เริ่มแล้ว! ‘Chula Deep Tech Demo Day2023’  งานออกแบบเพื่อสตาร์ทอัพ Deep Tech

เริ่มแล้ว! ‘Chula Deep Tech Demo Day2023’  งานออกแบบเพื่อสตาร์ทอัพ Deep Tech

CUiHub เปิดงาน ‘Chula Deep Tech Demo Day2023’  งานออกแบบเพื่อสตาร์ทอัพ Deep Tech ไทย โชว์ 9 สตาร์ทอัพโดดเด่นด้านนวัตกรรม สุขภาพ  วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  เชื่อมโยงสตาร์ทอัพกับนักลงทุน สร้างระบบนิเวศนวัตกรรม

Keypoint:

  • จุฬาฯ ส่งเสริมสตาร์ทอัพที่เน้นเทคโนโลยีขั้นสูง (Deep Tech) สู่แถวหน้า เชื่อมโยงระหว่างสตาร์ทอัพนําเสนอและแสดงผลิตภัณฑ์ให้กับนักลงทุนที่มีศักยภาพ
  • ชูสตาร์ทอัพ  9 ราย ด้านสุขภาพ ด้านอาหาร ด้านพลังงาน ด้านเกษตรกรรม และด้านหุ่นยนต์ Robotics พัฒนาทางนวัตกรรมและสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจต่อประเทศ
  • มูลค่าของตลาด AI ในประเทศไทยประมาณแสนกว่าล้านบาท ภายใน 8 ปีข้างหน้า และมีโอกาสสูงถึงเกือบสองแสนล้าน ภายในปี 2035

ปี 2566 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มุ่งเน้นการสร้างนวัตกรรมเพื่อสังคม (Chula Innovations for Society) โดยสร้างธุรกิจเพื่อสังคมมากกว่า 100 บริษัท มีเงินระดมทุนแล้วมากกว่า 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มูลค่าตลาดมากกว่า 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนมากกว่า 4 ล้านคน และตั้งเป้าปี 2569 คาดว่าจะระดมทุนได้ถึง 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีมูลค่าตลาดมากกว่า 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

การลงทุนด้านเทคโนโลยี กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในเศรษฐกิจโลก ไทยกลับไม่ได้มีกระแสที่เป็นที่พูดถึงในวงกว้างมากแม้แต่ในวงการธุรกิจหรือนักลงทุน กลับกันประเทศอื่นๆหรือหากจะยกตัวอย่างประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาหรือจีน ก็มีการแข่งขันนำร่องพัฒนาเทคโนโลยีที่ซับซ้อนหรือเรียกง่าย ๆ ว่า Deep Tech มาเสมอ

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย ศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สนับสนุนในการพัฒนาต่อยอดผลงานทางวิชาการด้านกลุ่มนวัตกรรม Deep Tech ที่เป็นประโยชน์ในด้านการพัฒนาองค์ความรู้ทางนวัตกรรมและสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจต่อประเทศ โดยผลักดันเกิดเป็น Startup 9 รายได้แก่ (ด้านสุขภาพ Health) ได้แก่ Engine Life Nabsolute CellMidi Mineed tech และ Baiya Phytopharm (ด้านอาหาร Food) TannD และ Increbio (ด้านพลังงาน Energy) Crystallite และ (ด้านเกษตรกรรม Agriculture) Robotics

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

เส้นทาง Deep Tech สู่ Big Tech   

 

จุฬาฯออกแบบ เพื่อกลุ่มสตาร์ทอัพที่เน้นเทคโนโลยีขั้นสูง

วันนี้(16 ต.ค.2566) น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) เป็นประธานเปิดงาน 'Chula Deep Tech Demo Day 2023' จัดโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้บริหารกระทรวง อว. พร้อมนักลงทุน (Venture Capital) กว่า 800 คนจากทั่วทุกมุมโลกและสตาร์ทอัพไทยเข้าร่วมงาน ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ

น.ส.ศุภมาส กล่าวว่า จุฬาฯออกแบบขึ้นมา เพื่อกลุ่มสตาร์ทอัพที่เน้นเทคโนโลยีขั้นสูง (Deep Tech) ได้มีโอกาส นําเสนอและแสดงผลิตภัณฑ์ให้กับนักลงทุนที่มีศักยภาพ เพื่อให้เกิดการดึงดูดนักลงทุน VCs และ CVCs จากทั่วโลกเข้ามายังประเทศไทย

ขณะเดียวกัน สตาร์ทอัพที่เข้าร่วมงานยังมีโอกาสในการเชื่อมโยงกับสตาร์ทอัพและผู้เล่นสําคัญในระบบนิเวศนวัตกรรม โอกาสในการเข้าร่วมเครือข่ายกับบุคคลผู้มีอิทธิพลในระบบนิเวศนวัตกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง (Deep Tech) ระดับโลก พร้อมทั้งได้รับข้อมูลสาระสําคัญเกี่ยวกับสถานการณ์ของตลาดสตาร์ทอัพไทยในปัจจุบันอีกด้วย

