เปลี่ยนเส้นชัย เปลี่ยนวัฒนธรรม | บวร ปภัสราทร

เปลี่ยนเส้นชัย เปลี่ยนวัฒนธรรม | บวร ปภัสราทร

ความสำเร็จของการเปลี่ยนแปลง เริ่มต้นจากการกำหนดเส้นชัยกันใหม่ มีวิสัยทัศน์ใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิม แต่การมีเส้นชัยใหม่ไม่ได้รับประกันใดๆ ว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นจะประสบความสำเร็จได้ตามที่ตั้งใจไว้ จำเป็นต้องมีคนที่พร้อมจะขับเคลื่อนงานไปสู่เส้นชัยใหม่นั้นด้วย

จำนวนคนที่ต้องการในการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น ก็เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องใส่ใจ คิดใหม่ คิดใหญ่ แต่ถ้ามีคนนิดเดียว ก็แบกงานใหญ่นั้นไม่ไหว จำนวนคนที่เพียงพอยังไม่อาจแน่ใจได้ว่า จะช่วยกันสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้จริงๆ คนเยอะก็จริง แต่ด้อยฝีมือ ก็เหมือนกับที่พบเคยเจอในสงครามเมื่อนานมาแล้ว 

คนน้อยแต่มากฝีมือเอาชนะสงครามกับคนจำนวนมากมายกว่าหลายเท่าได้ ต้องมีคนที่มีฝีมือเพียงพอจึงจะสร้างการเปลี่ยนแปลงตามที่คาดหวังขึ้นมาได้

แต่ได้ตัวคนทั้งจำนวนทั้งฝีมือมาแล้ว ก็มีมากต่อมากที่ไปไม่ถึงการเปลี่ยนแปลงที่คาดหวัง คนคนหนึ่งทุ่มเทเต็มฝีมือก็ได้ ในขณะที่คนเดียวกันนั้นละเลยทำงานกันแบบเช้าชามเย็นชามก็ได้

จะสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ให้เกิดขึ้น ต้องได้ใจคน ซึ่งหนทางหนึ่งที่จะได้ใจคนมามุ่งมั่นสร้างการเปลี่ยนแปลงคือ การปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมการงานกันใหม่ วัฒนธรรมกำหนดกรอบความคิด และการกระทำในการทำงาน วัฒนธรรมการทำงานจึงต้องสอดคล้องไปกับทิศทางเส้นชัยที่อยากจะไป 

ปลายทางปรารถนาจะให้มีแต่ความมั่นคง ก็ต้องคิดกันแบบให้อะไรที่มั่นคงต้องมาก่อนเรื่องอื่นๆ ตัดสินใจตามแบบธรรมเนียมที่ตายตัว ปราศจากพลวัต ทำงานแบบใครงานมัน เพื่อให้ทุกงานมีความมั่นคง 

วันใดที่มีการเปลี่ยนปลายทางที่อยากจะไป จะเอากรอบความคิด กรอบการทำงานดั้งเดิมมาเดินหน้าไปสู่เส้นชัยใหม่นั้น คงไม่ใช่หนทางที่ราบรื่นอย่างแน่นอน ทำงานกันไปทะเลาะกันไปตลอดทาง

ดังนั้น วันใดก็ตามที่คิดจะปรับเปลี่ยนเส้นชัย ให้คิดเรื่องปรับวัฒนธรรมควบคู่กันไปได้เลย วัฒนธรรมเกิดขึ้นมาจากการผสมผสานระหว่างเป้าหมายที่ต้องการไปให้ถึง ค่านิยมที่ผู้คนกลุ่มนั้นเชื่อถือ และความเป็นมาแต่ดั้งเดิม จึงพบเจอวัฒนธรรมการทำงานที่เป็นอุปสรรคกับการบรรลุเส้นชัยที่คาดหวังอยู่เป็นประจำ

