เรื่องไม่ฟลุก ของ ‘มุก’ ในชา

เรื่องไม่ฟลุก ของ ‘มุก’ ในชา

อะไรอยู่เบื้องหลังเครื่องดื่มเย็นพร้อมลูกกลมๆ เหนียวหนึบ ที่คัมแบ็กอย่างยิ่งใหญ่ จากกระแสฮิตที่เริ่มต้นในเอเชียก่อนจะตีโค้งไปถล่มฝั่งยุโรปและอเมริกา ชนิดที่ “ฮิลลารี คลินตัน” ยังอดไม่ได้ต้องขอลอง

ความนิยมของ “ชาไข่มุก” ที่แพร่ระบาดไปทั่วโลกโดยมีมูลค่าสูงถึงกว่า 6 หมื่นล้านบาท ในปี 2016 แถมยังไม่มีวี่แววว่าจะชะลอความฮิต โดยคาดว่าจะกระโดดไปแตะที่ปริ่มๆ แสนล้านบาทในปี 2023 (ข้อมูลจาก Allied Analytics)

ถึงมันจะไม่ใช่เครื่องดื่มชนิดใหม่อะไร อย่างบ้านเราก็รู้จักกันมาร่วมๆ 20 ปีแล้ว แต่ปรากฏการณ์ที่ชัดเจนในไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ คือ การคัมแบ็กอย่างยิ่งใหญ่ของชาไข่มุกที่เกิดเป็นกระแสฮิตเริ่มต้นในเอเชียก่อนจะตีโค้งไปถล่มฝั่งยุโรปและอเมริกา ชนิดที่ “ฮิลลารี คลินตัน” ยังอดไม่ได้ต้องขอลอง

สำหรับสหรัฐอเมริกา สาเหตุสำคัญที่ร้านชาไข่มุกโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ มันเปิดง่ายกว่าร้านอาหาร เพราะใช้พื้นที่น้อยกว่านั่นก็หมายถึงค่าเช่าที่ถูกกว่า แถมขอใบอนุญาตก็ง่ายกว่าด้วย

ร้านชาหลายๆ แบรนด์ที่อเมริกาใช้การตลาดเป็นเครื่องมือสำคัญ นำเสนอความแปลกใหม่ ร้านอย่าง Boba Guys และร้าน Tea & Milk ชูจุดขายเรื่องความพรีเมียม ใช้วัตถุดิบคุณภาพสูง ขณะที่ Seven Bar Lounge ในลอสแอนเจลิส ก็ขายความแปลกใหม่ด้วยเมนูที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์เพื่อดึงดูดกลุ่มลูกค้าผู้ใหญ่

ส่วนความฮิตของชาไข่มุกในประเทศเพื่อนบ้านอย่าง “เวียดนาม” ก็ถึงขั้นมีถนนสายชาไข่มุก หรือ Bubble tea streetในหลายเมืองเพราะมีร้านขายชานมไข่มุกแบรนด์ดังๆ ตั้งเรียงรายนับสิบร้าน ซึ่งขายดิบขายดี มีวัยรุ่นมายืนต่อคิวซื้อ บางร้านรอเป็นชั่วโมงก็ไม่บ่น

drink-3545791_1920_1

สำนักข่าวซินหัวเคยรายงานถึงความนิยมบริโภคชาไข่มุกในเวียดนามว่า ครึ่งแรกของปี 2017 มีร้านชาไข่มุกเปิดในฮานอยเฉลี่ยเดือนละ 8 ร้าน โดยจากการสำรวจพบว่า สำหรับร้านที่เงียบหน่อยก็จะขายได้ราวๆ 200-300 แก้วต่อวัน ส่วนร้านดังๆ ก็ชงกันมือเป็นระวิงเป็นพันแก้วกันเลยทีเดียว