นอกจากนี้ กระทรวง อว. มีหลายหน่วยงานที่มีบทบาทในการสนับสนุนการเติบโตของกลุ่มสตาร์ทอัพในประเทศไทย โดยได้ร่วมกันขับเคลื่อนทั้งในแง่การสนับสนุนเงินทุนสำหรับสตาร์ทอัพในการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงไปใช้ในการประกอบธุรกิจ อาทิ การสนับสนุนทุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)

 

เชื่อมโยงสตาร์ทอัพกับนักลงทุน สู่แถวหน้า

โดยได้ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงผลักดันให้ผลงานวิจัยออกไปสู่เชิงพาณิชย์ได้ ขณะที่ ยังมีการสนับสนุนให้มีศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการ เพื่อช่วยให้กลุ่มสตาร์ทอัพมีแนวทางการปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจให้ดีขึ้น เห็นโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และสามารถสร้างเครือข่ายทางธุรกิจได้

ตัวอย่าง โครงการที่ อว. ได้ขับเคลื่อนอยู่ เช่น การสร้างระบบนิเวศเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม (IDEs) การส่งเสริมการร่วมลงทุนเพื่อผลักดันงานวิจัยและนวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์โดยกลไก University Holding Company หรือนิติบุคคลเพื่อร่วมลงทุนของสถาบันอุดมศึกษา ศูนย์บ่มเพาะในอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค แพลตฟอร์ม E-Commercial and Innovation (ECIP) เป็นต้น

“ประเทศไทยมีแนวโน้มการเติบโตของกลุ่มนักลงทุนที่สนใจในธุรกิจสตาร์ทอัพที่เน้นเทคโนโลยีขั้นสูง การที่สตาร์ทอัพไทยมีส่วนร่วมทำงานร่วมกับนักลงทุน นอกจากจะสามารถช่วยให้กลุ่มสตาร์ทอัพเข้าถึงแหล่งทุนแล้ว ยังช่วยเพิ่มโอกาสสร้างการเติบโตของธุรกิจให้ไปถึงระดับสากลได้” น.ส.ศุภมาส กล่าว

มูลค่าของตลาด AI ในประเทศไทยแสนกว่าล้านบาท

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (Depa) คาดการณ์ว่า มูลค่าของตลาด AI ในประเทศไทยประมาณแสนกว่าล้านบาท ภายใน 8 ปีข้างหน้า และมีโอกาสสูงถึงเกือบสองแสนล้าน ภายในปี 2035 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการสื่อสาร, โทรคมนาคม, สุขภาพ, เมืองอัจฉริยะ และความมั่นคงของประเทศ

ขณะที่ Krungsri Research 2020 ที่เผยว่า ตลาด MedTech ของประเทศไทยในปัจจุบันมีมูลค่าราว 5 หมื่นล้านบาท และคาดจะโตเฉลี่ยราว 6.5% โดยมีปัจจัยหลักมาจากความต้องการด้านเครื่องมือทางการแพทย์ที่ล้ำสมัยเพื่อการวินิจฉัยโรคอย่างมีประสิทธิภาพและแม่นยำ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อการวินิจฉัยโรคหัวใจ, โรคหลอดเลือดสมอง, โรคเบาหวาน และโรคมะเร็ง จึงเป็นเสียงสะท้อนที่ชัดเจนถึงเทรนด์ และแนวโน้มการเติบโตของ AI และ MedTech ในประเทศไทยว่า มี Demand ในตลาดมาก และสามารถขยายตัวไปได้อีกไกล

ด้าน ศ.ดร.บัณฑิต กล่าวว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในฐานะผู้นําด้านความเป็นเลิศทางวิชาการ อีกทั้งยังเป็นผู้นําในการส่งเสริมนวัตกรรม การวิจัย และความเป็นผู้ประกอบการได้มีความพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะจัดให้มีแพลตฟอร์มอย่าง Chula Deep-Tech Demo Day เพื่อรองรับการเติบโต ความร่วมมือ และขับเคลื่อนระบบนิเวศนวัตกรรมของสตาร์ทอัพไทยให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก

ที่ผ่านมา จุฬาฯ มีวิสัยทัศน์ในการมุ่งเป็น ‘Chula Innovations for Society’ เพื่อนำความรู้และนวัตกรรมไปใช้ให้เกิดประโยชน์และทําให้สังคมดีขึ้น และก้าวสู่มหาวิทยาลัยวิจัยที่ทําการเรียนการสอน บัณฑิตจุฬาฯ ต้องมีทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 มีความเป็นพลเมืองโลก (Global Citizen) ควบคู่กับความรู้ทางวิชาการที่เป็นที่ยอมรับจากผู้จ้างงานทั่วโลก และที่สําคัญไปกว่านั้น คือ การบริหารมหาวิทยาลัยต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการประเด็นสาธารณะระดับชาติและโลกเพื่อสร้างสังคมแห่งอนาคตที่ดีกว่า