“ได้ทำ” สำคัญน้อยกว่า “ได้ผล” | บวร ปภัสราทร

“ได้ทำ” สำคัญน้อยกว่า “ได้ผล” | บวร ปภัสราทร

เป้าหมายการงานวันนี้กับเมื่อหลายปีก่อนแตกต่างกัน วันนี้การงานมีพลวัตสูงกว่าที่เคยพบเจอกัน ดังนั้น การทำงานในรูปแบบที่ “ได้ทำ” เหมือนที่เคยเป็นมาจึงสำคัญน้อยกว่า “ได้ผล”

เคยเชื่อกันมานานแล้วว่าถ้าทำงานครบตามเวลาที่กำหนด ด้วยวิธีการที่สั่งให้ทำ ผลลัพธ์จะออกมาตามที่ต้องการ เลยมีการลงเวลาว่ามาทำงานกี่โมงกลับกี่โมง  มีการกำหนดวิธีการทำงานอย่างตายตัว ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร

ใครที่ทำตามนั้นแล้วก็สมมุติกันว่า ผลลัพธ์ต้องเป็นไปตามที่ต้องการ ซึ่งที่เชื่อกันมาแต่ดั่งเดิมนั้นใช้ไม่ได้แล้วในวันนี้

ถ้าทำงานตามวิธีที่กำหนด ตามกรอบเวลาที่กำหนด แล้วงานได้ผลตามที่คาดหวังไว้นั้น จะเกิดขึ้นได้เฉพาะเมื่อทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวคงสภาพดั่งเดิม ไม่มีการเปลี่ยนแปลง เป้าหมายการงานวันนี้กับเมื่อหลายปีก่อนไม่แตกต่างกัน

 แต่วันนี้การงานมีพลวัตสูงกว่าที่เคยพบเจอกันมา  เป้าหมายเปลี่ยนแปลงได้แทบจะเป็นรายวัน วิธีทำงาน และกรอบเวลาทำงานแบบเดิม ๆ จึงไม่อาจให้ผลลัพธ์จากการทำงานที่สอดคล้องกับความต้องการที่ปรับเปลี่ยนไปได้ 

ทำเหมือนเดิม ตามเวลาเดิม คงไม่อาจคาดหวังได้ว่าผลลัพธ์จากการงานจะเปลี่ยนไปตามความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปได้

องค์กรที่ประสบความสำเร็จภายใต้สภาพที่รอบตัวมีพลวัตสูงมากเช่นในปัจจุบันนี้ ส่วนใหญ่มีการปรับเปลี่ยนจากมุ่งเน้นการ “ได้ทำ” ตามวิธีการที่กำหนดไว้ มาเป็นการมุ่งเน้นผลลัพธ์ที่พึงประสงค์

 

แน่นอนว่าต้องเป็นผลลัพธ์ที่สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า ที่เป็นผู้รับบริการ  วันนี้ “ได้ทำ” สำคัญน้อยกว่า “ได้ผล”  มาทำงานตามเวลาอาจได้ดีในองค์กรที่เน้นการ “ได้ทำ” แต่อาจกลายเป็นความล้มเหลว สำหรับองค์กรสมัยใหม่ที่เน้น “ได้ผล” ก็ได้

วัฒนธรรมการทำงานที่มุ่งเน้น “ได้ผล” ช่วยปลดปล่อยความคิดสร้างสรรค์ของผู้ปฏิบัติงาน พร้อมทั้งเปิดทางให้เลือกเวลาทำการงานตามช่วงเวลาที่ทำแล้วได้ผลลัพธ์ดีที่สุด

ถ้า “ได้ผล” สำคัญกว่า “ได้ทำ” ก็จะเลือกสรรวิธีทำได้ตามบริบทของแต่ละคนที่เมื่อทำแล้วจะได้ผลลัพธ์ตามที่คาดหวังไว้

คนทำงานจะเกิดความผูกพันกับงานที่ตนสามารถกำหนดหนทางและเวลาในการทำงานได้มากกว่างานที่ต้องทำตามขั้นตอนและเวลาที่กำหนดไว้ตายตัวโดยผู้บริหาร