การคัมแบ็คของชาไข่มุกในครั้งนี้ถือเป็นการกลับมาในรูปของ Contemporary Drink ที่ไม่ได้มีแต่ ‘ชา-นม-ไข่มุก’ อีกต่อไป เพราะนี่คือหนึ่งใน ‘status food’ ที่ยังแรงไม่หยุด โดยเป็นการแก้เกมหลังจากทรงๆ ไปพักใหญ่ ด้วยหลายเหตุผล ทั้งความจำเจของเมนูจนไม่แปลกใหม่อะไร บวกกับเทรนด์สุขภาพ จนเมื่อมีการปรับกลยุทธ์ใหม่ของผู้ประกอบการ อาทิ การเปิดให้ลูกค้าเลือกระดับน้ำตาล ไข่มุก และน้ำแข็งได้ตามใจชอบ ที่กลายเป็นสิ่งที่พบได้ทั่วไปของร้านชาแบรนด์จากไต้หวันไปแล้ว

หรืออย่างที่ร้าน Bubbleology ในอังกฤษซึ่งวางจุดยืนระดับพรีเมียม ทั้งการใช้ใบชาออร์แกนิกร้อยเปอร์เซ็นต์ รวมถึงการให้ข้อมูลที่จำเป็นเช่นแคลเลอรีของแต่ละเมนู หรือในการเลือกแต่ละสูตร แต่ละขนาด และยังมีคำแนะนำสำหรับการสั่งเครื่องดื่มให้เด็กที่อายุต่ำกว่า 6 ขวบด้วย

อีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ชาไข่มุกกลับมาบูมขนาดนี้ และอัพราคาจาก 20-30 บาทมาเป็นหลักร้อยได้ก็เพราะมีการตลาดนำทาง สร้างจุดขายใหม่ ไม่ว่าจะเป็นชาชีสที่ฮิตกันไปเมื่อปีที่แล้ว บางเจ้าเพิ่มสีสันด้วยไข่มุกน้ำผลไม้ที่ระเบิดในปาก (Popping pearl) เพิ่มเมนูอื่นๆ ที่ไม่ได้มีแค่ชา หรือบางรายก็ขายความเก๋ที่ตัวแก้ว เช่น ชานมในหลอดไฟก็ยังมี

ล่าสุดที่ฮิตถล่มโซเชียลก็คือ ชาไข่มุกสูตรน้ำตาลดำ หรือ แบล็กชูการ์ ที่นอกจากความหอมหวานแล้ว ยังมีกิมมิกที่ลวดลายน้ำตาลดำที่ข้างแก้วซึ่งถูกใจวัยรุ่น จนกลายเป็นเทรนด์ให้เห็นในอินสตาแกรมและเฟซบุ๊ค

และถึงจะไม่สามารถเคลมได้เต็มปากว่า เป็นผู้อยู่เบื้องหลัง แต่คนในวงการรู้กันดีว่า ชาไข่มุกอคาเดมีอย่าง “พอสเม่” (Possmei) ในไต้หวัน คือ หนึ่งในตัวแปรสำคัญของความฮิตในครั้งนี้

“เขาเป็นเจ้าแรกๆ ครับที่สามารถนำเอาแบล็กชูการ์มาทำเป็นของเหลวพร้อมใช้งานในระดับอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม แล้วก็เป็นเจ้าแรกๆ ที่คิดนำมาใช้กับชาไข่มุก รวมถึงคิดวิธีชงที่มีกิมมิกให้เกิดลายบนแก้วจนดังอยู่ในตอนนี้” ภาณุ มหัทธโนบล ผู้จัดการทั่วไป บริษัท พรีเซิร์ฟ ฟู้ด สเปเชียลตี้ จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายครีมเทียมแบรนด์ Coffee Dreamy ให้ข้อมูลกับจุดประกาย

