกติ
ขณะนี้มีแนวโน้มที่ชี้ให้เห็นว่าหลายกลไกที่กล่าวมานำไปสู่ภาวะผิดปกติของเซลล์เยื่อบุหลอดเลือด (Endotheliopathy) ของอวัยวะต่างๆ จนทำให้เกิดอาการต่างๆ ของ Long COVID ตามมา
ภาวะ Long COVID นั้นได้รับการพิสูจน์ให้เห็นทั่วโลกว่าเป็นเรื่องจริงที่น่าหนักใจ เพราะบั่นทอนคุณภาพชีวิต สมรรถนะการใช้ชีวิตและการทำงาน และเป็นภาระค่าใช้จ่ายระยะยาว ทั้งต่อผู้ป่วย ครอบครัว และสังคม
การป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อย่อมดีที่สุด
ใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง จะช่วยลดความเสี่ยงไปได้มาก
อ้างอิง :
Ahamed J et al. Long COVID endotheliopathy: hypothesized mechanisms and potential therapeutic approaches. The Journal of Clinical Investigation. 1 August 2022.