ความพึงพอใจในการงานนำไปสู่การมุ่งมั่นทำงานให้เกิดผลลัพธ์ตามที่กำหนดอย่างทุ่มเท ลดอาการเบื่อหน่ายจากการงานได้เป็นอย่างดี 

ผู้บริหารเองก็มีเวลาไปใส่ใจเรื่องที่เป็นประเด็นกลยุทธ์สำคัญมากขึ้น จากการที่ไม่ต้องคอยกำกับขั้นตอนการทำงานให้เป็นไปตามที่แบบแผนดั่งเดิมกำหนดไว้

ผู้บริหารไม่ต้องคอยกำกับวิธีการ เพราะยอมให้ต่างคนต่างทำไปตามหนทางที่สามารถทำให้เกิดผลลัพธ์ในส่วนที่ตนดูแลรับผิดชอบได้ โดยที่ไม่ต้องทำเหมือนกันกับที่แบบแผนดั่งเดิม  

หากมีการเปลี่ยนแปลงผลลัพธ์ที่ต้องการ ก็ปรับเปลี่ยนหนทางการทำงานได้ง่ายกว่าการทำงานที่เน้นวิธีการเป็นสำคัญ ความยืดหยุ่นและความคล่องตัวมีมากขึ้น ถ้าปรับเปลี่ยนจากการมุ่ง “ได้ทำ”มาเป็นการเน้น “ได้ผล”

“ได้ทำ” สำคัญน้อยกว่า “ได้ผล” | บวร ปภัสราทร

ดูแล้วการทำงานที่มุ่งเน้น “ได้ผล” ล้วนแต่มีผลดีมากมายหลายอย่าง แต่ทุกวันนี้การทำงานแบบมุ่ง“ได้ทำ” ก็ยังพบเห็นกันอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะในหน่วยงานรัฐ แสดงว่าการปรับเปลี่ยนมามุ่งเน้น “ได้ผล” นั้น พูดง่ายกว่าที่ทำได้จริง 

การมุ่งเน้นผลลัพธ์นั้น ผู้บริหารเองต้องทราบเป้าหมายที่ต้องการให้เกิดขึ้นอย่างชัดเจน ซึ่งแน่นอนว่าต้องรู้ความต้องการของลูกค้า ต้องเข้าใจบริบทที่ปรับเปลี่ยนไปขององค์กร ต้องเข้าใจขีดความสามารถของบุคลากร และต้องมองเห็นอนาคตแม่นยำพอสมควร 

ถ้าเก่งไม่จริงก็ไม่อาจบอกได้ว่า ผลลัพธ์ที่ควรจะทำให้เกิดขึ้นนั้นควรจะเป็นอย่างไร เมื่อตัวผู้นำมองไม่เห็นผลลัพธ์ ก็ไม่มีบุคลากรคนใดจะรู้ได้ว่าทำงานไปแล้วต้องการผลลัพธ์อะไรแน่ ๆ เลยก้มหน้าก้มตาทำงาน ไปโดยไม่รู้ที่หมายปลายทาง

ในทำนองเดียวกับการวิ่งตามเส้นรอบวงของวงกลม โดยไม่มีใครบอกว่าจุดหมายปลายทางอยู่ที่ไหน วิ่งเร็วขึ้นเท่าใด ก็ไม่ได้ไปไหน ยังวนอยู่ในวงกลมเหมือนเดิม เหน็ดเหนื่อยกันมากขึ้น โดยไม่มีผลลัพธ์ที่ต้องการ กลายเป็นงานที่มีประสิทธิภาพ โดยปราศจากประสิทธิผล

ช่วงนี้ให้ดูป้ายหาเสียง ป้ายไหนบอกแต่ว่าจะทำอะไร ป้ายนั้นเน้น “ได้ทำ” ป้ายไหนบอกว่าวันหน้าประเทศจะเป็นอย่างไร ป้ายนั้นเน้น “ได้ผล” ดูแล้วก็ตัดสินใจกันเองว่าอยากได้ป้ายไหนมากกว่ากัน.