เพราะพอสเม่ ไม่ได้เป็นแค่โรงเรียนสอนทำชาไข่มุก แต่ยังรับให้คำปรึกษาสำหรับผู้ประกอบการที่อยากจะลงมาเล่นในตลาดนี้ ตั้งแต่การช่วยคิดสูตร ทำการตลาด อบรมพนักงาน จัดหาวัตถุดิบฯลฯ ปัจจุบันขยายสาขาไปเปิดอคาเดมีที่อเมริกา และ เยอรมนี และอยู่เบื้องหลังแบรนด์ชาไข่มุก bb.Tea ที่ฝรั่งเศส และ Bubbleology ที่ดังในอังกฤษ

PC170392 (1)_1 แจ็คกี้ หวัง

เครื่องดื่มในโลกนี้มีอยู่ 4 อย่าง
หนึ่งก็คือ “น้ำ” ดื่มเพื่อประทังชีวิต
สอง คือ “เหล้า” ดื่มเพื่อสร้างความฝัน
ส่วน “ชา” ดื่มเพื่อเพิ่มสีสันให้ชีวิต
และ “กาแฟ” ดื่มเพื่อเข้าใจรสชาติแห่งชีวิต

จุดประกาย ถาม​ แจ็คกี้ หวัง ผู้ก่อตั้งพอสเม่ ว่า รู้ไหม.. ที่เมืองไทยเอาไข่มุกไปทำสารพัดสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นพิซซ่า ก๋วยเตี๋ยว ฯลฯ เขายิ้มและตอบว่า อันนั้นธรรมดาไป เพราะที่เยอรมนีนิยมเอาไข่มุกมาเล่นเกมเป่าแทนลูกดอกกันเลยทีเดียว

“นั่นแหละ คือความสนุกของชาไข่มุก”

เขาอธิบายว่า เครื่องดื่มในโลกนี้มีอยู่ 4 อย่าง หนึ่งก็คือ “น้ำ” ดื่มเพื่อประทังชีวิต สอง คือ “เหล้า” ดื่มเพื่อสร้างความฝัน ส่วน “ชา” ดื่มเพื่อเพิ่มสีสันให้ชีวิต และ “กาแฟ” ดื่มเพื่อเข้าใจรสชาติแห่งชีวิต

มันจึงไม่แปลกอะไรที่ชาไข่มุกจะสุดฮิตในหมู่คนหนุ่มสาว โดยเฉพาะตัวไข่มุกที่เหมือนจะตอบโจทย์สัญชาตญาณความเป็นนักผจญภัยของวัยหนุ่มสาวได้อย่างดี

“การดูดไข่มุกออกมา มันเป็นความสนุก ก็เหมือนเราออกไปผจญภัย หาสิ่งล้ำค่าในแก้วก็คือไข่มุก การแสวงหาของล้ำค่า ถ้าหาได้หมด ก็หมดแก้วพอดี เปรียบเหมือนชีวิตมนุษย์ หนุ่มสาวก็ต้องมีความฝัน แสวงหาของดีๆ บางคนดื่มบ่อยๆ ไม่รู้สาเหตุว่า ทำไมชอบ.. นี่แหละครับ คือ เหตุผล” คำตอบจากมุมมองของ แจ๊คกี้ หวัง ว่า ทำไมชาไข่มุกถึงฮิตนักในหมู่วัยรุ่น

  •  หนึบหนับอย่างรักษ์โลก

ความตื่นตัวเกี่ยวกับปัญหาขยะพลาสติก โดยเฉพาะการรณรงค์ให้เลิกใช้ Single use plastic หรือพลาสติกใช้แล้วทิ้งในหลายๆ ประเทศทั่วโลก ซึ่งยกระดับเป็นกฎหมายแล้วในบางพื้นที่ เช่น เมืองซีแอตเทิล ซึ่งเป็นเมืองแรกของอเมริกาที่ประกาศห้ามใช้หลอดและอุปกรณ์กินอาหารที่เป็นพลาสติกเมื่อกรกฎาคมที่ผ่านมา ตามด้วยเมืองแวนคูเวอร์ ในประเทศแคนาดา

ส่วนสภาเทศบาลกรุงปารีส ก็มีมติให้ยกเลิกการใช้หลอดพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งในสถานที่สาธารณะ รวมถึงในกิจกรรมต่าง ๆ ที่จัดขึ้นภายในเมือง ซึ่งจะบังคับใช้อย่างเป็นทางการในปี 2019

