ผู้ติดเชื้อโควิดสูงขึ้น รัฐบาลรักษาการทำงานให้เต็มที่

ผู้ติดเชื้อโควิดสูงขึ้น รัฐบาลรักษาการทำงานให้เต็มที่

สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยกลับมาระบาดแพร่หลายมากขึ้น ซึ่งทำให้รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขจำเป็นต้องออกมาเตือนให้มีการเฝ้าระวังเพิ่มเติมอย่างใกล้ชิด

สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยกลับมาระบาดแพร่หลายมากขึ้น ซึ่งทำให้รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขจำเป็นต้องออกมาเตือนให้มีการเฝ้าระวังเพิ่มเติมอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเสียงสูง คือ กลุ่มเสี่ยง 608 ที่ครอบคลุมผู้มีอายุตั้งแต่ 60 ปี รวมถึงกลุ่มผู้มีโรคเรื้อรัง 7 โรค และกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งรัฐบาลเร่งให้ฉีดวัคซีนทั้งกลุ่มผู้ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีน หรือการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อป้องกันอาการป่วยหนักหรือเสียชีวิต โดยช่วงที่ผ่านมาการติดเชื้อลดลงทำให้มีการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นมีจำนวนลดลง และทำให้ระดับภูมิคุ้มกันหมู่ในประชากรลดลงมาก

ช่วงหลังเริ่มมีการเตือนถึงการระบาด โดย ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เตือนถึงการติดเชื้อในช่วงนี้ที่ระบุถึงสถานการณ์สถานการณ์การเปิดเทอมและการเข้าสู่ฤดูฝนที่จะเป็นการระบาดของโรคทางเดินหายใจประจำฤดูกาล และจะมีจุดสูงสุดในเดือน มิ.ย.-ส.ค.2566 และหลังจากนั้นจะทยอยลดลง และจะเพิ่มอีกครั้งหนึ่งแต่ไม่มากในเดือน ม.ค.-ก.พ.2567 แล้วก็สงบลง ประชากรส่วนใหญ่จะติดเชื้อ และความรุนแรงของโรคลดลง โดยสาเหตุที่ทำให้โรคระบาดมาก เพราะที่ผ่านมามีการกลับไปใช้ชีวิตตามปกติ

ถึงแม้ว่าอาการของผู้ติดเชื้อโควิด-19 จะลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ติดเชื้อในอดีตไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์โอมิครอนหรือสายพันธุ์เดลตา แต่การติดเชื้อโควิด-19 ย่อมเป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิต อุปสรรคต่อการทำงาน รวมไปถึงอุปสรรคของการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวที่กำลังเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจปี 2566 หลังจากที่การส่งออกสินค้าของไทยที่เคยเป็นพระเอกในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมา กลับเจอปัญหามูลค่าการส่งออกติดลบต่อเนื่องมา 6 เดือน นับตั้งแต่เดือน ต.ค.2565 ถึงเดือน มี.ค.2566 ในขณะที่ช่วงรอยต่อของรัฐบาลที่อยู่ในสถานะรักษาการ 4-5 เดือน ย่อมมีผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

กรมควบคุมโรคได้ออกแนวปฏิบัติสำหรับประชาชนล่าสุดเมื่อเดือน เม.ย.2566 เกี่ยวกับแนวทางการฉีดวัคซีนโควิด-19 เป็นประจำ ซึ่งแนะนำให้ฉีดวัคซีนโควิด-19 ประจำปี ฉีดปีละ 1 เข็ม โดยระยะห่างจากเข็มสุดท้ายหรือประวัติการติดเชื้อครั้งสุดท้าย ตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป โดยไม่คำนึงว่าเป็นเข็มที่เท่าใด รวมทั้งสามารถใช้วัคซีนได้ทุกชนิดและทุกรุ่นการผลิตที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ขณะที่กลุ่มเป้าหมายสำคัญที่สุดยังคงเป็นกลุ่ม 608 รองลงมาเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการสัมผัสและการแพร่เชื้อ เช่น กลุ่มอาชีพที่ต้องสัมผัสคนจำนวนมาก และกลุ่มผู้ปฏิบัติงานด้านสาธารณสุข

สิ่งที่น่ากังวล คือ หากมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นจะเกิดปัญหาเหมือนในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะปัญหาระบบสาธารณสุขไม่เพียงพอ ซึ่งเห็นสัญญาณเตือนในประเด็นนี้แล้วหลังจากที่โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ แจ้งให้ทราบว่าเตียงผู้ป่วยวิกฤติ (ICU) และเตียงผู้ป่วยใน (IPD) สำหรับดูแลผู้ป่วยโควิด-19 เต็มทุกห้อง ดังนั้นในช่วงรอยต่อของการจัดตั้งรัฐบาลใหม่หลังว่ารัฐบาลรักษาการยังคงทำงานอย่างเต็มที่เพื่อรับมือกับแนวโน้มผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นช่วงนี้ โดยไม่ต้องคำนึงว่ากำลังจะพ้นจากตำแหน่ง ส่วนพรรคการเมืองที่กำลังจัดตั้งรัฐบาลควรเตรียมข้อมูลสถานการณ์โรคโควิด-19 ให้พร้อมเพื่อให้เข้ามาทำงานได้เต็มที่เมื่อเข้ารับตำแหน่ง