เพราะเป้าหมายเปลี่ยนไปได้เสมอ เปลี่ยนผู้นำกันแต่ละครั้ง ก็พบเจอเสมอว่าผู้นำใหม่มักมาพร้อมกับวิสัยทัศน์ใหม่ แม้ว่าจะมีผู้นำบางกลุ่มที่ชอบผูกขาดอนาคตขององค์กรไว้ตามที่ตนคิด เลยไปกำหนดยุทธศาสตร์องค์กรไว้ตายตัวยาวนานจนกระทั่งองค์กรล้มเหลวต่อการปรับตัวให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโลกนี้

แต่เส้นชัยใหม่ไม่ได้มาพร้อมกับคนทำงานกลุ่มใหม่ แต่เป็นเส้นชัยใหม่ให้คนทำงานกลุ่มเดิมต้องเดินหน้าต่อไป ค่านิยมก็ยังเชื่อกันแบบเดิมๆ ประวัติการงานที่ผ่านมาก็ตอกย้ำความสำเร็จที่อยู่บนการทำงานบนค่านิยมเดิม 

ถ้ายังยึดมั่นกันแต่ความมั่นคงและธรรมเนียมการทำงานที่ตายตัว แล้วให้เดินทางการงานไปในเส้นทางที่เสี่ยงมากเพื่อให้ได้ผลตอบแทนสูงในเวลารวดเร็ว ทราบกันดีว่างานที่มีความเสี่ยงมักต้องปรับเปลี่ยนวิธีการไปตามสถานการณ์

ลองคิดดูว่าคนที่เชื่อมั่นในความมั่นคงไร้พลวัต เคยพบเห็นแต่การยกย่องการอนุรักษ์ ถ้ามาเจอเส้นชัยใหม่ของการงานแบบนี้คงหมดเวลาไปกับการย้ำคิดย้ำทำจนการงานไม่เดินอย่างแน่นอน

จะปรับวัฒนธรรมให้กับคนเดิม เพื่อปรับเส้นทางสู้เส้นชัยใหม่ ให้เริ่มจากการปรับหลักคิดในการตัดสินใจก่อนเป็นอันดับแรก ถ้าจะเปลี่ยนจากเส้นชัยว่า “เมื่อวานต้องคงอยู่ถึงพรุ่งนี้” มาเป็น “พรุ่งนี้ต้องแตกต่างไปจากวันนี้” ก็ต้องปรับหลักคิดจาก “ประโยชน์สูงสุดมาจากเหมือนเดิมไว้ก่อน” มาเป็น “แตกต่างได้ถ้ามีประโยชน์เพิ่มขึ้น” ไม่ใช่ปรับไปเป็น “ประโยชน์สูงสุดเกิดได้เฉพาะเมื่อมีการเปลี่ยนแปลง”

 อย่าหวังแบบอุดมคติ ที่จะปรับเปลี่ยนหลักคิดแบบหน้ามือเป็นหลังมือ เพราะหลักคิดในการตัดสินใจไม่ได้ผูกพันอยู่กับเส้นชัยเพียงอย่างเดียว แต่ยังสืบเนื่องมาจากความเป็นมาของผู้คนกลุ่มนั้นด้วย ยิ่งถ้าจมอยู่กับเส้นชัยและหลักคิดดั้งเดิมมานานเป็นทศวรรษ อยู่ๆ จะให้คิดใหม่กันทันทีทันใดคงยากที่จะเกิดขึ้นได้

จิ้งจกจะเปลี่ยนสียังใช้เวลาระยะหนึ่ง มีน้อยคนนักที่เปลี่ยนสีเฉียบพลันได้อย่างหน้าตาเฉยโดยไม่รู้จักละอายแก่ใจ.

คอลัมน์ ก้าวไกลวิสัยทัศน์
รศ.บวร ปภัสราทร 
นักวิจัย Digital Transformation
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
email. [email protected]