ทั้งหมดนี้ทำให้ร้านชาไข่มุกเริ่มตื่นตัวและมองหาทางจัดการปัญหา เพราะเครื่องดื่มเย็นอื่นๆ ยังดื่มได้โดยไม่ต้องใช้หลอด แต่สำหรับเครื่องดื่มชาไข่มุกนี้ อย่างไรหลอดก็ยังจำเป็น ที่ผ่านมาจึงมีความพยายามแก้ปัญหา เช่น การใช้หลอดไบโอพลาสติกซึ่งย่อยสลายได้ หรือการใช้หลอดกระดาษ แต่ก็ยังเจอปัญหาเช่น ไม่สามารถเจาะฝาที่ซีลไว้ได้ บางไอเดียก็เลยเสนอให้กลับมาใช้ช้อนตักอย่างแต่ก่อน เมื่อสมัยที่วัฒนธรรมไข่มุกเริ่มเกิดขึ้นในไต้หวันนั่นเอง

  •  ทำไมถึงเป็น Bubble Tea

คนส่วนใหญ่คิดว่า ชื่อเรียก Bubble Tea มาจากไข่มุกที่อยู่ในนั้น แต่นั่นคือความเข้าใจที่ผิด เพราะมันแปลตรงตัวเลยก็คือ ชาที่มีฟองอากาศ หรือ “ชาโฟม” ซึ่งเกิดจากการเขย่า

ส่วนสาเหตุที่ต้องเขย่า ก็เพราะ “แทนนิน” ในใบชา เมื่อถูกเขย่าแรงๆ จะทำปฏิกริยากับออกซิเจน ทำให้เกิดฟองที่่ด้านบนของน้ำ ให้กลิ่นหอม นุ่มลิ้น และยังดับกระหายได้อย่างดี โดยชาจะยิ่งอร่อย ถ้าถูกเขย่าอย่างเร็วและแรง

ส่วนชาที่ใส่ไข่มุกนั้น คนไต้หวันเรียกว่า Boba Tea เพราะ ‘ปัวป้า’ เป็นสแลงหมายถึงหน้าอกผู้หญิงที่คล้ายๆกันกับก้อนไข่มุกนั่นเอง

  •  ไข่มุก สตอรี่

จากชาโฟมหรือ Bubble Tea มีอยู่ครั้งหนึ่งเมื่อสินค้าเริ่มเกิดความจำเจ “หลินซิ่วฮุย” สโตร์แมเนเจอร์ของร้าน "ชุนสุ่ยถัง" ในตอนนั้น ซึ่งปัจจุบันเป็นรองประธานบริษัท ซึ่งในตอนนั้น ปี 1987 หลินซิ่วฮุย ในวัย 20 กว่าๆ เธอก็ออกไปจ่ายตลาดซื้อวัตถุดิบเข้าร้านเหมือนทุกๆ ครั้ง แต่ไม่ลืมฉวยเอาแป้งมันสำปะหลังกลับมาด้วยเพราะคิดจะทำขนมโปรดในวัยเด็ก คือ “เฝิ่นหยวน” มาทานกับเพื่อนๆ ที่ร้าน

และเกิดมีไอเดียลองนำมาใส่ในแก้วชานมเย็น และ ชามะนาว ดู.. และนั่นก็คือกำเนิดของ “ชาไข่มุก” หรือ Pearl milk Tea แก้วแรกของโลก และจากเดิมที่เป็นสีขาว  ไข่มุกเปลี่ยนมาเป็นสีน้ำตาล และสีดำแบบที่เห็นกันก็เพราะใส่คาราเมลไซรัป และน้ำตาลทรายแดงเข้าไปในแป้ง แถมเดี๋ยวนี้ยังมีไข่มุกสีอื่นๆ เช่น สีเขียว สีแดง ก็มีอีกด้วย